xs
xsm
sm
md
lg

"อ.เจษฎา" อธิบายชัด ภาพ "มนุษย์ต่างดาว" เกิดจากแสงแฟลร์ของกล้องถ่ายรูป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"อาจารย์เจษฎา" เผยภาพมนุษย์ต่างดาวที่ภิกษุณีโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ยันมาจากแสงแฟลร์ของกล้องถ่ายรูป

จากกรณีภิกษุณีกลายเป็นตัวตลกห่มจีวรในพริบตา ก็คือ “หมอปลาย พรายกระซิบ” ซึ่งดันมาโหนกระแสเอเลียนบุกโลกกับเขาด้วย อ้างว่าถ่ายรูปติดเอเลียนมากับมือ ใครไม่เชื่อ แต่ฉันเชื่อ ประกาศขนาดนี้เลย ผลก็คือโดนทัวร์ลงเละ แทบไม่มีสาวกหน้าไหนจะกล้ากระโดดเข้ามาช่วย ต้องยืนอยู่ห่างๆ ทนดูหมอปลายกลายเป็นเป้านิ่ง ให้คนทั้งเมืองล้อเลียนเสียดสีกันข้ามวันข้ามคืน

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” หรือ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์อธิบายในประเด็นดังกล่าวว่าเป็น "ภาพเอเลียน หรือภาพจากแฟลร์กล้องถ่ายรูป โดยได้ระบุข้อความว่า

"เมื่อกี้นักข่าวส่งภาพนี้มาขอความเห็นว่า มันน่าจะเป็นภาพของ "เอเลียน" มนุษย์ต่างดาวที่มาเที่ยวโลกจากกาแล็กซีอื่นหรือเปล่า? ถึงแม้ว่าในทางวิทยาศาสตร์กระแสหลักจะบอกว่ามนุษย์เราและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ บนดาวเคราะห์โลกนี้คงไม่ใช่ "สิ่งมีชีวิต" กลุ่มเดียวในจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลจนแทบจะหาจุดสิ้นสุดไม่ได้

แต่ขณะเดียวกันก็แทบจะไม่มีความเป็นไปได้เลยที่สิ่งมีชีวิตอันทรงภูมิปัญญาจากคนละระบบสุริยจักรวาล จะเดินทางข้ามอวกาศอันกว้างไกล มาพบเจอกันในเวลาอันเหมาะสมกันได้ด้วย

แถมเรายังไม่เคยมีหลักฐานยืนยันชัดเจน ว่าเคยมีสิ่งมีชีวิตต่างดาว เอเลียน มนุษย์ต่างดาว ได้เคยเดินทางมาเยือนโลกของเราจริง แถมบ่อยครั้งที่ภาพถ่าย ภาพวาด คลิปวิดีโอที่คนเข้าใจว่าเป็น "เอเลียน" นั้น สุดท้ายก็เป็นเพียงแค่ความเข้าใจผิด

ดังเช่นรูปที่เห็นนี้ ใครที่เคยถ่ายรูปด้วยกล้องเด็กน้อย กล้องมือถือ หรือกล้องที่มีเลนส์คุณภาพต่ำ ก็จะพบว่าถ้าถ่ายภาพย้อนเข้าหาแหล่งกำเนิดแสง เช่น หลอดไฟ หรือดวงอาทิตย์ ก็จะ "แฟลร์ flare" ขึ้นมาปรากฏบนภาพได้ ... ซึ่งฟันธงได้เลยว่า ภาพที่แชร์กันอยู่นี้ก็เป็นแค่ "แฟลร์" เช่นเดียวกันครับ ไม่ใช่เอเลียนหรอกครับ! ขอเอาความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับ แฟลร์ มาเผยแพร่ให้รู้จัก และหลบเลี่ยงกันนะครับ"

สำหรับแสงแฟลร์ (Flare) ที่หลายคนเคยเจอไม่ว่าจะเป็นดวงๆ คล้ายพลังงานลี้ลับ, แสงฟุ้งๆ ที่มารบกวนสายตาในภาพ หรือเงาสะท้อนแปลกตาที่ไม่น่าเกิดขึ้นในภาพได้ เหล่านี้คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั้งในกล้องถ่ายรูปทั่วไป และในกล้องของสมาร์ทโฟน

แฟลร์เกิดจากอะไร?

เลนส์ถ่ายภาพไม่ว่าจะกล้องเล็ก กล้องใหญ่ หรือกล้องสมาร์ทโฟน ต่างประกอบด้วยชิ้นเลนส์หลายชิ้นเรียงกันอยู่ ส่วนมาก "แสงแฟลร์" จะเกิดจากแสงที่พุ่งตรงเข้ามาที่เลนส์ในปริมาณมากเกินไปหรือในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม จนเกิดเป็นแสงสะท้อนขึ้น

สำหรับ "iPhone" รวมถึงสมาร์ทโฟนบางรุ่นมักจะเกิดแสงแฟลร์ในการถ่ายภาพย้อนแสง และการถ่ายภาพกลางคืน ซึ่งแทนที่จะได้แสงแฟลร์ที่หลายคนมองว่าเป็นสีสันของภาพ กลับกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมบนภาพ รวมถึงอาจทำให้รายละเอียดของภาพขาดหายด้วยซ้ำ

นอกจากสาเหตุจากสภาพแสงแล้ว ส่วนของ Hardware ก็มีผล มีการตั้งข้อสังเกตว่าการเกิดแสงแฟลร์ใน iPhone รุ่นก่อนๆ (จนถึง iPhone 12) อาจเพราะการตำแหน่งกล้องอยู่ใกล้กันเกินไป จึงเกิดแสงสะท้อนเข้าสู่เลนส์หลัก จน Apple ปรับตำแหน่งของเลนส์ให้ทแยงมุมกัน ทว่าก็ยังพบปัญหาแสงแฟลร์อยู่บ้าง

สาเหตุการเกิดแฟลร์ยังมีอีกหลายปัจจัย ตั้งแต่เลนส์สกปรกทั้งจากฝุ่น รอยนิ้วมือ หรือคราบต่างๆ, รอยร้าวบนหน้าเลนส์, การที่สาร Multi Coated บนหน้าเลนส์หลุดร่อน ไปจนถึงการติดฟิล์มหรือกระจกกันรอยที่หน้าเลนส์ด้วยซ้ำไป เพราะถึงแม้จะมีเงาแต่การที่แสงตกกระทบบนวัตถุอื่นก่อนก็อาจหักเหแสงจนเกิดเป็นแฟลร์ได้เช่นกัน

เคล็ดไม่ลับกำจัดแฟลร์

ถ้า "แสงแฟลร์" เกิดขึ้นจากความตั้งใจ ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่ในกรณีแสงเหล่านี้กลายเป็นสิ่งรบกวนสายตาและรบกวนใจก็ต้องกำจัด ต่อไปนี้คือ วิธีจัดการกับแสงแฟลร์ให้หมดไป (หรืออย่างน้อยเบาลงก็ยังดี)

1. จัดการที่ต้นกำเนิดแสง

แสงอาจไม่แยงตา แต่เมื่อแสงมาแยงเลนส์ ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์หรือแสงจากแหล่งกำเนิดแสงอื่นๆ ก็ต้องจัดการที่ต้นตอ ด้วยการลดปริมาณแสง ถ้าเป็นแสงอาทิตย์ก็ควรรอให้แสงอ่อนลง เช่น รอช่วงที่เมฆบังดวงอาทิตย์ หรือถ่ายภาพผ่านวัตถุอื่นๆ ที่ช่วยลดแสงได้

2. จัดการที่หน้าเลนส์

ปัจจัยที่ควบคุมได้มากที่สุด คือ "iPhone" หรือสมาร์ทโฟนที่อยู่ในมือเรา หากเป็นกล้องทั่วไป อาจจะมีอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่าฮูด (Hood) ใช้ติดที่หน้าเลนส์เพื่อป้องกันแสงรบกวนที่จะเข้ามาที่เลนส์ แต่สำหรับไอโฟนและสมาร์ทโฟน สิ่งของต่างๆ ใกล้ตัวก็นำมาบังแสงไม่พึงประสงค์ได้ โดยนำมาป้องที่บริเวณที่แสงรบกวนแยงเข้ามา

ถ้าไม่มีอุปกรณ์ใดๆ มือของเราคือสิ่งที่ง่าย และใช้ได้ผลดีมากเลยทีเดียว ด้วยการใช้มือป้อง ทำนองเดียวกับเวลาแสงแยงตาแล้วเอามือป้องตานั่นเอง แต่ไม่ว่าจะใช้อะไรป้อง อย่าให้วัตถุเข้ามาในเฟรมแทนแสงแฟลร์

3. หลบนิด เปลี่ยนหน่อย ได้มุมใหม่

อีกวิธีที่ง่ายมาก ไม่ต้องใช้ตัวช่วยใดๆ คือ การเปลี่ยนมุมถ่ายภาพ บางทีแค่เบนกล้องเพียงเล็กน้อยก็ไร้แสงแฟลร์แล้ว ซึ่งมุมที่มักจะมีปัญหากับแสงแฟลร์มากคือ มุมเสย เพราะแสงจะเข้ามาที่เลนส์ได้ง่าย ลองเปลี่ยนมุมมองถ่ายกดลงนิดหน่อยจะช่วยให้ไม่เกิดแฟลร์ และอาจได้มุมมองใหม่ๆ ด้วย
ทว่า ในกรณีที่จำเป็นต้องถ่ายมุมนั้นจริงๆ เพราะมุมมองจำกัด คงต้องย้อนไปที่ข้อก่อนหน้า

4. เมื่อเลี่ยงไม่ได้ จงเข้าร่วม

นี่คือ เรื่องจริง เพราะถ้าปัจจัยต่างๆ ไม่อำนวยให้หลบเลี่ยงแสงแฟลร์แล้ว อาจต้องใช้แสงแฟลร์เพื่อให้เกิดมิติของภาพไปเลย เพราะแสงแฟลร์ไม่ใช่ตัวร้ายเสมอไป หลายครั้งที่แสงแฟลร์กลายเป็นพระเอกทำให้ภาพถ่ายดูสวยงาม และสมบูรณ์แบบมากขึ้น

เทคนิคการใช้ "แสงแฟลร์" สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งช่างภาพมักจะเรียกกันว่า Flare Photography

ไม่ต้องบังแสง แต่บิดหามุมที่แสงเข้าสวยที่สุด เพราะในเมื่อแฟลร์จะเกิดก็ต้องให้มันเกิด แต่แฟลร์จะมีมุมที่สวย เข้ากับอารมณ์ภาพมากที่สุดอยู่ ลองหันกล้องไปในทางที่ใช่ แล้วกดชัตเตอร์ดู

เลือกโลเกชันให้สร้างสรรค์ที่สุด ต้องอย่าลืมว่านอกจากแสงฟุ้งๆ หรือเกิดเป็นเส้นๆ จุดๆ ดวงๆ ภาพจะสื่อสารได้ต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ และโลเกชันคือกุญแจสำคัญที่ไม่ว่าแสงจะพุ่งลงมาตรงๆ หรือลอดทะลุช่องของต้นไม้ ซอกตึก ฯลฯ ล้วนให้ภาพที่ได้อารมณ์ที่สุด

แสงแฟลร์ก็มีเวลาทอง ไหนๆ ก็จะเล่นกับแสงแฟลร์แล้ว หากเลือกช่วงเวลาที่แสงจะแยงเข้ามาที่เลนส์ได้ ก็ควรเลือกช่วงอาทิตย์เพิ่งขึ้น และก่อนอาทิตย์ตก แสงช่วงนั้นจะพุ่งมาจากแนวระนาบ และเป็นช่วงแสงสีสวยที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น