กรมการค้าภายในลงพื้นที่ อ.ฝาง เชื่อมโยงผู้ประกอบการเข้ารับซื้อพืช 3 หัวจากเกษตรกร หลังผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด พร้อม kick off ปล่อยคาราวานหอมหัวใหญ่และกระเทียมกระจายไปยังตลาดปลายทางในภูมิภาคต่างๆ เพื่อเร่งระบายผลผลิต เผยหลังดำเนินโครงการ “อมก๋อย โมเดล” ตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต ดันราคาขยับขึ้นทุกชนิด หอมหัวใหญ่ เพิ่ม 30% หอมแดง เพิ่ม 37% และกระเทียม เพิ่ม 50%
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า วันนี้ (28 ก.พ.) กรมฯ ได้ลงพื้นที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อติดตามความคืบหน้าการรับซื้อพืช 3 หัว (หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม) ภายใต้โครงการ “อมก๋อยโมเดล” ณ สหกรณ์ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่ฝาง จำกัด อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นอีกแหล่งผลิตสำคัญและเป็นแหล่งเพาะปลูกขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือ และได้จัดกิจกรรม kick off ปล่อยคาราวานหอมหัวใหญ่และกระเทียมของอำเภอฝาง ที่ผู้ประกอบการเข้ารับซื้อเพื่อกระจายไปยังตลาดปลายทางในภูมิภาคต่างๆ ด้วย เพื่อช่วยระบายผลผลิตให้กับเกษตรกรและผลักดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“กรมฯ ได้ดำเนินการเชื่อมโยงผู้ประกอบการเร่งรับซื้อผลผลิตพืช 3 หัว ในอำเภอแม่วางมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 2566 และวันนี้เป็นกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่อำเภอฝาง ซึ่งเป็นอีกแหล่งผลิตสำคัญที่ผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาดถัดจากอำเภอแม่วาง โดยกรมฯ ได้เร่งให้ผู้ประกอบการที่ทำสัญญาข้อตกลงเข้ามารับซื้อผลผลิตในพื้นที่ทันที เมื่อผลผลิตออกสู่ตลาด เพื่อให้มั่นใจว่าราคาพืช 3 หัว ภาพรวมในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนืออยู่ในเกณฑ์ดีตลอดฤดูกาล” นายวัฒนศักย์กล่าว
นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการต่าง ๆ รองรับผลผลิต ควบคู่กับมาตรการดูดซับผลผลิตพืช 3 หัว ออกจากแหล่งผลิต เช่น โครงการบริหารจัดการตลาดพืชหัว ปี 2566 การสนับสนุนค่าบริหารจัดการคุณภาพและเชื่อมโยงกระจายผลผลิต การสนับสนุนค่าบริหารจัดการซื้อและรวบรวม การแปรรูปผลผลิตพืช 3 หัว เพื่อกระจายเข้าสู่ร้านอาหารและร้านค้าธงฟ้า รวมทั้งการกำกับดูแลการขนย้ายและการนำเข้า
ขณะเดียวกัน กรมฯ ยังได้สั่งการให้สำนักงานพาณิชย์จังหวัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ในกรณีพบปัญหาผลผลิตมีราคาสูง หรือไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ กรมฯ จะเร่งดำเนินการเชื่อมโยงผลผลิตออกสู่ตลาดปลายทางอย่างรวดเร็วและให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรและประชาชนผู้บริโภคต่อไป
ก่อนหน้านี้ กรมฯ ได้ขับเคลื่อนมาตรการ “อมก๋อยโมเดล” ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายภาคเอกชน 16 ราย ประกอบด้วย ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก ตลาดกลาง เช่น ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดศรีเมือง และตลาดล้านเมือง ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง อาทิ แม็คโคร โลตัส บิ๊กซี เดอะมอลล์ และท็อปส์ สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น พีที พีทีที สเตชัน บางจาก และเชลล์ เข้ารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกร ในราคานำตลาดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นฤดูกาลผลิต
จากนั้น วันที่ 27 ม.ค. 2566 ได้จัดให้มีพิธีลงนามสัญญาข้อตกลงมาตรฐาน และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การรับซื้อพืช 3 หัว (หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม) เพื่อเป็นกลไกในการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าตลอดฤดูกาล ภายใต้โครงการ “ขับเคลื่อนการบริหารจัดการพืช 3 หัว อมก๋อยโมเดล @เชียงใหม่” ณ สหกรณ์ ผู้ปลูกหอมหัวใหญ่บ้านกาดพัฒนา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ รับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรกร จำนวน 23 กลุ่ม 4 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน และศรีสะเกษ ปริมาณรับซื้อรวม 22,800 ตัน หอมหัวใหญ่ 7,300 ตัน หอมแดง 7,500 ตัน กระเทียม 8,000 ตัน
โดยผลจากการรับซื้อผลผลิตภายใต้โครงการอมก๋อยโมเดล ส่งผลให้ปัจจุบันราคาซื้อขายพืช 3 หัว ในตลาดอยู่ในเกณฑ์ดีกว่าปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก โดยราคาแบบสด หอมหัวใหญ่ ปีนี้อยู่ที่ 16 บาท/กิโลกรัม (กก.) สูงกว่าปีที่แล้วที่ 12 บาท/กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 หอมแดง ปีนี้อยู่ที่ 13 บาท/กก. สูงกว่าปีที่แล้วที่ 9.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 และกระเทียม ปีนี้อยู่ที่ 21 บาท/กก. สูงกว่าปีที่แล้วที่ 14 บาท/กก. เพิ่มขึ้นร้อยละ 50