xs
xsm
sm
md
lg

๑๑ มีนาคม “วันท่อประปาโลก”! แต่ไทยวางท่อประปามากว่า ๗๐๐ ปีแล้ว ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนาาค



๑๑ มีนาคมของทุกปี เป็น “วันท่อประปาโลก” ซึ่งเพิ่งประกาศเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๓ มานี่เองพร้อมกับการก่อตั้ง “สภาท่อประปาโลก” แต่โลกมีท่อประปามานานมากแล้วจนไม่มีบันทึกว่าเริ่มมีน้ำประปาใช้กันมาแต่เมื่อใด สำหรับประเทศไทยถือว่าเริ่มมีขึ้นในวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๔๕๗ จากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำพิธีเปิดกิจการที่มีชื่อว่า “การประปากรุงเทพฯ” ขึ้นที่โรงกรองน้ำสามเสน ซึ่งเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ขุดคลองส่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณคลองเชียงรากที่ทรงคาดว่าน้ำเค็มขึ้นมาไม่ถึง ส่งน้ำมายังโรงกรองสามเสน
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ไทยเรามีการวางท่อประปามาก่อนหน้านั้นกว่า ๖๐๐ ปีแล้วในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งครองราชย์ในระหว่างปี ๑๘๒๒-๑๘๔๑ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ค้นพบท่อดินเผาปากกว้างปลายสอบเพื่อให้ต่อเชื่อมกันได้ เหมือนท่อพีวีซี.ในสมัยนี้ก็ยังใช้เทคโนโลยีเชื่อมท่อแบบนี้อยู่ ฝังอยู่ใต้ดินหลายแห่ง อย่างที่วัดเชตุพนในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย หรือที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนครก็มีจัดแสดงไว้ โดยมีแหล่งน้ำจากตระพังโพย ดังที่หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงจารึกไว้ว่า
“กลางเมืองสุโขทัยนี้ มีน้ำตระพังโพย สีใสกินดี ดังกินน้ำโขงเมื่อแล้ง รอบเมืองสุโขทัยนี้”

ประวัติศาสตร์การประปาไทยในยุคนั้นขาดหายไป มาปรากฏอีกครั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงสร้างพระราชวังที่เมืองลพบุรี เพื่อให้ปลอดภัยขึ้นจากการรุกรานของชาติตะวันตกที่จะใช้เรือปืนขึ้นมาตามลำน้ำเจ้าพระยาได้สะดวก ซึ่งตอนนั้นก็คือฮอลันดาที่แผ่อิทธิพลเข้ามา และทรงเปิดสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสเพื่อคานอำนาจ มีบันทึกว่ามีการวางระบบประปาขึ้นที่เมืองลพบุรี แต่กล่าวว่าเป็นเทคโนโลยีของบาทหลวงฝรั่งเศสกับวิศวกรอิตาลี เป็นท่อดินเผาปากกว้างปลายสอบเช่นเดียวกับเทคโนโลยีของกรุงสุโขทัย มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๒๖ เซนติเมตร หนา ๔ เซนติเมตร แต่ละท่อนมีความยาวราว ๔๘ เซนติเมตร ฝังอยู่ใต้ดินลึก ๑.๕ เมตร มีแหล่งน้ำ ๒ แห่งที่อยู่ระดับสูงกว่าตัวเมืองลพบุรี ส่งน้ำไหลลงมาโดยไม่ต้องใช้ระหัดวิด คือ จากทะเลชุบศร ส่งน้ำมาตามท่อถึงสระแก้วที่วงเวียนสระแก้ว หรือวงเวียนศรีสุริโยทัยในปัจจุบัน จากนั้นก็ต่อไปถึงพระราชวังในตัวเมืองลพบุรี แหล่งน้ำอีกแห่งก็คือห้วยซับเหล็ก ซึ่งอยู่ไกลถึง ๑๐ กิโลเมตร ช่วงต้นจึงใช้วิธีขุดลำรางช่วยก่อนเข้าระบบท่อ และมีการทำปล่องระบายความดันของน้ำไว้เป็นระยะ เพื่อผ่อนคลายแรงดันของน้ำในฤดูน้ำหลาก
 
นอกจากจะมีน้ำประปาใช้ในพระราชวังแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่า ก็คือ น้ำพุ ในอุทยานของพระราชวังลพบุรีมีสระน้ำ ๔ สระสำหรับทรงสนาน และมีน้ำพุไหลออกมาจากภูเขาจำลอง ส่วนในเขตพระราชฐานชั้นนอก รอบตึกรับรองแขกบ้านแขกเมือง ยังมีน้ำพุอีก ๒๐ แห่งในคูน้ำรอบตึกที่เลี้ยงปลาทอง โดยไม่ต้องใช้ปั๊มไฟฟ้าเหมือนในสมัยนี้

ท่อประปาดินเผาแบบนี้ทั้งยังพบฝังอยู่ใต้ดินที่เชิงเขาด้านทิศตะวันตกของพระพุทธบาทสระบุรีอีก มีความยาวประมาณ ๑ กิโลเมตร สันนิษฐานว่าทำขึ้นในสมัยพระเจ้าทรงธรรมที่ทรงสร้างวัดพระพุทธบาทนี้ในปี ๒๑๖๗ เพื่อวางระบบประปาจากธารทองแดงซึ่งอยู่ห่างไปประมาณ ๑ กิโลเมตรไปยังพระราชวังท้ายพิกุล ที่พระเจ้าทรงธรรมทรงสร้างขึ้นเป็นที่ประทับเมื่อเสด็จไปนมัสการพระพุทธบาท
 
ส่วนที่กรุงศรีอยุธยา จากการขุดแต่งพระราชวังโบราณในปี ๒๕๒๗ พบท่อน้ำดินเผาจากแม่น้ำลพบุรีซึ่งอยู่ด้านเหนือของพระราชวัง ทะลุกำแพงเมืองเข้ามา สันนิษฐานว่าใช้ระบบระหัดวิดน้ำเข้ามาเก็บไว้ในถังระดับสูงแล้วต่อท่อไปตามที่ต่างๆ ต่อมาในปี ๒๕๖๐ ได้ขุดบริเวณพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ ก็พบแนวท่อประปาอีก ๒ แนว จากหลักฐานตัวอักษรที่ปรากฏบนท่อ สันนิษฐานว่าทำขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
น่าเสียดายและน่าสงสัย ที่ระบบการประปาของไทยซึ่งเริ่มขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง และน่าเชื่อว่าเป็นเทคโนโลยีที่คิดกันขึ้นเอง ไม่ได้นำเทคโนโลยีของใครมาใช้ ได้ขาดหายไปถึงกว่า ๖๐๐ ปีก่อนที่จะเกิดระบบการประปาที่เราใช้กันทุกวันนี้ ที่เพิ่งใช้มา ๑๐๙ ปีมานี้เอง




กำลังโหลดความคิดเห็น