ภาคีเพื่อการศึกษาไทยชวน 8 พรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ “นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง” ยื่น "สมุดปกขาว" เสนอปฏิรูป 5 ข้อ “ปรับหลักสูตรแกนกลาง-บริหารจัดการ ร.ร.ขนาดเล็ก-พัฒนาทักษะที่จำเป็นครู-นร.-ไม่เอาความรุนแรง-กล้าทำสิ่งใหม่” ด้าน ดร.วรากรณ์ชี้ บิ๊กล็อกการศึกษา “ลดเหลื่อมล้ำ” เห็นรูปธรรมมากสุด
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 66 ภาคีเพื่อการศึกษาไทย หรือ (Thailand Education Partnership :TEP) จัดเวทีนโยบายการศึกษากับพรรคการเมือง (TEP Policy Forum) โดยมี รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ที่ปรึกษาภาคีเพื่อการศึกษาไทย และอดีตประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเวที มีการนำเสนอ TEP whitepaper โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยได้เชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองที่สนใจการพัฒนาการศึกษาไทย จำนวน 8 พรรคการเมือง ร่วมประชันวิสัยทัศน์ “นโยบายแบบไหน เปลี่ยนการศึกษาไทยได้จริง” ได้แก่ ดร.ณหทัย ทิวไผ่งาม พรรคเพื่อไทย คุณพริษฐ์ วัชรสินธุ พรรคก้าวไกล คุณภูมิสรรค์ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา พรรคประชาธิปัตย์ คุณศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย คุณพรชัย มาระเนตร์ พรรคชาติพัฒนากล้า คุณกมล รอดคล้าย พรรคภูมิใจไทย ดร.นันทพร ดำรงพงศ์ พรรคชาติไทยพัฒนา และ ผศ.ดร.บุญส่ง ชเลธร พรรคเสรีรวมไทย ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
รศ.ดร.วรากรณ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการปฏิรูปการศึกษาได้พยายามแก้ไขปัญหาภาพรวม โดยการดำเนินงานปฏิรูปการศึกษา หรือ 5 Big Rock คือ 1. การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษาตั้งแต่ระดับปฐมวัย 2. การพัฒนาการจัดการเรียนการสอนสู่การเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 3. การปฏิรูปกลไกและระบบผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน 4. การจัดอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีและระบบอื่นๆ ที่เน้นการฝึกปฏิบัติอย่างเต็มรูปแบบนำไปสู่การจ้างงานและการสร้างงาน 5. การปฏิรูปบทบาททางการวิจัยและระบบธรรมาภิบาลของสถาบันอุดมศึกษา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางอย่างยั่งยืน
ดร.วรากรณ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา Big Rock ที่ 1 การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด โดยมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เป็นหน่วยงานหลักในการแก้ปัญหา สามารถให้ทุนสำหรับเด็กเปราะบาง ยากจน เป็นความช่วยเหลือที่จำเป็นและทำได้ทันที ซึ่งในส่วน Big Rock อื่นๆ ก็ยังคงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาในภาพใหญ่ และที่ผ่านมาสถานการณ์โควิด-19 ก็มีผลอย่างมากในการสร้างความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งทาง กศส.ได้จัดทำ “ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับคุณภาพการศึกษา ภายใต้สถานการณ์โควิด-19” และหนังสือ “พลิกโฉมการศึกษาไทย บันไดสู่คุณภาพการศึกษาที่ทั่วถึงและเท่าเทียม” ที่สรุปผลการดำเนินงานของทั้ง 5 Big Rock ในช่วงที่ผ่านมา ผลกระทบต่อสภาวะการเรียนรู้ที่ถดถอย สภาพจิตใจของนักเรียน ครูและผู้ปกครอง
รวมถึงความเสี่ยงของการหลุดออกนอกระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชน เพราะเป็นการซ้ำเติมเด็กยากจนที่อยู่ในโรงเรียนขนาดเล็ก 1 ล้านคน และในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 8 ล้านคน ด้านการสูญเสียโอกาสการเรียนรู้อ่านออกเขียนได้ รวมถึง 1 ใน 3 ของเด็กขาดอุปกรณ์การเรียนรู้ ครอบครัวขาดรายได้ ไม่มีงานทำ รัฐบาลต่อไปจะต้องเข้ามาดูแลแก้ไขเยียวยา เมื่อ “คนคือหัวใจของการเปลี่ยนแปลง การทำให้คนมีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากการศึกษา พรรคกำหนดนโยบายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ได้ เราก็เลือกพรรคที่จะนำนโยบายที่ถูกต้องนำไปสู่การปฏิบัติ การรับฟังนโยบายจาก 8 พรรคครั้งนี้จะเกิดการเรียนรู้ไปด้วยกัน การเรียนรู้และรับฟังความเห็นและนำไปแก้ไข ทั้งการจัดการงบประมาณ วิธีการแก้ไข หลักสูตรสมรรถนะที่สอนให้คนทำเป็น ไทยมีตัวอย่างมากมาย เช่น เรียนภาษาอังกฤษ 12 ปี แต่เราไม่สามารถใช้งานได้ แต่ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หากร่วมกันคนละไม้คนละมือ เพราะสุดท้ายการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับคน หากไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ไม่นำไปใช้ก็ไม่เกิดประโยชน์” รศ.ดร.วรากรณ์กล่าว
ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ได้นำเสนอ TEP whitepaper หรือสมุดปกขาวที่มีการสรุปปัญหาและความท้าทายของระบบการศึกษาไทย บทเรียนจากความพยายามปฏิรูปที่ผ่านมา และประเด็นท้าทาย 4 ประการในการปฏิรูประบบการศึกษาไทย คือ 1. การปรับหลักสูตรแกนกลางครั้งใหญ่ให้เอื้อต่อการเรียนรู้สมรรถนะ 2. การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กและบุคลากรครูเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ 3. การป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียน 4. การปรับวัฒนธรรมการทำงานให้กล้าทำสิ่งใหม่
ดร.สมเกียรติกล่าวต่อว่า ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) มี 5 ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง และรัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะรมว.ศึกษาธิการคนใหม่ ว่าควรมีนโยบายดังนี้ 1. ควรเร่งปรับให้มีหลักสูตรแกนกลางใหม่ภายใน 3 ปี โดยออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่อิงกับฐานสมรรถนะ จากการเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร 2. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายและแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน โดยอาจนำข้อเสนอของธนาคารโลกเป็นจุดตั้งต้น และเสริมด้วยการให้แรงจูงใจแก่ครูในการย้ายไปสอนในโรงเรียนฮับ (Hub School) หรือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (Small Protected School) โดยพิจารณาปรับเกณฑ์การประเมินเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือวิทยฐานะของครู
3. กำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการและประสานหน่วยงานต้นสังกัดสถานศึกษาอื่น ให้ทบทวนและยกเลิกโครงการต่างๆ ที่มีอยู่ ซึ่งไม่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของนักเรียนหรือการพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการสอนของครูตามหลักสูตรใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 4. ประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษาในทันทีที่รับตำแหน่ง และรณรงค์ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของเด็ก และ 5. สร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการมีวัฒนธรรมแบบใหม่ในการทำงานที่เปิดกว้างในการรับฟังความเห็น กล้าทดลองสิ่งใหม่ ไม่สั่งการจากเบื้องบนลงไปโดยไม่เข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อโรงเรียน