ทอท. ผู้บริหารสนามบินหลัก 6 แห่ง ออกอินโฟกราฟิก "ฉบับจริงก็ง่าย อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้" สามารถใช้บัตรประชาชนดิจิทัล D.DOPA แสดงตนแทนบัตรประชาชนตัวจริง แต่พบชาวเน็ตเจอถูกปฏิเสธ อ้าง "ใช้รูปไม่ได้ ต้องใช้ตัวจริง" แถมเคาน์เตอร์บางสายการบินก็ปฏิเสธ
วันนี้ (8 ก.พ.) เฟซบุ๊ก AOT Official ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ผู้บริหารท่าอากาศยานหลัก 6 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ได้ออกอินโฟกราฟิกหัวข้อ "ฉบับจริงก็ง่าย อิเล็กทรอนิกส์ก็ได้" ระบุว่า "เพื่อเป็นการตรวจสอบและยืนยันตัวบุคคลที่จะเข้าเขตหวงห้าม พื้นที่ควบคุมหรือเขตการบินของสนามบิน ผู้โดยสารขาออกเที่ยวบินภายในประเทศต้องเตรียมเอกสารเพื่อแสดงตนพร้อมบัตรผ่านขึ้นอากาศยาน (Boarding Pass) โดยเอกสารแสดงตนสามารถใช้ได้ 2 รูปแบบ ดังนี้
เอกสารฉบับจริง : เอกสารระบุตัวตนฉบับจริงที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ ซึ่งแสดงรูปของผู้ถือบัตร และเลขบัตรประจำตัวประชาชน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน, ใบอนุญาตขับรถ, บัตรประจำตัวคนพิการ, หนังสือสุทธิสำหรับพระภิกษุและสามเณร, หนังสือเดินทาง (Passport), บัตรประชาชนจิตอาสา, บัตรประจำตัวข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
หรือ เอกสารรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ : เอกสารระบุตัวตนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งแสดงผ่านแอปพลิเคชันที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ เช่น DLT QR Licence, D.DOPA
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันบุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าเขตหวงห้าม พื้นที่ควบคุม หรือเขตการบิน ผู้โดยสารจึงไม่สามารถใช้ภาพถ่าย (Capture) ของเอกสารระบุตัวตนจริง หรือภาพถ่าย หรือภาพถ่ายไฟล์ PDF ในการแสดงตน เพราะไม่สามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของข้อมูลได้ จึงทำให้ไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ อีกทั้งยังง่ายต่อการปลอมแปลง
อ้างอิง : ข่าวประชาสัมพันธ์การใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์แสดงตัวตน สำหรับเที่ยวบินภายในประเทศ วันที่ 25 พ.ค. 2565 สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย www.caat.or.th
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา สาระสำคัญก็คือ มาตรา 14 กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้พนักงานหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจตรวจสอบใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานอื่นใดที่หน่วยงานของรัฐออกให้ ผู้มีหน้าที่ต้องแสดงจะแสดงใบอนุญาตหรือเอกสารหลักฐานนั้นเป็นภาพทางอิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นก็ได้ โดยให้ถือว่าการแสดงเช่นว่านั้นเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ขณะที่กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ได้พัฒนาให้แก่ประชาชนที่ได้รับการพิสูจน์ตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) ผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA สามารถใช้สมาร์ทโฟนที่ได้รับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลแสดงแทนการใช้บัตรประจำตัวประชาชนกรณีได้รับการเรียกตรวจบัตรประจำตัวประชาชนจากเจ้าพนักงานตรวจบัตร ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2526 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ประกอบกับคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ที่ 1496/2561 เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานตรวจบัตร ลงวันที่ 22 ส.ค. 2561
นอกจากนี้ แอปพลิเคชัน D.DOPA ได้พัฒนาเวอร์ชันล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ม.ค.ที่ผ่านมา ให้ประชาชนสามารถดาวน์โหลดและลงทะเบียนด้วยตัวเองเพิ่มอีกหนึ่งช่องทาง จากเดิมต้องลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่ในการขอรับบริการการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน ที่สำนักทะเบียน ได้แก่ สำนักงานเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร และที่ว่าการอำเภอทุกจังหวัด โดยลงทะเบียนด้วยตัวเอง จะใช้วิธีถ่ายรูปบัตรประจำตัวประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จากนั้นสแกนใบหน้าเพื่อประมวลผลผ่านเทคโนโลยีชีวมิติ แล้วตั้งรหัสผ่าน 8 หลักเพื่อเข้าใช้งาน เป็นอันเสร็จสิ้น
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า ก่อนหน้านี้มีเฟซบุ๊กหลายเพจออกมารีวิวว่า สามารถใช้บัตรประชาชนดิจิทัล ผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA เพื่อแสดงตนที่ท่าอากาศยานได้ แต่ก็พบว่ามีชาวเน็ตส่วนหนึ่งออกมาโต้แย้ง เนื่องจากไม่สามารถใช้ได้ เจ้าหน้าที่สนามบินกล่าวว่า "ใช้รูปไม่ได้ ต้องใช้ตัวจริง" หรือที่เคาน์เตอร์เช็กอินบางสายการบินก็ปฏิเสธการใช้บัตรประชาชนดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA เช่นกัน