‘มูลนิธิข้าวขวัญ’ ที่ชายผู้นี้ก่อตั้งมาไม่น้อยกว่า 40 ปี ผลักดันเรื่องชีววิถี เกษตรอินทรีย์ ข้าวปลอดสารเคมีมายาวนาน ตลอดระยะเวลาที่ผันผ่าน กระทั่งปัจจุบัน ยังคงเจอแรงเสียดทานจากนายทุน และปัจจัยอื่นๆ
จึงน่าสนใจว่าจังหวะก้าวปัจจุบันของมูลนิธิเป็นไปในทิศทางใด
เขายังได้รับการยอมรับให้เป็นหมอพื้นบ้าน เนื่องจากเขาทำน้ำมันกัญชาเพื่อการแพทย์ แจกผู้คนมาต่อเนื่องไม่น้อยกว่าแสนคน จากการเก็บข้อมูลอย่างละเอียด เขาพบว่า โรคภัยต่างๆ หายขาดไม่น้อยกว่า 80% โดยมีจุดเริ่มต้นจากการที่เขาทดสอบด้วยตนเอง เนื่องจาก เมื่อทำงานมาหลายปี เขามีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งยาในปัจจุบันรักษาไม่ได้ ทำได้แค่ประคองอาการ แต่เขาอยากหาย จึงหาวิธี กระทั่งได้รับการบอกกล่าวถึงภูมิปัญญาการใช้สารสกัดกัญชารักษาโรคภัยจากพระอาจารย์ที่นับถือ แล้วนำมาใช้กับตนเองในปริมาณที่เหมาะสม ในที่สุด โรคภัยทั้งหมดที่เกิดกับเขา หายไปอย่างสิ้นเชิง
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘เดชา ศิริภัทร’ ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ ไม่ว่าในบทบาทของการก่อตั้งมูลนิธิอันพลิกฟื้น สร้างองค์ความรู้ให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนโดยไม่ใช้สารเคมี
อีกทั้ง ยังเป็นผู้ทำน้ำมันกัญชาเพื่อการแพทย์ มอบให้แก่ผู้คน
นำไปสู่อุปสรรคมากมายที่ต้องเผชิญรวมทั้งแรงเสียดทานจำนวนไม่น้อย กระทั่ง เคยมีห้วงเวลาที่ภาคประชาชนจำนวนมาก ออกมาปกป้อง เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับเขา และขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในโลกโซเชียลว่า #saveเดชา
ภูมิปัญญาทั้งในด้านการเกษตรและการทำน้ำมันกัญชาทางการแพทย์ แจกและอบรมให้กับผู้คนที่สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ องค์ความรู้ที่เขามี ทำให้หน่วยงานภาครัฐต้องยินยอมน้อมรับว่าเขาคือ ‘หมอพื้นบ้าน’ ได้ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้กับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แม้แต่กระทรวงสาธารณสุขก็นำยาน้ำมันกัญชา ขึ้นในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ทว่า ยังคงมีข้อจำกัดอีกหลายประการ ที่ประชาชนอาจยังเข้าไม่ถึง หรือไม่ได้รับสารสกัดกัญชาจากภาครัฐในปริมาณที่เหมาะสมพอ
ด้วยเหตุนั้น เขาจึงยังคงอบรม ถ่ายทอดภูมิปัญญาสารสกัดน้ำมันกัญชาให้แก่ผู้คนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถนำไปทำและใช้ด้วยตนเองได้อย่างปลอดภัย
บทสนทนายังย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของแนวคิด หลักธรรม ที่เขายึดถือไว้เป็นหลักไมล์ของชีวิต ที่ให้แง่คิดอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ดังถ้อยความนับจากนี้
การงานคือการปฏิบัติธรรม
ถามว่า นับแต่เมื่อครั้งที่คุณริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญ อะไรคือหลักคิดในการดำเนินชีวิตของคุณ ที่ทำให้คุณก่อตั้งมูลนิธิแห่งนี้ขึ้น กระทั่งถึงปัจจุบัน คุณก็ยังดำเนินชีวิตแบบเกษตรอินทรีย์และทำน้ำมันกัญชาเพื่อผู้ป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คุณมีหลักคิดอย่างไร ในการทำสิ่งเหล่านี้
เดชาตอบว่า “ เริ่มจากการที่ผมไปบวช หรือย้อนไปไกลกว่านั้น คือเริ่มจริงๆ หลังจากที่แม่ผมเสีย ผมก็ตั้งใจจะทำสิ่งที่แม่ผมขอไว้ อย่างแรก แม่ผมขอว่า ขอให้ผมบวช ผมจึงตัดสินใจบวชและคิดว่าการบวชควรจะได้ประโยชน์ด้วย ดังนั้น ผมก็ตั้งใจไปบวชที่สวนโมกข์ (สวนโมกขพลาราม สถานศึกษาธรรมและปฏิบัติธรรม จ.สุราษฎร์ธานี ริเริ่มขึ้นโดยท่านพุทธทาสภิกขุ ) เพราะผมอ่านหนังสือท่านพุทธทาสเยอะ ซึ่งการบวชที่สวนโมกข์ นับเป็นเรื่องใหญ่
ผมอยู่ภาคกลาง ผมต้องไปบวชที่วัดชลประทานรังสฤษดิ์ให้ได้ก่อน ( วัดชลประทานฯ อาราธนาพระปัญญานันทภิกขุ เป็นเจ้าอาวาสใน พ.ศ. 2503) แล้วก็ต้องอยู่ที่นั่นเดือนนึง แล้วให้ท่านปัญญานันทะฯ คัดพระสิบรูปไปอยู่ที่สวนโมกข์
“เมื่อผมได้รับคัดเลือกให้ไปอยู่กับท่านพุทธทาส 1 พรรษา ผมเปลี่ยนอะไรไปเยอะมากครับ ผมรู้ว่าความสุขที่แท้จริงไม่ใช่วัตถุ ผมอยู่ที่นั่น 1 พรรษา ผมได้สัมผัสกับความสุขที่แท้จริง ความรู้สึกนี้ทำให้ผมไม่อยากสึก เพราะผมคิดว่าการบวชมีความสุขกว่า เมื่อเทียบกับชีวิตทั่วไป แต่ผมยังมีภาระคือลูกยังเล็กอยู่ แล้วก็มีงานที่ค้างไว้ ทิ้งไว้ เป็นงานกงสีของครอบครัว ผมก็ปรึกษาท่านพุทธทาส ท่านก็บอกว่า จริงๆ แล้ว การปฏิบัติธรรมก็มีความสุข แต่ถึงแม้เราไม่บวช เราก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ ผมก็สงสัย ‘เอ๊ะ! จะปฏิบัติอย่างไร ถ้าเราเป็นฆราวาส’ ท่านก็บอกว่า ให้ถือเอาการงานนี่แหละ เป็นการปฏิบัติธรรม” เดชาระบุ และเล่าเพิ่มเติมถึงคำสอนของท่านพุทธทาสว่า
การงานที่ปฏิบัติธรรม มีความหมายสำคัญ 2 ประการ
ประการแรก คือการงานที่ไม่เบียดเบียนทั้งตนเองและผู้อื่น
ประการที่สอง ต้องบำเพ็ญทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ซึ่งทำให้เดชาหวนทบทวนและมองว่างานเดิมของตนเอง ทำประโยชน์ให้แก่ครอบครัวตนเท่านั้นและเบียดเบียนสัตว์ด้วย จึงตั้งใจไปหางานใหม่ ซึ่งเดชาก็ได้งานเป็นอาสาสมัครองค์กรพัฒนาเอกชน ( NGOs : Non Governmental Organizations ) แห่งหนึ่ง
บนหนทางที่เลือกเดิน กำเนิดมูลนิธิข้าวขวัญ
เดชาเล่าว่า “งานอาสาสมัคร ทำให้ผมได้มีโอกาสไปทำงานกับชาวนาที่อิสานอยู่ 5 ปี ทำเกษตรปลอดสารเคมี เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านไปด้วย เมื่อผ่านไป 5 ปี ผมก็รู้สึกว่าอยากทำงานแบบนี้ไปตลอดชีวิต ซึ่งผมก็ต้องไปทำที่บ้านเกิดผม ผมก็กลับมาก่อตั้งองค์กรตัวเองที่จังหวัดสุพรรณบุรี ชื่อศูนย์เทคโนโลยีเพื่อสังคม
( Technology for Rural and Ecological Enrichment : TREE ) เมื่อครบสิบปี ต่อมาก็จดทะเบียนเป็นมูลนิธิข้าวขวัญ รวมระยะเวลาในการทำงานด้านนี้ ก็ 30 กว่าปี เป็นงานที่ผมเลือกแล้วที่จะปฏิบัติธรรมในการทำงานที่เป็นประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน แล้วก็ไม่เบียดเบียน นี่คือหลักคิดตั้งแต่แรก
"แต่เมื่อทำมาหลายปีผมก็มีปัญหาด้านสุขภาพ ซึ่งยาในปัจจุบันรักษาไม่ได้ คือ ผมมีอาการความจำเสื่อมแล้วก็มือสั่น มีภาวะนอนแล้วหยุดหายใจ ( หมายเหตุ : Obstructive Sleep Apnea: OSA ภาวะการหยุดหายใจในขณะนอนหลับเป็นความผิดปกติอย่างหนึ่งของการหายใจที่เกิดจากมีการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น การหยุดหายใจขณะหลับนี้สามารถเกิดได้หลายครั้งในแต่ละคืน ส่งผลให้ไม่สามารถนอนหลับได้ตามปกติ ทำให้คุณภาพการนอนหลับแย่ลง ) หมอบอกว่ารักษาไม่ได้ ทำได้แค่ประคองอาการ แต่ผมอยากหาย ผมก็เลยหาวิธี” เดชาระบุ
จุดเริ่มต้นภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน และกัญชาทางการแพทย์
เดชาเล่าว่า เขาได้รับความรู้จากพระอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านบอกว่า การรักษาให้หายต้องใช้วิธีการที่ช่วยให้นอนหลับอย่างมีคุณภาพ
“การหลับเป็นการชี้วัดสุขภาพของเราได้ แต่ผมนอนหลับแบบไม่มีคุณภาพ ท่านก็บอกว่าวิธีคุณภาพและง่ายก็คือการใช้น้ำมันกัญชา แต่ว่า ต้องเป็นน้ำมันกัญชาที่สกัดเย็น และใช้ในปริมาณที่น้อย แล้วก็ต้องกินก่อนนอนให้พอดี เพื่อให้หลับให้ดีให้ได้ ผมก็ต้องปรับปริมาณให้เหมาะกับตัวเอง
“ผมก็นำกัญชามาสกัดแล้วเจือจาง ผมก็ลองกินตั้งแต่ 5 หยด 7 หยด 9 หยด ในที่สุดผมก็รู้ว่าผมจะหลับดีเมื่อผมกินประมาณ 10-20 หยด ต่ำกว่า 10 หยดก็ไม่ดี เกิน 20 หยดก็ไม่ดี เมื่อผมนอนหลับได้ดีแล้ว รอไปไม่ถึง 1 ปี อาการป่วยของผมก็หายหมดเลย กลายเป็นปกติแล้ว ผมก็เอะใจ ‘เอ๊ะ! มันใช้ได้ผลจริง แล้วโรคอื่นที่ผมไม่ได้เป็นล่ะ น้ำมันกัญชารักษาได้ไหม’ เมื่อถามพระอาจารย์ ท่านก็ตอบว่าได้ แต่ถ้ารักษาได้แล้ว ผมจะพิสูจน์ยังไง ผมก็แจกสิครับ ผมทำน้ำมันกัญชาให้พระท่านแจกชาวบ้าน ที่จังหวัดพิจิตรวัดนึง ที่สุพรรณวัดนึง ลพบุรีวัดนึง พระท่านก็เมตตาเอาไว้แจกชาวบ้าน ท่านก็แจกให้ แล้วผมก็ขอให้ลูกศิษย์ท่านช่วยจดข้อมูลไว้ด้วยว่าชาวบ้านที่รับน้ำมันกัญชาไปนั้น เขาอยู่ที่ไหน เป็นโรคอะไร ผลรักษาเป็นยังไง แล้วอาการก่อนรักษาเป็นยังไง รักษาแล้วดีขึ้นไหม ทุกโรค ปรากฏว่า ตัวเลขที่ผมได้มา ในปี พ.ศ.2562 คือ 8,000 กว่ารายแล้ว ส่วนใหญ่เป็นทุกโรคครับ คราวนี้ผมก็รู้แล้ว แต่ยังไม่ได้ประกาศเป็นทางการ”
เดชาระบุและเล่าเพิ่มเติมถึงกรณีที่ตนถูกจับกุม และโด่งดังไปทั่วประเทศ กระทั่งภาคประชาชนจำนวนมาก ออกมาปกป้อง เรียกร้องความเป็นธรรมให้เดชา และขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ในโลกโซเชียลว่า #saveเดชา
การยืนหยัดของ ‘หมอพื้นบ้าน’
จากกรณีที่เป็นกระแสไปทั่วทั้งสังคมไทย สื่อมวลชนแทบทุกสำนักรายงานข่าวการจับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ ที่จังหวัดสุพรรณบุรี และยึดต้นกัญชา 200 ต้น พร้อมทั้งอุปกรณ์การสกัดน้ำมันกัญชา
โดยตามข่าวอ้างว่าเป็นของ เดชา ศิริภัทร ที่ใช้ผลิตกัญชาเพื่อการแพทย์ แจกให้แก่ประชาชนเพื่อรักษาโรค โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมพรชัย ชูเลิศ เจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญ วันที่ 3 เม.ย.พ.ศ.2562
ขณะเดียวกัน ยังได้ออกหมายเรียกเดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวนาและผู้ศึกษากัญชาทางการแพทย์ในข้อหาครอบครองกัญชาโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่ง ณ ขณะนั้นเดชาอยู่ระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ โดยทั้งสองอยู่ระหว่างวิจัยประโยชน์ของกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์และมอบยาให้กับผู้ป่วย โดยไม่ได้แสวงหาประโยชน์ใดๆ
การจับกุมดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางความสงสัยกังขาของสังคม เนื่องจากในห้วงเวลานั้น กัญชาทางการแพทย์ยังอยู่ในระยะ 90 วันที่ให้มีนิรโทษกรรมตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 จึงมีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงยังมีการแจ้งข้อหาดังกล่าว
เดชาบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในห้วงนั้นว่า “เดือนกุมภาพันธ์ปี 2562 มีการนิรโทษกรรมฯ ในช่วงสามเดือน มีกัญชาทางการแพทย์ไม่ผิด ผมก็เผยแพร่เลย ว่าผมทำน้ำมันกัญชานะ ทำอย่างนี้ๆ และกำลังทำอะไรอยู่ ตามหลักแล้ว ระยะเวลานิรโทษกรรมฯ มีจนถึงเดือนพฤษภาคมนั้น ยังปลอดภัย แต่เขามาจับผมในเดือนเมษายน 2562 ( หัวเราะ ) ทั้งที่อยู่ในช่วงนิรโทษกรรมนะครับ
“เมื่อจับผมแล้ว เรื่องนี้ก็ดัง เพราะผมรักษาคนได้จริง แต่ช่วงนั้น มันอาจจะสุ่มเสี่ยงต่อการที่ยังผิดกฎหมายอยู่ เนื่องจากในตอนนั้น ผมยังไม่ใช่หมอ และน้ำมันกัญชายังไม่ได้ขึ้นตำรับเป็นยาถูกกฎหมาย เพียงแต่ว่ามันมีการนิรโทษกรรมฯไว้ แล้วผมก็รักษาคนได้จริงเป็นจำนวนมาก ญาติคนป่วย คนรู้จัก ก็ช่วยกันประท้วงให้ผม ตอนนั้นในทวิตเตอร์ #saveเดชา ก็ขึ้นอันดับหนึ่งเลย
“ดังนั้น คนก็เดือดร้อนกันมาก ในที่สุด เจ้าหน้าที่จึงไม่เอาผิดผม แต่เรื่องก็ไม่จบ เพราะผมไม่เลิกทำ ซึ่งถ้าผมยังทำ เขาก็ต้องจับ แต่เขาไม่คิดจะจับแล้ว ซึ่งถ้าไม่จับ ก็ถือว่าเจ้าหน้าที่ก็ผิดตามกฎหมายมาตรา 157 ( การกระทำความผิดตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ) ดังนั้น เขาจะจับผม หรือไม่จับผม เขาก็มีปัญหา” เดชาระบุ และเล่าเพิ่มเติมว่า
ในที่สุดเรื่องนี้ ต้องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี โดยนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร
( อาจารย์ยักษ์ ) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ ขณะนั้น ได้แจ้งให้เดชาทราบว่า เมื่อหารือกันในที่ประชุมแล้ว หาทางออกได้ในที่สุด
“อาจารย์ยักษ์ บอกผมว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ( นายกรัฐมนตรี ) ให้ผมสามารถทำน้ำมันกัญชาได้เหมือนเดิม เพื่อจะได้ไม่มีปัญหา แต่ทางราชการก็ต้องทำให้สิ่งที่ผมทำ เป็นสิ่งถูกกฎหมายด้วย เพื่อไม่ให้มีปัญหา ก็ตกลงแบบนี้ แล้วจากนั้น จึงมีการตั้งผมเป็นหมอพื้นบ้าน แล้วนำเอายากัญชาของผมขึ้นตำรับ
"เมื่อจบเรื่องแล้ว ผมก็เป็นหมอพื้นบ้าน ยาผมขึ้นตำรับ แต่ผมแจกเองได้ไม่เยอะหรอก ผมก็ยกให้กรมการแพทย์แผนไทยฯ ไปเลย ซึ่งเขาต้องนำไปวิจัยและแจกอย่างเป็นทางการ ส่วนผมเองก็แจก ในปี พ.ศ.2562 ไปจบปี พ.ศ. 2564 ก็วิจัยไปแล้วนับแสนกว่าคน ที่ใช้น้ำมันกัญชาของผมแล้วได้ผล รักษาได้ตั้งแปดโรค ซึ่งเป็นตัวเลขที่ชัดเจนมาก กระทรวงสาธารณสุขก็นำยาน้ำมันสารสกัดกัญชา ขึ้นในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร” เดชาระบุ และเล่าเพิ่มเติมว่า แม้จะมีการขึ้นในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรก็ตาม ประชาชนที่ป่วยในหลายๆ โรค ก็ยังถูกจำกัดการเข้าถึงยาน้ำมันสารสกัดกัญชา หรือผู้ที่ได้รับยา ก็ถูกจำกัดการใช้ ให้ใช้ในปริมาณน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรักษา ไม่ช่วยให้การนอนหลับของผู้ป่วยดีขึ้น
“ในที่สุด ผมต้องทำเอง ใช้เอง และต้องถูกกฎหมายด้วย ซึ่งก็ถูกกฎหมายในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ. 2565 เมื่อถูกกฎหมายแล้ว ชาวบ้านก็มีโอกาสที่จะทำใช้เองได้ด้วย สำหรับผม ผมต้องให้ความรู้จริงๆ แก่เขา ซึ่งปัจจุบันก็ยังอบรมกันอยู่ ผมจัดอบรมเป็นทางการ และมีการแจกน้ำมันกัญชาทุกสัปดาห์ ผมแจกคนสูงวัย อายุ 65 ปีขึ้นไป ผมให้ทุกคนที่มา ไม่ต้องป่วยก็ได้ เพื่อเอาไปใช้ฟื้นฟูความเสื่อมของสุขภาพร่างกาย
“ผมให้คนสูงอายุ เพราะเมื่อเขาใช้แล้วได้ผลจริงเขาก็นำไปเผยแพร่ต่อ เมื่อสุขภาพดีแล้วเขาก็สามารถทำประโยชน์ในชีวิตได้ เมื่อเขาหายเขาก็ไปเผยแพร่ให้คนรุ่นเดียวกัน และเผยแพร่ให้ลูกหลาน ญาตพี่น้อง นี่ก็เป็นยุทธศาสตร์ของผม เหล่านี้ก็เป็นงานที่ผมทำเกี่ยวกับกัญชาครับ แต่งานด้านเกษตรผมก็ยังทำอยู่นะครับ ทำเกษตร 5 วัน อีก 2 วันทำกัญชา” เดชาระบุ
ก้าวข้ามแรงเสียดทาน
อดถามไม่ได้ว่า น้ำมันกัญชาของคุณที่เล่าว่ารักษาได้ถึงแปดโรคนั้น คืออะไรบ้าง
เดชาตอบว่า “คือจริงๆ ถ้าไปดูข้อมูลของกรมการแพทย์แผนไทย จะพบว่ามีสามโรคนี้ แน่นอน คือ มะเร็ง พาร์กินสัน ไมเกรน ส่วนโรคอื่นๆ ที่ผมบันทึกข้อมูลไว้ก็อย่างเช่น โรคนอนไม่หลับ ซึมเศร้า ภูมิแพ้ เป็นต้น”
ทั้งนี้ ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า ยังมีประชาชนที่ป่วยในหลายๆ โรค ยังถูกจำกัดการเข้าถึงน้ำมันกัญชา หรือผู้ที่ได้รับยา ก็ถูกจำกัดการใช้ ให้ใช้ในปริมาณน้อย ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรักษานั้น เดชากล่าวว่า
“ถ้าปล่อยเป็นแบบนี้ เราต้องให้ชาวบ้านทำใช้เองในส่วนผสมที่ถูกต้อง แล้วก็เผยแพร่กันเอง เขาจะได้ไม่ต้องไปซื้อใต้ดินที่ผิดกฎหมายและไม่ได้ผล นี่คือ อีกยุทธศาสตร์ของเรา คือผลักดันให้น้ำมันสารสกัดกัญชาถูกกฎหมาย
“เมื่อถูกกฎหมายแล้วก็เผยแพร่กันได้ จนกระทั่ง ฝ่ายที่ไม่ชอบ เขาพยายามจะผลักดันให้กัญชาเป็นสิ่งเสพติดตามเดิม เราก็วิเคราะห์ว่า คนที่เสียผลประโยชน์ทั้งนั้น เพราะกัญชาทำให้เหล้า เบียร์ บุหรี่ มียอดขายตกลงมาก
นอกจากนั้น ยาบ้าก็ขายได้น้อยลงและราคามันตกต่ำมาก ก่อนหน้านี้ ยาบ้าเม็ดละ 200 ตอนนี้ 3 เม็ด 100 บาท ยังขายยากเลยครับ เพราะว่าใช้กัญชาแทนได้ กัญชาใช้แล้วไม่ติด และกัญชายังมีส่วนช่วยให้เลิกยาบ้า เลิกเหล้า เลิกบุหรี่เลิกเบียร์ได้ด้วย รวมทั้งยานอนหลับ ยาแก้ปวด ก็ขายได้น้อยลง
“ผู้เสียผลประโยชน์เหล่านี้เขาเดือดร้อน อาทิ บริษัทยาก็ต้องหาตัวแทนมารณรงค์ ซึ่งคนเหล่านี้เขาเสียประโยชน์ แต่เมื่อชาวบ้านนั้นได้ประโยชน์จากน้ำมันกัญา เราก็ไม่กลัว เพราะชาวบ้านเขารู้แล้วว่า มันไม่มีโทษ
และยังมีงานวิจัยในต่างประเทศที่พบว่ากัญชาไม่มีโทษ
"แม้แต่ตัวผมเอง จากที่ความจำเสื่อมก็หายได้เพราะกัญชา จากที่ผมหยุดหายใจตอนนอน มือสั่น ก็หาย ผมหายหมดทุกโรค ผมรักษาคนเป็นแสนคน หายจากโรคกว่า 80% แต่ผู้เสียผลประโยชน์เขาก็ไม่ยอม” เดชาระบุ และกล่าวเพิ่มเติมโดยยกตัวอย่าง ว่า ศาสตราจารย์ Raphael Mechoulam (ราฟาเอล เมคูลัม ) ชาวอิสราเอลที่ศึกษาเรื่องกัญชา ยืนยันว่ากัญชามีประโยชน์
โรงพยาบาลในอิสราเอลมีการใช้อย่างแพร่หลายมาก และคนสูงอายุในอิสราเอล มีสิทธิ์ได้รับกัญชาไปสูบ เป็นสวัสดิการอย่างหนึ่ง ช่วยให้อารมณ์ดี สุขภาพดี อายุยืน โรคภัยไม่มี
“คุณไปดูอิสราเอล เขาเก่งมากเรื่องกัญชาสมัยใหม่ ต้องไปอ่านงานของบิดาแห่งกัญชาท่านนี้ คือ ‘ราฟาเอล เมคูลัม’ นักเคมีชาวอิสราเอล ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งกัญชาทางการแพทย์สมัยใหม่ เขาได้รางวัลโนเบลด้วย
“ดังนั้น ผู้ที่กล่าวว่ากัญชาเป็นโทษ คุณต้องเอางานวิชาการมากาง มาอ้าง แล้วเหล้าบุหรี่ เป็นโทษ ทำไมไม่ต่อต้านบ้าง เงียบกริบเชียว ทั้งที่เหล้า บุหรี่ คือยาเสพติดที่แท้จริง alcoholism รักษายากมาก แล้วเวลาเมาเหล้าก็ตีกันตาย ขับรถชนคน ยังปล่อยให้กินกันได้ เรื่องของกัญชา ต้องใช้วิทยาศาสตร์มาอ้างอิง ไม่ใช่ใช้อคติและต้องไม่มีผลประโยชน์มาเกี่ยวข้อง ไม่มีผู้เสียผลประโยชน์มาต่อต้าน ข้อมูลปัจจุบัน ข่าวสารเกี่ยวกับกัญชาก็มีให้อ่านทั่วถึงกันทั้งโลก” เดชาระบุ
ถามว่า หากว่าคนที่ได้ฟัง ได้อ่านข่าวคราวน้ำมันกัญชาของคุณแล้วเขาต้องการ จำเป็นต้องเดินทางไปหาคุณที่สุพรรณบุรี หรือไปหาได้ที่ไหนบ้าง
เดชาตอบว่า “ผมเป็นหมอพื้นบ้านสุพรรณบุรี ผมจึงต้องทำงานในเขตสุพรรณฯ ครับ กฎหมายกำหนดไว้ ผมก็เคารพกฎหมาย แต่มาหาผมถึงที่นี่ก็ลำบาก และผมก็แจกให้เฉพาะคนสูงอายุ เพื่อให้เขาฟื้นร่างกาย คนสูงอายุเหล่านี้ก็สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้ เพราะลูกหลานเขาเยอะ
"ดังนั้น ถ้ามาหาผม ผมก็ไม่ได้ให้ทุกคน คุณก็ต้องลองมาอบรมครับ และนำไปทำใช้เอง เราเปิดโอกาสผ่านการอบรมที่จัดขึ้นทุกเดือน มาอบรมแล้วไปทำใช้เอง ไปเผยแพร่กันเองครับ ผมไม่หวงความรู้ คนที่ทำเป็นแล้ว ก็ไปสอนคนอื่นต่อได้ ไม่ยาก และถูกกฎหมายด้วย ยาของผมถูกกฎหมาย ทำได้ง่าย ราคาถูก เพราะเป็นสารสกัดที่ไม่มียาเสพติด แต่ถ้าไปทำแบบใต้ดินนั้นจะมีสารเสพติด อย่าไปทำ” เดชาบอกกล่าวอย่างห่วงใยต่อผู้ที่สนใจ
หลักธรรมนำชีวิต
ถามว่า จากที่คุณเล่ามา มีแรงเสียดทานที่ต้องเผชิญเยอะพอสมควร คุณใช้หลักอะไร ในการยืนหยัดต่อสู้กับแรงเสียดทานเหล่านั้น ทั้งงานเกษตรชีววิถีและการทำน้ำมันสารสกัดกัญชาเพื่อทางการแพทย์
เดชาตอบว่า “ผมยึดหลักตามที่ท่านพุทธทาสท่านสอนไว้ ว่า ทำตามสติปัญญา ทำในสิ่งที่ดี สิ่งที่ชอบ ทำไป ได้หรือไม่ได้ก็ทำไปตามความสามารถเรา ทำไม่ได้ก็เสมอตัวเพราะไม่ได้คาดหวัง แต่ถ้าทำได้ก็ถือว่ามีแต่กำไรชีวิต เพราะฉะนั้น ชีวิตผมมีแต่กำไรครับ
“ผมนำธรรมะของท่านพุทธทาสมาใช้ เราตั้งใจทำให้ดีที่สุด นี่ก็คือหลัก รวมทั้งหลักแห่งความสันโดษ คือทำได้เท่าไหร่ก็ให้พอใจในสิ่งที่ทำ เพราะถ้าไม่พอใจ แล้วจะทุกข์เปล่าๆ
"เพราะฉะนั้น หลักแห่งความสันโดษกับความไม่คาดหวัง คือหลักเดียวกัน ที่ท่านพุทธทาสท่านนำมาประยุกต์ อะไรที่คิดว่าดีก็ทำไปเลย ทำให้ดีที่สุด ผมทำเต็มที่ ในการทำงานของผมก็คือการปฏิบัติธรรม เพราะผมไม่ได้เบียดเบียนใคร และเป็นประโยชน์ ผมก็ได้ทั้งธรรมมะและได้บุญทุกวัน และผมแก่แล้ว อีกไม่นานผมก็คงตายแล้ว เมื่อผมมีบุญผมจะกลัวตายทำไม ตราบที่ยังมีชีวิต ก็อายุยืนยาวนานโดยไม่เจ็บไม่ป่วย สุขภาพดี และเราก็ยังมีโอกาสที่จะทำบุญให้มากขึ้นๆ เพราะเป็นเฮือกสุดท้ายของชีวิตแล้ว ทำแบบนี้แล้ว ผมได้ทั้งความสุขในปัจจุบัน และในอนาคตด้วย
“เงินทองไม่จำเป็น ผมไม่ได้เดือนร้อนเรื่องเงิน ผมทำในสิ่งที่จำเป็นกว่านั้น
‘อโรคยา ปรมา ลาภา ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ’ ผมมีสิ่งนี้แล้ว
"ได้ทำบุญผมก็ได้ทำแล้ว ทำมาเป็นสิบปีแล้ว แล้วผมก็ทำได้ตลอดตราบใดที่ผมยังไม่ตาย
นี่คือวิธีคิดแบบผม เราได้ทำบุญอยู่ทุกวัน เงินซื้อไม่ได้ ต้องทำเอง คุณไม่ต้องเชื่อ แต่พิสูจน์ด้วยตัวเอง คือเอาการงานเป็นการปฏิบัติธรรม การงานของผมคือ ไม่เบียดเบียนใคร และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและตนเอง
ผมก็ได้สุขภาพที่ดี ได้ความสุขด้วย ผู้คนที่ผมให้ไป ก็ได้รับความสุขเช่นกัน
“แล้วผมให้ฟรี ผมสอนฟรี ตราบใดที่ยังไม่ตาย ผมก็ทำให้ดีที่สุด อะไรถูกต้องก็ทำไปตามนั้น ส่วนเงินทองของมายาทั้งนั้น เราต้องนำธรรมมะมาใช้และปฏิบัติให้ได้ แล้วจะได้รู้ว่าจริงหรือไม่ ทำให้เต็มที่
ชีวิตของผมก็เป็นแบบนี้แหละครับ เป็นสิ่งที่ผมเลือกแล้ว” เดชาบอกกล่าวอย่างเชื่อมั่น
พลิกฟื้นจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ
ถามย้อนไปถึงมูลนิธิข้าวขวัญ ที่คุณก่อตั้งมาไม่น้อยกว่า 40 ปีแล้ว ผลักดันเรื่องชีววิถี เกษตรอินทรีย์ ข้าวปลอดสารเคมีมายาวนาน กระทั่งปัจจุบัน ยังเจอแรงเสียดจากนายทุน หรือปัจจัยอื่นใดอีกบ้างไหม จังหวะก้าวปัจจุบันของมูลนิธิแห่งนี้เป็นไปในทิศทางใด
ประธานมูลนิธิข้าวขวัญตอบว่า “ภารกิจเราจบไปนานแล้วครับ ถ้ามองในเชิงเป้าหมายที่เราจะสร้างโมเดลหรือต้นแบบการเกษตรที่ถูกต้อง และเป็นตัวอย่างได้ โดยเฉพาะเรื่องข้าว เราสร้างเกษตรกรที่เป็นต้นแบบ ได้รับรางวัลเกษตรกร ดีเด่นแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2538 คือคุณชัยพร พรหมพันธุ์
เพราะฉะนั้น เราสร้างต้นแบบตามที่ท่านพุทธทาสสอนไว้ว่าจะสอนใคร ต้องทำตัวอย่างให้ดู เราทำตัวอย่างแล้ว เกษตรกรจะนำไปขยายผลหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับตัวเขาว่าจะทำหรือไม่ทำ เอาหรือไม่เอา ซึ่งเราพบว่าใครที่ไม่เอา ก็เป็นปัจจัยอื่นที่เราควบคุมไม่ได้
“ยกตัวอย่างง่ายๆ นะครับ ประการแรก การเกษตรปัจจุบันนี้ มีการใช้ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า เครื่องจักรที่ทำลายคุณภาพดิน น้ำ ทำลายธรรมชาติ ทำลายสุขภาพ แต่คนก็ยังใช้กัน เพราะมีการโฆษณาล้างสมองทุกวัน
"ประการต่อมา คือรัฐบาลถูกเอกชนกดดันไม่ให้เก็บภาษีนำเข้า ไทยนำเข้า ปุ๋ย สารเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้าทั้งหลาย เกิน 90% ไม่เสียภาษีเลย ตั้งแต่ปี 2534 แล้ว นี่คือสิ่งผิดปกติแล้ว เพราะแม้แต่อาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ยังเก็บภาษีนะครับ แต่สารเคมีเหล่านี้ ไม่ต้องเก็บภาษี เป็นแบบนี้เพราะอะไร
"ประการที่สาม ไทยไม่มีกองทุนส่งเสริมเกษตรที่ดีพอ ไม่มีเลย
เราเคยเสนอ ตั้งแต่ปี 2543 ตั้งแต่รัฐบาล ครม.ทักษิณ 1
เราของ่ายๆ คือ ข้อ 1. เลิกโฆษณา ข้อ 2. เก็บภาษี อะไรมีพิษมาก ก็จ่ายภาษีแพง ข้อ 3. เอาภาษีส่วนหนึ่ง มาตั้งกองทุน แบบ สสส. ด้วย ( สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ )
ทำแค่นี้ ไม่เสียเงินสักอย่าง หากทำ 3 มาตรการนี้ จะทำให้ปุ๋ยเคมีหายไปเอง และคนก็หันมาทำเกษตรอินทรีย์เอง แล้วทุกอย่างจะไปได้ดี
“เราเสนอไปตั้งแต่ ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน ทุกรัฐบาลเลยครับ เพียงแค่มาตรการเดียว ที่เราเคยขอ ก็ทำไม่ได้ ห้ามโฆษณา ก็ทำไม่ได้ เก็บภาษี ก็ทำไม่ได้ ตั้งกองทุนก็ทำไม่ได้ ทำไม่ได้สักข้อเดียวครับ ไม่มีรัฐบาลไหนที่สามารถทำได้เลย
เพียงแค่สามข้อนี้ รัฐบาลไม่ทำ แล้วจะให้ผมทำอย่างไร เพราะในส่วนตัวผม ผมทำภารกิจของผมเสร็จสิ้นแล้ว และตอนนี้ มูลนิธิข้าวขวัญของผม หันมาทางมิติทางจิตวิญญาณ เข้าถึงธรรมชาติ คือพระแม่โพสพ พระแม่ธรณี พระแม่คงคา
“อะไรที่เป็นบุญกุศล ผมก็ดึงคนมาทางนี้ เพื่อให้เขาเห็นว่าการใช้สารพิษ ทำลายธรรมชาติเหล่านี้ก็เป็นบาป คุณอย่าไปทำบาป ใช้สารเคมี ทำลายน้ำ ทำลายดิน ทำลายธรรมชาติ ทำลายสุขภาพ เป็นมิติที่ผมริเริ่มขึ้นมา เป็นมิติทางจิตวิญญาณ แต่ผมไม่ได้มัวเมานะ ผมเพียงให้คุณรื้อฟื้นการเคารพต่อพระแม่โพสพ พระแม่คงคา พระแม่ธรณี แบบนี้ เพื่อให้เป็นอีกมิติหนึ่ง เนื่องจากการทำงานในมิติเดิม ผมทำไปหมดแล้ว และรอการเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาล หรือประชาชน” เดชาระบุ
ประธานมูลนิธิข้าวขวัญกล่าวเพิ่มเติมว่า การรื้อฟื้นมิติทางจิตวิญญาณและความเชื่อเหล่านี้ขึ้นมา นับว่าเป็นมิติที่สวยงาม
เช่น คำว่า ‘ข้าวขวัญ’ หมายถึงเป็นข้าวศักดิ์สิทธิ์ เป็นชื่อของมูลนิธิ
แต่จริงๆ แล้ว มีประเพณีข้าวขวัญที่เป็นรูปธรรมคือ เป็นตำรับในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการรังสรรค์ขึ้นเพื่อรับขวัญพระราชโอรสที่ไปเรียนต่างประเทศ จากไปหลายปี เมื่อกลับมาก็มีการรับขวัญโดยทำบายศรีสู่ขวัญ แล้วให้เสวยอาหารข้าวขวัญเป็นหลัก ถือเป็นข้าวศักดิ์สิทธิ์ ให้เสวยเฉพาะท่านที่กลับมาจากเมืองนอก แล้วก็ให้เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ป่วย ที่ไม่คิดว่าจะรอดชีวิต แล้วรอดกลับมาได้ ก็มีการรับขวัญด้วยการบายศรีสู่ขวัญแล้วให้เสวยข้าวขวัญเช่นกัน แต่พิธีเหล่านี้ก็เลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6
“เราก็ฟื้นมาใหม่ ให้เป็นข้าวศักดิ์สิทธิ์ เชิญคนมากิน จะได้เป็นมงคล
เมื่อเร็วๆ นี้ที่เราทำพิธีบายศรี คนก็ชื่นชมกันมาก เพราะเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ แล้วก็พลิกฟื้นการบวงสรวงขึ้นมา เป็นเรื่องของจิตวิญญาณอย่างแท้จริง ที่ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ หรือการค้ามาเกี่ยวข้อง
ข้าวขวัญเราก็มาทางนี้ แต่ในเรื่องมาตรการที่ผลักดันไปสามข้อ เราก็รอให้รัฐบาลทำให้สำเร็จ ส่วนเราก็มาทำงานทางจิตวิญญาณ งานระยะยาวก็คงต้องเป็นแบบนี้ เป็นสายโลกุตระที่อยู่ท่ามกลางโลกิยะ
"โดยพื้นเดิมคนไทยเรานิสัยดี จิตใจดี ไม่เอาเปรียบ
เหล่านี้ คือมรดกของเรา ทำให้ดี ให้มั่นคง ยั่งยืน สามารถนำไปผลักดันกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงวัฒนธรรมได้ โดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เรามีอยู่ ใช้สิ่งดีๆ ที่เรามีอยู่ ให้พลิกฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง” ประธานมูลนิธิข้าวขวัญกล่าวทิ้งท้ายถึงทิศทางที่ก้าวเดินไปด้วยความอิ่มสุขและเต็มเปี่ยมในจิตวิญญาณที่ผสานกับความเชื่อ ศรัทธา
อันเป็นกุสโลบายให้น้อมนำมาสู่การปกปักรักษาธรรมชาติให้รอดพ้นจากการถูกทำลายด้วยสารเคมี แต่เป็นเกษตรอินทรีย์ เป็นชีววิถีที่ยั่งยืนและมั่นคง
…..
Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By : มูลนิธิข้าวขวัญ, PRAEW.COM, แฟ้มภาพ