xs
xsm
sm
md
lg

“ดูอะไร...ในซาอุฯ” ในการกลับมาคืนดีกันอีกครั้ง กับ ดร.อัลฮูดา ชนิดพัฒนา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากเปรียบถึงความสัมพันธ์โดยรวมของประเทศไทยกับประเทศซาอุดิอาระเบียในช่วงก่อนหน้านี้นั้น อาจจะเรียกได้ว่ายุติชั่วคราว อาจจะเป็นเพราะความไม่เข้าใจกันจากผลกระทบหลายๆ เรื่องที่เป็นลูกโซ่จนเกิดเหตุดังกล่าว และแช่แข็งแบบนั้น ตลอด 30 กว่าปี

จนกระทั่ง ทางการซาอุฯ ได้ยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศไทยอีกครั้ง ซึ่งนอกจากจะส่งผลดีในเรื่องที่ว่านี้ ยังส่งผลดีและเป็นประโยชน์ต่อทุกด้าน จนหากจะเปรียบเปรย ก็เหมือนกับคนรักที่กลับมาดีกันแบบนั้น ซึ่ง ดร. อัลฮูดา ชนิดพัฒนา นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลาง ก็ได้บันทึกเรื่องราวคร่าวๆ เกี่ยวกับ ผ่านทางหนังสื่อที่มีชื่อว่า “ดูอะไร...ในซาอุฯ” เพื่อรับทราบข้อมูลและทำความรู้จักกันกับเพื่อนชาวซาอุดี้กันอีกครั้ง


จุดเริ่มต้นในการทำหนังสือเล่มนี้มาจากอะไรครับ

จริงๆ ชีวิตเราก็เกี่ยวข้องกับและทำงานเกี่ยวกับซาอุฯ อยู่แล้ว ทางบ้านก็ทำกิจการเกี่ยวกับส่งคนงานไปที่นั่น ส่วนที่มหาวิทยาลัยก็จะนำผู้ประกอบการไปออกงานเอ็กซิบิชั่นเพื่อเปิดตลาดสินค้าไทยไปโปรโมทที่นั่น ก็เลยคิดว่าในระหว่างนั้น เราได้มาร่วมงานในส่วนตรงนี้ บวกกับมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้กลับมาปกติพอดี มันเลยทำให้มีอีเว้นท์ต่างๆ ที่เราได้ไปร่วมในงาน ซึ่งจะมีการนำนักธุรกิจชาวซาอุฯ มาร่วมงานที่ว่ามา เราเลยเห็นโอกาสตรงนี้ และอยากจะเล่าให้ฟังว่า ซาอุดิอาระเบียเป็นอย่างไรบ้าง ตั้งแต่ในอดีตและในช่วงที่หายไป จนมาถึงปัจจุบันที่เรากลับมามีความสัมพันธ์กัน ได้ทำอะไรไปบ้าง และในอนาคตที่ทุกคนกำลังจับจ้องที่จะเข้าไปในซาอุฯ เราได้มาเกี่ยวข้องตรงนี้ เลยอยากจะเล่าให้เป็นภาพยาวภาพเดียวและสรุปจบในเล่มเดียว ว่าคนไทยจะได้มีความรู้ในภาพรวมตรงนี้ ครอบคลุมทั้งอดีต ปัจจุบันและอนาคตจากที่ว่ามาค่ะ

คล้ายๆ กับว่าการทำหนังสือเรื่องนี้เป็นการเริ่มฉลองการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศด้วยไหม

ใช่ค่ะ คือตัวหนังสือได้เขียนมาหลังจากมีการฟื้นฟูความสัมพันธ์ ก็ถือว่าเป็นการเฉลิมฉลองในเหตุการณ์ที่ว่านี้ด้วย จาก 30 กว่าปีที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ต่อกัน อาจจะเรียกว่าเป็นหนังสือที่เฉลิมฉลองเหตุการณ์ที่ว่า

เพราะพูดกันตรงๆเลยว่า ก่อนที่จะมีปัญหากันเราก็มีความสัมพันธ์กันมาอย่างดีมากๆ อย่างเพลงไทยหลายๆ เพลง ก็มีการพูดถึงประเทศซาอุด้วย

คือจริงๆ แล้วพวกเพลงต่างๆ จะเกิดในยุคที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งหรือเพลงเพื่อชีวิตบางเพลง มันก็จะพูดถึงคนทำอาชีพแรงงานในประเทศซาอุฯ ในยุครุ่งเรือง อย่างบริษัทของคุณแม่เราที่เคยส่งผลงานไปเป็นหมื่นคน คนที่ไปอยู่ตรงนั้นมันมีวัฒนธรรมเกิดขึ้นหลายอย่างระหว่างกันอย่างชนิดที่ว่าเพลงไทยไม่เคยแต่งเพลงที่เกี่ยวกับประเทศอะไรที่เยอะถึง 10-20 เพลงขนาดนี้ พอลดระดับความสัมพันธ์ลงไป ก็เหมือนกับไปแยกคนที่เขารักกันออกจากกัน เลยทำให้วัฒนธรรมที่ว่านี้มันเกิดการคั่งค้างอยู่ เพลงที่พูดถึงเกี่ยวกับซาอุฯ ในตอนนั้น คนก็ยังฟังในปัจจุบัน แล้วพอความสัมพันธ์กลับมาเหมือนเดิม คนก็รื้อฟื้นความเป็นซาอุฯกลับมาฟังกันใหม่

ซึ่งในระหว่างที่ห่างหายกันไป ก็ใช่ว่าจะไม่มีการติดต่อกันเลย อย่างในธุรกิจภาคเอกชนฝั่งซาอุฯก็ดิ้นรนที่จะเข้ามาในประเทศไทย อาจจะมีธุรกิจที่สามารถเข้ามาได้อย่างเป็นทางการ บางคนมีธุรกิจในไทย แต่อาจจะลดน้อยลงไปเยอะ หรือบางคนก็มารักษาตัวในเมืองไทยก็ยังสามารถทำได้ในบางกรณี ตรงนี้แหละกิจกรรมในภาคเอกชนหรือประชาชนยังมีการดำเนินไป ในช่วงเวลา 30 กว่าปีนี้ แต่จะอยู่ในวงที่แคบมากๆ ขณะที่ในภาคส่วนรัฐบาลต่างๆ ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งก็เป็นภาคประชาชนนี่ล่ะค่ะที่พยายามมีการเชื่อมต่อกันอยู่เรื่อยๆ นักธุรกิจไทยก็อยากที่จะไปลงทุนที่นั่น เพราะว่ามีอำนาจการซื้อสูง มีเงินเยอะ ขนาดที่ทางฝั่งซาอุฯ ก็อยากจะมาลงทุนในเมืองไทย เพราะคนไทยมีการบริการที่ดี มีการท่องเที่ยวที่ดีซึ่งเขาก็อยากจะมาเที่ยวเมืองไทย ตรงนี้ก็มีการดึงวงของประชาชนทั้งสองฝ่าย จนกระทั่งทางภาครัฐสามารถฟื้นฟูความสัมพันธ์ได้สำเร็จในปี 2562 ที่มีกิจกรรมตลอดมา แล้วมาสำเร็จเป็นรูปประธรรมจริงๆ ก็ในปี 2564 ที่ยกระดับให้กลับมาเป็นปกติได้เหมือนเดิม


ขณะเดียวกัน จากที่อาจารย์ว่ามาก็มีคนไทยก็เดินทางไปแสวงบุญและไปเรียนที่นั่นด้วย

ใช่ค่ะ ซึ่งในระหว่างนั้นเองทางซาอุฯ ก็มีนักศึกษาไทยไปเรียนที่นั่นด้วย ขณะที่คนที่ไปแสวงบุญ ก็มีไปเช่นเดียวกันโดยมีการจำกัดโควต้าผู้แสวงบุญเฉลี่ยประมาณ 10,000 คนต่อปี ก็จะมีในจำนวนนี้ล่ะค่ะที่จะได้ไปที่นั่นจริงๆ และแน่นอนว่าจะมีแต่ชาวไทยมุสลิมที่ไป แต่ถ้าเป็นในส่วนที่เป็นคนไทยศาสนาอื่นที่ไปกันเยอะจริงๆก็จะเป็นหลังที่ได้กลับมายกระดับความสัมพันธ์กันแล้ว อย่างทางกระทรวงพาณิชย์ ที่ไปเมื่อปีก่อน ประมาณหลายร้อยคนในคราวเดียว กลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มแรกที่ไม่ใช่แค่ชาวไทยมุสลิมอย่างเดียวแต่ก็จะเป็นกลุ่มนักธุรกิจไทยที่ไปกันเยอะขนาดนั้น


ก่อนหน้านี้ มายาคติของคนไทยโดยรวมต่อซาอุดิอาระเบีย เป็นอย่างไรบ้างครับ

ถ้าเป็นในช่วงก่อนที่จะกลับมายกระดับความสัมพันธ์ คนไทยจะมีความรู้เกี่ยวกับซาอุฯ น้อยถึงน้อยมากๆ คือจะเข้าใจว่า เป็นประเทศที่มีแค่คนไปแสวงบุญทางศาสนา ประเทศมีภูมิอากาศที่ร้อนทั้งปี ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวอะไรเลย อีกทั้งยังเคร่งครัดทางศาสนา เป็นประเทศที่ปิด และจะมีความน่ากลัว จากข่าวต่างประเทศที่ออกมา แต่หลังจากที่ท่านมกุฎราชกุมาร มูฮัมหมัด บิน ซันมาน ขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าว เลยทำให้นโยบายก่อนหน้านั้นคือถ้าไม่ชอบก็บอยคอตเลย เปลี่ยนเป็นการทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และบรรยากาศในซาอุฯผ่อนคลาย เป็นเพื่อนกับทุกประเทศทั่วโลก คือประเทศไทยก็ไม่ได้เป็นประเทศเดียวที่กลับมายกระดับความสัมพันธ์ ก็มีหลายประเทศที่อยู่ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน เช่น ประเทศกาตาร์ก็กลับมาคืนดีแล้ว เป็นต้น

ขณะเดียวกันการเยือนประเทศต่างๆของท่านมกุฎราชกุมาร นอกจากประเทศไทยแล้วก็ได้ไปเยือนประเทศอินเดีย ก่อนหน้าไทยก็ไปอินนีเซียมา คือเข้ามาเชื่อมความสัมพันธ์หมดเลย และไปเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ผ่านลักษณะพิเศษของประเทศนั้นๆ เช่น เกาหลีใต้ ซึ่งก่อนหน้านั้นแทบจะไม่มีคอนเสิร์ตของ K-pop เลย พอหลังการเปลี่ยนแปลงปุ๊บก็มีเทศกาลคอนเสิร์ต K-Festival ได้มีการเชิญนักร้องเกาหลีเข้าไป ซึ่งแตกต่างจากก่อนช่วงปี 2018 ที่ไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในซาอุฯ เลย หรือประเทศญี่ปุ่นที่มีความเก่งในเรื่องอนิเมะก็ร่วมกันไปทำอนิเมชั่น ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา และทางสหรัฐอเมริกาก็มีเทศกาลภาพยนตร์ มีการเดินพรมแดง อีกทั้งมีการเชิญดาราฮอลลีวูดไปร่วมงาน ซึ่งตรงนี้ที่ทางซาอุฯ มองเห็นว่าประเทศไหนเก่งอะไร ก็จะเข้าไปจับมือกับเขาหมดเลย มันไม่ได้เป็นนโยบายทางการทูตธรรมดา แต่มองว่าประเทศนั้นมีดีอะไรด้วย

อย่างประเทศไทย พอเราได้เห็นนโยบาย Vision 2030 ที่ไปร่วมจับมือกับประเทศที่เก่งด้านใดด้านหนึ่ง เราเลยเลือกไปดูนโยบายเกี่ยวกับการส่งออกอาหาร เพราะว่าศักยภาพอาหารบ้านเราติดระดับโลกอยู่แล้ว ทางซาอุฯ ก็เลือกอาหารไทยเข้าไปจำหน่าย รวมถึงทางการแพทย์ไทยก็ถือว่าติดอันดับโลก เลยทำให้ทางซาอุเลือกมาใช้บริการ และลงทุนในด้านนี้ ซึ่งก็เป็นภาพมายาคติปัจจุบันว่าถ้าประเทศไหนเก่งอะไร ทางซาอุฯ ก็พร้อมที่จะร่วมมือด้วย


เหมือนกับเรากลับมาคืนดีกันเถอะ เรื่องที่แล้วมาให้มันแล้วไปนะ ประมาณนั้น

ใช่ค่ะ เพราะว่าจากเรื่องที่แล้วมา ท่านมกุฎราชกุมาร ก็เพิ่งอยู่ในวัย 30 ปลายๆ แล้วช่วงที่ท่านยังทรงพระเยาว์ก็ไม่ได้รับรู้เรื่องราวที่ทางเรากับซาอุทะเลาะกัน รวมถึงวัยรุ่นยุคใหม่ในซาอุฯ ก็ไม่ค่อยได้รับรู่ว่าไทย เคยมีปัญหาอะไรกับซาอุ พอเราได้กไปซาอุในช่วงปัจจุบัน คนซาอุฯ ก็มองเมืองไทยอย่างดีมาก คือในระดับประชาชนนั้นจำไม่ได้แล้วว่ามีการทะเลาะเรื่องอะไร มีแต่คนไทยจำแล้วก็พูด ทั้งในเรื่องเพชรซาอุฯ หรือ กรณีฆาตกรรมนักธุรกิจ เวลาที่เราสอนนักศึกษาก็จะมีโดนสอบถามในเรื่องที่ว่านี้ตลอด แต่กับคนซาอุฯ เองเขาไม่รู้เรื่องแล้วนะว่ามีการทะเลาะอะไรกัน อย่างคนซาอุฯ รุ่นใหม่เองเขาก็จะมองว่าเมืองไทยดีมาก ตามแยกไฟแดงของที่นั่น ก็จะมีป้ายบิลบอร์ดโฆษณาเมืองไทย Amazing Thailand เต็มไปหมดเลย คือในฝั่งไทยจะเกิดซาอุดิฟีเวอร์ เราส่งสินค้าไปขาย เช่นเดียวกับทางฝั่งาอุฯ ก็จะเกิดไทยแลนด์ฟีเวอร์ ไฟลท์บินที่จะมาเมืองไทยก็เต็มหมดแถมแพงด้วยจนถึงตอนนี้เลย


เรียกได้ว่า ในช่วงสุญญากาสทางความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ แนวคิดจากรุ่นสู่รุ่น ก็เปลี่ยนไปด้วย

ใช่ค่ะ ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงเลย อีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องมันก็เกิดขึ้นมานานมาก ในฝั่งประเทศไทยเราก็สามารถค้นหาข่าวดังกล่าวนี้ ว่าเรื่องราวมันเป็นยังไง แต่เด็กรุ่นใหม่ก็จะไม่ได้ไปอินกับเรื่องราว แต่ทางฝั่งซาอุฯ เองเนื่องจากข่าวเกี่ยวกับประเทศไทยของเรื่องในยุคก่อนมีไม่มาก ที่เราทราบเพราะว่าก็มีนักศึกษาทำงานวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งเป็นนักศึกษาลูกครึ่งซาอุฯ - ไทย ที่ศึกษาอยู่ในสหรัฐฯแล้วมาสัมภาษณ์เรา เขาไม่สามารถหาข่าวที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับอย่างละเอียดได้ แต่มาหาข้อมูลในประทศไทยแทน ซึ่งเก็บฐานข้อมูลได้ดีมาก แต่โดยภาพรวมแล้วคนก็ไม่ได้อินกับเรื่องดังกล่าวแล้ว

อีกอย่างเรื่องที่เราทะเลาะกันนั้นมันเป็นเรื่องบุคคล ไม่ได้เป็นการขัดแย้งกันระหว่างรัฐอย่างแท้จริง หรืออย่างกรณีฆาตกรรมนั้นก็มาจากประเทศที่มีคู่ขัดแย้งกับซาอุฯ แต่ก็มาเกิดเหตุในเมืองไทย หลายๆเ หตุการณ์ก็ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ระดับชาติ มันเป็นเรื่องส่วนบุคคลอย่างที่บอก ตรงนี้แหละค่ะที่ทำให้คนสมัยก่อนไม่ได้อินด้วย และคนซาอุฯ ก็ไม่ได้นำเรื่องที่ว่านี้มาเล่าซ้ำไปซ้ำมา อาจจะเป็นคนไทยนี่มากกว่าที่จดจำเร่องราวต่างๆได้ดีมาก แล้วเล่าสู่กันฟังอย่างยาวนาน ถึงขนาดที่เคยแต่งเพลงที่มาจากเรื่องนี้เลยก็มี เช่นเพลง “อาถรรพ์เพชรซาอุฯ” เราไปหมกมุ่นกับมัน แถมเก็บข้อมูลอย่างดีด้วย ซึ่งมีความแตกต่างกับคนซาอุฯ จากที่เล่ามา เลยทำให้คนที่นั่น ไม่มีความกลัวเลยที่จะมาเมืองไทย และยังบอกว่าเมืองไทยมีความปลอดภัยด้วย มีสิ่งที่ดีที่สุด บริการที่ดีที่สุด และสามารถซื้อในราคาที่สมเหตุสมผล


หลังจากที่กลับมีความสัมพันธ์กันแล้ว นโยบายใดที่ทางเรามีข้อตกลงกับทางซาอุฯ บ้างแล้วครับ

ในระดับภาครัฐเอาที่เห็นได้ชัดเลยก็คือเรื่องเกี่ยวกับส่งออกสินค้าไทยที่ไปที่นั่น กระทรวงพาณิชย์ที่นำโดยคุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ และยังมี คุณดอน ปรมัตถ์วินัยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย โดยคุณจุรินทร์ไปทำเรื่องการค้าสำหรับไก่ไทย ที่สามารถส่งไปขายที่ซาอุฯ ได้อีกครั้ง แม้กระทั่งไฮเปอร์มาเก็ตที่นั่นก็มีมุมสินค้าไทย หรือคุณสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ก็ได้ทำการเอ็มโอยูกับทางซาอุ เลยทำให้ตอนนี้บริษัทจัดหาแรงงานไทย ก็เริ่มมีการส่งคนงานไทย ไปที่ซาอุฯ แล้ว ซึ่งตำแหน่งที่ต้องการมากๆ เลยก็คือ คนทำงานในบ้าน ซึ่งก็ไม่ได้มีการส่งไปมากนักในรเวลานี้ เพราะเงินเดือนค่อนข้างต่า แต่แรงงานฝีมือจะมีการส่งไปอยู่เรื่อยๆ และพนักงานเกี่ยวกับสปาที่เป็นหมอนวดผู้ชาย เพราะที่นั่นก็มีการแยกเพศในการนวดอยู่ ซึ่งก็เห็นได้ว่าเริ่มมีแรงงานไทยกลับไปทำงานที่นั่นแล้ว


แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องที่จะมีการลักลอบเข้าไปทำงานอยู่ ตรงนี้มองยังไงบ้างครับ

อย่างปัญหานี้ตอนนี้ยังไม่น่ามีการลักลอบเข้าไปอยู่ในซาอุ เหมือนอย่างลักลอบไปอยู่และทำงานในดูไบ เพราะว่าขั้นตอนในการทำวีซ่า การจะเข้าไปทำงาน จะต้องผ่นกระบวนการที่มาจากบริษัทจัดหางาน จากนั้นก็ไปที่กระทรวงแรงงาน ขณะเดียวกันทางสถานทูตไทยประจำซาอุฯ ก็ต้องเป็นฝ่ายที่รับรองทำเอกสารมาก่อน ซึ่งในขั้นตอนนี้เองค่อนข้างที่จะมีความรัดกุมมาก แล้วในกรณีวีซ่าท่องเที่ยวก็ต้องมีการใช้ เอกสารอย่าง statement หรือใบรับรองการทำงาน ซึ่งต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐของไทย อย่างเราเอง ทำอาชีพอาจารย์ก็ต้องได้รับการรับรองจากทางกระทรวงต่างประเทศ ไม่ใช่ว่าต่อให้ทำงานวิชาการหรือเป็นอาจารย์ก็สามารถทำวีซ่าท่องเที่ยวแล้วไปง่ายๆได้เลย อย่างวีซ่าประเภททำงานก็ถือว่ายังไม่ง่าน อีกทั้งค่าใช้จ่ายในส่วนวันนี้ก็ถือว่าแพง อย่างค่าตรวจโรคไปทำงานที่ซาอุเองก็ถึงขั้นระดับเกือบหมื่นบาทแล้ว อีกทั้งยังตรวจได้แค่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์และโรงพยาบาลกรุงเทพ เพราะฉะนั้นการลักลอบเข้าไปทำงานถือว่ายากมากในซาอุ


ซึ่งแตกต่างจากช่วงก่อนหน้านี้เลย

ใช่ค่ะ อย่างบริษัทจัดหางานของคุณแม่เรา ที่ทำมายาวนานเกือบ 40 ปีก่อน ยังเป็นระบบแบบเอาพาสปอร์ตมาในวันนี้พรุ่งนี้บินได้เลย ซึ่งถือว่าง่ายกว่าสมัยนี้มาก แล้วเมื่อก่อนที่ซาอุฯต้องการแรงงานไทยใหม่ๆ ครั้งยังไม่มีกระทรวงแรงงาน มีแค่สถานทูต แต่ในปัจจุบันนี้ต้องผ่านกระบวนการทั้งจากฝั่งซาอุและทางฝั่งไทย แล้วพอผ่านจากกระทรวงแรงงานแล้วก็ต้องมีการเช็คอย่างละเอียดอีก อีกทั้งค่าใช้จ่ายสูงมากสำหรับนายจ้างทางฝั่งซาอุ อีกอย่างทางฝั่งซาอุฯ เองก็ถือว่ายังไม่ได้ให้เรทเงินเดือนที่สูงมาก ไม่เหมือนกับไปทำงานที่ไต้หวันหรือที่ยูเออี คือคนไทยก็จะยังไม่ลงทุนที่แพงขนาดนั้น เลยคิดว่าไม่น่าจะมีใครหนีไปอยู่ซาอแบบผิดกฏหมาย


แสดงว่า มายาคติที่คิดว่า กลับไปทำงานที่ซาอุฯ แล้วจะต้องมีค่าตอบแทนมากๆ นั้น ก็คือไม่ใช่แล้ว

น่าจะไม่ใช่แล้วค่ะ เพราะจะได้ค่าตอบแทนที่สูงนั้นสำหรับบางตำแหน่งเท่านั้น ที่เป็นแรงงานฝีมือ หรือกึ่งฝีมือ อีกทั้งการส่งคนไทยไปทำงานซาอุฯตอนนี้ถือว่ายังไปไม่ถึงฝั่งฝันเท่าไหร่นัก เพราะทางซาอุมีความต้องการอย่างมาก แต่จะเป็นในส่วนงานแม่บ้าน แต่ขณะเดียวกัน คนไทยเองก็รับแม่บ้านจากประเทศเพื่อนบ้าน แล้วค่าแรงขั้นต่ำของเราจะเป็นเรทที่ค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นเรทเดียวกับที่ซาอุจะให้เป็นค่าตอบแทน อย่างพวกแรงงานกึ่งฝีมือถ้าจ้างไม่ถึงเรทประมาณ 30,000 บาทถึง 40,000 บาทต่อเดือน คนไทยจะไม่ไปแน่นอน เพราะอยู่ไทยก็หางานที่ได้ค่าตอบแทนในระดับนี้ได้

แต่ถามว่าไปซาอุฯ แล้ว มีข้อดีอย่างไร ข้อดีในตอนนี้คือ สถานที่ท่องเที่ยวมีเยอะมากที่กำลังจะเปิดรับคนจากทั่วโลก กำลังสร้างเมือง ทำใหมีการสร้างงานในซาอุฯอีกเยอะ งานส่วนใหญ่นายจ้างก็จะออกค่าใช้จ่ายการเดินทาง ที่พัก และอาหาร 3 มื้อต่อวัน เพราะฉะนั้นคนไทยที่ไปทำงานที่นั่นจะสามารถเก็บค่าจ้าง หรือเงินเดือนได้เต็มๆเลย แต่การไปทำงานซาอุในตอนนี้อาจยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า “ขุดทอง” แบบในสมัยก่อน เพราะสมัยก่อนค่าครองชีพต่ำ ได้เงินเดือนไม่มากแต่พอส่งกลับไทยก็สามารถอยู่ได้ แต่ปัจจุบันไทยเองก็ค่าครองชีพสูง แต่ซาอุยังไม่ได้ให้เงินเดือนคนไทยเยอะขนาดนั้น


มาที่เรื่องการเมืองบ้าง จุดไหนของซาอุฯ โดยส่วนตัวของอาจารย์เอง คิดว่าเราควรนำมาประยุกต์ใช้บ้าง

อย่างเรื่องการปกครอง ปัจจุบันซาอุฯก็ยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่นโยบายของซาอุฯ ก็น่าสนใจจนเป็นที่น่าจับตามองไปทั้งโลก เช่นการสร้างเมืองแนวตั้ง หรือ The Line เพราะเป็นครั้งแรกของโลกที่จะมีโปรเจกต์ในลักษณะอย่างนี้ ซึ่งนอกจากจะมีความคิดนอกกรอบแล้วยังถือว่าต้องมีความบ้าบิ่นอีกด้วย โดยในโปรเจกต์นี้เราได้ไปสัมภาษณ์คนซาอุในระหว่างที่เราเขียนหนังสือเล่มนี้ สรุปคือมี 2 แนวคิด แนวคิดแรก เขาจะมีประมาณว่าเอาเงินไปพัฒนาคนก่อนไหม โปรเจกต์,มูลค่าล้านๆ ดอลลาห์เนี่ย อย่าเอาไปสร้างอะไรแบบนี้เลย มันจะอยู่ได้จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ และคนอีกกลุ่มหนึ่งก็คือ มีแนวคิดว่าถ้าทำตามคนอื่นอาจจะไม่เป็นที่จดจำ เราต้องเชื่อในผู้นำของเรา แม้ว่าความคิดนี้อาจจะเป็นแค่ความฝัน แต่ซาอุต้องมีความฝันเพื่อที่จะดำเนินชีวิตให้เป็นที่จดจำได้ ซึ่งคนที่คิดแบบหลัง มันเป็นผลมาจากผู้นำของเขาสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ทำให้เขาเชื่อแบบนั้นว่าอะไรๆก็สามารถเป็นไปได้ ซึ่งตรงนี้เองน่าจะเอามาใช้ในประเทศไทยได้

อย่างทางซาอุฯ เอง เขาจะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในประเทศอยู่เสมอ เช่น ตอนนี้ก็มีนักบินอวกาศหญิงของประเทศคนแรก เพราะนักบินอวกาศในย่านอาหรับคนแรกก็มาจากซาอุฯ เช่นเดียวกัน เขาเลยเคลมว่าเดี๋ยวเราจะมีนักบินอวกาศหญิงคนแรกของชาตินะ และต้องเป็นอาหรับหญิงคนแรกที่ต้องไปนอกโลกด้วย หรือหนังอนิเมชั่นที่จับมือกับทางญี่ปุ่น เขาจะสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆที่ดูการ์ตูนว่าเมืองของเราต้องปกป้อง มันมีประวัติความเป็นมาอย่างไร นอกจากนี้เขายังทุ่มทุนในเรื่องของฟุตบอลให้เป็นชาติระดับโลก ซึ่งการซื้อคริสเตียโน่ โรนัลโด้ เข้ามาเล่นในลีกซาอุฯ คือบางคนอาจจะมองว่า เป็นเรื่องของคนมีเงินแล้วมาซื้ออะไรก็ได้ แต่จริงๆแล้วมันมีเบื้องหลังกว่านั้นก็คือ สิ่งนี้คือการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ว่าเราสามารถเอาคนที่เก่งเรื่องฟุตบอลระดับโลกเข้ามาเล่นในลีกซาอุฯ ได้ ซึ่งอาจจะส่งผลให้เด็กๆเกิดแรงฮึกเหิม ทั้งเรื่องฟุตบอลและเรื่องที่ว่ามา

แล้วการที่เขามาทุ่มเงินเกี่ยวกับตรงนี้ มันทำให้คนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงประจักษ์เห็นได้ชัด สามารถจับต้อง ตรงนี้เป็นนโยบายของภาครัฐที่อาจจะมองว่าเอาเงินซื้อ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ ทำไมวัยรุ่นในบ้านเขาถึงมีความเชื่อมั่นค่อนข้างสูง เพราะก่อนหน้านั้นก็จะเกิดเหตุการณ์คนเก่งในประเทศภาวะสมองไหล คนเก่งๆออกไปอยู่นอกประเทศ โดยจากประสบการณ์ส่วนตัวของเรานั้นก็มีเพื่อนเป็นชาวซาอุฯ ที่เรียนเก่งมาก แต่สอบตกเป็นประจำ เพราะว่าได้ทุนมาเรียนแล้วสามารถอยู่นานแค่ไหนก็ได้จะรีบกลับทำไม อยู่อังกฤษสบายๆ ซึ่งถ้ามีการพบว่าคนขับหรูๆในอังกฤษรู้เลยว่ามาจากไม่ซาอุฯ ก็ประเทศอ่าวอาหรับ เพราะคนได้ทุนมาเรียนแล้วมาอยู่หรู คนเก่งๆ ก็เผลอๆ ไม่กลับแล้ว ไปทำงานที่นั่นต่อเลย ไม่กลับมาบ้านเกิด เพราะฉะนั้นเขาจึงต้องทำอะไรที่ให้ถูกใจเยาวชนหรือวัยรุ่น ดึงคนเก่งๆกลับเข้ามา ให้โอกาสและสร้างแรงบันดาลใจว่าเราก็เป็นชาติระดับโลกได้ในสักวันนะ สิ่งนี้แหละที่ภาครัฐควรนำมาประยุกต์ใช้ นี่แหละคือ Soft Power สไตล์ซาอุฯ อย่างเรื่อง Soft Power ของไทยอาจจะต้องสร้างแรงบันดาลใจ ให้กลับเยาวชนเรามากกว่านี้ แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องมีเงิน (หัวเราะเบาๆ)

ซึ่งต่อไปอนาคตข้างหน้าของซาอุอาจจะไปได้ดีเพราะทางภาครัฐของเขา มีการปรับในเรื่องเศรษฐกิจที่จะไม่พึ่งพาน้ำมัน ไปตั้งแต่ปี 2016 แล้ว แล้วปรากฏว่ารายได้ที่ไม่ใช่น้ำมันของทางซาอุนั้นเพิ่มขึ้น 2% ในปี 2018 ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่ามหาศาลแม้ว่าจะแค่ 2% ก็ตาม แล้วอย่างกรณีที่ซาอุสามารถเอาชนะแชมป์โลกอาร์เจนตินาในฟุตบอลโลกที่ผ่านมาเลยทำให้เด็กๆซาอุอยากจะเตะฟุตบอลบ้างเพราะอยากจะได้รถโรสรอยซ์คนละคัน (หัวเราะ) ซึ่งตรงนี้แหละที่จะสร้างแรงบันดาลใจได้

อย่างซาอุฯ เอง เวลาที่จะทำอะไร ก็ต้องเป็นข่าวก่อน สร้างความว้าว ความแปลกอยู่เสมอ เช่นเวลารับแขกจากเมืองนอกปกติจะใช้พรมสีแดง แต่ทางซาอุฯ ตัดสินใจเลือกใช้พรมม่วง ซึ่งก็มีการตั้งคำถามว่า ทำไมต้องใช้พรมม่วง ปรากฏว่าก็อยากจะโปรโมททุ่งลาเวนเดอร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่เที่ยวในซาอุฯช่วงหน้าหนาว ซึ่งเวลาเกิดเหตุการณ์อะไรจะทำให้คนเกิดความสงสัยก่อน แล้วเราก็ต้องมาคิดต่อว่าข่าวที่ออกมานี้มีนัยะอะไรแฝงอยู่ไหม

หรืออย่างกรณีปี 2018 ที่ตำรวจซาอุยื่นดอกไม้ให้กับผู้หญิงตามสี่แยกต่างๆ เพราะช่วงนั้นมีการให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้เป็นประเทศสุดท้ายของโลกนะ ซึ่งรายละเอียดของดอกกุหลาบนั้นก็เป็นผลผลิตมาจากเมืองตาบุค และเป็นน้ำกุหลาบที่ส่งออกไปทั่วโลก คือทางซาอุฯ สิ่งที่เขาทำออกมาไม่ได้ทำให้แค่ว้าวอย่างเดียว แต่มันลงรายละเอียดไปมากกว่านั้นได้อีก ซึ่งนี่คือการทำงานของทางสังคมที่หน่วยงานรัฐ ที่อาจจะเกินจริงแต่มีนัยยะแฝงลงไปถึงเรื่องการท่องเที่ยว หรือการค้าการลงทุน


จากโครงการ Vision 2030 ของทางซาอุฯ โดยส่วนตัวของอาจารย์เอง ชอบนโยบายไหนที่สุดครับ

เราชอบนโยบายที่เขาไม่ได้ประกาศออกมา แต่มันเป็นนโยบายแบบมี Hidden Agenda ที่สามารถเห็นได้ ก็คือเรื่อง soft Power สไตล์ซาอุฯ ที่เราเขียนไปในหนังสือด้วย คือเราไม่ได้เห็นเป็นแนวประจักษ์ว่า ซาอุฯ มีนโยบายจะไปเป็นเพื่อน ไปเป็นมิตรกับคนที่เก่งในด้านใด ก็จะไปร่วมกับเขาในด้านนั้น เพื่อที่จะร่วมเป็นกระแสไปด้วย อย่าง Hidden Agenda พวกนี้ มันทำให้เราต้องคิด วิเคราะห์ หรือติดตามมาระยะหนึ่ง ซาอุเขาวางไว้เก่งมาก คือถ้าดูแบบทั่วไป อาจจะบอกว่าคนมีตังค์ แล้วไปร่วมมือกับเขาจ่ายเงินให้คนอื่นทำ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่ค่ะ สิ่งที่ตอบรับกลับมามันกลายเป็นกระแสให้คนพูดถึงทั่วโลกจริงๆ อันนี้แหละที่เป็นการวางนโยบาย แบบที่ไม่ต้องพูดออกมาแต่เห็นภาพ คือถ้าเมื่อปะติดปะต่อภาพกันแล้วมันสามารถเห็นภาพได้ชัดขึ้น เรียกว่าซาอุใช้ Soft Power สไตล์ซาอุดี้ในทางการพูดและสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้ ซึ่งฝั่งดูไบก็เคยทำมาก่อน และยังทำอยู่ในปัจจุบัน


ขณะเดียวกันในมุมของอาจารย์เอง คนไทยเตรียมรับมือและรับประโยชน์ จากโครงการ vision 2030 นี้บ้างครับ

ก่อนหน้านี้ก็มีคนไทยที่ไปทำงานร่วมกับโปรเจกต์นี้แล้ว เรื่องแรกเลยก็คือ เรื่องงานแน่นอน แล้วตอนนี้ก็มีการติดต่อรับสมัครวิศวกรเข้ามาค่อนข้างจะเยอะมาก เพราะโปรเจคใหญ่ๆก็ต้องมีทางวิศวกรและสถาปนิกเข้าไปทำงานอยู่แล้ว แน่นอนเลยว่าในเรื่องอัตราการรับวมัครงานเราอาจจะได้ Benefit ตรงนี้้ ในขณะเดียวกันการที่คนทั่วโลกแห่กันไปร่วมทำงาน ก็จะทำให้ประชาชนเข้าไปทำมากขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งพอคนเข้าไป แต่พื้นที่ซาอุเยอะแล้วประชากรทั้งประเทศมีแค่ 35 ล้านคน มันเลยมีที่เข้าไปเยอะ ซึ่งเมื่อคนย้ายเข้าไปอยู่เยอะ สินค้าก็จะต้องมีการเข้าไปขายและต้องหลากหลาย ตรงนี้เราสามารถส่งสินค้าได้อีก เพราะว่าจะมีคนทั่วโลกเข้าไป ยกตัวอย่างคนฟิลิปปินส์ที่ไปทำงานเขาก็มีการส่งสินค้าจากบ้านเขามาขายที่ซาอุ ตรงนี้ เป็นโอกาสของสินค้าอาหารไทยเข้าไปรองรับ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือเรื่องท่องเที่ยวและเรื่องการแพทย์ อย่างเรื่องการแพทย์ก็จะมีโรงพยาบาลชั้นนำของเมืองไทย อาจจะมีการตั้งศูนย์ที่นั่น ซึ่งทางซาอุฯสนับสนุนให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน ซึ่งถ้าเป็นโรคที่หนักก็อาจจะสามารถส่งมารักษาที่เมืองไทยได้ ก็ถือว่าเป็นโอกาสทางการแพทย์ด้วย ส่วนเรื่องท่องเที่ยว คนไทยอาจจะมีการไปเที่ยวที่ซาอุฯ เพิ่มขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดตรงเรื่องการทำวีซ่าที่ยาก และค่าใช้จ่ายที่สูง และการเดินทางไปในแต่ละที่ก็ยังยาก แต่ถ้าไปเที่ยวซาอุในตอนนี้ จะได้รับทั้งธรรมชาติและความสดใหม่ของสถานที่แน่นอน เช่น ภูเขาที่เคยเป็นทะเลมาก่อน คือยังเห็นเปลือกหอยสภาพเดิมก่อนหน้านั้นอยู่เลย เรียกว่ามีความสดในพื้นที่เลย อีกทั้งคนซาอุก็ยังไม่ค่อยไปเที่ยวในที่ตรงนี้ ถามว่าทำไมไม่ค่อยเที่ยวกันเองในซาอุฯ เขาบอกว่าถ้าซื้อตั๋วมาเที่ยวเมืองไทยสามารถอยู่ได้ 1 เดือนเมื่อเทียบกับเที่ยวในประเทศที่อาจจะอยู่ได้แค่ 1 อาทิตย์ แต่ในอนาคต ถ้าการคมนาคมดีขึ้น ร้านค้าเยอะขึ้น คนเข้าไปมากขึ้น อาจจะถูกลงและอาจจะเป็นเหมือนกับทายูเออี ที่ราคาจับต้องได้


อย่างเรื่อง soft power ที่ไปรวมกับประเทศอื่นๆ ส่งผลอย่างไรต่อนโยบายโดยรวมบ้างครับ

อย่างก่อนหน้านี้ ในเรื่องการท่องเที่ยวของซาอุจะไม่เปิดให้ใครเข้ามาเที่ยวเลย ถ้าเปรียบตัวอย่างง่ายๆเลยก็หนังเรื่อง Hologram To The King (2015) ที่ทอม แฮงค์แสดงนำ ที่จะฉายภาพซาอุฯ ในยุคก่อนหน้านี้ ซึ่งปีถัดมา หลังจากหนังเรื่องนี้ฉายก็มีการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ตรงนี้คือซาอุฯ พยายามไม่ได้ตอบโต้ ว่าเราเป็นเหมือนที่ในหนังบอกนคุณะ แต่ว่าเป็นการแสดงออกผ่านนโยบายให้เห็นว่าเราไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป โดยที่คนอื่นจะหันมาสนใจซาอุจากผลงานเอง สิ่งนี้เองที่ซาอุฯ พยายามทำให้เห็น ว่าฉันกำลังเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจริงๆ แล้วคนซาอุฯ เขาจะคิดว่าตัวเองเป็นชาตินิยมอยู่แล้ว และมีความภูมิใจในชาติตัวเอง เช่นเดียวกับภูมิภาคอาหรับ ซึ่งเขาจะวางจุดที่เหนือกว่าชาติอื่นนิดนึง เพราะว่าเป็นศูนย์กลางของศาสนาอิสลามอยู่แล้วด้วย และมีน้ำมันเลยทำให้ประเทศอื่นๆอยากไปเป็นมิตรเขา

แต่สิ่งที่ประชาชนในซาอุรู้สึกได้ดีก็คือ ตอนนี้มีโอกาสมากขึ้นทั้งในเยาวชนและผู้หญิง ในการที่จะมีบทบาทมีเป็นผู้นำ หรือทั้งในเรื่องอีสปอร์ต กับเรื่องภาพยนตร์ ดนตรี ฟุตบอล วิทยาศาสตร์ หรือนักบินอวกาศ ตรงนี้แหละค่ะที่ทำให้เขาคิดว่า สิ่งที่คิดว่าเหนืออยู่แล้วจะทำให้เหนือขึ้นไปอีกแค่นั้นเอง โดยเฉพาะในส่วนของเยาวชน ที่มารับสื่อใหม่ๆ แล้วเติบโตมาในยุคนี้ ก็จะมีรูปท่านมกุฎราชกุมารติดเต็มไปหมดเลย ว่าสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆประมาณนี้ค่ะ อย่างที่บอกไปว่าข่าวของ คริสเตียโน่ โรนัลโด้ เป็นที่บูมมากจะเห็นเด็กๆสนใจข่าวของเขา คือด้วยความที่ส่วนใหญ่เขามีเงินอยู่แล้วก็สามารถที่จะไปโฟกัสสิ่งที่สนใจได้ เราเลยบอกว่าแต่อีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีเยาวชนรุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากฟุตบอลโลกครั้งที่ผ่านมา จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้ ส่วนวัยรุ่นหญิงแม้ว่า อยากเป็นแบบพี่ลิซ่า Black Pink อาจจะยากก็ตาม แต่ในอาชีพอื่นเช่น นักข่าว ที่สามารถออกหน้าได้ หรือนักร้องแนวอาหรับชาวซาอุ หรืออยากพื้นฐานเลยคือสามารถออกมาทำงานนอกบ้านได้ ที่ไม่ต้องมีสมาชิกครอบครัวที่เป็นผู้ชายมาคอยพาไปไหนมาไหนแล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในซาอุปัจจุบัน ตอนนี้นักธุรกิจหญิงชาวซาอุฯก็เริ่มเยอะขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อย่างเรื่องนักธุรกิจหญิงชาวซาอุฯ เอง พูดตรงๆเลยว่า พวกเขาเริ่มมาคบกับคนไทยเนื่องจากเขามีเงินแล้วทางเรามีความรู้ความเชี่ยวชาญ พอเราไปร่วมมือกัน ก็จะมีธุรกิจประมาณร้านสปาร้านทำเล็บ ร้านดอกไม้ เพราะก่อนหน้านี้เขาไม่สามารถทำธุรกิจได้เลย อยากล่าสุดก็มีผู้ประกอบการชาวไทยที่ขายพวกลูกประคบ สปาเครื่องหอมยาดมยาหม่อง นักธุรกิจหญิงซาอุฯติดต่อและเริ่มคุยในเรื่องการเปิดร้านเลย


กล่าวโดยสรุป การกลับมามีความสัมพันธุ์ระหว่าง 2 ประเทศ จะส่งผลดีต่อคนไทยโดยรวมยังไงบ้างครับ

ถ้าเป็นชาวไทยมุสลิมก็มีการไปแสวงบุญที่นั่นปกติอยู่แล้ว แต่อาจจะมีคนอยากไปมากขึ้น ทั้งในเรื่องการท่องเที่ยวและการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งชาวไทยมุสลิมก็อาจจะมีโปรแกรมการเดินทางที่มีความหลากหลายในการเดินทางไปแสวงบุญ ส่วนชาวไทยโดยรวม เรื่องแรก เรามีการต้อนรับนักท่องเที่ยวแบบไม่หวาดไม่ไหวในช่วงปลายปีที่ผ่านมา จู่ๆก็เข้าปาไปถึงหลักแสนคน หลังจากกลับมามีความสัมพันธ์ ซึ่งมันเป็นอะไรที่รวดเร็วมาก ซึ่งก็มีการเปิดเส้นทางการบินที่เข้ามาในเมืองไทย คนซาอุที่มาเที่ยวมีการจับจ่ายใช้สอยเยอะมาก จะสังเกตได้จากน้าหนังที่สายการบินให้ ถ้านั่ง Economy ก็ได้ถึง 46 กิโลกรัม ซึ่งตอนนี้ซาอุฯ ที่ติด 1 ใน 10 เลยนักท่องเที่ยวที่เข้าไทยเลย และยังมีคนที่ยังไม่เคยมาไทยอีกมาก ดังนั้นเม็ดเงินจะเข้าประเทศไทยตํมๆเลย อีกทั้งชาวซาอุก็มักจะนิยมท่องเที่ยวกันเป็นครอบครัว เพราะฉะนั้นในเรื่องการจับจ่ายใช้สอยนั้นถือว่ามหาศาลอยู่แล้ว ฉะนั้นแล้วเรื่องท่องเที่ยวเมืองหลักๆของเมืองไทยเตรียมตัวรอรับได้เลย เช่นเดียวกับเรื่องการแพทย์ โรงพยาบาลต่างๆก็เตรียมต้อนรับผู้ป่วยจากซาอุเช่นเดียวกัน ขณะที่เรื่องการส่งออก เร็วๆนี้ทางกระทรวงพาณิชย์ ก็มีการนำนักธุรกิจไทยไปที่ซาอุดพร้อมกับประเทศอียิปต์ ไปดูทิศทางตลาด 2 ที่นั่น ตรงนี้ก็ถือว่ามีโอกาสทางการค้าเหมือนกัน

เรื่องแรงงานคนไทยก็เริ่มบินไปทำงานที่นั่นแล้วบ้าง ซึ่งโดยรวมถือว่าดีขึ้นมากหลายอย่าง คนที่ได้ Benefit ก็เป็นทั้งฝั่งซาอุฯ และไทย แต่ในขณะเดียวกัน คนในยุคปัจจุบันนี้มีความรู้ในการซื้อสินค้า คนซาอุค่อนข้างจะซีเรียสในเรื่องนี้มาก เขาอาจจะได้รับข้อมูลจากเพื่อนว่า มันอาจจะไม่ใช่ราคานี้ก็ได้ เพราะเพื่อนจะบอกมาแล้วเขาจะเชื่อในการบอกต่อ เพราะฉะนั้นคนไทยก็น่าจะมีความจริงใจในการท่องเที่ยวไม่ใช่ว่า เห็นเขามีเงินแล้วจะโกงราคาเขา คือเอาตามมาตรฐานปกติดีกว่า เพื่อที่ให้เขาได้ไปบอกต่อและมีประโยชน์ในการค้าขายในระยะยาว


ความคาดหวังโดยส่วนตัวของอาจารย์เอง ในเรื่องความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ ในอนาคตข้างหน้า คิดว่าจะไปในทิศทางใดบ้างครับ

ตอนนี้ก็มีโครงการเปิดห้างไทยในซาอุฯ ณ เมืองริยาด ชื่อว่าห้าง Thai Mart ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีห้างลักษณะอย่างนี้อยู่แล้วอยู่ที่ประเทศบาห์เรน ซึ่งอาจจะถือได้ว่ายกระดับชุมชนไทยที่นั่น รวมถึงงานเอ็กซิบิชั่น ต่างๆ ซึ่งมีทั้งภาครัฐที่อาจจะไปจัด และภาคเอกชนที่จะไปจัดในเร็วๆนี้ ในการจัดสินค้าไทยเลย รวมถึงในอนาคตอันใกล้ก็อาจจะมีกรุ๊ปทัวร์จากเมืองไทยไปเที่ยวซาอุ ตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งก็มี Blogger ท่องเที่ยวไทย ไปสถานที่เหล่านั้นมาบ้างแล้ว เลยเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างว่ากำลังจะไปในทิศทางไหน เลยคิดว่าให้คนไทยเตรียมตัวตั้งรับกับเรื่องเหล่านี้ ส่วนนักธุรกิจไทยที่อยากจะขยายตลาด สามารถมองตลาดซาอุให้เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในย่านอาหรับได้เลยค่ะ

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : พลภัทร วรรณดี


กำลังโหลดความคิดเห็น