ในระยะที่คนเผ่าไทยรวมตัวกันสร้างประเทศ คนเผ่ามองโกลได้แผ่อำนาจไปค่อนโลก เจงกีสข่านตีเมืองในเอเชีย ตะวันออกกลาง ไปจนถึงยุโรปตะวันออก ส่วนยุโรปตะวันตกอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศสยังเป็นป่า ได้รับการยกย่องว่าเป็น “จักรพรรดิแห่งจักรวาล” พอถึงสมัยพระนัดดาคือ กุบไลข่าน หรือ จักรพรรดิหยวนชื่อจู่ หรือ ซีโจ๊วฮ่องเต้ เข้าครอบครองจีนตอนใต้ สถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้น แล้วส่งกองทัพเข้ามาปราบปรามพุกามหรือพม่า ล้านนา กัมพูชา จามปา อันนัมหรือเวียดนาม และส่งกองเรือลงไปตีถึงชวา แต่ไม่ได้รุกเข้าสุโขทัย ส่งแต่ทูตเข้ามาขอให้พ่อขุนรามคำแหงไปเจริญสัมพันธไมตรีที่ปักกิ่ง
ความจริงแล้วกุบไลข่านไม่ต้องการที่จะรุกรานเมืองเหล่านี้ เพียงแต่ต้องการให้เมืองต่างๆที่เคยค้าขายกับจีนทราบว่าจีนได้เปลี่ยนราชวงศ์แล้ว ขอให้มาค้าขายอย่างเดิม และให้ประมุขแห่งอาณาจักรไปเฝ้าที่กรุงปักกิ่ง แต่ข้อความในพระราชสาส์นนั้นค่อนข้างจะแสดงอำนาจ จึงได้รับการสนองตอบจากประมุขของแต่ละประเทศต่างกันไป
อาณาจักรพุกาม ซึ่งเป็นอาณาจักรของชาวพยู คนเผ่าพม่าโบราณ และเป็นมหาอำนาจของเอเซียอาคเนย์ในยุคนั้นเช่นเดียวกับอาณาจักรขอม พระเจ้านรสีหบดีได้ปฏิเสธทันที ทั้งยังคุยโอ้อวดถึงความยิ่งใหญ่ว่า เสวยแกงวันละ ๓๐๐ ชาม มีไพร่พลถึง ๓๖ ล้านคน เหตุใดต้องยอมอ่อนน้อม
เมื่อราชทูตกลับไปรายงาน พระเจ้ากุบไลข่านก็ยังไม่ใช้กำลัง ปีต่อมาก็ส่งทูตไปอีกครั้ง แต่ทูตคณะนี้ไม่ได้กลับไปถึงกรุงปักกิ่ง มีข่าวว่าถูกพระเจ้านรสีหบดีตัดหัวทั้งหมด อีกกระแสก็ว่าถูกทำร้ายที่ยูนนาน
ต่อมามีแคว้นชายแดนที่เคยขึ้นกับพุกามหันไปขึ้นกับจีน พุกามส่งกำลังไปปราบจึงปะทะกับกองทัพจีนที่มาให้ความคุ้มครอง พุกามจัดช้างเป็นกองทัพหน้า ทหารมองโกลที่เก่งแต่การรบบนหลังม้าไม่เคยเห็นช้างก็ตกใจ อีกทั้งม้ามองโกลก็กลัวช้างพากันวิ่งหนี แม่ทัพมองโกลยังโดนช้างเตะบาดเจ็บ นักรบมองโกลเลยต้องลงจากหลังม้าไปหลบในป่า แล้วใช้ธนูยิงไปที่ตาช้างและควาญ พอช้างเจ็บก็สลัดกูบออกจากหลัง ไล่ทำร้ายทั้งสองฝ่ายไม่เลือกหน้า ที่รับไปหนักก็เป็นฝ่ายพม่าเอง เพราะทหารมองโกลซ่อนอยู่ในป่า และจับช้างได้ ๑๒ เชือกนำไปถวายพระเจ้ากุบไลข่าน
ในที่สุดพระเจ้านรสีหบดีก็ต้องยอมสวามิภักดิ์ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระเจ้ากุบไลข่าน เมื่อพุกามอ่อนแอลงก็เกิดกบฏภายในหลายราย พระเจ้านรสีหบดีถูกวางยาพิษสิ้นพระชนม์ ฝ่ายมอญก็เกิดมักกะโท หรือพระเจ้าฟ้ารั่ว ทำให้อาณาจักรพุกามต้องล่มสลายไปในที่สุด
อาณาจักรสิงหะส่าหรี ซึ่งครอบครองเกาะชวาในยุคนั้น และอยู่ในยุคที่ครองอำนาจสูงสุด ขณะที่อาณาจักรศรีวิชัยมหาอำนาจแถบทะเลใต้อ่อนอำนาจลง สิงหะส่าหรีได้ส่งกองทัพเรือเข้ายึดดินแดนย่านนี้อยู่ใต้อำนาจทั้งหมด กุบไลข่านส่งสาส์นให้สิงหะส่าหรีสวามิภักดิ์ แต่ถูกปฏิเสธ และเมื่อส่งคณะทูตไปอีกครั้ง ราชากฤตนคร ประมุขแห่งอาณาจักรก็ทรงพิโรธ สั่งให้เอาเหล็กเผาไฟนาบหน้าคณะทูตทุกคน ตัดใบหูแล้วไล่กลับจีน
เมื่อกุบไลข่านเห็นสภาพทูตแล้วทรงพิโรธมาก รับสั่งว่าราชากฤตนครเป็นกษัตริย์ที่ป่าเถื่อน และบังอาจหยามเกียรติพระองค์ แต่เนื่องจากชวาอยู่ไกลมาก กุบไลข่านจึงต้องเตรียมการพอควร ส่วนราชากฤตนครก็รู้ดีว่าจะต้องผจญกับกองทัพของกุบไลข่าน จึงเตรียมรับเต็มที่เหมือนกัน
เมื่อทุกอย่างพร้อม กุบไลข่านก็ไม่ได้มีแค่ทหารชำนาญธนูบนหลังม้าเท่านั้น แต่มีเรือรบ ๑,๐๐๐ ลำ เครื่องยิงหิน และธนูยิงระเบิดเพลิง แต่ขณะที่ราชากฤตนครจัดทัพรับมือกับกองทัพมองโกลนั้น ราชาชัยขัตติวงศ์ ผู้ครองแคว้นหนึ่งซึ่งเป็นประเทศราชของสิงหะส่าหรี ก็ยกทัพมาด้านหลังและบุกเข้าเมืองอย่างง่ายดาย สังหารราชากฤตนครและราชวงศ์ผู้เป็นชายสิ้น เป็นการปิดฉากอาณาจักรสิงหะส่าหรี เปลี่ยนผู้ปกครองเกาะชวาใหม่ ซึ่งยินดีส่งคณะทูตไปปักกิ่ง ขณะที่กองทัพมองโกลยังมาไม่ถึง
สำหรับกรุงสุโขทัย ซึ่งยังเป็นอาณาจักรซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นได้ไม่นาน แต่ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งกำลังป้องกันประเทศ ในพงศาวดารของราชวงศ์หยวนบันทึกไว้ว่า พระเจ้าหยวนเสงจงฮ่องเต้ พระราชโอรสของพระเจ้ากุบไลข่าน ได้ทรงขอร้องพ่อขุนรามคำแหงมิให้รบกับมลายู เพราะมลายูซึ่งสวามิภักดิ์กับจีน ได้ร้องทุกข์เรื่องนี้ไปยังกรุงปักกิ่ง
ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง พระเจ้ากุบไลข่านก็ทรงส่งสาส์นมาสุโขทัยด้วยเช่นกัน พ่อขุนรามคำแหงทรงใช้การทูตแบบไทย สุภาพและอ่อนโยน และเป็นมิตรกับทุกฝ่าย แต่ก็ใช่ว่าจะยอมศิโรราบ ในพระราชสาส์นของพระเจ้ากุบไลข่าน ขอให้พ่อขุนรามคำแหงเสด็จไปเฝ้าด้วยพระองค์เอง หากมีเหตุขัดข้องให้ส่งโอรสหรือพระอนุชาและอำมาตย์ผู้ใหญ่ไปเป็นตัวประกัน ปรากฏว่าพ่อขุนรามคำแหงก็มิได้ปฏิบัติตาม ส่งแต่คณะทูตนำเครื่องราชบรรณาการไปแทน ซึ่งทางฝ่ายจีนก็ต้อนรับด้วยดี
คงจำกันได้ว่า ในขณะที่กุบไลข่านแพร่อิทธิพลเข้ามาในย่านนี้ พงศาวดารโยนกบันทึกเรื่องประหลาดไว้เรื่องหนึ่งว่า พระร่วงแห่งสุโขทัยไปเป็นชู้กับมเหสีของพญางำเมือง แห่งพะเยา และได้เชิญพญาเม็งรายมาตัดสิน นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์กันว่าอาจเป็นอุบายทางการเมืองที่ ๓ กษัตริย์ซึ่งเป็นศิษย์ร่วมสำนักสุกทันตฤาษีด้วยกัน หาเหตุอำพรางนัดพบด้วยเรื่องสำคัญ ซึ่งเรื่องนั้นอาจเป็นการปรึกษาหารือเกี่ยวกับการรับมือกุบไลข่านก็เป็นได้
ผลของการเปิดสัมพันธไมตรีกับกุบไลข่าน นอกจากจะทำให้ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อและบ้านเมืองย่อยยับแล้ว เครื่องราชบรรณาการที่ส่งไป ฝ่ายจีนก็ตอบกลับมามากกว่าเสียอีก ขบวนเรือเครื่องราชบรรณาการยังได้รับสิทธิพิเศษไม่ถูกตรวจค้น ไม่เสียภาษี ทั้งยังนำสินค้าไปขายและซื้อกลับมาได้ด้วย จึงปรากฏว่าขบวนเรือเครื่องราชบรรณาการมักเป็นขบวนใหญ่มีถึง ๒๐ ลำ โดยมีเรือพ่อค้าแอบร่วมไปด้วย ต่อมาทางจีนจึงกำหนดให้มีไม่เกิน ๓ ลำ ลำหนึ่งมีไม่เกิน ๒๐ คน และกำหนดให้มาส่งเครื่องราชบรรณาการได้ ๕ ปีต่อ ๑ ครั้งเท่านั้น
ผลดีอีกอย่างของไทยในขณะนั้นก็คือ ประเทศที่แข็งกร้าวถูกกองทัพมองโกลบดขยี้จนล่มสลาย บางรัฐไม่ถึงล่มก็อ่อนแอลงมาก เปิดทางให้รัฐของคนเผ่าไทยแข็งแกร่งขึ้นมาแทนที่ และเป็นมาจนถึงทุกวันนี้
ตั้งแต่เริ่มตั้งประเทศไทยมา เราไม่เคยว่างกษัตริย์ และไม่น้อยหน้าใครในเอเชีย ทรงนำชาติรอดปลอดภัยมาทุกยุคทุกสมัย เราอ่อนน้อม แต่ไม่อ่อนแอ แม้ยุคล่าอาณานิคมในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ เราก็รอดปลอดภัยอยู่ประเทศเดียวในย่านนี้ ...นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่คนต่างชาติรู้สึกอิจฉาคนไทย ที่เขาไม่มีในสิ่งที่เรามี