“ลิลิตพระลอ” เป็นโศกนาฏกรรมความรักของหญิง ๒ กับ ๑ ชาย มีความไพเราะของถ้อยคำ งดงามด้านวรรณศิลป์ แฝงคติธรรมและสัจธรรมของชีวิต ได้รับการยกย่องจาก “วรรณคดีสโมสร” ซึ่งตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ จากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้เป็นยอดแห่งวรรณกรรมในด้านลิลิต เมื่อปี ๒๔๕๙ แต่ก็ถูกวิจารณ์จากนักวรรณคดีบางกลุ่มว่า เป็นวรรณกรรมที่มอมเมาทางโลกีย์ ถึงขั้นมีเซ็กซ์หมู่
ผู้แต่งลิลิตพระลอไม่ปรากฏนาม สันนิษฐานว่าแต่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะในหนังสือ “จินดามณี” ซึ่งแต่งโดยพระโหราธิบดีในสมัยนั้นได้ยกโคลงบทหนึ่งในลิลิตพระลอว่าถูกต้องตามแผนบังคับและมีความไพเราะจับใจ ซึ่งโคลงบทที่ถูกอ้างนั้นก็คือ
เสียงฦาเสียงเล่าอ้างอันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศใครทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหลลืมตื่น ฦาพี่
สองพี่คิดเองอ้าอย่าได้ถามเผือ
มาจากโคลงสี่สุภาพในบทที่ ๓๐ พี่เลี้ยงของพระเพื่อนพระแพงบอกกับ ๒ พี่เลี้ยงของพระลอ ถึงสาเหตุที่เจ้านายของตนหลงไหลในรูปลักษณ์ของพระลอจากเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่สนั่นหล้าอยู่ในขณะนั้น
ส่วนผู้แต่งที่ไม่ปรากฏนาม แต่ในโคลงบทสุดท้ายของเรื่องระบุไว้ว่า แต่งโดย “มหาราช” และ “เยาวราช” เป็นผู้จด คือ
จบเสร็จมหาราชเจ้า นิพนธ์
ยอยศพระลอคนหนึ่งแท้
พี่เลี้ยงอาจเอาตนตายก่อน พระนา
ในโลกนี้สุดแล้เลิศล้ำคุงสวรรค์ฯ
จบเสร็จเยาวราชเจ้าบรรจง
กลอนกล่าวพระลอยงยิ่งผู้
ใครฟังย่อมใหลหลงฤาอิ่ม ฟังนา
ดิเรกแรกรักชู้เหิ่มแท้รักจริงฯ
สันนิษฐานกันว่า “มหาราช” ในที่นี้ก็คือ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และ “เยาวราช” ผู้จดก็คือ เจ้าฟ้าอภัยทศ พระอนุชา
ลิลิตพระลอมีเค้าเรื่องมาจากนิทานพื้นบ้าน กล่าวถึงเมืองเหนือสองเมืองเป็นอริกัน กษัตริย์เมืองแม้นสรวงมีนามว่า พระลอดิลกราช เป็นกษัตริย์หนุ่มที่รูปงามยิ่งนัก อีกเมืองหนึ่งคือ เมืองสรอง มี กษัตริย์พิชัยพิษณุกร เป็นผู้ปกครอง มีพระราชธิดาสององค์ พระเพื่อนแก้ว เป็นพี่ พระแพงทอง เป็นน้อง ซึ่งก็มีพระสิริโฉมงดงดงามทั้งองค์พี่องค์น้อง พระราชธิดาทั้งสองสาบานกับเจ้าย่า ซึ่งเป็นย่าเลี้ยง ว่าจะแก้แค้นเมืองสรวงให้ได้ เพราะเสด็จปู่ได้สวรรคตจากการไปทำศึกกับเมืองนี้ ถ้าผิดคำสาบานให้ตายด้วยคมหอกคมดาบ
เจ้าย่าได้ส่งคนไปสีซอให้พระลอฟัง พรรณนาถึงความงามของพระเพื่อนกับพระแพง และยังหลอกให้กินหมากที่อาบด้วยมนต์กฤติยา พระลอแม้จะมีมเหสีอยู่แล้วก็ไม่อาจต้านมนต์ได้ ต้องเสด็จไปเมืองสรองทันทีโดยมีนายแก้วกับนายขวัญ สองพี่เลี้ยงตามเสด็จ ปู่เจ้าสมิงพรายได้ปล่อยไก่แก้วออกมาล่อให้พระลอตามไปจนถึงอุทยานหลวงเมืองสรอง นางรื่นกับนางโรย พระพี่เลี้ยงของพระราชธิดา ได้พาสองพระราชธิดาลงมาพบกับพระลอ ทันทีที่ได้พบประสบพักตร์ สองพระราชธิดาก็ตลึงในความงาม เหมือนรูปอินทร์หยาดฟ้ามาอ่าองค์ในหล้า ส่วนพระลอก็ทรงหลงตัวจริงยิ่งกว่ามนต์
พระเพื่อนพระแพงเกรงว่าเสด็จย่ามาพบพระลอจะให้ทหารฆ่า จึงพาไปหลบไว้ในที่ปลอดภัยที่สุด ก็คือห้องบรรทมของพระนาง ส่วนสองพี่เลี้ยงนายแก้วนายขวัญ ก็ให้นางรื่นกับนางโรยพาไปหลบไว้คนละคน เรื่องก็เลยลงตัว เกิดบทอัศจรรย์
“บทอัศจรรย์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานได้ให้ความหมายไว้ว่า “บทร้อยกรองตามธรรมเนียมนิยมในวรรณคดีไทย พรรณนาเพศสัมพันธ์ของชายหญิง มักล่าวให้เป็นที่เข้าใจโดยใช้โวหารเป็นสัญลักษณ์หรืออุปมาอุปมัยเป็นต้น”
ศุภณัฐ เทียนทอง คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เขียนงานวิจัยเรื่อง “การใช้สัญลักษณ์ในบทอัศจรรย์จากเรื่องลิลิตพระลอ” ในวารสารรัชต์ภาคย์ ไว้ว่า
บทอัศจรรย์ที่ปรากฏในเรื่องลิลิต พระลอ กวีจะนิยมใช้สัญลักษณ์ที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งมักจะมีลักษณะเป็นสิ่งที่คู่กัน มาพรรณนากิจกรรมทางเพศระหว่างชายและหญิง ซึ่งสัญลักษณ์ที่เป็นธรรมชาติ ปรากฏอยู่ ๓ ประเภท ได้แก่ พืช สัตว์ และธรรมชาติ
พืช เช่น
บุษบาบานคลี่คล้อย สร้อยแลสร้อยซ้อนสร้อย
เสียดสร้อยสระศรี ฯ
ภุมรีคลึงคู่เคล้า กลางกมลยรรเย้า
ยั่วร้องขานกัน ฯ
สรงสระสรงสวรรค์ไป่เพี้ยง สระพะนุชเนื้อเกลี้ยง
อาบเอื้อเอาใจ ฯ
แสนสนุกในสระน้อง ปลาชื่นชมเต้นต้อง
ดอกไม้บัวบาน ฯ
ทินกรกรก่ายเกี้ยว เมียงบัว
บัวบ่บานหุบกลัว ภู่ย้ำ
ภุมรีภมรมัว เมาซราบ บัวนา
ซอนนอกในกลีบกล้ำ กลิ่นกลั้วเกสร ฯ
ต้นไม้ในป่าก็ถูกนำมาอ้าง
สะเทือนฟ้าฟื้นลั่น สรวงสวรรค์
พื้นแผ่นดินแดยรร หย่อนไส้
สาครคลื่นอึงอรร ณพเฟื่อง ฟองนา
แลทั่วทิศไม้ไหล้ โยคเยื้องอัศจรรย์ ฯ
สัตว์ ทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ เช่นสัตว์น้ำ ตอนนายแก้วนายขวัญและนางรื่นนางโรย ร่วมรักกันในสระ
สนุกบัวซ้อนดอก บัวพระ พี่นา
ปลาช่อนปลาไส้สระ ดอกไม้
สลิตโพตะเพียนพะ กันชื่น ชมมา
พรวนเพรียกแหมหลิ่งไส้ เหยื่อหย้ามฟูมฟอง ฯ
ดุจอัสดรหื่นห้า แรงเร่งเริงฤทธิ์กล้า
เร่งเร้งฤๅเยาว์ ฯ
ดุจสารเมามันบ้า งาไล่แทงงวงคว้า
อยู่เคล้าคลุกเอา ฯ
ขุนสีหคลึงคู่เคล้า สาวสีห์
สารแนบนางคชลี ลาศเหล้น
ทรายทองย่อยงกรี- ฑาชื่น ชมนา
กระต่ายกระแตเต้น ตอบเต้าสมสมร ฯ
ธรรมชาติ มีการกล่าวถึงธรรมชาติเป็นสัญลักษณ์ในบทอัศจรรย์ เช่น
ทินกรกรก่ายเกี้ยว เมียงบัว
บัวบ่บานหุบกลัว ภู่ย้ำ
ภุมรีภมรมัว เมาซราบ บัวนา
ซอนนอกในกลีบกล้ำ กลิ่นกลั้วเกสร ฯ
บคลาไคลน้อยหนึ่ง ฤๅหยุด อยู่นา
ยังใคร่ปองประติยุธ ไป่ม้วย
ปรานีดอกบัวบุษ บชื่น ชมนา
หุบอยู่บบานด้วย ดอกสร้อยสัตตบัน ฯ
นี่เป็นเหตุที่พระราชธิดาทั้งสองไม่ได้ออกจากห้องบรรทมลงไปเดินเล่นในอุทยานเช่นเคยเป็นเวลาถึงครึ่งเดือน ซึ่งเรื่องอย่างนี้ก็ไม่ผิดวิสัยของมนุษย์ เมื่อทั้งสามต่างตกอยู่ในอารมณ์ลุ่มหลงซึ่งกันและกัน พระเพื่อนพระแพงก็ยังเป็นสาวยังไม่เคยต้องมือชาย ส่วนพระลอก็มีมเหสีมาแล้ว ทั้งยังอยู่ในที่รโหฐานรับตาคน จึงไม่ผิดวิสัยที่จะเกิดบทอัศจรรย์ขึ้น
เมื่อกษัตริย์พิชัยพิษณุกรเกิดความสงสัยจึงไปที่ห้องบรรทมของพระธิดา ทรงพบพระลออยู่ด้วยก็ทรงเข้าพระทัยได้ว่าได้เกิดอะไรขึ้นแล้ว พระลอก็เข้าฝากเนื้อฝากตัวแต่โดยดี กษัตริย์พิชัยฯเห็นรูปลักษณ์ของพระลอแล้วก็เกิดความเห็นใจในพระราชธิดา ทั้งทรงเกิดความเมตตาพระลอ รับชสั่งจะจัดพิธีอภิเษกสมรสให้ แต่พระเจ้าย่าไม่ยอมอภัย อ้างรับสั่งกษัตริย์พิชัยฯให้จับพระลอไปประหาร ฝ่ายพระเพื่อนพระแพงและพระพี่เลี้ยงของทั้งสองฝ่ายก็ได้ช่วยขัดขวางจนสิ้นชีวิตด้วยกันทั้งหมด เมื่อกษัตริย์พิชัยพิษณุกรทราบก็ทรงพิโรธ สั่งให้จับพระเจ้าย่าและพรรคพวกประหารให้ตายตกไปตามกัน และโปรดให้จัดพิธีพระศพอย่างยิ่งใหญ่ ฝ่ายเมืองสรวงก็ส่งทูตมาร่วมงานพระศพทั้งสามพระองค์ แล้วทรงขอแบ่งพระอัฐิธาตุไปส่วนหนึ่ง ตั้งแต่นั้นมาเมืองสรองและเมืองสรวงก็กลับมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน
ความดื่มด่ำในอรรถรสของลิลิตพระลอติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ทำให้บทประพันธ์เรื่องนี้เกิดความเชื่อว่าเป็นเรื่องจริง เช่นเดียวกับ “ขุนช้างขุนแผน” จึงมีการสันนิษฐานว่าสถานที่ในเรื่องลิลิตพระลอมีอยู่จริง คือเมืองสรอง ก็คือ อำเภอสอง ของจังหวัดแพร่ ซึ่งมีแม่น้ำกาหลงไหลผ่านตามในเรื่อง จึงมีการสร้าง “อุทยานลิลิตพระลอ” ขึ้น ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านกลาง ในเส้นทางไปพระธาตุพระลอ ภายในอุทยานประกอบด้วย อนุสาวรีย์สามกษัตริย์คือ พระลอพระเพื่อนพระแพง ในฉากที่ทั้งสามองค์ยืนอิงพิงกันตาย มีไก่แก้วที่ปู่เจ้าสมิงพรายใช้หลอกล่อพระลอ นอกจากนี้ยังมีการจำลองถ้ำของปู่เจ้าสมิงพราย ภายในถ้ำได้จัดแสดง ภาพประติมากรรมฝาผนัง เรื่องราวเกี่ยวกับวรรณคดีลิลิตพระลอ ด้านนอกมีอาคารมีการจัดแสดงประวัติและวัตถุโบราณที่ขุดพบในบริเวณอุทยาน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดแพร่
ลิลิตพระลอเป็นวรรณคดีประเภทลิลิตที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เป็นแบบอย่างของลิลิตต่อๆมา แต่ก็มีนักวรรณคดีบางส่วนที่เห็นว่าเรื่องกามารมณ์ไม่ควรนำมาเล่าอย่างเปิดเผย แต่ลิลิตพระลอก็ไม่ได้เล่าอย่างลามกอนาจาร หากใช้สัญลักษณ์ให้คนอ่านเกิดจินตนาการ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ในวรรณคดีไทยอย่างหนึ่งที่เรียกกันว่า “บทอัศจรรย์”