xs
xsm
sm
md
lg

ใกล้หมดโปรฯ หน้าหนาว พบอากาศอุ่นขึ้นพรวดเดียว 9-16 องศาฯ กรมอุตุฯ เตือนระวังฝนฟ้าคะนอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ "พยากรณ์อากาศประเทศไทย" ของผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน "ฟ้าฝน" ระบุ กทม.อากาศอุ่นขึ้นพรวดเดียว 9 องศาเซลเซียล นครพนมอุ่นขึ้นถึงเกือบ 16 องศาเซลเซียส ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา เผยจะมีฝนฟ้าคะนองกระจาย 3-5 ก.พ.นี้ เตือนดูแลสุขภาพช่วงอากาศแปรปรวน

เมื่อวันที่ 3 ก.พ. เพจ "พยากรณ์อากาศประเทศไทย" ของบริษัท ซีพีเอส เ​ว​เธอร์​ จำกัด และ บริษัท​ ซีพี​เอส​ อะกริ จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน "ฟ้าฝน" ระบุว่า เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร อุ่นขึ้นพรวดเดียว 9 องศาเซลเซียส จาก 18.4 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็น 27.4 องศาเซลเซียส ขณะที่จังหวัดนครพนมอุ่นขึ้นถึงเกือบ 16 องศาเซลเซียส จาก 5.1 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็น 21.0 องศาเซลเซียส ส่วนจังหวัดสกลนครอุ่นขึ้น 14.7 องศาเซลเซียส และจังหวัดกาฬสินธฺุ์ ร้อยเอ็ด อุ่นขึ้น 13-14 องศาเซลเซียส ขณะที่ พยากรณ์อากาศสะสมรายวัน ตั้งแต่วันที่ 3-10 ก.พ. พบว่าเริ่มมีฝนสะสมมากขึ้นในบางพื้นที่






ด้าน กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศใน 7 วันข้างหน้า ตั้งแต่วันที่ 3-9 ก.พ. 2566 ระบุว่า ในช่วงวันที่ 3-5 ก.พ. 2566 มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางรวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณเกาะบอร์เนียว จะเคลื่อนผ่านประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างลงสู่ทะเลอันดามัน ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ส่วนในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. 2566 ลมฝ่ายตะวันตกในระดับบนจะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอุณหภูมิลดลง ในขณะที่ลมตะวันออกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีหมอกในตอนเช้า และมีฝนบางแห่งบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนล่าง กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก สำหรับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนลดลง

ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพ เนื่องจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง และระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอก ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตร สำหรับในช่วงวันที่ 3-5 ก.พ. 2566 ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างควรเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

ภาคเหนือ ในช่วงวันที่ 3-5 ก.พ. 2566 อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 16-22 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 6-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 5-15 กม./ชม. ส่วนในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. 66 อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิจะลดลง 2-6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 13-18 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด อุณหภูมิต่ำสุด 2-14 องศาเซลเซียส ลมตะวันตก ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงวันที่ 3-5 ก.พ. 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 10-16 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. 2566 มีหมอกในตอนเช้า มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ ส่วนมากทางตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดภูอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง ในช่วงวันที่ 3-5 ก.พ. 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. 2566 มีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 18-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคตะวันออก ในช่วงวันที่ 3-5 ก.พ. 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. 2566 มีหมอกในตอนเช้า มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 10-20 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นต่ำกว่า 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) ในช่วงวันที่ 3-5 ก.พ. 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ในขณะที่ช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 19-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-34 องศาเซลเซียส

ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) ในช่วงวันที่ 3-5 ก.พ. 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนในช่วงวันที่ 5-9 ก.พ. 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20-30 ของพื้นที่ ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูง 1-2 เมตร อุณหภูมิต่ำสุด 20-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-35 องศาเซลเซียส

กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงวันที่ 3-5 ก.พ. 2566 มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40-60 ของพื้นที่ ส่วนในช่วงวันที่ 6-9 ก.พ. 2566 มีหมอกในตอนเช้า โดยมีฝนบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 22-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.


กำลังโหลดความคิดเห็น