ประมงพื้นบ้านระยอง ยืนยันเดินหน้าฟ้องคดี “น้ำมันรั่ว” ทุกช่องทาง แม้ยังคาใจเป็นผู้เสียหาย แต่กลับถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาลกว่า 5 ล้านบาท
รายงานพิเศษ
“กลุ่มประมงพื้นบ้าน จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุน้ำมันรั่ว กลับต้องให้พวกเราจ่ายค่าธรรมเนียมศาล โดยเฉพาะในคดีที่เราฟ้องเพื่อให้เอกชนจ่ายเงินมาตั้งกองทุนฟื้นฟูทะเล เราจะเอาเงินนี้ให้หน่วยงานรัฐไปใช้ฟื้นฟูทะเล แต่ถูกเรียกค่าธรรมเนียมศาลกว่า 5 ล้านบาท คิดง่ายๆ นะครับ ระยองกำลังถูกทำให้เป็นเมืองอุตสาหกรรม จะเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษอีอีซี (ECC) แล้วในอนาคตหากเกิดเหตุการณ์แบบเดิมอีก ใครจะลุกขึ้นมาช่วยปกป้องทะเล เพราะการจะปกป้องทะเล กลับต้องเสียเงินเยอะมาก”
ไพบูลย์ เล็กรัตน์ หนึ่งในชาวประมงพื้นบ้านอ่าวระยอง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่วในทะเลทั้งในรอบแรกปี 2556 และรอบที่สองปี 2565 ให้ความเห็นของเขา หลังจากที่กลุ่มประมงพื้นบ้านกว่า 800 คน รวมตัวกันฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วปี 2565 ในคดีแพ่ง และในคดีทางปกครอง แต่กระบวนการในคดีแพ่งยังคงดำเนินต่อไปไม่ได้ เพราะถูกเรียกค่าธรรมเนียมศาลเป้นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง ส่วนในคดีทางปกครอง ชาวประมง ก็ต้องยอมจ่ายค่าธรรมเนียมศาลเช่นเดียวกัน
ในคดีแพ่ง กลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง รวมตัวกันฟ้องแยกเป็น 2 คดี คือ เรียกร้องค่าชดเชยต่อความเสียหายส่วนตัวที่ชาวประมงซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนได้เสียสำคัญจากความเสียหายของทะเลระยอง ไม่สามารถออกไปปนะกอบอาชีพได้ดังเดิม และฟ้องเพื่อให้บริษัทเอกชนผู้ทำให้เกิดเหตุน้ำมันรั่วจ่ายเงินเพื่อตั้งกองทุนฟื้นฟูทะเลระยอง โดยทั้ง 2 คดี ถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาล
ใน การฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายส่วนตัว มีชาวประมงพื้นบ้านฟ้องร้องรวม 832 คน รวมเป็นเงินทั้งหมด 246 ล้านบาท ซึ่งทุกคนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลคิดเป็นร้อยละ 2 ของทุนทรัพย์ที่เรียกร้องไป ทำให้แต่ละต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักหมื่นบาท
ส่วน การฟ้องเพื่อขอให้ตั้งกองทุนฟื้นฟูทะเลระยอง กลุ่มประมงพื้นบ้านเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 5 พันล้านบาท จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล 5.1 ล้านบาท ทำให้พวกเขาตัดสินใจ ยื่นขออุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จ่ายค่าธรรมเนียมศาล และอยู่ระหว่างรอฟังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ว่าจะให้ศาลชั้นต้นยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในคดีนี้หรือไม่
ไพบูลย์ บอกว่า แม้จะไม่ค่อยเข้าใจว่า ในเมื่อเป็นผู้เสียหาย ทำไมจึงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล แต่ในคดีที่แต่ละคนฟ้องเรียกค่าเสียหายส่วนตัวก็จะยอมจ่ายค่าธรรมเนียมศาลกันเอง เพราะหากแยกเป็นจำนวนเงินที่แต่ละคนต้องจ่ายก็อาจจะไม่มากนัก แต่ในการฟ้องเพื่อขอให้บริษัทเอกชนจ่ายเงินมาตั้งกองทุนฟื้นฟูทะเล เขาไม่เข้าใจว่าทำไมจึงต้องให้ผู้เสียหายวางเงินค่าธรรมเนียมศาลด้วย
“เรายอมวางค่าธรรมเนียมศาลในการเรียกค่าเสียหายส่วนตัวได้ครับ แต่ในคดีที่เราฟ้องเพื่อขอให้ตั้งกองทุนฟื้นฟูทะเล เป็นเพราะเราเห็นว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ปี 2556 มาจนเกิดเหตุซ้ำปี 2565 ซึ่งทั้ง 2 ครั้งล้วนใช้วิธีทำให้น้ำมันแตกตัวจมลงไปในทะเล แต่หน่วยงานรัฐยังไม่เคยสำรวจความเสียหายที่แท้จริงและยังไม่เคยลงไปฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในทะเลอย่างจริงจังเลย ...
พวกเราชาวประมง เข้าใจว่า อาจจะเป็นเพราะหน่วยงานราชการไม่มีงบประมาณ เราจึงฟ้องคดีนี้ เพื่อเรียกเงินมาให้หน่วยราชการมีงบประมาณในการนำไปฟื้นฟูทะเลระยอง แต่กลายเป็นว่า ประชาชนที่เป็นผู้เสียหายและหวังจะฟื้นฟูทะเลอย่างเรากลับถูกเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมศาลกว่า 5 ล้านบาท เราก็เลยต้องขออุทธรณ์ให้ศาลช่วยใช้ดุลพินิจใหม่”
ไพบูลย์ ยืนยันด้วยว่า แม้ในท้ายที่สุดศาลจะยังคงให้กลุ่มประมงพื้นบ้าน ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาล 5.1 ล้านบาท แต่พวกเจาก็จะยังคงเดินหน้าฟ้องเรียกค่าเสียหายเพื่อขอให้ฟื้นฟูทะเลระยองต่อไป แม้อาจจะต้องเรี่ยไรเงินกันในกลุ่มหรือขอรับเงินสนับสนุนจากภายนอกก็ตาม
ส่วนในการฟ้องคดีทางปกครอง กลุ่มประมงพื้นบ้าน จ.ระยอง 833 คน เรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐรวม 7 หน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง ดรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า กรมพัฒนาธุรกิจพลังงาน กรมประมง และกรมควบคุมมลพิษ รวมทั้งคณะกรรมการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำ(กปน.) เป็นเงินคนละ 62,958 บาท รวมเป็นเงิน 52,444,014 บาท แต่ศาลปกครอง มีคำสั่งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาลเช่นกัน เป็นเงินคนละ 1,260 บาท
หลังถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมศาลในคดีทางปกครอง กลุ่มชาวประมงได้ขอให้ศาลปกครองยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลเช่นกัน แต่ปรากฏว่า ศาลได้มีคำสั่งกลับมาให้ชาวประมงที่จะขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ต้องนำเอกสารมากมายมายืนยันว่าไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าธรรมเนียมศาลจริงๆ จึงจะยกเว้นให้ โดยมีเวลาประมาณ 10 วัน ผู้ฟ้องคดีทุกคนจะต้องนำเอกสารมาแสดงต่อศาล เช่น บัญชีแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ, สำเนาบัญชีเงินฝากธนาคารซึ่งมีรายการเดินบัญชีที่เป็นปัจจุบัน, สำเนาคำฟ้อง สำเนาพยานหลักฐานประกอบคำฟ้อง นั่นทำให้กลุ่มชาวประมงพิจารณาแล้วเห็นว่า การยอมจ่ายค่าธรรมเนียมศาลคนละ 1,260 บาท อาจจะน้อยกว่าค่าเดินทางไปเตรียมเอกสารเหล่านี้ จึงยอมจ่ายค่าธรรมเนียมศาลในที่สุดรวมกันเป็นเงิน 1,049,580 บาท
“เรื่องนี้ทำให้เราเห็นได้เลยว่า การจะเข้าถึงความยุติธรรมผ่านกระบวนการยุติธรรม นอกจากจะมีราคาแพงแล้วยังมีความยุ่งยากมากอีกด้วย แถมยังเป็นคำสั่งที่ไม่สอดคล้องกับวิถีของชาวประมง เพราะพวกเราเป็นกลุ่มอาชีพที่ไม่ค่อยนำเงินเข้าบัญชีธนาคาร และการขอตรวจสอบเราไปถึงบัญชีทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระค่าใช้จ่ายในครอบครัว ทำให้เรารู้สึกสงสัยเลยว่า แท้จริงแล้ว กระบวนการยุติธรรมมองพวกเราเป็นผู้เสียหายจากเหตุการณ์ที่ภาคอุตสาหกรรมก่อขึ้น หรือมองเราเป็นจำเลยกันแน่
ผมเคยหวังนะ ว่าในเมื่อหลายระบบในประเทศนี้มันถูกมองว่าแย่ไปแล้ว ก็หวังว่า ระบบยุติธรรม จะยังเป็นที่พึ่งพิงของประชาชนได้” ไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้าย