ประวัติศาสตร์ไทยก็บอกว่าขอมเป็นผู้สร้างไว้ ไม่ได้ขี้ตู่ว่าไทยสร้างเอง ให้เป็นไปตามหลักฐานโบราณที่ค้นพบ ถ้าเขมรว่าขอมเป็นบรรพบุรุษของตัว อยากได้ก็มาเอาไป จะช่วยค้นไว้ให้ มีอีกหลายแห่งที่ขอมสร้างไว้อยู่ในแผ่นดินนี้ รวมทั้งยังมีภาษาและดนตรี
สิ่งแรกที่จะบอกให้ก็คือ “คลองสำโรง” ซึ่งเป็นคลองเชื่อมแม่น้ำบางปะกงกับแม่น้ำเจ้าพระยา มีความราว ๕๕ กิโลเมตรเศษ เริ่มจากตำบลสำโรง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ผ่านอำเภอเมือง อำเภอบางพลีที่มีตลาดโบราณ อำเภอบางเสาธง อำเภอบางบ่อ ในจังหวัดสมุทรปราการ ไปบรรจบแม่น้ำบางปะกงที่ตำบลท่าสะอ้าน อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่สังเกตว่าสถานที่คลองนี้ผ่านยังมีชื่อเป็นภาษาเขมรอยู่อีกมาก เช่น ทับนาง หนามแดง บางโฉลง ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่าจรรโลง แปลว่ายก หมายถึงการยกยอในคลองช่วงนั้น
หลักฐานทางประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าสร้างในระหว่าง พ.ศ. ๙๗๘-๑๗๐๐ ในสมัยขอมเรืองอำนาจ เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินทัพจากนครธมซึ่งเป็นเมืองหลวงมายังดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เรียกกันว่าคลองสำโรงก็เพราะย่านนั้นมีต้นไม้อย่างหนึ่งมาก ภาษาเขมรเรียกว่า ซ็อมโรง
ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ กษัตริย์รัชกาลที่ ๑๐ ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒ โปรดให้ขุดลอกคลองสำโรงที่ตื้นเขิน พบเทพารักษ์ ๒ องค์หล่อด้วยสัมฤทธิ์ จารึกชื่อพระยาแสนตากับพระยาบาทสงฆกร จึงให้พลีกรรมแล้วปลูกศาลประดิษฐานไว้ที่โค้งแม่น้ำเจ้าตรงข้ามปากคลองสำโรง ชาวบ้านเรียกศาลนั้นว่า “ศาลพระประแดง” ซึ่งเพี้ยนมาจากภาษาเขมรว่า “กมรเตง” คำยกย่องผู้เป็นใหญ่ในอาณาจักรเขมรโบราณ เทวรูป ๒ องค์นี้เป็นที่มาของชื่อย่านนั้นว่า “บางเจ้าพระยา” ก่อนจะมาเป็นชื่อของแม่น้ำทั้งสายด้วย และที่มาของชื่อเมืองพระประแดง ต่อมาใน พ.ศ. ๒๑๑๒ พระยาละแวก นักตีท้ายครัวตอนไทยทำศึกกับพม่า แอบเข้ามานำเทวรูป ๒ องค์นี้ไปกัมพูชา แต่ไม่ยักเอาคลองสำโรงไปด้วย
ในสมัยรัชกาลที่ ๓ คลองสำโรงก็ถูกใช้เป็นคลองยุทธศาสตร์ไปทำสงครามกับญวน เช่นเดียวกับคลองแสนแสบ เพื่อปลดปล่อยเขมรที่กำลังถูกกลืนชาติ ต่อมาคลองสำโรงใช้เป็นเส้นทางลำเลียงสินค้าจากจังหวัดฉะเชิงเทรา เช่นข้าวและน้ำตาล สู่ท่าเรือคลองเตย
“พระปรางค์สามยอด” จังหวัดลพบุรี ก็เป็นโบราณสถานทางพุทธศาสนาที่พระเจ้าวรมันที่ ๗ ซึ่งครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๗๓ ได้สร้างไว้ ทั้งยังสร้างพระพุทธรูป ทำด้วยทองคำ เงิน สัมฤทธิ์ และศิลา ส่งไปพระราชทานอาณาจักรต่างๆที่เป็นเมืองลูกหลวงของอาณาจักรเขมรด้วย รวมทั้งอาณาจักรละโว้ทยปุระ ต่อมาคือจังหวัดลพบุรี สุวรรณปุระ จังหวัดสุพรรณบุรี ชยราชบุรี จังหวัดราชบุรี ชยสิงหบุรี เมืองสิงห์ในจังหวัดกาญจนบุรี ชยวัชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี
สิ่งเหล่านี้เป็นของติดแผ่นดินมาแต่โบราณกาล ไม่มีใครเคลมว่าเป็นของตัวได้ เช่นเดียวกับที่สิ่งก่อสร้างสมัยโรมันก็มีกระจายอยู่ทั่วยุโรป ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศสก็มี อิตาลีก็ไม่อาจอ้างว่าเป็นเจ้าของ ในยุคที่แย่งกันครอบครองแผ่นดิน ใครมีอำนาจก็ครอบครองได้กว้างขวาง เมื่ออ่อนกำลังลงคนที่เข้มแข็งกว่าก็เข้ามาครองแทน เป็นไปวิถีของยุคนั้น
ภาษาและวัฒนธรรมก็เช่นกัน บ้านเมืองที่อยู่ใกล้กันก็แลกเปลี่ยนกันไปมา อย่างภาษาไทยก็เอาคำเขมรมาใช้ในภาษาไทยมาก เช่นเดียวกับที่เอามาจากชาติอื่นๆที่ติดต่อมีความสัมพันธ์กัน เขมรก็เช่นกัน รับอิทธิพลมาจากหลายภาษาทั้งไทย ลาว และเวียดนาม รวมทั้งภาษามลายูจากความสัมพันธ์ในอดีตกับอาณาจักรจามปาที่อยู่ตอนกลางของประเทศเวียดนาม ซึ่งเป็นธรรมดาของคนที่ไปมาหาสู่กันและเชื่อมโยงเป็นพี่น้องกัน
ในช่วงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้ามาครอบครองเขมร เขมรบ้านแตกสาแหลกขาดมาตลอด เพราะรบกันเองเพื่อแย่งชิงอำนาจ ต้องหลบภัยเข้ามากรุงเทพฯ จึงมีความใกล้ชิดกับไทยมาก เมื่อกลับไปปกครองบ้านเมืองก็เอาศิลปวัฒนธรรมกลับไปด้วยทั้งละครรำและวรรณคดี สามก๊กฉบับที่ไทยแปลจากจีนในสมัยรัชกาลที่ ๑ เขมรก็นำไปแปลจากฉบับภาษาไทย รวมทั้งเรื่อง กากี และนิทานชาดกต่างๆ
ส่วนดนตรีไทยเดิมก็เอาทำนองเขมรมาหลายเพลง และไม่ได้เอามาเฉพาะของเขมร ของพม่า ลาว ที่ไพเราะสดุดใจก็เอามาแปลงเป็นเพลงไทย แต่เราก็มีมารยาทที่จะให้เกียรติเจ้าของทำนองเดิม บอกไว้ในชื่อเพลงเลยว่าเอามาจากใคร เช่น เขมรไทรโยค เขมรลออองค์ เขมรพวงเถา พม่ารำขวาน พม่ากลองยาว พม่าห้าท่อน ลาวดวงเดือน ลาวคำหอม ลาวเจริญศรี เป็นต้น ให้รู้ว่าเราเอาเพลงนั้นมาจากใคร ไม่ได้เคลมว่าเป็นของตัว
การนำทำนองเพลงของต่างชาติมาเป็นเพลงของตัวนั้น มีการทำทุกชาติทุกภาษาจนถึงปัจจุบัน แต่ดูเหมือนจะมีแต่ไทยเท่านั้นที่ใส่ชื่อเจ้าของเดิมไว้ในเพลงให้รู้ว่าเอามาจากชาติไหน
เขมรมักจะอ้างสิ่งที่ขอมสร้างไว้เป็นของเขมร แต่ความจริงแม้แต่นครวัดก็ไม่ใช่ของเขมร ในสัญญาที่ฝรั่งเศสทำกับไทยให้ยอมรับสิทธิของฝรั่งเศสเหนือเขมรนั้น ฝรั่งเศสยอมรับในสัญญาว่า เสียมราฐที่มีนครวัดตั้งอยู่นั้นเป็นของไทย จน อองรี มูโอต์ นักสำรวจและนักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสวาดรูปนครวัดไปแพร่ต่อสายตาชาวโลก ฝรั่งเศสก็อยากได้นครวัดขึ้นมา เข้ายึดจังหวัดตราดแล้วขอแลกกับนครวัด สมเด็จพระปิยมหาราชทรงห่วงคนไทยในจังหวัดตราด จึงยอมทรงสละนครวัดแลกเอาจังหวังตราดกลับคืนมา
ความจริงคำว่าขอม นักวิชาการชี้ว่าไม่ใช่ชื่อเชื้อชาติ แต่เป็นชื่อวัฒนธรรมของคนที่นับถือศาสนาฮินดูและพุทธมหายานที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองละโว้ ต่อมาย้ายลงมาอยู่ที่เมืองอโยธยาศรีรามเทพนครก่อนย้ายมาเป็นกรุงศรีอยุธยา แล้วขยายไปกรุงกัมพูชา ฉะนั้นคนที่อยู่ในย่านนี้ ไม่ว่ามอญ ลาว เขมร จาม ไทย ล้วนแต่ร่วมวัฒนธรรมขอมด้วยกันทั้งนั้น ใครไปเคลมว่าขอมเป็นของตัวก็อายเขาเปล่าๆว่าขาดความรู้ไปมาก