xs
xsm
sm
md
lg

จากยอดดอยสู่แดนดิน กรุ่นกลิ่นหอมกาแฟไทย ในหัวใจ ‘ลี อายุ จือปา’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘ลี  อายุ จือปา’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา )
รสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ของกาแฟที่เขาบรรยาย ชวนให้ผู้ถามไถ่นึกถึงบรรยากาศอันสดชื่นใสสะอาดบนดอยสูง

เมนูกาแฟที่เขาชื่นชอบที่สุดคือ เอสเพรสโซ่ (Espresso)
“ จริงๆ แล้วผมชอบเอสเพรสโซ่ (Espresso)…ผมมองว่ากาแฟก็คล้ายกับวัฒนธรรมอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ เรารู้เลยว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบเอสเพรสโซ่เหมือนผม แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะชอบอะไรก็ตาม ในเมนูกาแฟที่เรากิน มันก็มักจะเริ่มต้นจากเมนูเอสเพรสโซ่อยู่แล้ว…”

หากให้อธิบายรสชาติแบรนด์กาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา ) ของเขา
ชายหนุ่มตอบว่า “…ถ้าให้ผมนิยามรสชาติกาแฟของบ้านเราคือ มีความซับซ้อนที่ดี ไม่ใช่มีแค่เปรี้ยว ขม หรือเรื่องของความหวาน แต่เป็นความซับซ้อนที่มีทั้งความหวาน ความลึก ความฉ่ำ มีอยู่ในตัวทั้งหมดครับ”


‘ลี  อายุ จือปา’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา )
แบรนด์กาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา ) ที่เขาก่อตั้ง มากด้วยจังหวะก้าวที่น่าสนใจ 
นับแต่แรกเริ่ม กระทั่งผันผ่านมานานมากกว่าทศวรรษ กาแฟของเขา ไม่เพียงแต่มีคุณภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล หากยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่เหมาะสม ใส่ใจกับภูมิทัศน์โดยรอบที่สำคัญต่อชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงสร้างความภูมิใจในตนเอง สร้างความภูมิใจในอาชีพเกษตรกรให้เป็นที่ประจักษ์

ร้านกาแฟที่เขาสร้างยังก้าวเข้าไปหยั่งรากในมหานครโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ประจวบเหมาะกับสถานการณ์ช่วงวิกฤติโควิด-19 หลายคนอาจมองว่าโชคร้าย จังหวะไม่ดี ทว่าร้านกาแฟ Akha Ama ได้พิสูจน์ตนเองแล้วว่า คุณภาพและเอกลักษณ์อันโดดเด่น ได้พาให้เขาข้ามพ้นวิกฤติที่เกิดขึ้นทั่วโลกมาได้อย่างสง่างาม ลูกค้าคอกาแฟชาวญี่ปุ่นแวะเวียนมาที่ร้านของเขาไม่ขาดสาย
นำไปสู่การวางเป้าหมายว่า อีกไม่นาน เขาจะเปิดโรงคั่วกาแฟขึ้นที่ผืนดินนั้น

ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ลี – อายุ จือปา’ ผู้ก่อตั้ง Akha Ama ( อาข่า อ่ามา )
กาแฟที่เป็นมากกว่า ‘กาแฟ’ หากเปี่ยมด้วยชีวิต จิตวิญญาณ ปรัชญา คุณค่าและความหมายที่ล้ำลึก น่าค้นหา สะท้อนถึงความใส่ใจในทุกบริบท อันเป็นต้นกำเนิดของรสชาติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว


‘ลี  อายุ จือปา’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา )














ณ จุดเริ่มต้นของแบรนด์กาแฟ Akha Ama

ถามว่า ตั้งแต่แรกเริ่มที่คุณเติบโตขึ้นมาที่บ้านแม่จันใต้ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ก่อนหน้าที่คุณจะก่อตั้งแบรนด์กาแฟ Akha Ama ‘อาข่า อ่ามา’ ก็พบว่าชาวบ้านถูกกดราคา กระทั่ง ถึงวันที่คุณก่อตั้งแบรนด์ Akha Ama ขึ้นมา แล้วคุณมีส่วนในการช่วยให้ความรู้ด้านกระบวนการผลิตให้กับชาวบ้าน และส่งเสริมกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์นั้น
ณ ปัจจุบันนี้ มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อครั้งริเริ่มแบรนด์กาแฟขึ้นมาบ้าง

ลีตอบว่า ถ้าหากเป็นเมื่อก่อน ปัญหาประการแรก ที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในชุมชนก็คือ เรื่องของการถูกกดราคาและไม่สามารถที่จะพัฒนาได้ แต่หลังจากสิบกว่าปีผ่านมา สถานการณ์เปลี่ยนไป

จากเดิมที จุดเริ่มต้นของแบรนด์กาแฟ Akha Ama อาจเริ่มจากความต้องการแก้ไขปัญหาเกษตรกรถูกกดราคา ซึ่งลีกล่าวว่า ปัญหาเหล่านั้น ใช้เวลาไม่นานในการแก้ไข เนื่องจากช่วยกันสื่อสาร และข้อดีของคนไทยคือ เมื่อเข้าใจกันแล้ว ก็ไม่ได้ใจร้าย ไม่มีเจตนาที่จะไปกดราคากัน แต่ที่ผ่านมา สาเหตุที่เกิดการกดราคาก็เพราะว่าสื่อสารกันไม่ค่อยได้ ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วชาวบ้านต้องการอะไรกันแน่ ควรมีการพัฒนาอย่างไร ไม่มีใครไปช่วยสื่อสารระหว่างชาวบ้านและผู้ซื้อ จึงมีราคาที่เป็นความพึงพอใจจากผู้ซื้ออย่างเดียว ลีคาดว่าที่ผ่านมา เป็นเช่นนั้นมากกว่า








‘กาแฟที่ดี’ มีมากกว่ารสชาติและราคา

เมื่อขอให้ช่วยย้อนไปตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งแบรนด์กาแฟของตนเอง จวบจนถึงวันนี้ที่คุณได้รับการยอมรับอย่างมากในวงการกาแฟ แต่สำหรับคุณแล้ว กาแฟที่ดีคืออะไร เป็นอย่างไร

ลีตอบอย่างเห็นภาพขององคาพยพที่ขับเคลื่อนร่วมกันว่า “คือมันมีหลายอย่างครับ กาแฟที่ดีนั้น มีหลายอย่างที่จะต้องพัฒนา เพราะว่าที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องราคาก็เป็นประการหนึ่ง แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นคือเรื่องของความรู้ เพราะปัญหาเรื่องของความรู้เป็นอะไรที่คลาสสิคมาก ปัญหานั้นไม่ได้ถูกแก้ไขได้ง่ายๆ เพราะถูกบ่มเพาะมานาน บางคนก็ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ สื่อสารภาษาไทยก็ไม่ได้ คนรุ่นใหม่ก็ไม่ได้คิดว่ามีส่วนสำคัญอะไรที่จะกลับมาทำอาชีพปลูกกาแฟ เพราะมันเป็นเกษตรที่ต้องทำงานหนัก

“การปลูกกาแฟมันเป็นงานหนัก ดังนั้นในชุมชนก็มีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่ หรือคนที่มีอายุเยอะแล้วมาทำ สิ่งนี้เอง จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราคิดว่า จะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่กลับมาบ้านและมีส่วนในการพัฒนาชุมชนร่วมกันครับ

“เหล่านี้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เรามองไว้อย่างชัดเจน คือเราไม่ได้มองแค่ว่า เราจะทำยังไงให้ขายได้ราคาที่ดี แต่ต้องมองว่าจะทำยังไงให้เขาพัฒนาต่อไปได้ด้วยความรู้ นี่คือจุดเริ่มต้นที่เรามองว่าแก้ไขเรื่องราคาอย่างเดียวไม่ได้ แล้วทีนี้ ความรู้เหล่านั้น ก็มาพร้อมกับสิ่งที่คุณบอกนั่นแหละครับว่า ช่วงแรกเริ่ม ไม่ใช่เรื่องของออร์แกนิค แต่เป็นเรื่องของการศึกษาล้วนๆ เลยครับ
เป็นการศึกษาบวกกับเรื่องของความเป็นไปได้ที่เราจะสร้างสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น เมื่อการศึกษาถูกกระทบ รายได้ถูกกระทบ
การศึกษาก็ไม่ถูกพัฒนา เมื่อการศึกษาเหล่านั้นไม่ได้ถูกพัฒนา มันก็จะเป็นปัญหาว่า ‘เอ๊ะ! เราจะทำยังไง’ ให้เขามีโอกาสที่จะพัฒนาเรื่องขององค์ความรู้ต่างๆ” ลีระบุ
















ภูมิทัศน์ที่ใส่ใจอย่างรอบด้าน

ลีกล่าวเพิ่มเติมว่า แบรนด์กาแฟ Akha Ama เริ่มต้นจากการที่เรามองปัญหาในชุมชน มากกว่าการที่จะมองว่าเราอยากทำอะไร เพราะฉะนั้น ลีจึงไปสอบถามคนในชุมชน ทำให้พบคำตอบว่าเราต้องแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และเราต้องให้การศึกษาที่ดีขึ้น และต้องให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น
เนื่องจากในการรับรู้ของคนบางส่วนในสังคม อาจมีความรู้สึกว่าการทำงานด้านการเกษตรนั้น การเกษตรทำลายสิ่งแวดล้อมมากมาย เพราะฉะนั้น ความรู้สึกของคนทำการเกษตรที่บนดอย จึงรู้สึกว่า ‘เอ๊ะ! เขาเป็นตัวปัญหางั้นหรือ’

ลีกล่าวว่า เช่นนั้นแล้ว สิ่งที่ทำได้ก็คือ ให้ความรู้กับคนในชุมชนและเกษตรกรให้มากที่สุดเท่าที่จะให้ได้ ซึ่งต้องอาศัยเรื่องของความชำนาญ ทำควบคู่ไปกับความตั้งใจที่ว่า เราจะทำยังไงให้ผลผลิตที่มีอยู่ สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้

“ไม่ใช่การไปบอกเขาว่าให้เปลี่ยนอาชีพสิ ‘ทำไมต้องเป็นเกษตรกร ทำไมต้องปลูกกาแฟ’ จะบอกเขาให้ทำอย่างนั้นไม่ได้ แต่เราต้องไปคุยกับพวกเขาว่า คุณมีอะไรบ้าง เช่น มีผลไม้เมืองหนาว มีชา มีกาแฟ มีผักผลไม้ เอาสิ่งที่คุณมีมาดูสิ มาดูว่าตลาดในโลกนี้เขานิยมบริโภคอะไรบ้าง เขาต้องการอะไรบ้าง เขาอยากจะสนับสนุนอะไรบ้าง ก็มาดูกัน แล้วได้บทสรุปคือ เราพบว่า ‘กาแฟ’ เป็นอะไรที่ทุกคนก็พูดถึง แล้วบ้านเราในช่วงนั้น กาแฟยังไม่ได้รับการยอมรับอะไรมาก คนที่กินกาแฟก็อาจจะบอกว่า ฉันจะกินกาแฟเมืองนอกเท่านั้น ฉันไม่กินกาแฟไทย ฉันไม่กิน ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่า คนไทยอาจมีอคติกับผลิตผลของบ้านตัวเองหรือเปล่า เราก็ตัดสินใจว่า ถ้าอย่างนั้น เราต้องมาพัฒนาเรื่องของการยอมรับ

“ซึ่งการยอมรับก็ต้องมาพร้อมกับสิ่งที่เราจะต้องลงทุน ลงแรง ลงไอเดียว่าเราต้องสื่อสารกับทั้งสองด้าน ไม่ใช่แค่สื่อสารกับเกษตรกร แต่ต้องสื่อสารกับคนที่เป็นผู้บริโภคด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราตัดสินใจว่า ถ้างั้นนะ เราต้องให้มีแบรนด์กาแฟของเราเกิดขึ้น และทำให้เกิดการยอมรับในท้องถิ่น เราก็เลยตัดสินใจทำร้านกาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา ) ขึ้นมา นั่นคือจุดเริ่มต้น โดยมีวัตถุประสงค์ มีเป้าประสงค์ ว่า เราควรพัฒนาในสามด้านที่ผมว่ามาคือ พัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา สิ่งแวดล้อม ให้ได้ครับ
มันจึงทำให้เราไม่สามารถที่จะมองเพียงแค่ว่า ต้องเป็นออร์แกนิคหรือทำเกษตรอินทรีย์เพียงอย่างเดียว

แต่เราไปเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของทั้งเศรษฐกิจ ภูมิทัศน์ของการศึกษา
รวมทั้งแม้แต่ภูมิทัศน์ทางการเกษตรของชาวบ้าน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน


“สิ่งนี้ จึงเป็น Priority หนึ่งของเราในการเริ่มต้น เป็นความสำคัญของเราตั้งแต่เริ่มต้น ส่วนเกษตรอินทรีย์หรือความปลอดภัย เราก็ค่อยๆ เริ่ม ค่อยๆ ทำ เพราะจริงๆ แล้ว สิ่งที่เราทำ ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการทำมาหากิน แต่เรามองว่าจะทำยังไงให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้าน ไปพร้อมๆ กันครับ” ลีบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ








ก้าวสู่มาตรฐานสากล

ถามว่า หากขอให้คุณลีพาย้อนกลับไปในช่วงวัย 20 ต้นๆ ซึ่งเป็นช่วงที่คุณเริ่มทำแบรนด์ ใหม่ๆ นั้น
แบรนด์กาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา ) ได้รับเลือกจากองค์กรกาแฟชนิดพิเศษแห่งยุโรป ให้นำกาแฟของคุณไปใช้ในเวทีการชิมกาแฟนานาชาติสามปีซ้อนที่ อังกฤษ เนเธอแลนด์ ออสเตรีย ไม่ทราบว่าคุณไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร และปัจจุบัน กาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา ) ยังเป็นกาแฟที่ให้ชิมบนเวทีกาแฟนานาชาติอยู่หรือไม่

ลีตอบว่า “เรารู้สึกว่านั่นเป็นสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจส่วนหนึ่ง เพราะตอนที่เราเริ่มทำแบรนด์กาแฟ มันแป็นอะไรที่เรารู้สึกว่าต้องเกี่ยวข้องกับการพัฒนา โดยที่เราไม่ได้เน้นว่าจะต้องมีเพียงแค่เรื่องของรายได้ หรือเรื่องของความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการที่เราทำกาแฟ แต่จะทำอย่างไร ให้ชุมชน เกษตรกรเขามีความเชื่อมั่นแล้วก็มีความภูมิใจ
คือ หมายความว่า เราไม่ได้มองเพียงแค่มิติทางกายภาพที่ว่าทุกคนมีรายได้มากขึ้น ทุกคนมีฐานะที่ดีขึ้น
แต่เราจะมองด้วยว่า ภายในเป็นอย่างไร มีการศึกษาเพิ่มขึ้นไหม มีความภูมิใจในตัวเองเพิ่มขึ้นหรือเปล่า นี่คือสิ่งที่เรามองว่า การที่เราเอากาแฟไปอยู่บนเวที หรือส่งไปให้ต่างชาติยอมรับ เหล่านี้เป็นอะไรที่ ผมมองว่ามันทำให้เขารู้สึกภูมิใจได้ด้วยตัวเอง ดีกว่ามาฟังผมพูดว่า ‘กาแฟเธอ อร่อยนะ เธอทำได้ดีนะ’ แต่ทำให้เขาเกิดความรู้สึกว่า เขาอยากทำต่อๆ ไปทุกๆ วัน และอยากทำให้มันดีขึ้นๆ นั่นจึงทำให้เราอยากส่งกาแฟของเราไปให้เป็นที่รู้จักของคนที่กินกาแฟทั่วโลกครับ


“ซึ่งเป็นมาตรฐานองค์กรของเขา ตอนนั้น คือสมาคมกาแฟพิเศษแห่งยุโรป เขาทำงานในเรื่องของการคัดเลือกกาแฟอยู่ แต่สมัยนี้ ในโปรแกรมนี้ ผมไม่เห็นว่ามีแล้วนะครับ แต่ตอนนั้นเขาคัดเลือกกาแฟจากทั่วโลกที่เขาสนใจจะส่งเข้าประกวดไปคัดเลือก เราก็ส่งเข้าไป ซึ่งเราไม่มีงบที่จะไปทำประชาสัมพันธ์ หรือเป็นสปอนเซอร์อะไร แต่เรามีกาแฟที่เราสามารถส่งไปให้เขาลองชิม ลองคัดเลือกดูได้ครับ ตอนนั้น เราได้รับคัดเลือกสามปีซ้อนคือ ปี ค.ศ. 2010 , 2011, 2012 สามปีซ้อนครับ” ลีระบุ

ถามว่า เช่นนั้นแล้ว ย่อมกล่าวได้ว่า แบรนด์กาแฟของคุณ มีมาตรฐานระดับสากล ลีตอบอย่างชัดเจนว่า ‘ใช่ครับ’

‘ลี  อายุ จือปา’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา )






จังหวะก้าว ของ Akha Ama

ถามว่า กาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา ) สาขาแรกเริ่มขึ้นที่ไหน แล้วปัจจุบันมีกี่สาขาแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศ และทราบว่าเปิดสาขาที่ญี่ปุ่นแล้ว เสียงตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง

ลีตอบว่า “ตั้งแต่เริ่มต้น เราก็เริ่มที่เชียงใหม่ เพราะว่าเชียงใหม่ เป็นเมืองที่คนชอบมาท่องเที่ยวและอยากมาใช้ชีวิต เราก็มองว่าเชียงใหม่ใกล้บ้านเรา และมีความน่าสนใจในเรื่องของความนิยมของผู้คนที่ชอบบริโภคกาแฟ ดังนั้น จุดเริ่มต้นของร้านกาแฟ Akha Ama ก็คือที่เชียงใหม่

“ภายใน 2-3 ปี เราก็มีเป้าหมายว่าอยากจะพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก แต่ว่าเราก็ไม่เคยคิดถึงไกลขนาดนั้นว่าจะขยับขยายไปได้ถึงขนาดไหน

"กระทั่งในปีที่ 4 เราก็เริ่มขยับขยาย เราเห็นภาพว่ามันสามารถไปทางไหนได้บ้าง เราจึงทำร้านที่ 2 ในเมืองเชียงใหม่เช่นกัน และมีคนพูดถึงมากขึ้น มีความรู้สึกว่ากาแฟไทยเป็นที่นิยมมากขึ้น สามารถไปต่อได้ บวกกับเวลานั้น ผมก็เริ่มเดินทางเรียนรู้เกี่ยวกับกาแฟมากขึ้น ทั้งในไทยและต่างประเทศ


"เมื่อเราทำแบบนี้ได้ เรารู้สึกว่าเราก็สามารถขยับขยายได้อีก เราได้เรียนรู้ เรามีตัวตนชัดเจนมากขึ้น มีคนรู้จักเรา เราก็เลยมองถึงขั้นว่า เราจำเป็นจะต้องทำพื้นที่ของเราในแบบที่เป็นเรามากขึ้น เราก็เลยสร้างจุดที่ 3 ขึ้นมา เป็นโรงคั่วกาแฟของเรา จากที่เดิมทีเราไม่มีปัญญาที่จะมีโรงคั่วเป็นของเราเอง ซึ่งโรงคั่วของเราเองก็เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว แล้วเราก็ได้มีที่มีทาง เพราะฉะนั้น ตอนนี้ที่เชียงใหม่ เราก็มี 3 ร้าน แล้วก็มี 1 โรงคั่วครับ

“ส่วนที่ญี่ปุ่นคือ เนื่องมาจากการที่เราครบรอบ 10 ปี เรามีความรู้สึกว่าแบรนด์เติบโตขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง เป็นวัยที่เรารู้สึกว่า น่าจะลองดูว่าเราจะทำอะไรได้บ้าง นอกจากเรื่องของการขยายร้านกาแฟ และธุรกิจกาแฟ แต่สิ่งที่เราเจอคือ เราสามารถที่จะสร้างแรงบันดาลใจจากสิ่งที่เราทำได้นะ เราจึงตัดสินใจว่า เราลองเอากาแฟของไทยไปแนะนำหรือไปทำให้คนอื่นๆ ที่ต่างประเทศได้เห็นว่า เราสามารถพัฒนาให้เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนในท้องถิ่น รวมทั้งคนตัวเล็กตัวน้อยที่เขาติดตามเรา ซึ่งคนตัวเล็กตัวน้อยนี่แหละ ที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมได้ แต่ตอนนั้น มันก็เป็นแค่ความฝันนะครับ และเราก็คุยกับเพื่อนที่ญี่ปุ่น เราก็เลยลองไปทำดู ซึ่งมันก็โชคร้ายไปหน่อย เพราะช่วงนั้นเกิด โควิด-19 พอดี เราก็ลำบากมาก แต่ว่าในใจเราคือ เราไม่สามารถจะละทิ้งสิ่งที่เราตั้งใจได้

“ดังนั้น เราก็เลยเปิดร้านในช่วงที่ยังมีโควิดอยู่เลยครับ แล้วความโชคดีคือ คนญี่ปุ่นให้การต้อนรับเราดีมาก ขนาดเป็นช่วงโควิด-19 คนก็มาอุดหนุนเราเยอะแยะ เราก็เป็นที่รู้จัก และทำให้เรารู้สึกว่าแบรนด์ ที่เป็น Local Brand อย่าง Akha Ama ( อาข่า อ่ามา ) ที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่นจริงๆ ก็สามารถที่จะหาจุดพอดีของเราได้ครับ จึงเป็นการสร้างมิติและกำลังใจให้กับคนในท้องถิ่นมากกว่า ว่ากาแฟเราสามารถไปยืนอยู่บนเวทีโลก ยืนอยู่บนตลาดโลกได้ โดยไม่จำเป็นต้องเขินอายหรือคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำมันเล็ก ทำไปแล้วจะได้อะไร ไม่จำเป็นที่จะต้องรู้สึกอย่างนั้นครับ” ลีระบุ

อดถามไม่ได้ว่า นอกจากญี่ปุ่นแล้ว คุณวางแผนไว้หรือไม่ว่ามีเป้าหมายจะเปิดร้านที่ไหนอีกไม่ว่าในต่างประเทศ หรือเพิ่มสาขาในไทย

ลีตอบว่า “ในไทยคงไม่เพิ่มครับ คงไม่มี แต่ที่ญี่ปุ่น เราก็ตั้งใจไว้ว่าจะไปทำโรงคั่วต่อ ก็อาจจะภายใน 1-2 ปี ครับ
ในอนาคตน่าจะมีโรงคั่วกาแฟของเราที่ญี่ปุ่น แล้วก็ค่อยๆ ขยับขยายให้มีร้านกาแฟในญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น เพราะเรามองเห็นโอกาสที่อยากกระจายสินค้าและวัตถุดิบของไทยให้ไปสู่ตลาดที่ใหญ่และกว้างยิ่งขึ้นครับ” ลีเน้นย้ำถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้






รสชาติของ ‘Akha Ama’

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ถามคงไม่ได้ นั่นคือรสชาติกาแฟของ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา ) นั้นเป็นอย่างไร
คุณอธิบายได้ไหม และหากให้เลือกดื่มเมนูกาแฟ คุณชอบที่จะดื่มอะไรเป็นพิเศษ


“ จริงๆ แล้วผมชอบเอสเพรสโซ่ (Espresso) แต่ว่าการที่ผมชอบเอสเพรสโซ่นั้น เป็นความชอบส่วนบุคคล ผมมองว่ากาแฟก็คล้ายกับวัฒนธรรมอาหารและเครื่องดื่มอื่นๆ เรารู้เลยว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบเอสเพรสโซ่เหมือนผม แต่จริงๆ แล้ว ไม่ว่าจะชอบอะไรก็ตาม ในเมนูกาแฟที่เรากิน มันก็มักจะเริ่มต้นจากเมนูเอสเพรสโซ่อยู่แล้ว เว้นแต่ว่าเราชอบกาแฟดริป กาแฟกรองฟิลเตอร์ อันนั้นก็อีกแบบนึง แต่ถ้าหมายถึงร้านกาแฟที่มีเครื่องชง ผมก็ชอบเอสเพรสโซ่อยู่ดีครับ” ลีระบุอย่างชัดเจน

ถามว่า หากให้อธิบายรสชาติกาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา ) ของคุณ จะเป็นรสชาติแบบไหน

ลีตอบว่า “กาแฟเรามีเยอะครับ ถ้านิยาม ด้วยความที่เราทำงานกับเกษตรกรเยอะ เกษตรกรแต่ละคน เขาก็นำเสนอรสชาติที่แตกต่างกันไปครับ ถ้าจะให้พูดแบบกลางๆ ผมก็อาจจะบอกว่า เป็นกาแฟที่ค่อนข้างจะมีความซับซ้อน แล้วก็มีความหนักแน่นที่ดีมากๆ ซึ่งกาแฟไทยทุกวันนี้ เมื่อก่อนคนอาจคิดว่า รสชาติดีไหม สะอาดไหม แต่ทุกวันนี้ ผมว่า กาแฟไทย นอกจากจะมีรสชาติดีแล้วก็สะอาดมากๆ ครับ คนกินกาแฟทั่วโลกยอมรับมากขึ้น มีแต่คนพูดถึงมากขึ้น แม้จะยังมีปริมาณน้อย ไม่สามารถมีให้กินได้ทั่วถึง แต่ในระดับโลก ก็มีการพูดถึงกาแฟไทยเป็นอย่างดี 

"ดังนั้น ถ้าให้ผมนิยามรสชาติกาแฟของบ้านเราคือ มีความซับซ้อนที่ดี ไม่ใช่มีแค่เปรี้ยว ขม หรือเรื่องของความหวาน แต่เป็นความซับซ้อนที่มีทั้งความหวาน ความลึก ความฉ่ำ มีอยู่ในตัวทั้งหมดครับ” ลีบอกเล่าได้อย่างเปี่ยมรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์ ทำให้อดกล่าวไม่ได้ว่า ฟังจากที่ลีเล่ามา ทำให้นึกถึงอากาศบริสุทธิ์ของยอดดอยก็มิปาน
ลีตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “ใช่ครับ”





‘ลี  อายุ จือปา’ ผู้ก่อตั้งแบรนด์กาแฟ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา )
‘จิตวิญญาณ’ ที่คงมั่น

คำถามทิ้งท้าย นอกจากมีหลายสาขาในไทยและที่ญี่ปุ่นก็มีความตั้งใจจะเพิ่มร้านและโรงคั่วในอนาคต เช่นนั้นแล้ว หากจะมีการเปิดสาขาเพิ่ม ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม อะไรคือ ‘จิตวิญญาณ’ ของ Akha Ama ( อาข่า อ่ามา ) ที่ยังคงมั่น คงเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

ลีตอบว่า “เรายังคงทำงานกับเกษตรกรไทย ดังนั้น เรายึดมั่นในปรัชญาของเรา คือ เราจะทำเพื่อชุมชนของเรา อะไรที่เราทำก็ตาม ไม่ใช่แค่เรื่องของรสชาติที่ดี แต่รสชาติที่ดีนั้น ต้องมีความหมาย และสร้างผลกระทบที่ดีให้กับสังคมได้ด้วยครับ ต้องมีควบคู่กัน ไม่ใช่แค่รสชาติอร่อยแล้วเอามาทำ เพราะกาแฟอร่อยนั้น หาที่ไหนก็ได้ แต่กาแฟที่อร่อยและมีความหมาย เป็นสิ่งที่เราต้องให้นิยามอย่างลึกซึ้ง

"เมื่อเราขยายร้าน เราต้องมองให้มากกว่ารสชาติที่อร่อย แต่เราต้องมองว่ามันสร้างผลกระทบที่ดีให้กับใครบ้าง
ทั้งการสร้างอาชีพ สิ่งแวดล้อม และสร้างอนาคต หรือคุณภาพชีวิตของคนไทยว่าดีขึ้นไหม มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้หรือเปล่า”
เป็นคำตอบที่ฉายชัดถึงความมุ่งมั่นของชายคนนี้ ผู้คำนึงถึงภูมิทัศน์ของทุกบริบทในชีวิตเกษตรกร ชุมชนและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่สะท้อนภาพได้อย่างน่าชื่นชม

…………..

Text : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo : ลี อายุ จือปา