xs
xsm
sm
md
lg

สื่อมาตรฐาน!? อดีตนายกฯ อังกฤษแต่งตั้ง “ประธานบีบีซี” หลังช่วยหาคนค้ำเงินกู้ 32 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แฉอดีตนายกฯ อังกฤษ แต่งตั้ง “ประธานบีบีซี” หลังช่วยหาคนค้ำประกันเงินกู้ 32 ล้านเพื่อแก้ปัญหาส่วนตัว บทพิสูจน์สื่อมาตรฐาน มือถือสากปากถือศีล ขณะที่ชาวเมืองผู้ดีเริ่มเอือมผลงานสื่อสาธารณะของประเทศ ผลโพลชี้ 96% บอกไม่คุ้มเงินค่าดูที่ต้องจ่ายปีละราว 6 พันบาท

ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 27 มกราคม 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้กล่าวถึงเรื่องอื้อฉาวในประเทศอังกฤษ กรณีประธาน “บีบีซี” คนปัจจุบัน ได้รับตำแหน่งเพราะช่วยนายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษหาคนค้ำประกันเงินกู้ส่วนตัวมูลค่า จำนวน 800,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 32.5 ล้านบาท

โดยวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ (The Times) สื่ออังกฤษเผยแพร่รายงานชิ้นหนึ่งซึ่งระบุว่า มีการค้นพบหลักฐานว่า นายริชาร์ด ชาร์ป ประธานของบีบีซี คนปัจจุบัน ซึ่งมีอายุ 66 ปีนั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานของบีบีซีในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 (ค.ศ.2021) ภายหลังจากที่เขาได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินส่วนบุคคลแก่ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ด้วยการหาคนมาค้ำประกันเงินกู้จำนวน 800,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 32.5 ล้านบาท


โดยวันเสาร์ที่ 21 มกราคม 2566 หนังสือพิมพ์เดอะ ไทมส์ (The Times) สื่ออังกฤษเผยแพร่รายงานชิ้นหนึ่งซึ่งระบุว่า มีการค้นพบหลักฐานว่านายริชาร์ด ชาร์ป ประธานของบีบีซี คนปัจจุบัน ซึ่งมีอายุ 66 ปีนั้นได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานของบีบีซีในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 (ค.ศ.2021) ภายหลังจากที่เขาได้ให้ความช่วยเหลือด้านการเงินส่วนบุคคลแก่นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษด้วยการหาคนมาค้ำประกันเงินกู้จำนวน 800,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยกว่า 32.5 ล้านบาท

เนื้อหาของข่าวจาก The Times ระบุว่า ก่อนที่นายริชาร์ด ชาร์ป จะได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานของบีบีซีนั้น ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2563 (ค.ศ.2020) นายชาร์ปซึ่งในอดีตเป็นนายธนาคารให้กับโกลด์แมน แซคส์ ได้ให้คำปรึกษากับ นายบอริส จอห์นสัน ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เกี่ยวกับปัญหาการเงินส่วนตัวของนายจอห์นสัน


ทั้งนี้นายบอริส จอห์นสันนายกฯ อังกฤษกำลังมีปัญหาส่วนตัว เนื่องจากมีชีวิตส่วนตัวที่ค่อนข้างจะยุ่งเหยิงเหมือนกับทรงผมบนหัวของเขา เขาแต่งงานหลายครั้ง หย่าหลายครั้ง และมีลูกกับผู้หญิงที่เป็นทั้งภรรยา และไม่ได้เป็นภรรยา รวม 7 คน


ภรรยาคนแรก อัลเลกรา มอสติน-โอเวน แต่งงานระหว่างปี 2530-2536 ไม่มีลูก
ภรรยาคนคนที่ 2 มารินา วีห์เลอร์ แต่งงานกันช่วงปี 2536-2561 มีลูก 4 คน ในระหว่างนั้นก็เป็นชู้กับผู้หญิงหลายคน

นายบอริส จอห์นสัน และนางมารินา วีห์เลอร์
ในปี 2552 นายจอห์นสันยอมรับว่าเป็นพ่อของเด็ก 1 คน ที่เกิดกับเฮเลน แมคอินไทร์

ปี 2563 นายบอริส จอห์นสัน หย่ากับมารินา วีห์เลอร์ หลังจากแต่งงานมา 25 ปี โดยดำเนินเรื่องเจรจาการหย่าตั้งแต่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ และเสร็จสิ้นกระบวนการพฤศจิกายน 2563

ทั้งนี้ ตั้งแต่ก่อนหน้าจากหย่ากับ มารินา วีห์เลอร์ ในช่วงปลายปี 2563 เขาอยู่กินกับภรรยาคนปัจจุบันคือ แคร์รี ซิมมอนด์ส (Carrie Symonds) ลูกสาวของผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ The Independent มาตั้งแต่ปี 2562(โดยในช่วงนั้นเองเขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำอังกฤษ)โดยมีลูกชาย 1 คน และลูกสาว 1 คนกับ แคร์รี ซิมมอนด์ส

บอริส จอห์นสัน และ แคร์รี ซิมมอนด์ส
ในช่วงปลายปี 2563 นายบอริส จอน์หสัน กำลังประสบปัญหาทางการเงินส่วนตัวอย่างหนักจากหลาย ๆ สาเหตุคือ เงินที่ต้องจ่ายชดเชยจากการหย่าร้างกับ มารินา วีห์เลอร์ ค่าใช้จ่ายของบุตรจำนวนหลายคน อีกทั้งยังต้องจ่ายเงินส่วนตัวเพื่อตกแต่งแฟลตของเขาในย่านดาวนิง สตรีท ด้วยเหตุนี้นายริชาร์ด ชาร์ป จึงยื่นมือให้ความช่วยเหลือกับนายจอห์นสัน

สำหรับ นายชาร์ป นั้นถือเป็นที่ปรึกษา และนักการเมืองอังกฤษที่เคยบริจาคเงินให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟ มาแล้วกว่า 4 แสนปอนด์ หรือเกือบ 15 ล้านบาท จึงได้นัดรับประทานอาหารกับนายแซม ไบลท์ เศรษฐีชาวแคนาดา ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นญาติห่าง ๆ ของนายบอริส จอห์นสัน เพื่อให้นายไบลท์เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้กับนายจอห์นสัน โดยเริ่มมีการติดต่อประสานในงานช่วงสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม 2563 โดยนายชาร์ปได้เข้าออกบ้านเลขที่ 10 ถ.ดาวนิง ในกรุงลอนดอน ซึ่งเป็นที่พักอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ โดยปรึกษาหารือเรื่องดังกล่าวกลับนายไซมอน เคส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และหัวหน้าฝ่ายบริการพลเรือนของอังกฤษ

นายแซม ไบลท์ - นายบอริส จอห์นสัน
ทั้งนี้ ก่อนที่การกู้ยืมเงินจำนวน 8 แสนปอนด์จะเรียบร้อย นายบอริส จอห์นสัน, นายริชาร์ด ชาร์ป และ นายแซม ไบลท์(ผู้ค้ำประกัน)ได้รับประทานอาหารเย็นร่วมกันหนึ่งมื้อในบ้านพักตากอากาศของนายกฯ อังกฤษ ในย่านบักกิงแฮมเชียร์ ด้วย โดยแหล่งข่าวของเดอะไทมส์ ระบุว่า ด้วยว่าอาหารและเครื่องดื่มที่ทั้ง 3 คน รับประทานคือ ผัดหมี่ (Chop Suey) และดื่มไวน์กันอย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องแดงออกมาทั้ง 3 คนกลับปฏิเสธว่าในการพบกันดังกล่าว ไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงเรื่องการค้ำประกันเงินกู้ของนายจอห์นสัน แต่อย่างใด

ต่อมาช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ส่งจดหมายถึงนายจอห์นสัน ระบุว่าเขาไม่ควรขอคำปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคลจากนายริชาร์ด ชาร์ป อีกต่อไป เนื่องจากนายชาร์ปกำลังเป็นตัวเลือกเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานของบีบีซี

อย่างไรก็ตาม เป็นไปตามที่คาดหมายกันก็คือวันที่ 6 มกราคม 2564 นายบอริส จอห์นสัน กับ นายโอลิเวอร์ ดาวเดน รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมอังกฤษ ก็ประกาศว่านายริชาร์ด ชาร์ป ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานของบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ หรือบีบีซีโดยในตำแหน่งนี้จะได้รับผลตอบแทนปีละ 160,000 ปอนด์ หรือกว่า 6.5 ล้านบาท


ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติก่อตั้งบีบีซีแล้วประธานของบรรษัทแพร่ภาพและกระจายเสียงอังกฤษจะต้องได้รับแต่งตั้งจากพระราชาหรือพระราชินีอังกฤษ โดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม โดยในการคัดเลือกเปิดรับให้ใครก็สมัครเข้ามาได้ แต่รัฐบาลอังกฤษจะเป็นคนให้คำแนะนำและคัดเลือก

ก่อนหน้าที่จะได้รับการแต่งตั้ง ในการแสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้า ส.ส.อังกฤษ นายริชาร์ด ชาร์ป เคยถูกถามว่า“ทำไมถึงสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานบีบีซี ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทางด้านสื่อ หรือ เป็นบรรณาธิการข่าวมาก่อน?”

นอกจากนี้เมื่อถามถึงที่มาของสายสัมพันธ์ทางการเมือง นายชาร์ปตอบว่า“เงินที่เขาบริจาคให้การกุศลนั้นคิดเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิดที่เขาบริจาคให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟของอังกฤษ”

และแล้ว ในที่สุดจากสายสัมพันธ์ และผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่มีการจ่ายกันก่อนหน้านี้เป็นเงินบริจาคให้พรรคคอนเซอร์เวทีฟ เรื่อยมาจนถึงการหาผู้ค้ำประกันเงินกู้เพื่อแก้ปัญหาการเงินส่วนตัวให้กับนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน ทำให้ในเดือนถัดมากุมภาพันธ์ 2564 นายริชาร์ด ชาร์ป ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานของบีบีซี มีระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง 4 ปีจนกระทั่งปี 2568 หรือ ค.ศ.2025 และในเดือนเดียวกันนั้นเองนายจอห์นสันก็ได้รับการอนุมัติเงินกู้จากผู้ให้กู้ที่ไม่ได้มีการเปิดเผยแหล่งเงินกู้ จำนวน 800,000 ปอนด์ตามที่เขาประสงค์


นายสนธิกล่าวว่า BBC โดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่สื่อสาธารณะ ไม่ใช่สื่อที่เป็นกลาง ไม่ใช่สื่อที่เป็นต้นแบบของวงการสื่อสารมวลชน เพราะเมื่อไปเปิดดูประวัติศาสตร์ ดูที่มาที่ไปแล้วก็จะเห็นว่า BBC นั้นเป็นแขนขา เป็นหน่วยงานปฏิบัติงานข่าวที่อังกฤษใช้เข้าไปแทรกแซงกิจการของประเทศต่างๆ เช่นเดียวกับสื่อของประเทศมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะ BBC World Service ที่เผยแพร่ออกไปเป็นภาษาต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงบีบีซีไทย (BBC Thai)ด้วย

สำหรับ BBC ย่อมาจาก British Broadcasting Corporation ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2465 (ค.ศ.1922) เป็นเจ้าของ “บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส” อีกที โดยเดิมทีบีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส นั้นมีชื่อ ว่า BBC Empire Service หรือบริการสื่อจากจักรวรรดิบริติช

พูดง่ายๆ BBC World Service ก็คือ เครื่องมือของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ในการใช้ “แนวรบด้านสื่อ-แนวรบด้านข้อมูลข่าวสารวัฒนธรรม” ที่ใช้จูงใจผู้คนซึ่งจริง ๆ แล้ว ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายต่างก็ทำ อย่างเช่น VOA (Voice of America) ของสหรัฐฯ , CRI (China Radio International) ของจีน , NHK (Nippon Hoso Kyokai) ของญี่ปุ่น ฯลฯ แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบในตามยุคสมัย เช่น ยุคสงครามเย็น ยุคหลังสงครามเย็น รวมไปถึงยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตามหัวใจของการทำสื่อของประเทศมหาอำนาจเหล่านี้ก็คือ การปกป้องและเอื้อผลประโยชน์ให้กับประเทศ หรือ แนวคิดของตัวเองมากที่สุด เพราะอย่างน้อย ๆ เงินที่ BBC เอามาจ้างพนักงาน 20,000 กว่าคน เอามาทำBBC World Serviceรวมถึงเอามาจ้างพนักงาน BBC Thaiด้วยก็คือ เงินที่มาจากกระเป๋าเงินของคนอังกฤษ เอามาจากค่าธรรมเนียมการดูโทรทัศน์ของคนอังกฤษ และในช่วงหลายปีหลัง คนอังกฤษเองก็มีความเห็นว่า เงินที่จ่ายให้ BBC นั้นชักจะไม่คุ้มค่าเสียแล้ว


เดือนมิถุนายน 2562 ตามรายงานของ Daily Express มีการสำรวจว่า BBC ใช้เงินจากค่าธรรมเนียมการรับชมโทรทัศน์ ที่เก็บจากคนอังกฤษปีละ 154.50 ปอนด์ หรือ ประมาณ 6,200 บาทต่อเครื่องรับชมทีวี 1 เครื่อง(ปัจจุบันค่าธรรมเนียมดังกล่าวขึ้นมาเป็น 159 ปอนด์ หรือ 6,500 บาท/เครื่องรับชมทีวี/ปี)โดยสำรวจคนอังกฤษจำนวน 18,134 คน ผลปรากฏว่า

คนอังกฤษ 96% หรือผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 17,235 คน บอกว่า ไม่คุ้มค่าเลยเงิน 6 พันกว่าบาท/ปีที่ต้องจ่ายเพื่ออุดหนุนการดำเนินงานของบีบีซีมีคนอังกฤษแค่ 4% หรือผู้ตอบแบบสำรวจเพียง 801 คน เท่านั้นที่บอกว่าคุ้มค่า

ทั้งนี้ ตั้งแต่อดีตหลายสิบปี จนถึงปี 2557 (ค.ศ.2014) นั้นกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ เป็นผู้ให้การสนับสนุนด้านการเงินแก่BBC World Serviceเพื่อใช้เป็นหัวหอกในการทิ่มแทง หรือ แทรกแซงกิจการของประเทศต่าง ๆ พอปี 2557 สมัยนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ก็โยนค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาให้ องค์กรบีบีซี แบกรับไป

จนกระทั่งทุกวันนี้ บีบีซีแบกรับค่าใช้จ่ายของBBC World Serviceจนหลังแอ่นถึงปีละกว่า 300 ล้านปอนด์ (ราว 12,200 ล้านบาท ส่วนอีก 100 ล้านปอนด์ หรือ ราว 4,000 กว่าล้านบาทกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษยังจ่ายอยู่)


จากเหตุนี้เองทำให้ในวันที่ 19 มกราคม 2566 นายริชาร์ด ชาร์ป ประธานใหญ่ของบีบีซี ผู้ตกเป็นข่าวอื้อฉาว ต้องออกมาขู่ว่า ถ้ารัฐบาลอังกฤษในยุคของนายริชี ซูนัค(ซึ่งนายซูนัคก็สนิทสนมกันดีกับนายริชาร์ด ชาร์ป) ยังปล่อยให้บีบีซีแบกรับค่าใช้จ่ายอย่างนี้ต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อบริการBBC World Serviceจนถึงขั้นอาจต้องหยุดให้บริการเลยทีเดียว ซึ่งนั่นจะทำให้ อังกฤษสูญเสีย Soft Power ในการชักนำสังคมโลกอย่างมิอาจกู้คืนได้


“ด้วยสถานการณ์และเหตุผลเช่นนี้เอง ทำให้บรรดาชาว BBC โดยเฉพาะอย่างยิ่ง BBC World Service รวมทั้งนักข่าวผู้ห้าวหาญทุกคนของ BBC ไทย เก่งกันนัก แต่ตอนนี้รูดซิปปาก ปิดปากเงียบ กระแอมกระไอหรือปริปากถึงเรื่องข่าวคราวความสัมพันธ์อันอื้อฉาวระหว่าง นายริชาร์ด ชาร์ป นายใหญ่ของตัวเอง กับการหาคนค้ำประกันเงินกู้นายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว

“ว่าอย่างไรล่ะครับ นักข่าว BBC ไทย ผู้ห้าวหาญ คุณห้าวหาญไม่ออกแล้วใช่ไหม แล้วคุณยอมรับหรือยังว่าคุณคือเครื่องมือของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ เป็นเครื่องมือดำเนินนโยบายออกข่าวในเชิงเป็นนโยบายที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษต้องการ คุณไม่อายบ้างหรือ พวกคนไทยที่รับเงินเดือนของ BBC ไทยอยู่ ถ้าเป็นผม ผมอายฉิบหายเลย” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น