xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักมั๊ย..“เมืองมะลิวัลย์” อยู่ที่ไหน! จากอกไทยไปกลายเป็นตำบลของเมืองชื่อภาษาอังกฤษ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“เมืองมะลิวัลย์” ปรากฏชื่ออยู่ในประวัติศาสตร์ไทยน้อยมาก จนไม่ทราบว่าสร้างมาแต่เมื่อใด ในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ปรากฏว่าเป็นเมืองหนึ่งที่ขึ้นกับเมืองชุมพร ซึ่งปกครองเมืองเล็กๆในย่านนั้นรวม ๗ เมือง คือ เมืองปะทิว เมืองท่าแซะ เมืองตะโก เมืองหลังสวน เมืองตระ หรือกระบุรีในปัจจุบัน เมืองมะลิวัลย์ และเมืองระนอง ปัจจุบันเมืองเหล่านี้เป็นอำเภอ เป็นจังหวัดอยู่ในประเทศไทย มีแต่เพียงเมืองมะลิวัลย์กลายเป็นตำบลอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเกาะสองของพม่า ทุกวันนี้ก็ยังมีคนไทยเหลืออยู่เป็นคนพลัดถิ่น แต่รักษาความเป็นไทยไว้อย่างเหนียวแน่น มีวัดไทย เรียนหนังสือไทย มีรูปในหลวงอยู่แทบทุกบ้าน ที่น่าแปลกใจคือยังตั้งนาฬิกาตรงกับเวลาของประเทศไทย

ในปี ๒๓๐๒ ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พม่าได้ยกทัพมายึดเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรีซึ่งไทยครอบครองมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ในปี ๒๓๓๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้ส่งกองทัพไปชิงคืน แต่ไม่สำเร็จ ในปี ๒๓๓๔ ทวาย มะริด และตะนาวศรีก็มาขอขึ้นกับไทยเอง
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ หลังเริ่มรัชกาลได้เพียง ๒ เดือน พม่าได้ยกทัพมามาตีหัวเมืองชายทะเลด้านตะวันตก สามารถตีเมืองตะกั่วทุ่ง เมืองตะกั่วป่า เมืองมะลิวัลย์ เมืองระนอง และเมืองกระบี่ เข้าล้อมเมืองถลางไว้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงส่งกองทัพลงไปขับไล่พม่าออกไปได้หมด

สมัยรัชกาลที่ ๓ เมืองมะริดและตะนาวศรีต้องตกเป็นของอังกฤษ เมื่ออังกฤษเข้ายึดพม่าได้ยึดทวาย มะริด และตะนาวศรีไปด้วย แต่ในฐานะที่ไทยช่วยอังกฤษรบพม่าก็จะคืน ๓ เมืองนี้ให้ แต่ไทยรู้ว่าอังกฤษมีแผนล่อใจจะขอดินแดนภาคเหนือเพราะป่าไม้ จึงปฏิเสธไมตรีของอังกฤษ ขอไม่ยุ่งเกี่ยวด้วย เมืองมะลิวัลย์ซึ่งอยู่ในมะริดจึงหลุดลอยจากไทยไปอยู่กับพม่าในการปกครองของอังกฤษในปี ๒๔๐๗ แต่แล้วอังกฤษก็เอาป่าไม้ทางเหนือไปอีกจนได้
 
สมัยรัชกาลที่ ๔ ระหว่างปี ๒๔๐๘-๒๔๑๐ ไทยได้ร่วมกับอังกฤษสำรวจแนวเขตแดนระหว่างไทยกับพม่า และลงสัตยาบันกันในปี ๒๔๑๑ จึงถือได้ว่าเราได้เสียดินแดนส่วนนี้ไปอย่างเป็นทางการ
 
ต่อมาในปี ๒๔๑๕ เซอร์แอชลีย์ ดีน นายกเทศมนตรีเมืองมะริด ได้ให้ย้ายที่ทำการรัฐบาลของเมืองมะลิวัลย์ลงมา ๒๔ กม.อยู่ในเกาะสอง ที่อยู่ปากแม่น้ำกระบุรีที่กันเขตแดนไทยพม่า เพราะแม่น้ำของเมืองมะลิวัลย์มีขนาดเล็ก เรือใหญ่ขึ้นไปไม่ได้ แล้วเปลี่ยนชื่อเกาะสองเป็น “วิกตอเรียพ้อยต์” เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระราชินีแห่งสหราชอาณาจักร ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ พม่าได้รับเอกราชแล้ว จึงเปลี่ยนชื่อวิกตอเรียพ้อยต์กลับเป็นเกาะสองตามเดิม ความจริงเกาะสองไม่ได้เป็นเกาะ แต่เป็นปลายสุดของแหลมพม่า ตรงข้ามกับเมืองระนอง ปัจจุบันเป็นอำเภอชั้นเอกของจังหวัดมะริด ขึ้นกับเขตทวาย นั่งเรือข้ามไปในเวลาครึ่งชั่วโมง

เมื่อเมืองมะลิวัลย์ตกไปรวมอยู่ในพม่า คนไทยจำนวนมากได้ทิ้งไร่นาอพยพเข้ามาอยู่ในไทย คนพม่าก็เข้าไปยึดทำมาหากินต่อ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องอยู่ที่นั่น กลายเป็นคนไทยพลัดถิ่น จนบัดนี้เป็นเวลากว่า ๑๕๐ ปีมาแล้ว แต่คนไทยเหล่านี้ก็ยังรักษาความเป็นไทยไว้อย่างมั่นคง ไปมาหาสู่กับพี่น้องในเขตไทย เข้ามาเรียนและรักษาพยาบาลคลอดลูกที่จังหวัดระนอง ที่น่าแปลกใจก็คือยังตั้งเวลตามเวลาในประเทศไทยซึ่งต่างจากเวลาของพม่าที่ตัวอาศัยอยู่ครึ่งชั่วโมง
 
ชีวิตของคนในมะลิวัลย์และเกาะสองมีความสงบสุขดี เนื่องจากย่านนี้ไม่มีการต่อสู่กับคนกลุ่มน้อย จึงทำมาหากินกันได้สงบสุข อาชีพของคนไทยในมะลิวัลย์ นอกจากทำนา ทำสวนยางพารา สวนปาล์มแล้ว ยังเป็นแหล่งปลูกหมาก ทำหมากแห้งส่งไปขาย อินเดีย โดยส่วนมากจะส่งผ่านมาทางชุมพร ส่วนใหญ่จึงมีฐานะดีมีคนพม่าเป็นลูกจ้าง

เมืองมะลิวัลย์ยังได้รับความสนใจจากคนไทยที่รู้จักเมืองนี้ มีบริษัททัวร์หลายแห่งจัดรายการไปเที่ยวเกาะสองและเมืองมะลิวัลย์ ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยวคือวัดไทยมะลิวัลย์ที่บรรยากาศเป็นไทย และน้ำตกมะลิวัลย์ที่ชาวพม่าก็นิยมไปเที่ยว เคยมีการจัดรายการขี่จักรยานถึง ๓๐๐ คันจากจังหวัดชุมพรไปเยี่ยมเมืองมะลิวัลย์

ในยุคล่าอาณานิคมที่ชาติตะวันตกเอาเรือปืนเข้ามาปล้นทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของย่านเอเชีย แม้เราจะเอาตัวรอดมาได้เพราะการดำเนินนโยบายอย่างรู้ทันสถานการณ์ รู้เขารู้เรา แต่ก็ต้องเสียดินแดนไปมาก ที่เจ็บปวดยิ่งกว่านั้นก็คือมีคนไทยติดแผ่นดินไปด้วย แม้จะเป็นเวลาเป็นร้อยๆปีมาแล้วที่คนไทยติดแผ่นดินต้องกลายเป็นคนพลัดถิ่น ก็ยังรักษาความเป็นไทยไว้ตลอดมา ขณะเดียวกันก็อยู่ร่วมกับคนต่างชาติต่างภาษาได้อย่างสงบสุข ไม่สร้างปัญหาแตกแยกให้สังคม จึงไม่มีใครรังเกียจ...นี่แหละคนไทย




กำลังโหลดความคิดเห็น