xs
xsm
sm
md
lg

ส่องวิสัยทัศน์ ‘อาจารย์อ้อ-ศิรินันท์ ศิริพานิช’ คนการเมืองรุ่นใหม่ ใส่ใจสังคมรอบด้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อาจารย์อ้อ-ศิรินันท์ ศิริพานิช
แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเหมือน “สนามชนช้าง” แต่ในฐานะคนการเมืองรุ่นใหม่ที่มากับพรรคใหม่ก็ไม่ได้กังวล 
เพราะเธอเชื่อว่าความตั้งใจจริงผ่านการลงพื้นที่จริงอย่างสม่ำเสมอเกือบทุกวัน จะทำให้ประชาชนในพื้นที่สัมผัสได้ถึงความมุ่งมั่นจนสร้างความเชื่อมั่นในฐานะผู้แทนฯ จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ขออาสาเข้ามาทำหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิตของพ่อแม่พี่น้องในเขตปทุมวัน บางรัก สาทร ที่เป็นคนพื้นที่เดียวกันกับเธอให้ดีขึ้นได้อย่างแน่นอน

นโยบายหลักๆ ที่เธออยากผลักดันคือ ทำอย่างไรให้เด็กจบใหม่มีรายได้ที่สูงขึ้น 
ให้เด็กไทยสามารถอยู่ในสังคมโลกและบอกได้ว่าตัวเองเป็น Global Citizen มี Global Mindset มีทักษะที่เหมาะกับโลกปัจจุบันและอนาคต เธออยากให้สังคมมองอาชีวะศึกษาด้วยมุมมองใหม่ แบบ High value 
เธอเชื่อมั่นว่าการเรียนสายอาชีวะศึกษา สามารถนำพามาซึ่ง Economic development

เธอมุ่งหวังส่งเสริมทักษะแห่งอนาคตหรือ Future Skill ด้วยหลักสูตรที่ผสานความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมกันผลักดันนโยบายนี้ อีกทั้งมีการ Reskill ให้กับเด็กจบใหม่หรือพนักงานบริษัทที่สนใจ มีการประกันรายได้ที่แน่นอนเมื่อเรียนจบและเข้าทำงานในบริษัทเอกชนที่ร่วมหลักสูตร

เธอมีมุมมองเกี่ยวกับแม่และเด็กที่น่าสนใจ รวมถึงสตรีในกลุ่มเปราะบาง และสตรีในทุกฐานรายได้ ให้ได้รับสวัสดิการที่ครอบคลุมและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต

พื้นที่เขต 2 ‘ปทุมวัน, บางรัก, สาทร’ ที่เธอลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นผู้แทนราษฎรในเขตดังกล่าว
มีชุมชนอยู่รวมกันถึง 56 ชุมชน เธอลงพื้นที่ติดตามประเด็นปัญหาของชุมชนอย่างต่อเนื่อง และมองเห็นว่าสิ่งใดที่ชุมชนควรได้รับ นั่นคือสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เป็นปอดของกรุงเทพฯ ที่สะอาดกว่าที่เป็นอยู่

แรงบันดาลใจหรือสิ่งที่จุดประกายให้เธอลงสนามการเมือง อาจย้อนไปไกลถึงเมื่อครั้งที่เรียนปริญญาตรี คณะศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาอังกฤษและอเมริกันศึกษา หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1 ทุนภูมิพล เหรียญทอง) และการเรียนปริญญาโท Master of Public Administration in Urban Policy and Sustainable Development, Columbia University, USA เกียรตินิยมอันดับ 1


อาจารย์เกือบ 100% ของมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เป็น Practitioner เป็นคนที่ปฏิบัติหน้าที่จริงในงานหลากหลายแขนง ไม่ได้เป็นแค่อาจารย์หรือนักวิชาการมาสอน แต่มาจากผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่การงาน อาทิ มีอดีตท่านทูตจากหลายๆ ประเทศ, มีอดีตนายกรัฐมนตรีมาสอน เป็นต้น ทำให้เธอได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากสายงานต่างๆ 
อีกทั้งก่อนจบการศึกษาและต้องทำโปรเจ็กต์หลักประมาณ 1 ปี ทำให้ศิรินันท์ ได้คลุกคลีกับ Practitioner มากยิ่งขึ้น

โปรเจ็กต์หลักของเธอ คือการผลักดันให้ชุมชนในย่านฮาร์เล็ม (Harlem) ซึ่งอยู่ตอนเหนือของแมนฮัตตัน เป็นชุมชนที่คนส่วนใหญ่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่าคนอื่นๆ ในนิวยอร์ค จะทำอย่างไรให้เด็กและเยาวชนในชุมชนฮาร์เล็ม เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา

เธอทำงานร่วมกับสำนักนโยบาย สำนักแผนการศึกษา และสำนักงบของนิวยอร์ค เพื่อให้มีการกระจายรายได้ของรัฐบาล ไปสู่โรงเรียนรัฐในชุมชนฮาร์เล็ม พัฒนาบุคลากรครู พัฒนาอุปกรณ์การเรียนรู้ และที่สำคัญคือ Support เงินผู้ปกครองในชุมชนฮาร์เล็ม เพราะผู้ปกครองของเด็กกลุ่มนี้ ทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 5 ทุ่ม หรือเที่ยงคืนถึงเช้า เรียกว่าทำงานควบสองกะ เธอและทีมจึงจัดสรร Volunteer ไปนั่งเป็นเพื่อนเด็กๆ ที่ฮาร์เล็ม

ประสบการณ์ทำงานคลุกคลีกับ City of New York 
ได้พบกับประชาชนที่มีปัญหาจริงๆ และเข้าไม่ถึงนโยบายสาธารณะ ยิ่งขับเน้นให้เธอมีมุมมองที่แหลมคมต่อรากของปัญหา โดยมี ‘การศึกษา’ เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนา เมื่อผนวกรวมกับประสบการณ์การทำงานที่น่าสนใจ ในตลอดระยะเวลายาวนานที่ผ่านมา 

จึงไม่อาจปฏิเสธว่า ‘อ้อ-ศิรินันท์ ศิริพานิช’ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษเธอผู้นี้ ในทุกประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น


พาเด็กไทยก้าวสู่ Global Citizen ผลักดันอาชีวะฯ สู่ High value

ถามว่า นโยบายใดที่คุณอยากผลักดันเป็นพิเศษให้เกิดขึ้นในสังคมไทย
ศิรินันท์ตอบว่าตัวเธอนั้น มีความ Passionate กับการศึกษาไทยอย่างมาก โดยเฉพาะเกี่ยวกับเด็กและเยาวชน


“นโยบายหลักๆ ที่อ้ออยากจะผลักดันก็คือ ทำอย่างไรให้เด็กจบใหม่ มีรายได้ที่สูงขึ้น อ้ออยากให้เด็กไทยสามารถอยู่ในสังคมโลกได้ และบอกได้ว่าตัวเองเป็น Global Citizen และมี Global Mindset อยากให้เด็กไทย มีทักษะที่เหมาะกับโลกปัจจุบัน Match กับตลาดงานและทั่วโลกต้องการ” ศิรินันท์ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า

เธออยากให้สังคมมองอาชีวะศึกษาด้วยมุมมองใหม่ แบบใหม่ แบบ High value เพราะถ้าเรามองดีๆ สายอาชีวะศึกษา สามารถนำพามาซึ่ง Economic development แล้วหากถามว่า Skill หรือ ทักษะใดที่เหมาะกับยุคสมัยแห่งอนาคต และนำพามาซึ่ง Economic development นั่นคือทักษะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ Data, 3D, Coding, Digital Marketing, Online Marketing 
รวมทั้งงานที่เกี่ยวข้องกับรถ EV ( Electric Vehicle : รถยนต์ไฟฟ้า ) เนื่องจากในโลกยุคใหม่ รถควันดำไม่ได้รับความนิยมอีกแล้ว

อีกทั้งในหลายๆ ประเทศ มีตัวอย่างการเรียนการสอนที่น่าสนใจคือ เขาสามารถนำมืออาชีพจากบริษัทรถEV มาสอนในโรงเรียนได้ โดยเขานำเอารถ EV เข้ามาในโรงเรียน แล้วทำการรื้อและประกอบใหม่ทั้งหมด เด็กจึงไม่ได้เรียนจากทฤษฎีเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว หรือแม้แต่ในประเทศสิงคโปร์ก็มีการจัด Reskill ให้กับเด็กจบใหม่ หรือ พนักงานบริษัทที่อาจรู้สึกว่าตนเองต้องการเปลี่ยนแปลงทักษะให้ก้าวทันโลกยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด
ศิรินันท์ย้ำว่า ด้วยเหตุนี้ เราควรจะมีทุนให้กับประชาชนทุกกลุ่มวัย เพื่อให้เรียนทักษะ Provider ที่รัฐบาลรับรอง


ส่งเสริมการศึกษา สร้างทักษะแห่งโลกอนาคต

ศิรินันท์กล่าวว่า ในมุมมองของเธอ หลักสำคัญของการศึกษาไทย มีดังนี้
ประการที่ 1 คือการส่งเสริมทักษะแห่งอนาคตหรือ Future Skill ด้วยหลักสูตรที่มีการผสานความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อร่วมกันผลักดันนโยบายนี้

ประการที่ 2 ต้องผลักดัน Future Skill และ Reskill เข้าไปในหลักสูตรของอาชีวะศึกษาโดยประสานกับภาคเอกชน ให้นำผู้เชี่ยวชาญมาช่วยในด้านนี้ รวมทั้งมีการ Reskill ให้กับเด็กจบใหม่หรือพนักงานบริษัทที่สนใจ

ประการที่ 3 คือการสร้างสถาบันที่เป็นตัวกลางให้เด็กอาชีวะได้มาเรียนรู้ รวมทั้งเยาวชน หรือประชาชนที่แม้จะมีอายุมากแล้ว ก็สามารถมาเรียนรู้ได้ โดยมีการเชื่อมผสานกับผู้ประกอบการและภาคเอกชน ว่าถ้าหากมีผู้จบจากสถาบันนี้ ก็สามารถไปทำงานที่บริษัทซึ่งมีความร่วมมือกันได้ นับเป็นการประกันรายได้ที่แน่นอน นอกจากนั้น จะผลักดันให้มีการเพิ่มรายได้ 
เมื่อเราผลิตแรงงานที่มีทักษะตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานโลกก็นับเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับมหภาค


ประเด็นขับเคลื่อนในพื้นที่เขต 2 ‘ปทุมวัน, บางรัก, สาทร’

ถามว่า มีประเด็นปัญหาใดในสังคม หรือปัญหาใดในพื้นที่ เขต 2 ปทุมวัน, บางรัก, สาทร ที่คุณติดตามเป็นพิเศษและอยากแก้ไข

ศิรินันท์ตอบว่า เธอลงพื้นที่เก็บข้อมูลปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนมาสักระยะแล้ว คนในพื้นที่ปทุมวัน บางรัก สาทร นับว่าเป็นพื้นที่ไข่แดงของกรุงเทพฯ ในพื้นที่เขตดังกล่าว มีชุมชนอยู่รวมกันถึง 56 ชุมชน ถือว่าเยอะมาก
ปัญหาของชุมชนเมืองคือมีหลายสิ่งที่เขายังไม่ได้รับ อาทิ เขาอยากได้สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น 
เขาอยากได้ปอดของกรุงเทพฯ ที่สะอาดกว่านี้

“อ้อสนับสนุน และอยากให้มีนโยบายแก้ไข PM 2.5 ที่ยั่งยืน ทำได้จริง
มีหลายอย่างที่รัฐบาลท่านประยุทธ์ (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ) ทำอยู่ก่อนแล้ว และอ้ออยากสานต่อ เช่น รถเมล์พลังงานไฟฟ้า หรือรถ EV

ปีที่แล้ว มีรถเมล์พลังงานไฟฟ้า เริ่มวิ่งแล้ว 1,250 คัน 122 สาย ปีนี้จะวิ่งเพิ่ม มากกว่า 3,000 คัน โดยอ้อและทีมงาน ลองไปนั่งมาแล้ว เงียบกริบ ไม่มีเสียง ไม่มีควัน แอร์เย็นสบาย ทุกอย่างบริการอย่างดี

"นอกจากรถ EV แล้ว ส่วนตัวอ้ออยากทำสวนหย่อมใจกลางเมือง ในทุกๆ ชุมชน เนื่องจากอ้อเคยไปดูงานที่เกาหลีใต้ พบว่าทุกๆช่วงตึก เขาจะตัดพื้นที่ออกสองห้องเล็กๆ แล้วทำเป็นสวนจริง สวนใบไม้จริง มีเก้าอี้ ม้านั่งสองตัว และสไลเดอร์ 1 อัน ซึ่งสวนนี้มันกลายเป็นเซ็นเตอร์ ดึงแต่ละครอบครัวมาอยู่ด้วยกันภายในชุมชน เราสามารถไปสวนหย่อมในชุมชนนั้นๆ ได้โดยไม่ต้องเดินทางไปไกล ทุกสองซอย จะมี 1 สวน ซึ่งอ้อเชื่อว่าทำได้ เพราะเมื่อเร็วๆ นี้ อ้อก็ลงพื้นที่ไปชุมชนแห่งหนึ่ง เขามีที่รกร้าง เป็นกองขยะ เราสามารถไปช่วยเขาเก็บของและปลูกพืชผักผลไม้ วางเก้าอี้ แป๊บเดียวก็เสร็จแล้ว ไม่ยากเลย นี่เป็นสิ่งที่อ้ออยากผลักดัน อยากให้มีพื้นที่สีเขียวใจกลางกรุง”

“นอกจากนั้นก็มีเรื่องสตรี เนื่องจากอ้อเป็นประธานคณะกรรมการเด็ก สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ของพรรครวมไทยสร้างชาติ อ้ออยากให้เราคิดถึงกลุ่มเปราะบางของสตรี คือสตรีมีครรภ์ สตรีในชุมชนเมืองที่มีลูกเล็กที่เขายังไปทำงานไม่ได้ และสตรีทุกๆ คน รวมถึงมนุษย์เงินเดือนด้วย เขาก็อยากให้เรามีสิ่งช่วยเหลือเขาด้วย

“โครงการของรัฐบาล คือโครงการมารดาประชารัฐ เป็นโครงการที่อ้อชอบมาก อ้ออยากจะสานต่อโครงการนี้
โครงการมารดาประชารัฐ มุ่งให้ความสำคัญว่าเราต้องดูแลเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนถึง 6 ขวบ 
ดูแลสตรีตั้งแต่ตั้งท้องจนถึงช่วงที่แม่ต้องดูแลลูกเล็กด้วย โดยรัฐให้เงินช่วยเหลือ ซึ่งต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นผู้ที่สามารถทำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป มีสัญชาติไทย มีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี

“หากถามว่าโครงการนี้จะให้สิทธิ์อะไรบ้าง
นั่นคือ ตั้งแต่ตั้งท้องจนถึงคลอด คุณจะได้เดือนละ 3,000 บาท ทุกเดือน วันที่คลอดบุตร ได้ค่าทำคลอดบุตร 10,000 บาท
และคุณจะได้ เดือนละ 2,000 บาททุกเดือน ตลอด 6 ปี

“อ้ออยากสานต่อโครงการนี้ ขยายผลให้ครอบคลุมสตรีทุกกลุ่มมากกว่านี้
โดยการลดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิ์ลง อาทิ ไม่ใช่คนจนเมืองอย่างเดียว แต่พนักงาน มนุษย์เงินเดือน ก็สามารถได้รับความช่วยเหลือจากโครงการนี้ได้ อ้ออยากให้เงินช่วยเหลือมากกว่านี้ มีวันลางานมากกว่านี้ เหมือนประเทศแถบสแกนดิเนเวีย คือคุณพ่อสามารถลางานสลับกับคุณแม่ได้ อยากผลักดันให้เป็นสิทธิ์ขั้นพื้นฐานที่ผู้หญิงทุกคนควรได้รับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับบุตรที่ทุกคนควรจะมีสิทธิ์ ในคนทุกๆ กลุ่ม ทุกฐานรายได้ โดยดูแลตั้งแต่เด็กเกิด” ศิรินันท์ระบุ




ประสบการณ์ที่แหลมคม จังหวะก้าวและเวลาที่เหมาะสม

ถามว่า อะไร เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้

ศิรินันท์ตอบว่า แรงบันดาลใจหรือสิ่งที่จุดประกาย อาจต้องเล่าย้อนไปไกลถึงเมื่อครั้งที่เรียนปริญญาตรี คณะศิลปศาสตรบัณฑิตสาขาอังกฤษและอเมริกันศึกษา หลักสูตรนานาชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับ 1 ทุนภูมิพล เหรียญทอง)
ในช่วงที่เรียนปริญญาตรี มีผู้จุดประกาย คือ Professor หลายๆ ท่าน ซึ่งมาสอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บางท่านมาจากวอชิงตัน ดีซี เคยทำงานที่ White House ( ทำเนียบขาว )

จุดประกายให้ศิรินันท์ที่ชอบ Discuss กับ Professor ทำให้ทราบว่าเขาอยากมาช่วยพัฒนาเอเชีย จึงมาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็น Professor ท่านนี้เอง ที่แนะนำศิรินันท์ว่า หากเธอชอบและสนใจ Public policy ที่สหรัฐอเมริกามีสถาบันหลายๆ แห่ง โด่งดังด้านการสอนในเรื่องนี้ ศิรินันท์จึงลองสมัครดู 
ปรากฏว่าได้หนังสือตอบรับให้เข้าเรียนจากมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่ง แต่สุดท้ายเธอตัดสินใจเลือกเรียนปริญญาโท Master of Public Administration in Urban Policy and Sustainable Development, Columbia University, USA และคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 มาครอง

ศิรินันท์เล่าว่า เหตุผลที่เธอเลือกที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เนื่องจากอาจารย์เกือบ 100% ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็น Practitioner เป็นคนที่ปฏิบัติหน้าที่จริงในงานหลากหลายแขนง ไม่ได้เป็นแค่อาจารย์หรือนักวิชาการมาสอน แต่มาจากผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่การงาน อาทิ มีอดีตท่านทูตจากหลายๆ ประเทศ, มีผู้ที่มีตำแหน่งเทียบกับ ผบ.ตร. มีอดีตนายกรัฐมนตรีมาสอน เป็นต้น ทำให้เธอได้เรียนรู้ประสบการณ์จริงจากสายงานต่างๆ อีกทั้งก่อนจบการศึกษา จะต้องทำโปรเจ็กต์หลักประมาณ 1 ปี ทำให้ศิรินันท์ ก็ได้คลุกคลีกับ Practitioner มากยิ่งขึ้น

“โปรเจ็กต์หลักของอ้อก็คือ อ้อไปดูว่า จะทำยังไงให้ชุมชนในย่านฮาร์เล็ม (Harlem) ซึ่งอยู่ตอนเหนือของแมนฮัตตัน เป็นชุมชนที่คนส่วนใหญ่มีฐานเงินเดือนที่ต่ำกว่าคนอื่นๆ ในนิวยอร์ค

“เราจะทำยังไงให้เด็กและเยาวชนในชุมชนฮาร์เล็ม เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา
อ้อก็เข้าไปคลุกคลี ทำงานร่วมกับสำนักนโยบาย สำนักแผนการศึกษา และสำนักงบของนิวยอร์ค เขาก็ให้เราทำทุกอย่างเลย เหมือนเป็นศาลาว่าการของเขา ทำยังไงให้มีการกระจายรายได้ของรัฐบาล ไปสู่โรงเรียนรัฐในชุมชนฮาร์เล็มได้ พัฒนาบุคลากรครู พัฒนาอุปกรณ์การเรียนรู้ และที่สำคัญคือเขา Support เงินผู้ปกครองในชุมชนฮาร์เล็ม เพราะผู้ปกครองของเด็กกลุ่มนี้ ทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 5 ทุ่ม หรือเที่ยงคืนถึงเช้า ควบสองกะไปเลยก็มี

“ดังนั้น หลังเลิกเรียน เด็กจึงไม่มีคนดูแล เพราะทั้งพ่อและแม่ทำงานสองกะ เด็กก็อาจไปสนใจสิ่งที่ไม่สมควร บ้างก็โดนล่อลวงไปในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ทางทีมของเราก็จัดสรร น้องๆ Volunteer ที่จบปริญญาโท ปริญญาตรี ไปนั่งเป็นเพื่อนน้องๆ ที่ฮาร์เล็ม ไปดูแลหลังเลิกเรียน บ้างก็ไปสอนหนังสือ มีหลายแบบเลยค่ะ

“สิ่งเหล่านี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีของอ้อมากเลย ที่ได้ไปทำงานคลุกคลีกับ City of New York ได้พบกับประชาชนที่เขามีปัญหาจริงๆ และเข้าไม่ถึงนโยบายสาธารณะ แล้วเมื่อช่วงใกล้ๆ ที่จะเรียนจบ อ้อก็ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยและผู้ประสานงานท่านเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหประชาชาชาติ (Economic and Social Council (ECOSOC), United Nations ) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา แล้วก็ได้เรียนรู้บทบาทของไทย ว่าในประชาคมโลก เขามองเรายังไง นโยบายเอเชีย นโยบายยุโรป นโยบายโลก ส่งผลกับเราในด้านไหนบ้าง เราต้องวางตัวยังไง

“เมื่อกลับมาไทย อ้อก็ได้ทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ดูนโยบายกรุงเทพฯ ในมุมกว้าง ทั้ง 50 เขต ดังนั้น ตลอดสิบปีที่ผ่านมา ก่อนจะมาลงสนามเลือกตั้งครั้งนี้ อ้อก็อยู่ในแวดวงการศึกษาด้วย เช่น อ้อเป็นอาจารย์พิเศษสอนที่มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต เป็นวิทยากรสอนภาษาให้หน่วยงานราชการบ่อยครั้ง เป็นวิทยากรอบรมข้าราชการระดับสูง ให้กระทรวงศึกษาฯ

"เป็นประสบการณ์ เป็นสิ่งที่อ้อได้สัมผัสกับนโยบายสาธารณะ อ้อรู้สึกว่า เราอยากนำความสามารถ ความรู้ ประสบการณ์ที่มี นำมาปรับใช้กับบริบทในประเทศไทย ทำยังไงให้นโยบายที่ประสบความสำเร็จในต่างชาติ มาปรับให้เข้ากับพื้นที่เรา ทั้งปทุมวัน สาทร บางรัก ความรู้ช่วงที่เราได้ไปอยู่ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ได้รู้จักทั้ง 50 เขต ทำยังไงให้ Scope down มายังพื้นที่เรา ซึ่งการเป็นผู้แทนคือคำตอบ เพราะผู้แทนราษฎรสามารถผลักดันนโยบายได้ ผ่านทาง อำนาจนิติบัญญัติ ผ่านทางรัฐสภา
จากที่เคยเป็นคนที่มองจากมุมกว้าง อ้ออยากเข้าใกล้ อยากใกล้ชิดประชาชนให้มากยิ่งขึ้น ผ่านการเป็นผู้แทนค่ะ” ศิรินันท์บอกเล่าถึงความมุ่งมั่นตั้งใจ

อดถามไม่ได้ว่า ฐานเสียงของคุณคือคนกลุ่มไหน

ศิรินันท์ตอบว่า “สำหรับตัวอ้อ หลังจากลงพื้นที่มาระยะนึงแล้ว อ้อค่อนข้างเชื่อว่า ในมุมอ้อนะคะ 
อ้อได้ฐานเสียงจากคนทุกกลุ่มวัย เราอยู่ตรงกลางของกลุ่มคนเหล่านี้ อ้ออยากเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ ที่เป็นตัวเชื่อมกับทุกความคิดเห็น ทุกรูปแบบ ทุกกลุ่มวัย ถ้านโยบายเราจับต้องได้ ทำได้จริง ตรงกับวัยเขา และเราให้ความเชื่อมั่นกับพี่ๆ น้องๆ คุณลุงคุณป้า ได้ว่าเราจะกลับมาบ่อยๆ เราทำได้จริง เรามีสัจจะ เราจะมาเป็นผู้แทนให้เขาจริงๆ” ศิรินันท์ระบุ


Work-life balance , Positive thinking

คำถามสุดท้าย อยากให้เล่าถึงความเป็นตัวเองในแง่มุมที่นอกเหนือไปจากงานการเมืองบ้าง

ศิรินันท์ตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “อ้อเป็นคน Work-life balance อ้อเป็นทั้งอาจารย์ คุณครู เป็นคนรุ่นใหม่ที่แบ่งเวลา ชอบอ่านหนังสือ ชอบออกกำลังกาย ชอบปลูกต้นไม้และผักสวนครัว เพราะเป็นคนชอบทานผักออร์แกนิค เป็นคนที่ถ้าอยู่บ้าน จะช่วยที่บ้านปลูกผักสวนครัว มีทั้งเคล มีพริก มีมะนาว เลมอน โหระพา ผักชี เป็นคนชอบปลูกต้นไม้ แล้วก็นำต้นที่ตัวเองปลูกมาทาน เวลาว่าง อ้อเป็นคนชอบปลูกผักค่ะ”

“นอกจากปลูกผักแล้วอ้อก็ชอบอ่านหนังสือ ชอบออกกำลังกาย หนังสือที่อ่านล่าสุดคือ This Book Will Make You Kinder : An Empathy Handbook ( ผู้เขียน: Henry James Garrett ) ชอบมากเลย ชอบอ่านหนังสือแนว Inspiration ชอบอ่านหนังสือที่เหมือน Life Coaching เพราะตัวอ้อเองเป็นคนแนวนั้น เวลาอ้อพูดกับนักเรียน เหมือนเป็นไลฟ์โค้ช อ้อชอบคนพูดจา Positive หนังสือที่อ่านก็เป็นอย่างนั้น สำหรับหนังสือเล่มนี้ที่อ้อเพิ่งอ่านจบ ถามว่าดียังไง เขาสอนให้เราเป็นคนจิตใจดี 

"คำว่าจิตใจดี อาจฟังดูง่าย แต่อ้อว่ามันเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เราทำให้กันได้ Make You Kinder หรือ Step forward อะไรที่เราทำให้กับสังคมได้ เช่น เราอาจสอนลูกหลานเราว่า ไม่ใช่แค่การไม่ทิ้งขยะในที่สาธารณะ แต่เวลาไปทะเลกับคุณพ่อคุณแม่ เราก็เดินเก็บขยะไปด้วย เป็นต้น หนังสือเล่มนี้ อ้อแนะนำในเพจของอ้อด้วย เป็นเล่มที่อ่านแล้วรู้สึกสบายใจ อ่านได้สบายๆ ภาษาอังกฤษ ก็เป็นแบบที่เข้าใจง่าย” ศิรินันท์กล่าวทิ้งท้าย 

สะท้อนภาพ Working Woman ผู้เปี่ยมวิสัยทัศน์ที่พร้อมก้าวเข้ามารับใช้ประชาชน ขณะเดียวกันก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับ Work-life balance ได้อย่างลงตัว
.......

*หมายเหตุ ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาบางส่วนของศิรินันท์ ศิริพานิช อาทิ

ปัจจุบัน ประธานคณะกรรมการเด็ก สตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส พรรครวมไทยสร้างชาติ
กุมภาพันธ์ 2565 - ปัจจุบัน ที่ปรึกษาผู้แทนการค้าไทย ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
2552 – 2559 กรรมการสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยโคลัมเบีย
2556 -2558 ผู้ช่วยผู้จัดการโรงเรียนและที่ปรึกษา วิทยาลัยเทคโนโลยีศรีวิกรม์บริหารธุรกิจ
2552 -2557 ผู้ช่วยผู้อำนวยการแผนกวิเทศสัมพันธ์มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
2552 -2557 อาจารย์สอนนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
2552 -2557 อาจารย์สอน TOEFL, GMAT, GRE ให้นักศึกษาปริญญาโท และปริญญาเอก
2552 -2557 วิทยากรกิตติมศักดิ์ประจำมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต
2552 -2555 ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร
2552 คณะที่ปรึกษา New York City’s Office of Management and Budget นครนิวยอร์ก
ประเทศสหรัฐอเมริกา
2551 ผู้ช่วยและผู้ประสานงานท่านเอกอัครราชทูตไทย ประจำสหประชาชาชาติEconomic and
Social Council (ECOSOC), United Nations นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

ประวัติการรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
2553 ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่3 "ตริตาภรณ์มงกุฎไทย