พบธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ป้องกัน ตรวจจับ ตอบสนอง ลดช่องทางมิจฉาชีพ แก้ปัญหาประชาชนตกเป็นเหยื่อภัยการเงิน พบเริ่มห้ามแนบลิงก์ผ่าน SMS และโซเชียลมีเดีย พัฒนาแอปฯ ป้องกันแคปจอหรือบันทึกวีดีโอ พร้อมแยกคอลเซ็นเตอร์รับเรื่องภัยการเงินเฉพาะ ตลอด 24 ชั่วโมง
วันนี้ (11 มี.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน หลังภัยทุจริตทางการเงินมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและหลากหลายรูปแบบ เช่น SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม และแอปพลิเคชันดูดเงิน ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียทรัพย์สิน หรือรายได้ที่เก็บออม รวมทั้งขาดความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลของสถาบันการเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อการทำธุรกรรมทางการเงินในระยะต่อไป
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ธปท. ตระหนักถึงความเดือดร้อน และไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง บนหลักการป้องกัน ตรวจจับ และตอบสนองรับมือ เพื่อลดช่องทางของมิจฉาชีพ และช่วยแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อภัยการเงิน รวมทั้งกำชับให้สถาบันการเงิน ต้องเร่งจัดการปัญหาให้ประชาชนโดยเร็ว ซึ่งหลายเรื่องดำเนินการแล้ว เช่น ร่วมกับสำนักงาน กสทช. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคธนาคาร (TB-CERT) ปิด SMS ที่แอบอ้างชื่อเป็นสถาบันการเงิน เพื่อป้องกันมิจฉาชีพใช้แอบอ้างติดต่อประชาชน ซึ่งทำให้ภัยหลอกลวงทาง SMS เหล่านี้ลดลง
"การจัดการและแก้ปัญหาภัยการเงินในปัจจุบันยังมีจุดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเข้าถึงประชาชนของมิจฉาชีพที่ทำได้หลายช่องทางและหลายรูปแบบ กระบวนการอายัดบัญชีผิดปกติของสถาบันการเงิน ที่ยังใช้เวลานาน การซื้อขายบัญชีม้าที่ยังมีอยู่มาก ตลอดจนการแก้ไขปัญหาให้ผู้เสียหาย ธปท. จึงได้ออกแนวนโยบายเป็นชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ดูแลตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีการรักษาสมดุลระหว่างการบริหารจัดการความเสี่ยงกับการส่งเสริมบริการทางการเงินดิจิทัล"
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สถาบันการเงินเริ่มออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินในรูปแบบต่างๆ เริ่มจากมาตรการป้องกัน เช่น การยกเลิกแนบลิงก์ผ่าน SMS และอีเมล การยกเลิกส่งลิงก์ขอข้อมูลส่วนบุคคล เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน เลขบัตรประชาชน หรือรหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) ผ่านโซเชียลมีเดีย เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา คาดว่าจะเสร็จทุกแห่งในเดือน มิ.ย. นี้ ประการต่อมา ปรับปรุงระบบรักษาความปลอดภัยบนโมบายล์แบงกิ้งให้อัปเดตล่าสุด เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา คาดว่าจะเสร็จทุกแห่งในเดือน มี.ค. นี้ โดยแต่ละธนาคารจะมีระบบป้องกันการบันทึกภาพหน้าจอหรือบันทึกวีดีโอหน้าจอ หากผู้ใช้แคปหน้าจอหรือโปรแกรมควบคุมหน้าจอ ก็จะตัดการใช้งาน ไม่ให้ผู้ใช้งานสามารถทำรายการได้ ต้องปิดการบันทึกหน้าจอและเข้าใช้งานใหม่อีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังกำหนดการยืนยันตัวตนขั้นต่ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า (biometrics) เช่น สแกนใบหน้า ในกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงิน (non-face-to-face) หรือทำธุรกรรมผ่านโมบายแบงกิ้งในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือปรับเพิ่มวงเงินทำธุรกรรมต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาท ขึ้นไป นอกจากนี้ จะกำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวันให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของกลุ่มผู้ใช้บริการแต่ละประเภท โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา คาดว่าจะเสร็จทุกแห่งในเดือน มิ.ย. นี้
ประการต่อมา มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี/ธุรกรรมต้องสงสัย ปัจจุบันมีมาตรการรายงานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เมื่อตรวจพบธุรกรรมที่ผิดปกติ หรือพบการกระทำความผิด และเร่งตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้จากการแจ้งความออนไลน์ ที่เป็นช่องทางที่จัดขึ้นโดย ธปท. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ปัจจุบันความคืบหน้าเสร็จแล้ว ขั้นต่อไป จะกำหนดให้มีระบบตรวจจับ/ติดตามธุรกรรมที่เข้าข่ายผิดปกติตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อระงับธุรกรรมได้ทันทีที่ตรวจพบ เริ่มตั้งแต่เดือน มี.ค. ที่ผ่านมา คาดว่าจะเสร็จทุกแห่งในเดือน ธ.ค. นี้
อีกประการหนึ่ง ยังได้ออกมาตรการตอบสนองและรับมือ ได้แก่ สนับสนุนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อหาสาเหตุและผู้กระทำความผิด รวมทั้งต้องมีผู้รับผิดชอบและประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ให้ชัดเจน ปัจจุบันเสร็จแล้ว ขณะเดียวกัน การดูแลรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของธนาคารเริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนมีช่องทางติดต่อเร่งด่วนตลอด 24 ชั่วโมง และแยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้แจ้งเหตุโดยเร็ว เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. ที่ผ่านมา คาดว่าจะเสร็จทุกแห่งในเดือน มี.ค. นี้
ณ วันที่ 10 มี.ค. พบว่ามีธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ ได้เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุและให้ข้อมูลภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพ รวม 15 แห่ง ลูกค้าธนาคารที่สงสัยหรือได้รับความเสียหายสามารถสอบถามหรือแจ้งเหตุได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนี้
- ธนาคารกสิกรไทย โทร. 0-2888-8888 กด 001
- ธนาคารกรุงไทย โทร. 0-2111-1111 กด 008
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา โทร. 1572 กด 5
- ธนาคารกรุงเทพ โทร. 1333 หรือ 0-2645-5555 กด *3
- ธนาคารไทยพาณิชย์ โทร. 0-2777-7575
- ธนาคารทหารไทยธนชาต โทร. 1428 กด 03
- ธนาคารออมสิน โทร. 1115 กด 6
- ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย โทร. 0-2626-7777 กด 00
- ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย โทร. 0-2697-5454
- ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ โทร. 0-2359-0000 กด 8
- ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โทร. 0-2645-9000 กด 33
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โทร. 0-2555-0555 กด *3
- ธนาคารยูโอบี และธนาคารซิตี้แบงก์ โทร. 0-2344-9555
- ธนาคารเกียรตินาคินภัทร โทร. 0-2615-5555 กด 6