“ตำนาน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ ให้นิยามไว้ว่า เป็นเรื่องแสดงความเป็นมาแต่ปางหลังของสถานที่ บุคคล หรือพิธีกรรม เป็นต้น, เรื่องราวนมนานที่เล่ากันสืบๆมา เช่น ตำนานพุทธเจดีย์ ตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว
ทุกชาติทุกภาษาต่างก็มีตำนาน ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริงก็ได้ เช่น ตำนานน้ำท่วมโลก โดยพระเจ้าลงโทษความบาปของมนุษย์ เพื่อเริ่มอารยธรรมใหม่ ตำนานโรบินฮูด วีรบุรุษนอกกฎหมาย ของอังกฤษ หรือตำนานขุนศึกตระกูลหยาง ของจีนในยุคราชวงศ์ซ่งเหนือ
ส่วนตำนานของไทยก็มีเรื่องที่เล่ากันไว้มากมายและมีทุกภาค อย่างเรื่องที่นำมาเล่าในวันนี้ก็เป็นตำนานของภาคอีสานที่สืบทอดเป็นประเพณีต่อมา และทางราชการได้สร้างพิพิธภัณฑ์ใหญ่โตมโหฬาร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ นั่นก็คือ ตำนานพญาคันคาก
คันคาก ภาษาอีสานหมายถึงคางคก ตำนานนี้มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่ง พญาแถน เทพเจ้าแห่งฝน เกิดโกรธเคืองมนุษย์ จึงแกล้งไม่ให้นตกนานถึง ๗ เดือน สร้างความเดือดร้อนให้ทั่วทุกหย่อมหญ้า ทั้งมนุษย์และสัตว์ต่างล้มตายเป็นจำนวนมาก สัตว์ทั้งหลายที่เหลือรอดชีวิตจึงมาชุมนุมกัน หาวิธีที่จะปราบพญาแถนก่อนที่จะตายกันทั้งหมด และได้ส่งพญานาคีผู้มีพิษไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้กลับมา พญาต่อพญาแตนที่มีพิษเช่นกันยกไปอีก ก็พ่ายแพ้กลับมาเช่นเดิม
พญาคันคากจึงขออาสา และวางแผนในการรบโดยใช้ปลวกก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นทางให้ทัพต่างๆขึ้นไปได้ มอดได้รับหน้าที่ให้กัดด้ามอาวุธของเหล่าพญาแถนที่ทำด้วยไม้จนหมด แมลงป่องและตะขาบได้แอบเข้าไปซ่อนอยู่ตามเสื้อผ้าของกองกำลังพลพญาแถนแล้วปล่อยพิษ ในที่สุดพญาแถนก็ต้องยอมแพ้ ทำสัญญาสงบศึกกับพระยาคางคก โดยมีข้อตกลงในสัญญา ๓ ข้อ คือ
๑. ถ้ามนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นท้องฟ้าไปเมื่อใด พญาแถนต้องสั่งให้ฝนตก
๒. ถ้าได้ยินเสียงกบเขียดร้อง ให้รู้ว่าฝนตกลงมาแล้ว
๓. ถ้าได้ยินเสียงสะนู ซึ่งเป็นเสียงของแผ่นทำเสียงชนิดหนึ่ง ใช้ติดที่หัวว่าว ให้ฝนหยุดตก เพราะจะเข้าฤดูเก็บเกี่ยวแล้ว
บั้งไฟจึงเป็นสัญลักษณ์ของการขอฝนจากพญาแถน และเมื่อใดที่มีเสียงสะนู ชาวนาที่หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินก็จะได้ลืมความทุกข์ยากลง เตรียมตัวเก็บเกี่ยว
นี่ก็คือที่มาของประเพณียิงบั้งไฟของชาวอีสานที่สืบทอดมาจนถึงวันนี้ และไม่ลืมกองทัพคางคกของพญาคันคาก อย่างภาพในงานประเพนีบุญบั้งไฟ ณ สวนสาธารณวิมานพญาแถน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ในปี ๒๕๖๐ ซึ่งถ่ายโดย Ratchakit Kannika ในภาพประกอบของเรื่องนี้ มีกองทัพคางคกร่วมด้วย
ส่วนอาคารรูปคางคกสูงตะหง่านที่สวนสาธารณะพญาแถน ริมอ่างเก็บน้ำลำทวน ซึ่งเป็นอาคารสูงกว่า ๑๙ เมตร มี ๕ ชั้นนั้น เป็นพิพิธภัณฑ์พญาคันคาก ก่อสร้างโดย องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดแสดงประวัติและอัตลักษณ์เมืองยโสธร นิทรรศการตำนานพญาแถนและพญาคันคากในรูปแบบภาพยนตร์ ๔ มิติ นิทรรศการตำนานและเรื่องราวบั้งไฟ
พิพิธภัณฑ์ความหลากหลายทางชีวภาพของคางคก สัตว์ที่มีความสำคัญต่อห่วงโซ่อาหารกว่า ๕๐๐ สายพันธุ์ทั่วโลก รวมทั้งกบ อึ่ง เขียด และพบ ๑๓ สายพันธุ์ในประเทศไทย ส่วนบนสุดของอาคเป็นจุดชมวิวที่เห็นเมืองยโสธรในมุมกว้าง และใกล้ๆกันยังมีพิพิธภัณฑ์พญานาค ซึ่งเป็นความเชื่ออีกอย่างของคนภาคอีสานด้วย
สถานที่แห่งนี้จึงเป็นแลนด์มาร์คของจังหวัดยโสธรที่น่าไปชมสักครั้งในชีวิต