ประเทศไทยตั้งอยู่ในแผ่นดินของแหลมทอง ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ อีกทั้งยังมีชื่อจังหวัดและตำบลที่เกี่ยวกับทองอยู่มากมาย เช่น กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ตำบลบ่อทอง ตำบลร่อนทอง เมืองกำเนิดนพคุณ เป็นต้น แสดงว่าเกลื่อนไปด้วยทอง มีการขุดทองจำนวนมากมาตั้งแต่กรุงสุโขทัย หลวงพ่อทองคำวัดไตรมิตร เป็นทองคำแท้หนักถึง ๕.๕ ตันที่สร้างในสมัยกรุงสุโขทัยยืนยันได้เป็นอย่างดี และยังพบพระพุทธรูปทองคำอีกหลายองค์ ที่ถูกโบกปูนซ่อนไว้เชื่อว่าวันนี้ก็ยังมีอยู่
ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่มีชาวตะวันตกเข้ามามาก ต่างตลึงไปตามกันที่บ้านเมืองเหลืองอร่ามไปด้วยทอง ตั้งแต่ยอดปราสาทจนถึงโต๊ะและจานอาหารที่ทรงเลี้ยงตอนรับล้วนทำด้วยทองคำ ลาลูแบร์ ราชทูตจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ บันทึกจดหมายเหตุไว้ว่า สยามเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุด ห้องหับในพระราชสำนัก รวมทั้งกำแพงวังและกำแพงโบสถ์ดาดด้วยทอง เครื่องใช้ไม่สอยของพระเจ้าแผ่นดินและขุนนางชั้นสูงล้วนทำด้วยทองคำ ส่วนบาทหลวงตาชาร์ดจากฝรั่งเศสที่เข้ามาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเช่นกัน บันทึกไว้ในจดหมายเหตุการณ์เดินทางว่า พระเจ้ากรุงสยามทรงต้อนรับด้วยการจัดเครื่องอาหารเป็นโต๊ะทองคำ จานทองคำ ทั้งยังพระราชทานเสื้อผ้าตาดทอด้วยเงินแล่งกับทองคำแล่ง มีกระดุมถักด้วยลวดทองคำ
ทำให้นึกถึงคำพูดที่เปรียบเปรยว่า “ถ้าประเทศไทยถ้าไม่มีคอรัปชัน ถนนสามารถปูได้ด้วยทองคำ”
พงศาวดารได้บันทึกไว้ว่า แหล่งที่มีการผลิตทองของกรุงศรีอยุธยาก็คือ “เมืองกำเนิดนพตุณ” ในสมัยนั้นยังเป็นตำบลเล็กๆขึ้นกับเมืองกุยบุรี มีชื่อว่า “บางสะพาน” ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯให้ตั้ง “ตำบลบางตะพาน” เป็นเมืองมีชื่อว่า”เมืองกำเนิดนพคุณ” หมายถึงทองคำเนื้อเก้า ซึ่งเป็นทองคำเนื้อดีที่สุด ในประชุมประกาศรัชกาลที่ ๔ บันทึกไว้ว่า ทองคำที่ซื้อขายกันนั้นเรียกตามเนื้อและตามราคา เช่น ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๔ บาท เรียกว่า ทองเนื้อสี่ ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๕ บาท เรียกว่า ทองเนื้อห้า ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๘ บาท ๒ สลึง เรียกว่า ทองเนื้อแปดสองขา ทองหนักบาทหนึ่งเป็นเงิน ๙ บาท เรียกว่าทองนพคุณเนื้อเก้า ดังนั้นทองนพคุณ จึงหมายถึงทองที่มีราคาสูงที่สุด มีความบริสุทธิ์ถึง ๙๗-๙๙ เปอร์เซ็นต์ สุกปลั่งสวยงาม
การขุดทองที่เมืองกำเนิดนพคุณเริ่มปรากฏในพงศาวดารว่า ในปี พ.ศ. ๒๒๙๐ พระกุยบุรี เจ้าเมืองกุยบุรี ได้มีหนังสือแจ้งมายังกรุงศรีอยุธยาว่า ได้พบทองคำที่ตำบลบางสะพานแขวงเมืองกุยบุรี พร้อมกับส่งทองหนัก ๓ ตำลึงมาถวาย พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงรับสั่งให้ข้าหลวงคุมพลจำนวน ๒ พันคนลงไปตั้งกองร่อนทองที่บางสะพานเป็นเวลาปีเศษ ได้ทองคำมา ๙๐ ชั่งเศษ หรือราว ๕๔ กิโลกรัม โปรดให้นำไปหุ้มมณฑปพระพุทธบาทสระบุรี แล้วเลื่อนพระกุยบุรีขึ้นเป็นพระยาวิเศษสมบัติ แต่ทองที่หุ้มนี้ถูกลอกหายเรียบไปแล้วเมื่อเสียกรุงครั้งที่ ๒
จากนั้นก็มีการขุดทองที่บางสะพานมาตลอด โดยใช้วิธีแบบชาวบ้านคือร่อนทองหรือทำเมืองฉีด จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ ๓๐๐ ปีแล้วก็ยังได้ทองกันมาตลอดไม่มีวันหมด ทั้งนี้เมื่อฝนตกหนักน้ำป่าจะพัดดินริมคลองทองหรือริมลำธารให้ทลายลงมา เม็ดทองนพคุณที่แทรกอยู่ในดินทั่วไปก็จะไหลลงมาในลำธาร
ในอำเภอบางสะพานมีนามสถานที่เกี่ยวข้องกับทองอยู่ ๓ ตำบล คือ ตำบลกำเนิดนพคุณ ตำบลทองมงคล ตำบลร่อนทอง และยังมีชื่อหมู่บ้านป่าร่อน คลองทอง ยืนยันถึงการเป็นแหล่งทองได้อย่างดี
ทุกวันนี้แม้จะมีทองน้อยลง แต่ก็ยังเหลือคนที่ยึดอาชีพร่อนทองอยู่บ้าง ส่วนใหญ่แล้วจะถือเป็นงานอดิเรกร่อนกันในเวลาว่าง เพราะเชื่อกันว่าทองนพคุณเป็นของมงคล สามารถป้องกันภัยอันตรายแก่ผู้ครอบครอง คนกลุ่มนี้เมื่อได้ทองมามักจะไม่ขาย เก็บไว้เป็นมงคลแก่ชีวิต บ้างก็นำเม็ดทองที่ร่อนได้มาทำเป็นจี้ห้อยคอเป็นสิริมงคลแก่ตัว และเมื่อมีนักท่องเที่ยวสนใจไปชมกันมาก จึงมีการจัดบริการให้นักท่องเที่ยวร่อนหาทองเอง เป็นรายการหนึ่งที่ได้รับความนิยมในการไปท่องเที่ยวบางสะพานในวันนี้ โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์จะมีนักท่องเที่ยวไปสนุกกับการร่อนทองในลำธารกันมากเป็นพิเศษ
คำขวัญอำเภอบางสะพานได้กล่าวถึงทองว่า “พระธาตุเจดีย์สูงเสียดฟ้า มากคุณค่าทองเนื้อเก้า เด่นเรื่องราวการท่องเที่ยว หนึ่งเดียวอุตสาหกรรมเหล็ก ชุมชนใหญ่เล็กสามัคคี ไหว้พระดีปู่อินทร์ปู่ท้วม”
“พระธาตุเจดีย์สูงเสียดฟ้า” ก็คือ พระมหาธาตุเจดีย์ภักดีประกาศ อยู่ริมทะเลบ้านกรูด ตำบลธงชัย เป็นพระมหาธาตุเจดีย์ที่มีความสวยงามวิจิตรตระการตา คณะสงฆ์และพสกนิกรผู้จงรักภักดีในรัชกาลที่ ๙ ได้ประกาศความภักดีโดยร่วมใจกันสร้างขึ้นเพื่อน้อมเกล้าถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในวโรกาสที่ทรงครองราชย์ ๕๐ ปี ออกแบบโดย ม.ร.ว มิตรารุณ เกษมศรี ศิลปินแห่งชาติ นายช่างสถาปนิกประจำสำนักพระราชวัง ตั้งตระหง่านอยู่บนยอดเขาธงชัย ดูคล้ายวิมานที่ลอยอยู่บนสวรรค์
“หนึ่งเดียวอุตสาหกรรมเหล็ก” ก็คือโรงงานผลิตเหล็กแผ่นม้วนของบริษัทสหวิริยาอินดัสตรี จำกัด(มหาชน) อยู่ที่ตำบลแม่รำพึง ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเหล็กรายใหญ่ของเอเชียอาคเนย์
“พระดีปู่อินทร์ปู่ท้วม” คือพระเกจิอาจารย์ดังแห่งวัดเขาโบสถ์ เป็นวัดเก่าแก่ อยู่ที่ตำบลกำเนิดนพคุณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง มี พระครูอินทร์ หรือ หลวงปู่อินทร์ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก มรณภาพเมื่อปี ๒๔๕๐ ชาวบ้านได้นิมนต์พระท้วม ธมมสโร จากวัดทุ่งมะพร้าว ตำบลพงศ์ประศาสน์ อำเภอบางสะพาน มาเป็นเจ้าอาวาสต่อ
หลวงพ่อท้วมได้สร้างพระอุโบสถ หน้าบัน ภปร. บนยอดเขา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ. ๒๕๒๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าพระอุโบสถหน้าบัน ภปร. บนยอดเขา
หลวงพ่อท้วมได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอกที่ พระครูศิลวิมล และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอบางสะพาน ได้มรณภาพลงเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗
ตำบลบาสะพานยังมีจุดเด่นเรื่องหาดทราย เกาะ และน้ำตก ชายหาดของบางสะพานจะเป็นชายหาดเงียบสงบ ทรายขาว น้ำทะเลใส รักษาความเป็นธรรมชาติให้คงอยู่ แต่ก็มีร้านอาหารและเครื่องดื่มบริการ อย่าง หาดบ้านกรูด หาดแม่รำพึง หาดบ่อทองหลาง ส่วนเกาะก็มี เกาะทะลุ แหล่งดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นเลื่องชื่อ เกาะสิงห์-เกาะสังข์ เป็นเกาะขนาดเล็กเหมือนก้อนหินลอยน้ำ ไม่มีชายหาด รอบเกาะเต็มไปด้วยปะการังสวยงาม เป็นอีกจุดสำหรับดำน้ำดูปะการังน้ำตื้น ส่วนเกาะลำร่า เป็นเกาะหินขนาดกลาง อยู่ในตำบลธงชัย รอบเกาะมีแนวปะการังเช่นกัน
ส่วนเทือกเขาตะนาวศรีที่ผ่านอำเภอบางสะพาน ก็มีน้ำตกไทรคู่ มี ๙ ชั้น แต่ละชั้นสวยงามแตกต่างกันไป ชั้นที่หน้าเป็นหน้าผาใหญ่ และน้ำตกขาอ่อน มีรถเข้าถึงไม่ต้องเดินจนขาอ่อน มีความโดดเด่นในเรื่องความร่มรื่นจนอากาศเหมือนห้องแอร์ธรรมชาติ
สถานที่เหล่านี้ก็เหมือนทองคำแห่งการท่องเที่ยวของอำเภอบางสะพาน บริสุทธิ์งดงามเหมือนทองเนื้อเก้าของเมืองกำเนิดนพคุณ