xs
xsm
sm
md
lg

คืนชีพ “ตลาดใต้” กลางเมืองพิษณุโลก ปลุกประวัติศาสตร์ สู่พิพิธภัณฑ์มีชีวิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

“ตลาด ไม่ใช่แค่ตลาด แต่มันมีชีวิตที่ดำรงอยู่มาตลอดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่ตลาดใต้ ซึ่งเป็นย่านคนจีนกลางเมืองพิษณุโลก เป็นแหล่งค้าขายมาตั้งแต่ในอดีตนับร้อยปี ทั้งทางแม่น้ำ ทางรถไฟ จึงมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็น ย่านเก่าเล่าเรื่อง”

หากนึกถึงแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของ อ.เมือง จ.พิษณุโลก แน่นอนว่า อันดับแรกที่ผู้คนทั่วไปจะนึกถึงก็คือ การไปสักการะ “สมเด็จพระพุทธชินราช” ที่วัดใหญ่ หรือ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่โด่งดังและถจัดได้ว่าสวยที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย

แต่หากคุณอยากลองไปสัมผัสวิถีชีวิตยามเช้าในเมืองพิษณุโลกสองแควต่ออีกซักครึ่งวัน เราขอแนะนำให้คุณรู้จักกับ “ตลาดใต้” ตลาดที่อยู่ใจกลางเมืองพิษณุโลก ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ อาหารรสดั้งเดิม สถาปัตยกรรมหลากหลายยุคสมัย และเรื่องเล่าที่ฟังเท่าไหร่ก็ไม่จบ






การเดินทางมา “ตลาดใต้” คุณสามารถตั้งต้นได้ที่ “ศาลเจ้าพ่อเสือ” ซึ่งเป็นที่ตั้งของมูลนิธิ “ศาลเจ้าปุ่นเถ่ากง-ม่า” ที่ชาวบ้านแถบนี้ให้ความเคารพนับถือและนิยมไปไหว้ขอพรกันอยู่เสมอ ฝั่งตรงข้ามของศาลเจ้าพ่อเสือ ยังถูกดัดแปลงจากโรงรถธรรมดา ให้เป็นสถานที่บันทึกประวัติศาสตร์ของตลาดใต้แห่งนี้ไว้ด้วย โดยความร่วมมือทางวิชาการจาก 3 สาขาวิชา คือ การท่องเที่ยว นิเทศศาสตร์ และสถาบัตยกรรมศาสตร์

“ผมมาสอนที่ ม.นเรศวรครั้งแรกเมื่อปี 2541 ด้วยความที่เป็นนักวิชาการด้านการท่องเที่ยว ก็เห็นว่า ตลาดใต้ มีลักษณะที่ใกล้เคียงกับตลาดเก่าหลายแห่งในกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้เราสนใจและเล็งที่นี่ไว้ตั้งแต่ตอนนั้น และผ่านมาอีก 10 กว่าปี เราก็เริ่มให้นักศึกษาได้ช่วยกันทำ pocket book ของตลาดใต้ขึ้นมา เราก็มีทีมลงไปเก็บข้อมูลของร้านต่างๆไปสัมภาษณ์คนทุกเจนเนอเรชั่น และได้ข้อสรุปว่า เรามีของที่ดีมากๆอยู่ใกล้ตัว เพียงแต่มันยังไม่ถูกนำเสนอให้คนทั่วไปได้เห็นแบบง่ายๆ จึงมีโครงการวิจัยนี้ขึ้นมา”


ธนวัฒน์ ขวัญบุญ หัวหน้าภาควิชาการท่องเที่ยว คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดโครงการวิจัย “ย่านเก่าเล่าเรื่อง เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต” เทศบาลนครพิษณุโลก เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่นักวิชาการด้านการท่องเที่ยวอย่างเขา หันมาให้ความสนใจที่จะทำให้ “ตลาดใต้” กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองพิษณุโลก เพราะเขาเห็นว่า ที่นี่มีความเหมาะสมที่พัฒนาต่อไปด้วยแนวทางที่เรียกว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” คือ เป็นพื้นที่สาธารณะที่สามารถค้าขายผ่านเรื่องราวในอดีตที่ยังสืบทอดรุ่นต่อรุ่นมาจนถึงปัจจุบัน และยังมีศักยภาพที่จะสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้สาธารณะให้กับเมืองได้อีกด้วย






ในทางนิเทศศาสตร์ อาคารโรงรถตรงข้ามศาลเจ้าพ่อเสือ ถูกนำมาใช้สื่อสารความเป็นมาของตลาดใต้ผ่านใบหน้าผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มายาวนานนับร้อยคน พร้อมข้อความที่เล่าถึงความสุขของพวกเขาที่ได้อาศัยและทำมาค้าขาย ซึ่งนอกจากจะบอกกล่าวความรู้สึกของคนเหล่านี้แล้ว แต่ละข้อความยังแฝงไว้ด้วยแง่มุมทางประวัติศาสตร์มากมายที่ประเมินค่าไม่ได้เลย และจะน่าเสียดายมากหากไม่มีใครบันทึกข้อมูลเหล่านี้ไว้ได้ทัน






นอกจากข้อความและบันทึกทางประวัติศาสตร์ของตลาดใต้ที่ถูกเล่าผ่านผู้คนในตลาดแล้ว ไฮไลท์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ “ป้ายชื่อร้านโบราณ” ซึ่งเป็นป้ายชื่อร้านของคนไทยเชื้อสายจีนนับร้อยป้าย ที่ถูกถ่ายภาพเก็บบันทึกไว้ที่พิพิธภัณ์ย่อมๆแห่งนี้ บางร้านยังคงอยู่ในปัจจุบันสามารถไปชมของจริงได้ บางร้านก็ไม่อยู่แล้ว โดยมีวิธีเก็บภาพด้วยแนวคิดที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ของตลาด นั่นก็คือ การบันทึกภาพลงใน “ผ้าใบ” ที่ทุกร้านจะใช้เป็นเครื่องมือกันแดดกันฝน






ผ้าใบอีกหนึ่งผืน ถูกใช้เป็นบันทึกแง่มุมในทางสถาปัตยกรรมของตลาดใต้ ด้วยภาพวาดแบบ pixel art พร้อมรูปแบบอาคารต่างๆในตลาดใต้ที่ผสมผสานกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 ไล่ตามยุคสมัยมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อเห็นศักยภาพของตลาดใต้ โครงการวิจัย “ย่านเก่าเล่าเรื่อง เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต เทศบาลนครพิษณุโลก” จึงมีแนวคิดที่จะฟื้นคืนอดีตของตลาดใต้ให้กลับมามีชีวิตโลดแล่นในยุคปัจจุบันอีกครั้ง ด้วยแนวผสมผสานคิดทางวิชาด้านการท่องเที่ยว การสื่อสาร และด้านสถาปัตกรรม ด้วยการทำให้ตลาดใต้เป็น พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และเป็น เมืองแห่งการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน (Learning City) โดยนอกจากเนื้อหาบางส่วนที่ทำไปแล้ว ตามปากซอยต่างๆในตลาดยังมีเรื่องราวของจุดนั้นให้ได้อ่าน และนักท่องเที่ยวสามารถสแกน QR Code เข้าไปดูคลิปวิดีโอที่ถูกบอกเล่าผ่านคนเก่าคนแก่ในชุมชนตัวจริงได้อีกด้วย และในอนาคตเรื่องราวต่างๆจะถูกเล่าผ่าน “ผืนผ้าใบ” ที่ติดอยู่หน้าร้านของแต่ละร้าน รวมทั้งจะเปิดพื้นที่ริมแม่น้ำน่าน ซึ่งกำลังปรับปรุงให้กลายเป็น Public Open Space ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้แสดงความสามารถ หรือเพื่อจัดกิจกรรมทางสังคมต่างๆได้อีกด้วย จากนั้นก็จะรวบรวมของเก่าที่มีอยู่มาจัดวางทำเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนตลาดใต้ (Local museum) ให้เป็นเหมือน “ห้องสมุดที่มีชีวิต” อีกด้วย








ร้านข้าวต้มปักนั้ง คือหนึ่งในกิจการเก่าแก่ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ที่ตั้งอยู่ในชุมชนตลาดใต้ ของประดับในร้านซึ่งขายอาหารจีนแห่งนี้ เป็นอีกหนึ่งจุดที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ของชุมชน มีตั้งแต่ภาพชุมชนในสมัยโบราณ เหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดครั้งใหญ่ที่ทำให้อาคารเก่าๆเสียหายไปจำนวนมาก ข้าวของเครื่องใช้ในแต่ละยุค และยังมีภาพของ ดร.ซุนยัดเซ็น ผู้นำการปฏิวัติจีน ซึ่งเจ้าของร้านรุ่นปัจจุบันบอกว่า เป็นสมบัติชิ้นเดียวของคุณพ่อที่นำติดตัวมาจากเมืองจีน


สิทธิศักดิ์ จันทร์เจริญ เจ้าของกิจการร้านปักนั้ง ซึ่งปัจจุบันอายุ 68 ปี เป็นผู้ที่พยายามเก็บบันทึกประวัติศาสตร์ของชุมชนตลาดใต้ จึงเป็นหนึ่งในคนเก่าแก่ที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวในชุมชนของเขาผ่านวิดีโอในโครงการวิจัยนี้ และเป็นตัวตั้งตัวตีที่ร่วมมือกับกลุ่มนักวิชาการเพื่อพัฒนาตลาดใต้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองพิษณุโลก

สิทธิศักดิ์ เล่าถึงเหตุผลเขาร่วมผลักดันโครงการนี้ เพราะเห็นว่าที่ผ่านมา เมืองพิษณุโลกเป็นได้แค่ “จุดผ่านทาง” ของนักท่องเที่ยวที่มาสักการะองค์พระพุทธชินราชเท่านั้น ทั้งที่ตลาดใต้น่าจะเป็นจุดที่มีศักยภาพที่จะดึงดูให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจค้างอีก 1 คืน เพื่อตื่นเช้ามาเดินตลาดที่เต็มไปด้วยสเน่ห์ทางประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และองค์ความรู้เรื่องการจัดการท่องเที่ยวได้ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำก่อน คือ การปรับปรุงภูมิทัศน์ของตลาด ปรับปรุงอาคารให้สวยงามในรูปแบบดั้งเดิม จัดระเบียบการค้าขายให้น่าเดิน น่าถ่ายรูป ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังต้องการแรงสนับสนุนทางการเงินจากหน่วยงานต่างๆ เพราะลำพังชาวบ้านที่ค้าขายกันรายวันส่วนใหญ่คงไม่มีกำลังที่จะปรับปรุงกันได้เอง










ภาพวาดหญิงสาวแต่งกายสวยงามด้วยเสื้อผ้าของหลากหลายเชื้อชาติบนกระดาษลัง ยังเป็นจุดสนใจที่สามารถพบเห็นถูกแขวนอยู่หลายๆ ต่อหลายจุดในตลาดใต้ ภาพเหล่านี้ถูกวาดโดย หญิงวัย 83 ปีคนหนึ่ง ซึ่งใช้ชื่อของเธอว่า “สุภาภรณ์” ซึ่งแปลว่า เสื้อผ้าที่สวยงาม เธอเป็นเจ้าของกิจการอะไหล่รถยนต์เก่าแก่ในตลาดใต้ และเมื่อส่งต่อกิจการให้ลูกหลาน เธอพยายามใช้เวลาว่างที่มีเหลือเฟือไปกับการวาดรูปเหล่านี้ ... น่าสนใจมากว่า เสื้อผ้าต่างๆที่ผู้หญิงในภาพวาดสวมใส่ อาจจะเป็นหนึ่งในบันทึกที่สำคัญก็ได้

อาจารย์ธนวัฒน์ เล่าให้ฟังอีกว่า แรกเริ่มเดิมทีที่กลุ่มนักวิชาการเริ่มทำโครงการวิจัยนี้ที่ตลาดใต้ ได้การตอบรับจากชุมชนยังไม่ดีนัก เพราะพวกเขาต้องตั้งหน้าตั้งตาค้าขายเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวในแต่ละวัน แต่พอเราสามารถทำให้เห็นได้ว่า ชุมชนจะได้ประโยชน์อย่างไร ชาวบ้านก็เริ่มให้ความร่วมมือ

“ตอนทำโครงการนี้แรกๆ เขาก็ยังงงๆว่าเราจะทำอะไร หลายร้านไม่คุยกับเราเลย แต่พอเราเริ่มทำคลิปวิดีโอได้ เริ่มมีกิจกรรมที่หน้าศาลเจ้า มีแทร็คให้คนทั่วไปติดตามเนื้อหาความเป็นมาของตลาดได้ จนเขาได้เห็นภาพคนในชุมชนถูกจัดแสดง เห็นความคิดอ่านของเขาถูกเผยแพร่ออกไป ปรากฎว่า การค้าขายเริ่มดีขึ้น ขายของได้เยอะขึ้น มีรายได้มากขึ้น เขาก็มาให้ความร่วมมือกันทั้งหมด จนเราสามารถที่จะวางแผนพัฒนาพื้นที่นี้ให้เป็นตามเป้าใหญ่ที่เราจินตนาการไว้แต่แรกได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่า ปัญหาใหญ่ที่ยังต้องผ่านไปให้ได้ในช่วงนี้ คือ ต้องมีแหล่งทุนมาช่วยรีโนเวทอาคารและสถานที่ด้วย เพราะลำพังชาวบ้านคงทำกันเองไม่ไหว”
อาจารย์ธนวัฒน์ กล่าว

“อุปสรรคสำคัญคือการหาแหล่งทุนมาสนับสนุนการปรับปรุงพื้นที่และอาคาร อาจเป็นเพราะว่า ทางทีมนักวิชาการที่ทำโครงการวิจัยนี้ ไม่ต้องการให้ “ตลาดใต้” กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดคนจำนวนมากมาได้ แต่ต้องแลกด้วยการที่ชาวบ้านในชุมชนดั้งเดิมถูกเทกโอเวอร์กิจการจากคนนอกพื้นที่ จนกลายเป็นชุมชนใหม่ที่ไม่มีชีวิตของชุมชนเดิมจริงๆเหลืออยู่เลย และจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่โด่งดังอย่างรวดเร็ว แต่พังทลายถูกลืมเลือนไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกับหลายแห่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก่อนหน้านี้

ดังนั้น เราต้องการให้ ตลาดใต้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชีวิตของคนดั้งเดิม มีประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ไม่ตองเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ต้องเติบโตจากคนในพื้นที่จริงๆ ... เปรียบได้ว่า เราจะปฏิเสธการปรุงรสชาติของตลาดใต้ผ่านเตาแก๊สที่สุกเร็ว ได้กินเร็ว แต่เราจะพยายามคงรสชาติดั้งเดิมของตลาดแห่งนี้ไว้ ด้วยการปรุงมันผ่านเตาถ่าน ให้มีรสกลมกล่อม มีกลิ่นหอมของอดีต มีรสสัมผัสละเอียดอ่อน ที่ทุกคนสามารถรับรู้ได้ทันทีที่เดินเข้ามาที่นี่ และชุมชนนี้ยังคงอยู่สืบทอดกันต่อไป”
อาจารย์ธนวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย


































กำลังโหลดความคิดเห็น