xs
xsm
sm
md
lg

ในความงามที่โอบล้อมหัวใจ ‘ชาญชัย พินทุเสน’ กับสุนทรียะแห่งธรรมชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชาญชัย พินทุเสน ประธานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์
“ผมคิดว่า เราน่าจะใช้ศิลปะให้ครอบคลุมความหมายที่ว่าด้วย ‘ความสามารถในการเข้าถึงความงาม’ 
ซึ่งทุกคนมีสิ่งนี้ ทุกคนรับรู้ว่าอะไรสวย อะไรไพเราะ อะไรอร่อย อะไรหอม 
เหล่านี้ เป็น Sense ของความสามารถที่จะเข้าถึงความงาม มนุษย์ทุกคนมี Sense นี้ แต่ก็อาจจะมีทักษะต่างกัน

“เมื่อมี Sense เหล่านี้กันมากๆ ก็นำไปสู่เรื่องของความละเอียดอ่อน ประณีต นุ่มนวล ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เรานำมาใช้ในงานได้ ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราต้องมีความรอบคอบ ระมัดระวัง คำนึงถึงสิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมา หรืออาจเป็นอันตราย เช่น อันตรายต่อคน ต่อสัตว์ ต่อพืช ต่อสภาพพื้นที่ ไม่ต่างจากการที่เราร่ำเรียนศิลปะมา เราก็ได้รับการบ่มเพาะในเรื่องของความละเอียด ความประณีตไว้ ดังนั้น เมื่อเราเห็นอะไรที่มีตำหนิ เสียหาย หรือไม่งาม เราก็จะรู้สึกไปกับมัน นี่เป็นเรื่องของคำว่า ‘สุนทรียะ’

“เราเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้แก่เด็กและผู้ที่สนใจในธรรมชาติ ให้เขามีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ทำให้เขารู้ว่าธรรมชาติสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของความเป็นระบบนิเวศ สำคัญยังไง หากเสียหายจะส่งผลยังไง
… พาเด็กๆ เข้าไปดูระบบนิเวศที่สมบูรณ์ว่าเป็นยังไง”

คือถ้อยความบางส่วนเสี้ยว ที่ถ่ายทอดโดย ‘ชาญชัย พินทุเสน’ อดีตผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาที่อำลาโลกแห่งธุรกิจ แล้วเดินทางเข้าสู่โลกแห่งธรรมชาติ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ 
องค์กรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูป่า เผยแพร่องค์ความรู้ด้านการดูแลรักษาระบบนิเวศในหลากหลายบริบท ซึ่งเขามีบทบาทร่วมก่อตั้งขึ้นมามากกว่า 20 ปี

ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ชาญชัย พินทุเสน’ ในหลายประเด็นสำคัญ ที่สะท้อนให้เห็นว่า หัวใจศิลปิน คนสร้างสรรค์งานศิลปะผู้นี้ เมื่อหันมาทุ่มเททำงานด้านการอนุรักษ์ สุนทรียะ ความงาม ความนุ่มนวล ที่เขาสัมผัสได้จากธรรมชาติรอบกาย จึงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแรงขับเคลื่อนให้เขาสร้างสรรค์องค์ความรู้แห่งการอนุรักษ์ พิทักษ์ผืนป่า พงไพร ได้อย่างเต็มเปี่ยมในคุณค่าและความหมายของสรรพชีวิตที่เชื่อมร้อยโยงใยกันในระบบนิเวศอันสวยงาม

ชาญชัย พินทุเสน ประธานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์
จากเมือง มาสู่ป่า เมื่อหัวใจเรียกร้อง ‘ธรรมชาติ’

ถามว่าคุณเคยเป็นผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณา กระทั่งต่อมาได้เป็นผู้มีส่วนริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ และปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิดังกล่าว อยากให้ช่วยเล่าว่ามีความเป็นมาอย่างไร

ชาญชัยตอบปนเสียงหัวเราะอารมณ์ดีว่า “อาจจะย้อนกลับไปยาวนิดนึงนะครับ คืองานโฆษณาเป็นอาชีพหนึ่ง 
ซึ่งเป็นอาชีพของการให้บริการ งานโฆษณาเป็นเรื่องที่เราทำให้ผู้จ้าง เกิดความพึงพอใจ ซึ่งความพึงพอใจนั้น มันเป็นเรื่องยากที่เราจะรู้ได้ ไม่อาจคาดเดาได้ ก็ทำให้เกิดความเครียดในการทำงานเยอะ

“แล้วความเครียดนั้นก็สะสมมาเรื่อยๆ จนทำให้เราไม่มีความสุขในการทำงาน นั่นจึงเป็นเหตุผลหนึ่ง แต่พอดีว่าผมมีทางออกของผม เป็นทางที่ไม่ทำให้ตัวเราเองไปเผชิญกับความเครียดมากจนเกินไป จึงนำเรื่องที่เราร่ำเรียนมาในเรื่องของศิลปะมาเป็นหนทาง เพราะเราไม่อยากทำงานโฆษณาแล้ว ตั้งใจจะไปทำงานศิลปะ แล้วก็หารายได้จากการทำงานศิลปะ” ชาญชัยระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า

"เมื่อตัดสินใจออกจากแวดวงงานโฆษณา เมื่อออกมาแล้ว ด้วยความที่เป็นคนชอบธรรมชาติ ในวัยเด็กก็เล่นสนุกอยู่ตามป่าละเมาะ จึงต้องการหวนกลับเข้าไปหาธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง เป็นการตัดสินใจในวัยที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว มีความตั้งใจจริง 
ไม่ว่าการเขียนรูป ทำงานศิลปะ ก็ล้วนนำมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้ทั้งสิ้น
เมื่อเข้ามาอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติอย่างเต็มตัวแล้ว นำไปสู่การได้พบเจอเรื่องราวอื่นๆ ที่ไม่ได้คาดคิด เช่น เมื่อเห็นต้นไม้ เห็นนก เห็นสัตว์ป่าที่อยู่ในธรรมชาติ แล้วช่วงนั้น มีการทำสัมปทานไม้ จึงทำให้เกิดความรู้สึกเสียดาย

“ความรู้สึกเสียดาย คือ คนอื่นเขาก็ทำสัมปทานป่าไม้ ทำธุรกิจของเขา เราก็เลยคิดว่าแล้วเราต้องทำยังไง ที่จะไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้ เราก็เลยปลูกต้นไม้แทน นี่จึงเป็นที่มา เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานอนุรักษ์ ซึ่งในตอนนั้น เราก็ไม่ได้รู้หรอกว่าการอนุรักษ์ป่าเขาทำกันยังไง แต่เรารู้สึกว่าเราไม่อยากให้เกิดการเสียหายต่อหน้าต่อตาเราแบบนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานปลูกต้นไม้

“ตอนนั้น ผมก็ไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่านั้นนะครับ ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นนักอนุรักษ์ เราเพียงอยากจะทำงานศิลปะมากกว่า แต่เมื่อทำไปแล้ว ก็ได้เห็นงานที่ต้องทำงอกขึ้นมา ซึ่งเราก็เห็นว่ามีประโยชน์ ก็เลยทำมาเรื่อยๆ แล้วเมื่อถึงจุดหนึ่ง บริเวณที่ปลูกป่าและทำงานอนุรักษ์ในช่วงนั้นคืออยู่ในเขตเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งก็ไม่ใช่ที่ของใครหรอกครับ เป็นของหลวงนี่แหละ แต่เราก็คิดว่า ไม่น่าจะเสียหายอะไร เราก็ทำงานอนุรักษ์ไปเรื่อยๆ” ชาญชัยระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า

เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องออกนอกพื้นที่ดังกล่าว จึงได้มีการพูดคุยหารือกับผู้ใหญ่ที่เขาให้การสนับสนุนงานอนุรักษ์ โดยผู้สนับสนุนเหล่านั้น บอกกล่าวกับชาญชัยว่า เมื่อตัวเขาทำงานอนุรักษ์มาตั้งนานแล้ว ก็ขอให้ทำต่อไป อย่าทิ้งเลย กระนั้น หากจะทำต่อ ก็มีผู้แนะนำว่าควรไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นองค์กรสาธารณะประโยชน์ 
ในชื่อ ‘มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์’ นี่คือความเป็นมา เป็นจุดเริ่มต้นของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์


บทบาทและการอนุรักษ์ ‘ป่าต้นน้ำเขากระโจม-ชุมชนบ้านผาปกค้างคาว’

ประธานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ บอกเล่าว่า เมื่อมูลนิธิก่อตั้งขึ้นมาแล้ว บทบาทหน้าที่คือ นอกเหนือจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าไม้ โดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐ ที่มีอำนาจตามกฎหมายในการทำหน้าที่ดูแลรักษา 

สิ่งสำคัญกว่านั้น ก็คือการผลักดันของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ ที่เน้นทำงานด้านการศึกษาระบบนิเวศ ศึกษาธรรมชาติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือ เด็กๆ และเยาวชน ดังนั้น บทบาทหลักของมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ จึงเป็นเรื่องของการทำงานอนุรักษ์ การศึกษาธรรมชาติที่ดำเนินการต่อเนื่องมานับแต่เริ่มก่อตั้งมูลนิธิ ในปี พ.ศ.2543

ชาญชัยยังบอกกล่าวถึงขอบเขต พื้นที่งานอนุรักษ์ ที่มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ใน ‘ป่าต้นน้ำเขากระโจม’ และชุมชนบ้านผาปกค้างคาว ตำบลสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ว่าชุมชนบ้านผาปกค้างคาวนี้ จริงๆ แล้ว เป็นชุมชนที่เกิดขึ้นมาได้ไม่นาน

“เท่าที่ผมทราบ ชุมชนนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อแรกเริ่มมีการเข้ามาทำเหมืองแร่ดีบุก เมื่อราว 60 ปีที่ผ่านมาแล้ว ซึ่งคนที่เข้ามาทำเหมืองหาแร่ ร่อนแร่ ก็มีทั้งในส่วนของการทำสัมปทาน แล้วก็ในส่วนของชาวบ้านที่ร่อนแร่มาขาย

"เมื่อแร่ราคาตก ทำไม่ไหว ธุรกิจแร่ดีบุกก็หายไป แต่ชาวบ้าน คนทั่วไปที่เข้ามาร่อนแร่ ส่วนหนึ่งก็ตกค้างอยู่ที่นี่ มีทั้งคนอิสาน เหนือ ใต้ ผู้มีเชื้อสายกะเหรี่ยง เชื้อสายมอญอยู่รวมกันตรงนี้ จึงกลายเป็นชุมชนขึ้นมา กระทั่งเป็นหมู่บ้าน ตำบล อำเภอในเวลาต่อมา ผู้คนตรงนี้ ก็อยู่ในพื้นที่ซึ่งแต่เดิมเป็นป่า แล้วก็มีการหักร้างถางพง ทำที่อยู่อาศัย ทำไร่ ทำสวน จึงกลายเป็นชุมชนขึ้นมา ซึ่งเรียกได้ว่ายังเป็นชุมชนใหม่ เนื่องจาก พวกเขายังไม่มีขนบ หรือ วัฒนธรรมเฉพาะ เหมือนอย่างผู้คนในภาคต่างๆ ที่มีวัฒนธรรมท้องถิ่น ยังไม่มีกติกาเหมือนชุมชนโบราณ

“ส่วนคำว่า ‘ผาปกค้างคาว’ เป็นการมาตั้งชื่อในภายหลัง ตามสภาพภูมิศาสตร์ ที่มีผา มีค้างคาว จึงมีการตั้งชื่อเช่นนั้น และอีกส่วนหนึ่งคงสืบเนื่องมาตั้งแต่ช่วงที่มีการทำแผนที่ของทางการ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘ห้วยปก’ จึงเป็นชื่อของชุมชนแห่งนี้เรื่อยมา
ส่วน “ป่าต้นน้ำเขากระโจม” ก็มีที่มาคือ เป็นยอดเขาที่มีเรื่องเล่าขาน คือพื้นที่นี้เป็นของกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจแร่ ก็มีการไปตั้งกระโจมที่พัก นี่ก็เป็นเรื่องเล่า คล้ายตำนาน ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง แต่ก็เรียกกันอย่างนั้น

“ในพื้นที่เขากระโจม เป็นพื้นที่ที่ผมเคยเข้าไปอยู่ เป็นเวลา 3-4 ปี ไม่มีไฟฟ้า เป็นพื้นที่ที่มีความเป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง เราเองก็ไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะได้มาอยู่กับธรรมชาติแบบนี้ ( หัวเราะ ) ผมก็ทำงานไป อย่างที่เล่าให้ฟังตอนแรก ว่ามีการทำสัมปทานป่าไม้ แล้วเราก็รู้สึกเสียดาย จึงมาเริ่มทำเรื่องของการฟื้นฟู ตามศักยภาพที่มี มีเท่าไหร่ ทำเท่านั้น แต่ก็หวังว่าจะมีโอกาสในการทำงานศิลปะที่มีธรรมชาติ มีสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา เป็นแรงบันดาลใจจริงๆ นี่ก็คือเรื่องราวของการทำงานที่เขากระโจมในช่วงเริ่มต้น” ชาญชัยระบุ

ชาญชัย พินทุเสน ประธานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์












สุนทรียะอันประณีต

ถามว่า การที่คุณจบการศึกษา คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ทักษะด้านศิลปะที่คุณมี ถูกนำมาส่งเสริมงานอนุรักษ์อย่างไรบ้าง

ชาญชัยตอบว่า “ทักษะด้านศิลปะนั้น ผมคิดว่า เราน่าจะใช้ศิลปะให้ครอบคลุมความหมายที่ว่าด้วยความสามารถในการเข้าถึงความงาม ซึ่งทุกคนมีสิ่งนี้ ทุกคนรับรู้ว่าอะไรสวย อะไรไพเราะ อะไรอร่อย อะไรหอม เหล่านี้ เป็น Sense ของความสามารถที่จะเข้าถึงความงาม มนุษย์ทุกคนมี Sense นี้ แต่ก็อาจจะมีทักษะต่างกัน

“เมื่อมี Sense เหล่านี้กันมากๆ ก็นำไปสู่เรื่องของความละเอียดอ่อน ประณีต นุ่มนวล เป็น Sense ของความละเอียดละเมียด ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เรานำมาใช้ในงานได้ ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราต้องมีความรอบคอบ ระมัดระวัง คำนึงถึงสิ่งที่จะเป็นปัญหาตามมา หรืออาจเป็นอันตราย เช่น อันตรายต่อคน ต่อสัตว์ ต่อพืช ต่อสภาพพื้นที่ ไม่ต่างจากการที่เราร่ำเรียนศิลปะมา เราก็ได้รับการบ่มเพาะในเรื่องของความละเอียด ความประณีตไว้ ดังนั้น เมื่อเราเห็นอะไรที่มีตำหนิ เสียหาย หรือไม่งาม เราก็จะรู้สึกไปกับมัน นี่เป็นเรื่องของคำว่า ‘สุนทรียะ’

“ส่วนศิลปะ ก็จะมีรูปแบบต่างๆ เช่น เพลง ละคร จิตรกรรม Painting ประติมากรรม เหล่านี้ก็คือรูปแบบของศิลปะ หรือแม้กระทั่ง ทุกวันนี้ก็มี Computer Art แต่ทุกรูปแบบที่เกิดขึ้น ก็มีเบื้องหลังคือ ความสามารถที่จะเข้าถึงความประณีต ความละเอียดอ่อน หรือความสุนทรี

“ดังนั้น จึงกลับมาที่คำถามว่า ใช้ทักษะอะไรจากที่เรียนมา ก็คือการใช้ Sense ที่ได้รับการบ่มเพาะมาในเรื่องของความประณีตนี่แหละครับ ต้องคอยระวัง ว่าที่เราทำไปนั้น ถูกไหม ผิดไหม สร้างปัญหาไหม เป็นข้อคำนึงถึง ไม่ใช่สักว่าจะทำเท่านั้น แต่ทำให้เรามีความรอบคอบและคำนึงถึงสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ ส่วนวิธีการ เทคนิค ก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์” ชาญชัยระบุ










พันธกิจสำคัญ

อดถามไม่ได้ว่า พันธกิจสำคัญ หรือสิ่งที่มุ่งหวังตั้งใจจะสร้างสรรค์ขึ้นในนามของ มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ มีอะไรอีกบ้าง
ชาญชัยตอบว่า สิ่งที่เป็นบทบาทหน้าที่ของมูลนิธิ ยังคงไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ส่วนเป้าหมายที่วางไว้นั้น ก็อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่า ดินน้ำอากาศ ต้นไม้ ป่าไม้ สัตว์ป่า ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เราทุกคนต้องมีส่วนร่วมด้วยกัน

ดังนั้น จึงตั้งเป้าหมายว่า ต้องมีการให้ความรู้กับคนที่มีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเริ่มจากความรู้ คือรู้ว่าสิ่งไหนที่ควรจะดูแลเป็นพิเศษ สิ่งไหนที่ควรจะยืดหยุ่นได้

“เราจึงเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้แก่เด็กและผู้ที่สนใจในธรรมชาติ ให้เขามีส่วนร่วมในการดูแลรักษา ทำให้เขารู้ว่าธรรมชาติสำคัญอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของความเป็นระบบนิเวศ เป็นยังไง สำคัญยังไง หากเสียหายจะส่งผลยังไง ผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ระยะยาว เป็นยังไง"

ชาญชัย พินทุเสน ประธานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์
“เหล่านี้ก็เป็นสาระสำคัญที่เรานำเสนอให้เขาเห็นว่า ตัวละครในระบบนิเวศเป็นยังไง เช่น พืช มีหน้าที่สร้างอาหาร พืชไม่จำเป็นต้องมีเท้า แต่สิ่งมีชีวิต ที่ไม่สามารถสร้างอาหารเองได้ ก็ต้องไปพึ่งพาผู้ผลิต พวกนี้จึงมีอวัยวะที่ทำให้เดินทางได้ สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ก็พึ่งพากัน แล้วเราจะทำอย่างไร ให้คนในรุ่นต่อๆ ไป ยังสามารถพึ่งพาสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องตระหนักว่าป่าไม้สำคัญอย่างไร สัตว์น้ำ สัตว์บก เขาอยู่กันยังไง แล้วก็พาเด็กๆ เข้าไปดูระบบนิเวศที่สมบูรณ์ว่าเป็นยังไง

“และให้ความรู้ว่าทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ น้ำมัน แร่ธาตุ เหล่านี้ กว่าธรรมชาติจะสร้างขึ้นมาอีกครั้ง ต้องใช้เวลายาวนานแค่ไหน และต้นไม้แต่ละต้น กว่าที่จะเติบโต ปลูกให้ฟื้นคืนกลับคืนมา ต้องใช้เวลานานแค่ไหน เหล่านี้ก็คือโจทย์ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อให้ช่วยกันคิดครับ” ประธานมูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์ระบุทิ้งท้าย ถึงความตระหนักและความรับผิดชอบที่มีต่อทรัพยากรธรรมชาติ

ทั้งยังเผยพันธกิจสำคัญ คือการส่งต่อองค์ความรู้ให้แก่เด็ก เยาวชน และคนอื่นๆ ในสังคม ได้ฉุกคิดถึงสิ่งแวดล้อม ทั้งย้ำเตือนว่าระบบวิเวศอันสมบูรณ์จักอยู่เคียงคู่มนุษย์ต่อไปได้ ย่อมต้องอาศัยแรงกาย แรงใจและแรงขับเคลื่อน จากทุกภาคส่วนในสังคม มิใช่เพียงคนใดคนหนึ่ง
……….
Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By : มูลนิธิกระต่ายในดวงจันทร์