xs
xsm
sm
md
lg

Exclusive! อธิบดีกรมการกงสุล “รุจ ธรรมมงคล” กับภารกิจเพื่อคนไทยทั้งในและนอกประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากกล่าวถึงการเริ่มต้นในเรื่องของทางการทูตเพื่อประชาชนแล้ว กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ถือว่าเป็นหน่วยงานสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่จะทำให้คนไทยได้ประสานกับนานาชาติ ครอบคลุมเกือบทุกเรื่อง เพื่อให้ชาวไทยได้เท่าทันและทัดเทียมนานาประเทศให้ไม่น้อยหน้าใคร

ปัจจุบัน รุจ ธรรมมงคล นั่งเก้าอี้อธิบดีกรมการกงสุลฯ พร้อมสืบทอดเจตนารมณ์ในการทำงานเพื่อคนไทยทุกคนทั้งในประเทศและนอกประเทศ ทั้งในด้านการบริการหนังสือเดินทาง ด้านนิติกรณ์ ด้านการช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ รวมทั้งอำนวยความสะดวกสำหรับคนไทยที่มีความจำเป็นต้องเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร...


อยากให้ท่านอธิบดีช่วยเล่าถึงการบริการหนังสือเดินทาง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันโดยสังเขปหน่อยครับ

ต้องย้อนหลังกลับไปหลายสิบปีมากเลย ตั้งแต่ที่ตั้งเราอยู่ตรงถนนพระราม 6 เป็นสมัยที่เข้าแถวต่อคิวยาวออกนอกถนนยาวมาก จนทำให้เกิดกระแสที่คนบ่นกัน แล้วก็หลังจากนั้น ทางกระทรวงฯ โดยทั้งท่านปลัด และ อธิบดีรุ่นก่อนๆ มีความจำเป็นที่จะต้องปฎิรูปทางกองหนังสือเดินทาง ให้จัดตั้งขึ้นมาเป็น กรมการกงสุล แทน ซึ่งทางกรมเอง มีทั้งกองหนังสือเดินทาง กองสัญชาตินิติกร ทำเรื่องทะเบียนราษฎร์ เชื่องโยงกับ กทม. แล้วก็มีกองตรวจดวงตา ทำเรื่องวีซ่าสำหรับคนต่างชาติเข้าไทย แล้วก็สุดท้ายก็คือ กองคุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ

ซึ่งในภาพรวมเนื้องานเราแบ่งเป็น 2 ด้าน ก็คือการให้บริการประชาชน ส่วนอีกด้านก็คือเป็นงานสานต่อ หรือร่วมงานกับหน่วยงานราชการอื่นๆ เช่น การเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เราก็ต้องประสานกับทาง กกต. หรือเรื่องทะเบียนราษฎร์ทั้งหลายแหล่ ก็ต้องประสานกับกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เขตต่างๆ หรือแม้แต่เรื่องวีซ่าตรวจดวงตราก็ต้องประสานกับทางตรวจคนเข้าเมือง หรือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย อะไรอย่างงี้ ลักษณะงานก็จะเป็นสองด้านตามที่บอก

แล้วพอเราย้ายมาอยู่ที่แจ้งวัฒนะ ที่เป็นหน่วยงานแรกๆ เพราะเรามองว่าสถานที่แห่งนี้สามารถรองรับประชาชนให้มาทำหนังสือเดินทางได้มากขึ้น จากนั้นก็เริ่มพัฒนามาเป็น E-Passport เมื่อประมาณ 26 ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ทำมาเรื่อยๆ เป็นเฟสต่างๆ เรื่อยๆ มา ก็พยายามพัฒนา โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาช่วย ในการที่เอื้อประโยชน์และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ว่าสมมุติถ้าเขามายื่นขอทำหนังสือเดินทาง แทนที่จะต่อคิวยาวๆ ก็สามารถจองออนไลน์ได้ในแต่ละวัน ว่าจองเพื่อนัดหมายมาทำ พอถึงวันนัดหมายปุ๊บ ก็มารับบัตรคิวและเข้าคิวได้เลย

ขณะที่คนที่เดินทางมาด้วยตัวเองปกติก็สามารถทำได้ด้วยเช่นกัน พอมาถึงตามลำดับคิวแล้ว ก็จะทำตามขั้นตอนต่างๆ เจ้าหน้าที่ก็ทำการเช็คประวัติซึ่งเดี๋ยวนี้แค่ใช้เพียงบัตรประชาชน ข้อมูลทุกอย่างก็ปรากฏขึ้นแล้ว ไม่ต้องมาทำการกรอกให้เสียเวลา มีเพียงแค่ถ่ายรูปและยืนยันตัวตน หลังจากนั้นก็ต้องแจ้งทางเราว่า มารับหนังสือเองหรือจะให้ทางเราส่งทางไปรษณีย์ ก็สามารถเลือกได้ และขั้นตอนสุดท้ายก็คือการชำระเงิน โดยกระบวนการในปัจจุบันนี้จะใช้เวลาแค่ 15 นาที ก็เสร็จแล้ว

ซึ่งคนที่เรารับในแต่ละวันจำนวนคนก็หลากหลาย โดยเฉพาะช่วงหลังปีใหม่ที่ผ่านมาจำนวนก็เฉลี่ยวันละประมาณ 2,000 คน แต่บางวันก็อาจจะน้อยกว่านั้น ซึ่งความจริง ประชาชนมีความต้องการเยอะ ทางเราก็ต้องกระจายไปตามศูนย์ต่างๆ ทั้งทั่วกรุงเทพฯและตามภูมิภาคต่างๆ จำนวน 27 แห่ง นอกจากนี้ก็มีสำนักงานสัญชาติและนิติกรซึ่งก็มีคนมาทำเรื่องแปลเอกสาร เรื่องสูจิบัตร และเอกสารอื่นๆ ก็เยอะมากขึ้นในส่วนนี้ก็มีการตั้งสำนักงานกระจายออกไปอีก 7 แห่ง อันนี้คือทำควบคู่กันเพื่อรองรับความต้องการของประชาชนทั้งหมด


แล้วขั้นตอนการดำเนินงานในปัจจุบันนี้มีความสะดวกสบายอย่างไรบ้างเมื่อเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา

ก็ฟังจากเสียงประชาชนเขาก็ชื่นชมกันเยอะนะเพราะว่า เมื่อก่อนจะมีการเข้าคิวที่นานมาก ก็จะมีพวกหน้าม้าที่ทำการวิ่งเอกสารแทนบุคคลจริง แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว เพราะว่ามันผ่านระบบออนไลน์มาเยอะ ถ้าเข้ามาเองก็มารับบัตรคิวตรงนี้ได้เลย กระบวนการก็ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างที่บอก เข้ามาช่วยรายการลดขั้นตอนไปได้เยอะ แค่เสียบบัตรประชาชนประวัติก็ออกมาแล้วไม่ต้องมาเสียเวลากรอก แค่มาถ่ายรูป อีกทั้งพาสปอร์ตรุ่นใหม่ ก็มีนวัตกรรมในเรื่องของโมโนแกรม ซึ่งก็มีเรื่องที่ให้แน่ใจว่าไม่สามารถทำการปลอมแปลงได้ ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อนที่อาจจะมีในเรื่องของการปลอมแปลง แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว เพราะทางเราได้ทำการพัฒนาในเรื่องนี้มาอยู่เรื่อยๆ


เรียกได้ว่า 26 ปีในการพัฒนาหนังสือเดินทางนั้น ก็มีการพัฒนาขึ้นอยู่เรื่อยๆ

ใช่ครับ เราก็ต้องหมุนไปตามโลก เพราะโลกในอดีตที่ผ่านมามันเป็นเรื่องของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ปฏิวัติในเรื่องของเทคโนโลยีสารสนเทศ กรมการกงสุลก็เป็นหน่วยงานแรกๆที่ทำเรื่องนี้มาปรับใช้ เพื่อประโยชน์ของประชาชน ก็ลดขั้นตอนกระบวนการราชการให้ลดลง อำนวยความสะดวก บริการประชาชนเป็นหลัก เขาจะได้เข้ามาใช้เวลาไม่นาน ซึ่งก่อนหน้านั้นการรับหนังสือเดินทางจากใช้เวลาหลายอาทิตย์ เดี๋ยวนี้เพียงแค่ 2-3 วันก็รับได้แล้ว ทั้งมีแบบเล่นปกติที่ใช้เวลาในการรอแค่ 3 วันก็ได้แล้ว หรือแบบทำวันนี้แล้วรอรับในวันรุ่งขึ้นก็มีซึ่งขั้นตอนหลักนี้อาจจะมีค่าใช้จ่ายหน่อย

อีกเรื่องก็คือทางเราก็มีการเปิดจุดรับทำหนังสือเดินทางตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ สถานีรถไฟฟ้า หรือตามต่างจังหวัดก็มี และทางเราก็พยายามทำการประชาสัมพันธ์ว่า คุณมาทำหนังสือเดินทางและสามารถจองคิวได้ ตามเว็บและระบบนี้ หรือทำการเข้ามาตามสถานที่แห่งนี้ แล้วโทรศัพท์สอบถามเข้ามาได้ อันนี้เราเพื่อประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน


แน่นอนว่าผลตอบรับในการบริการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยส่วนตัวคุณเองมองตรงนี้อย่างไรบ้าง

เราก็ไม่อยากจะหลงกับคำชมนะครับ พยายามที่จะไม่ประมาท อย่างผมเองก็ต้องมาดูตรวจตราคิวในแต่ละวันว่าเป็นอย่างไร หรืออยากบางวันที่มีผู้ทุพพลภาพมาทางเราก็มีการเตรียมลิฟท์ไว้ให้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทุกคน แล้วก็พยายามที่จะดูเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาว่า หนังสือพาสปอร์ตจะมีวิวัฒนาการอย่างไรต่อไป คือเวลาในตอนนี้มันเร็วมากพอสมควร เพียงแต่ว่าพยายามที่จะทำระบบให้นิ่ง แล้วเพิ่มระบบคิวออนไลน์ให้มีจำนวนมากขึ้น สมมุติว่าใน 1 วันเรากำหนดไว้ 200 คน เราก็จะพยายามขอเพิ่มคิวให้มากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จำนวนคนที่ขอคิวออนไลน์ น่าจะมากกว่าจำนวนคนที่ walk in เข้ามา แต่ก็ต้องดูความเสถียรของระบบด้วย

อย่างกรณีที่คนมาใช้บริการเยอะมากๆแล้วระบบมีปัญหา ทางเราก็ต้องแน่ใจด้วยว่าจะรองรับปัญหาในระบบนี้ด้วย เพราะคนรุ่นใหม่เราก็ต้องยอมรับว่า เขาพยายามที่จะติดกับโทรศัพท์มือถือเยอะ เราก็ต้องคิดไปข้างหน้าว่า สมมุติว่าถ้าเราทำแบบเบต้าเวิร์ส แล้วทำการส่งพาสปอร์ตทางไปรษณีย์ต่อไป จะเป็นไปได้หรือเปล่า หรือจะเป็นระบบพาสปอร์ตออนไลน์ที่ไม่ต้องถือเล่มจริง มันจะเป็นไปได้หรือเปล่า แต่ก็ต้องโยงไปกลับประเทศอื่นด้วย ถ้าประเทศอื่นไม่พร้อมเราก็ไม่สามารถรองรับอีพาสปอร์ตได้ มันก็ต้องดูจังหวะจะโคนให้ดีว่า สามารถใช้ได้จริงกับประเทศต่างๆที่เขารองรับเหมือนกันแล้ว อีกทั้งยังต้องอำนวยความสะดวกให้กับคนภายในประเทศด้วย


เรียกว่าเตรียมความพร้อมไปด้วย

ใช่ครับ เพราะถ้าดูในพาสปอร์ตเล่มใหม่ จะมีสัญลักษณ์ของประเทศ สถานที่สำคัญในแต่ละหน้าอย่างเช่น วัดอรุณฯ ก็จะช่วยดำรงไว้เอกลักษณ์ของความเป็นไทย อีกทั้งดีความยากที่จะปลอมแปลง อันนี้ต้องให้เครดิตท่านอธิบดีรุ่นก่อนๆ ที่เขาคิดทำกันขึ้นมา เรียกได้ว่าเตรียมรับเทคโนโลยีที่กำลังจะมาในอนาคตอีกครั้งต้องสำรวจ ความต้องการของประชาชนทั่วไปด้วยว่า ระบบที่วางอยู่ดีไหม ต้องการจะปรับปรุงในส่วนไหนบ้าง

ซึ่งนอกจากพาสปอร์ตของประชาชนแล้วก็มีพาสปอร์ตในส่วนของราชการด้วย มีของนักการทูตด้วยที่เราบริการ อีกทั้งพระสงฆ์ยังมีการมาทำพาสปอร์ตราชการก็มีเยอะมากขึ้น เพราะตอนนี้เราเปิดประเทศแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะมีการทำพาสปอร์ตที่ลดลง ตอนนี้คนก็มากันเยอะขึ้น จากนวัตกรรมคีออสที่เราให้บริการที่มาบุญครองลักษณะการทำงานก็คือเพียงแค่ไปที่ตู้ เสียบบัตรประชาชน คีย์ข้อมูลแล้วยืนยันตัวตน แล้วก็เลือกรูปถ่ายรูปเองด้วย ถ้ารูปนี้ไม่ชอบก็เปลี่ยนรูปใหม่ แล้วในการจ่ายเงินก็สามารถเลือกการจ่ายได้ว่าจะจ่ายเป็นบัตรเครดิตหรือเงินสด ก็สามารถเสียบบัตรจ่ายเงินได้เรียบร้อย เพียงแต่ว่าจะมารับเองหรือรอรับที่บ้าน มันก็เชื่อมโยงออนไลน์ได้กันหมด พอทุกอย่างเรียบร้อยเขาก็ส่งหนังสือเดินทางไปตามที่อยู่ที่ให้ไว้

เราก็พยายามที่จะทำตามหลักสากลเป็นหลัก อย่างประเทศส่วนใหญ่ในเรื่องการบริการหนังสือเดินทางว่าไปถึงไหนแล้ว อย่างประเทศไทยก็ถือว่าเป็นชั้นแนวหน้าในเรื่องนี้ก็ว่าได้ อย่างในเรื่องของการนำตู้คีออสมา ผมว่ามีไม่กี่ประเทศหรอกที่มีระบบแบบนี้ ถ้าภูมิภาคอาเซียน ผมถือว่าเราน่าจะนำหน้าประเทศอื่นด้วยซ้ำ นอกจากเรื่องพาสปอร์ตแล้วก็จะมีในเรื่องของการตรวจดวงตา เรื่องการทำวีซ่า ซึ่งทางสถานทูตและสถานกงสุลใหญ่ของไทยทั่วโลก 99 แห่ง เขาก็ต้องให้บริการเรื่องตรวจดวงตา เรื่อง Tourist Visa หรือว่าเรื่องธุรกิจ เรื่องการรักษาพยาบาล ก็ต้องดูว่าประเทศไหนมีความตกลงเรื่องการยกเว้นวีซ่า

หรือบางประเทศไม่มีความตกลงแต่เขาไม่ได้เตรียมการมา เขามาถึงสนามบินแล้ว ทางตมก็จัดการในเรื่อง Visa on Arrival ให้ แต่ในส่วนของสถานทูตหรือสถานกงสุล เมื่อก่อนชาวต่างชาติก็จะเดินทางมาในสถานที่เหล่านี้เอง กรอกแบบฟอร์มว่าจะไปเมืองไทย เมื่อไหร่อย่างไร มีหลักฐานตั๋วเครื่องบินให้ดู เราก็จะออกวีซ่าให้ หลังจากนั้นก็มารับอีก 5 วัน แต่หลังจากที่เราเริ่มระบบอี-วีซ่า ก็สามารถเข้าไปในระบบได้เลย กรอกข้อมูลว่าเขาจะเดินทางเมื่อไหร่ แล้วก็แนบตั๋วเครื่องบินมาให้เราดู พอทำการพิจารณาปุ๊บ คนนี้เป็นคนสัญชาตินี้นะ ทำการขอวีซ่ากี่วัน ใช้ในประเภทไหนอย่างไร พอเราอนุมัติเสร็จก็ส่งกลับไป เขาก็ถือใบนี้มาพร้อมตั๋วเครื่องบินไปสนามบินเลย ทำการชำระค่าบริการแบบออนไลน์ อันนี้ก็คืออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่กำลังจะเปิดประเทศมาไทย ทางหลายกระทรวงก็มาร่วมประชุมกัน ก็พยายามอำนวยความสะดวกในการเข้ามาประเทศ แล้วทาง ททท. ก็ชื่นชมเรามากในเรื่องอี-วีซ่า เพราะว่าบางคนก็จะขอมากขึ้น ซึ่งระบบนี้อย่างน้อย 1 วัน ก็รับได้ประมาณ 10,000 คน อย่างนักท่องเที่ยวจีน ถ้ามาขอวีซ่าไม่เกิน 10,000 คนต่อวันเราก็สามารถรองรับระบบได้สบายมาก อันนี้ก็พยายามปรับปรุงระบบเพื่อขยายการรองรับให้มากขึ้น


อย่างในเรื่องของนิติกรณ์ โดยภาพรวมในปัจจุบัน เป็นอย่างไรบ้างครับ

เรื่องนี้ถือว่ามีคนมาขอเป็นจำนวนเยอะขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเกิดมาตอนเช้าก็จะเห็นว่ามีคนมาขอเป็นจำนวนมาก ซึ่งในอดีตเราเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องของการอำนวยความสะดวกให้กับคนที่จะมาขอแปล ซึ่งทางเราได้เคยคุยกับทางกรมการปกครอง ว่าจะขอแบบ 2 ภาษา ทั้งในเรื่องของทะเบียนบ้าน บัตรประชาชน หรือเรื่องอื่นๆซึ่งผู้ร้องสามารถไปทำการขอที่เขตต่างๆได้ เสร็จแล้วก็มายื่นเรื่องให้เราประทับรับรองเอกสาร เราก็มีช่องให้ยื่นรับรอง พอจำนวนคนมามากขึ้น เราก็ทำการจัดระบบขอทางคิวออนไลน์เช่นกัน เป็น e-legalization จองคิวเข้ามาตามลำดับคิว หรือที่เรียกว่า e-consular ก็จะพยายามนำส่วนนี้เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวก ให้กับเอกสารของผู้ร้อง ซึ่งจำนวนผู้ร้องก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เอกสารที่มาขอก็จะเป็นเรื่องที่ว่ามา และมีในเรื่องของธุรกิจในเรื่องของความตกลง ซึ่งทางเขาก็มีแปลมาแล้วเราก็มารับรองในเรื่องการแปลอีกที อย่างเช่นหน่วยงานการบินไทย บริษัทปูนซิเมนต์ เขาจะใช้สัญญาเพื่อที่จะใช้กับต่างประเทศ เพื่อเป็นการรับรองว่าเป็นเอกสารที่ได้รับการรับรอง เขาก็จะมายื่นขอกับเรา เราก็ทำการตรวจเอกสารว่าถูกต้องไหมแล้วก็ประทับตรา ซึ่งเมื่อก่อนจะเป็นการปั๊มตรายางแต่เดี๋ยวนี้เป็นสติ๊กเกอร์ แบบโมโนแกรม ประทับตรงไปเพื่อที่เขาจะได้ใช้ประโยชน์ต่อ


แล้วปัญหาในเรื่องนี้ที่เจอบ่อยครั้ง คิดว่าเป็นเรื่องอะไรครับ

น่าจะเป็นเรื่องของการแปลที่ครบเกือบทุกอย่างแล้ว เพียงแต่นายทะเบียนไม่ได้เซ็นรับรองไว้ ซึ่งเขาก็ต้องวิ่งกลับไปที่สำนักงานเขต ทำให้พอกลับไปเซ็นรับรองแล้วก็ต้องวิ่งกลับมาที่นี่อีกรอบซึ่งถือว่าเป็นปัญหามาก ทางเราก็เลยแก้ปัญหาด้วยการขอรถเคลื่อนที่ของทางเขต มาไว้ที่นี่ แล้วผมก็ทำการขอกับทางผู้ว่ากรุงเทพฯ ว่าให้นายทะเบียนมาที่นี่บ้างได้หรือเปล่า อาทิตย์ละไม่กี่วันเพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน อันนี้ก็พยายามร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อที่จะอำนวยความสะดวก ซึ่งบางครั้งประชาชนก็ไม่รู้เหมือนเช่นเดียวกันว่ามีแบบระบบ 2 ภาษาแล้วด้วย เขาก็มาที่นี่เลยแต่ทางเราก็บอกให้กลับไปที่เขตเพื่อที่จะทำการขอเอกสารให้เรียบร้อยอีกครั้ง และนี่คือสาเหตุที่ทำให้มีรถตู้จากที่ว่ามา เพียงแค่ไปที่รถคันนี้ทำการขอเอกสารแล้วก็กลับมาที่เรา อันนี้คือสิ่งที่เราพยายามแก้ไขปัญหาให้

อีกเรื่องที่เจอ ก็คือเคสพ่อหรือแม่เป็นคนไทย กับอีกฝ่ายเป็นชาวต่างชาติ มันก็เข้าตามกฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยในเรื่องของสัญชาติ ที่ว่าสัญชาติแม่เป็นสัญชาติไทยลูกก็ถือสิทธิ์ที่ว่านั้น เราก็เวียนข้อมูลไปตามทุกสถานทูตและกงสุลทุกแห่งทั่วโลก แล้วก็มีระบบ e-online ที่คุยระหว่างเจ้าหน้าที่ด้วยกัน

หรือว่าเรื่องคนไทยที่มีปัญหาเรื่องนิติกรณ์ เรื่องตกทุกข์ได้ยาก เราก็มีระบบ e-help ซึ่งก็สามารถร้องเรียนได้อยู่แล้ว หรือในเรื่องของ WhatsApp Thai Consular ก็เข้ามาได้เลยว่า ข้อมูลเป็นอย่างไร Internet Call 24 ชั่วโมง ข้อมูลหนังสือเดินทางไทย คุ้มครองคนไทยในต่างประเทศ รวมถึงเรื่องนิติกรต่างๆที่เราว่ามาก่อนหน้านี้ด้วย


แน่นอนว่า ทุกปัญหาของคนไทยในต่างประเทศ ถือว่าครอบคลุมในทุกเรื่องด้วยมั้ยครับ

คนไทยในต่างประเทศที่ลงทะเบียนกับทางสถานทูตและสถานกงสุล มีประมาณ 1.4 ล้านคน แต่จริงๆเข้าใจว่าน่าจะมีมากกว่านี้ บางคนไปแล้วไม่ได้ลงทะเบียน หรือบางคนก็ไปกลับก็แล้วแต่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานไทย ที่ไปทำงานแบบถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านทางกระทรวงแรงงานและกรมการจัดหางาน ก็ไปจากประเทศเหล่านี้ ซึ่งแต่ละประเทศที่มีสถานทูตและสถานกงสุล เขาก็จะมีสำนักงานแรงงานให้ช่วยเหลือแรงงานไทยอยู่แล้ว แต่ก็มีคนไทยบางกลุ่ม เช่นนักศึกษาที่เขาไปเรียน เขาก็มาลงทะเบียนกับเรา หรือคนไทยที่แต่งงานกับคนชาตินั้นๆ ก็มาลงทะเบียนไว้ รวมทั้งคนไทยที่ออกไปข้างนอก เช่นแรงงานทำร้านนวดสปา หรือที่ทำงานร้านอาหารบางร้าน เขาไม่ได้แจ้งเราเขาไปของเขาเอง คุยกับทางนายหน้าหรือผู้รับจ้างในประเทศนั้นๆเอง แต่พอไปถึงที่นั่นถ้าเขาต้องการความช่วยเหลือเขาก็มาติดต่อที่สถานทูตไทย ซึ่งเราก็พยายามที่จะเอื้อช่องทางให้กับเขาว่าถ้าเกิดคุณมีปัญหาอะไร ก็แจ้งระบบ WhatsApp ที่ว่ามา

ซึ่งทางเราก็กำลังคิดในเรื่องของการทำ QR Code บนหน้าปกหนังสือเดินทาง ในกรณีที่ติดต่อเราหรือร้องเรียนผ่านทางเราได้ อย่างบางประเทศที่อยู่ไกลก็สามารถติดต่อมาทางออนไลน์ได้ ซึ่งถ้าเป็นแรงงานไทยก็จะให้สำนักงานแรงงานมาช่วยดูแล เช่นเรื่องเงินเดือนที่ไม่ได้ตามที่ว่าจ้างไว้ แต่หากเป็นแรงงานที่ไม่ได้มาแบบถูกต้องตามกฎหมาย ทางเราก็ช่วยดูแลให้ ในเรื่องการจ้างงาน ไปด้วยคุยกับนายจ้างว่าอย่างไรในแต่ละปัญหา อย่างบางทีผู้ตกทุกข์ได้ยาก เงินหมด ทางเราก็มีการกู้เงิน เซ็นสัญญากับทางสถานทูตสถานกงสุล ให้มาทำการกู้เป็นตั๋วเครื่องบินกลับไทย เราก็ออกเงินให้ก่อน พอมาถึงเมืองไทยปุ๊บ มีเงินก็ชดใช้คืน ซึ่งก็มีการทั้งชดใช้คืนและเบี้ยว (หัวเราะเบาๆ) คือในภารกิจของเราไม่ว่าคนไทยจะอยู่ที่ไหน เราก็ดูแลรับผิดชอบอยู่แล้วทุกที่ทุกแห่งนะครับ


แล้วปัญหาที่เจอบ่อยในการช่วยเหลือคนไทยในต่างแดนที่สุดละครับ

น่าจะเป็นเรื่องของนายจ้างผิดสัญญาหรือถูกหลอกไปทำงานแล้วไม่ได้รับเงิน ซึ่งสมัยก่อนก็จะมีเคสของประเทศลิเบีย ที่คนงานไทยไปเยอะ ปรากฏว่าไปแล้วถูกปล่อยลอยแพก็มี หรือเกิดภาวะสงครามก็มี กรณีเกิดภัยพิบัติ เราก็ต้องทำแผนอพยพคนไทย จากประเทศนั้นมาประเทศนี้ อันนี้ก็ต้องประสานกับหลายหน่วยงาน ทั้งทางด้านทหารอากาศ การบินไทย ทาง ตม. กระทรวงแรงงาน ซึ่งในปัจจุบันเราต้องเตรียมตัวไว้ให้ดี เพราะสถานการณ์ในโลกปัจจุบันมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงไปเยอะ อย่างสงครามรัสเซียยูเครนที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด เรื่องสภาวะเงินเฟ้อหรือเรื่องเทคโนโลยีทั้งหลายมันก็เป็นตัวเร่ง ให้สภาพแวดล้อมทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศมันเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ อย่างเช่นเรื่องของแผนอพยพคนไทย บางที่เราต้องเรียกหน่วยงานไทยมาประชุม ดูว่าประเทศไหนเป็น Hotspot แผนอพยพที่มีมันใช้ได้ไหม ใช้ไม่ได้มันต้องแก้ไขเรื่องนี้ยังไง ถ้าใช้อย่างนี้ไม่ได้ใช้แผนนี้ได้ไหม ต้องมีการเตรียมเป็นขั้นตอน


ในเรื่องการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่ผ่านๆ มา คนไทยมีการตื่นตัวในแต่ละครั้งอย่างไรบ้างครับ

ในอดีตที่ผ่านมาคนไทยก็มีการใช้สิทธิ์เลือกตั้งอยู่พอสมควร เพราะทางเรามีการประชาสัมพันธ์ไว้ล่วงหน้า อย่างคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงของประเทศต่างๆ เขาสามารถมาได้อยู่แล้ว เพราะทางสถานทูตและสถานกงสุลของประเทศต่างๆมีการติดต่อในชุมชนคนไทยอยู่เสมอๆ ซึ่งทางเราก็มีกิจกรรมร่วมกับทางชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวัฒนธรรม งานสงกรานต์ งานทางด้านศาสนา หรือแม้กระทั่งงานฟู้ดแฟร์ และ เทศกาลไทยเฟสติวัล ก็มี อยางชุมชนไทยในต่างประเทศ ทางเราก็มีความร่วมมือที่ดีต่อกันมา

อย่างเวลามีการเลือกตั้งเราก็อาศัยทางชุมชน ในการป่าวประกาศออกไปว่า เราจะทำการจัดเลือกตั้งในวันนี้วันนี้นะ ก็ฝากให้เขาบอกปากต่อปากไป มีการประชาสัมพันธ์ทางสื่อออนไลน์หรือท่านพูดในแต่ละประเทศถ้าเจอคนไทยที่ไหนก็จะมีการบอกกล่าวกับพวกเขา เป็นการเลือกตั้งแบบไหนจะเป็นการส่งไปรษณีย์หรือส่งแบบคูหา ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้แบบหลังเพราะกำหนดวันเลือกตั้งก่อนที่เมืองไทย เพราะบัตรที่ใช้ในการเลือกตั้งก็ต้องมีการส่งมานับคะแนนกันที่เมืองไทยให้ทันกับการเลือกตั้งที่นี่ ที่ผ่านมาก็ลุล่วงไปด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไรในทุกแห่ง ซึ่งทางกกต. ก็จะมีการประกาศว่าให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ เสร็จแล้วก็จะมีการประชุมกับทางกกตว่า จะให้มีการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรเมื่อไหร่ แล้วทาง กกต. ก็จะมีการจัดหาคูหา บัตรลงคะแนน กล่องที่ใส่บัตรลงคะแนน แล้วก็จัดส่งไปให้สถานทูตและสถานกงสุลทั่วโลก เพื่อจัดตั้งคูหาในบริเวณสถานทูตในประเทศนั้นๆ ซึ่งทางสถานทูตก็จะทำการกำหนดวันว่า จะให้คนไทยในประเทศนั้นๆมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อไหร่ แล้วก็วิธีการใช้สิทธิ์วิธีการเข้าคูหาเลือกตั้ง เป็นยังไงก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์ควบคู่กันไป

อย่างการเลือกตั้งแต่ละครั้งต้องมีข้อมูลว่ามีพรรคการเมืองเท่าไหร่ ซึ่งก่อนหน้านั้นจะต้องมาดูก่อนว่าตัวเองมีสิทธิ์เลือกตั้งหรือเปล่า เพราะจะต้องมีการไปลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ถ้ามีการใช้สิทธิ์ เอกสารที่ว่าก็มีการส่งไปประเทศต่างๆ เขาก็จะติดบอร์ดที่สถานทูตว่าผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีรายชื่อดังนี้ อันนี้ให้ทางเขาสามารถดูบนเว็บไซต์ล่วงหน้าได้ หรือว่าจะมาดูตามบอร์ดที่สถานทูตก็ได้


อย่างการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาในเร็วๆ นี้ มีการวางแผนและเตรียมตัวอย่างไรบ้างครับ

เราประชุมกับทางกกต. สม่ำเสมอ ในวิธีการเตรียมการเลือกตั้ง แล้วก็กำหนดวันในกรณีที่กกตสามารถส่งพวกคูหา บัตรลงคะแนนแล้วก็อุปกรณ์สำหรับเลือกตั้ง ให้เราล่วงหน้าก่อน เพื่อให้สถานที่ต่างๆได้มีการเตรียมความพร้อมไว้ ซึ่งนอกจากจะประชุมกับทางกกตแล้ว เราก็มีการประชุมออนไลน์คุยกับทางเจ้าหน้าที่กงสุลและสถานทูตทั่วโลกแล้ว 2 ครั้ง อย่างครั้งแรกจะคุยในเรื่องของแนวโน้มว่าจะมีการเลือกตั้งในช่วงนี้นะ จะมีการเตรียมขั้นตอนอย่างไรบ้าง หรือในครั้งที่ 2 ก็จะมีการลงในรายละเอียดว่า วิธีขั้นตอนในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง หรือในเรื่องของการส่งบัตรเลือกตั้ง มันควรจะออกไปในรูปแบบไหน เพราะตอนนี้เรากำลังคิดระบบหนึ่ง คือ oversea election monitoring system เป็นระบบออนไลน์ที่จะให้เจ้าหน้าที่กงสุลที่ดูแลในเรื่องการเลือกตั้ง กำหนดไว้เลยว่า แนวปฏิบัติในการดำเนินการจัดการเลือกตั้งมีอะไรบ้าง การแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำสถานทูต มีคำสั่งจากทูตแต่งตั้งกรรมการ วิธีการประกาศการเลือกตั้ง วิธีการตั้งคูหาเลือกตั้ง มันจะบอกไว้เลยแล้วก็เพิ่มความเห็นในระบบออนไลน์ ซึ่งทางเราก็มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องระบบนี้ไว้แล้ว เพื่อดูภาพรวมทั้งหมด แล้วก็จะมีการบอกด้วยว่า ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันที่แล้ว มีการส่งบัตรเลือกตั้งมาให้แล้ว ด้วยเที่ยวบินนี้ มันก็จะบอกในระบบ ซึ่งสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ไปทั่วโลกว่ามีการจัดการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อไหร่ จัดส่งของมาแล้วเมื่อไหร่ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ


อันนี้คือจากการแก้ปัญหาที่ผ่านๆ มา ด้วยมั้ยครับ

ครั้งที่ผ่านมามีปัญหาแค่เรื่องเดียวคือส่งบัตรล่าช้าที่นิวซีแลนด์ ถึงต้องมีระบบนี้ขึ้นมาควบคุม แล้วก็ต้องย้ำกับเจ้าหน้าที่ด้วยว่า เวลาที่คุณส่งมาเลือกตั้งมา คุณต้องแน่ใจว่าเครื่องบินที่รับไปเขาสมบัติเลือกตั้งมาจริง หรือบางประเทศที่อยู่ไกลมาก ก็อาจจะให้ถึงขั้นเจ้าหน้าที่นำบัตรมาเองด้วยซ้ำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพความรวดเร็ว กำลังศึกษาตรงนี้ด้วยเช่นกัน


จากที่เราคุยมาทั้งหมด คิดว่าโดยภาพรวมของกรมการกงสุล จะไปในทิศทางอย่างไรต่อจากนี้ครับ

(นิ่งคิด) หลักๆ ของทางกรมเองก็คือเป็นการบริการประชาชน เป็นงานที่จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เป็นพันธมิตรกับเราในตามกรอบงานที่มีอยู่ ต้องมีความกระชับและจับมือให้อุ่นกับหน่วยงานดังกล่าว ขนาดเดียวกันทางผมเองก็ต้องดูด้วยว่าสภาพแวดล้อมบริบทที่เปลี่ยนไปมากขึ้นอาจจะต้องทำอะไรที่มากกว่าเดิม ยกตัวอย่างเช่น คนไทยถูกหลอกไปทำงาน call center ที่ประเทศเพื่อนบ้าน บางที่เราได้รับเรื่องแล้วก็ส่งไปที่หัวหน้าสำนักหนังสือเดินทางตรงจังหวัดใกล้ๆ เข้าไปช่วยอำนวยความสะดวก หรืออย่างกรณีไฟไหม้ที่ปอยเปต ประเทศกัมพูชา เราก็ให้หัวหน้าสำนักหนังสือเดินทาง จันทบุรี ขับรถไปดูคนบาดเจ็บและอำนวยความสะดวกที่นั่น ขณะเดียวกันก็ต้องประสานงานกับสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ซึ่งก็มีการส่งเจ้าหน้าที่บินมาจากที่นั่นเหมือนกัน มาอำนวยความสะดวกในเรื่องของหนังสือเดินทาง อย่างไฟไหม้หนังสือเดินทางในที่เกิดเหตุก็ต้องมาออกหนังสือเดินทางชั่วคราว สำหรับที่จะเข้าเดินทางเข้ามาในประเทศ ซึ่งเป็นการให้บริการที่เราให้เต็มที่ ผมก็จะไปเจอพวกมูลนิธิต่างๆ ที่เขาช่วยดูแลเรื่องนี้ด้วย ว่าเราจะร่วมมือกันยังไงให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ปัญหาเหล่านี้ก็เกิดขึ้นทั้งต้นทางและปลายทาง ตำรวจก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือเช่นเดียวกัน

คือมันจะมีทั้งเรื่องปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว ได้รับการแก้ไขในหลายเรื่องแล้ว และมีปัญหาที่จะเกิดขึ้นใหม่ เพราะทั้งสภาพสังคมและโลกที่เปลี่ยนไปเยอะ โลกที่มีความผันผวนปรวญแปร อะไรก็เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โลกที่มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มากจนกระทั่งเกินกว่าที่คนจะรับได้ หรือแม้กระทั่งเรื่อง AI หุ่นยนต์ที่จะเข้ามา เราก็ต้องติดตามเรื่องนี้ โดยทางกรมที่มีผม ก็ต้องทำหน้าที่เรดาร์สกรีน มาดูปัญหาว่าจุดนี้มีปัญหานะ ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง หรืออันนี้จะมีปัญหาเกิดขึ้นเราก็ต้องประชุมทีมงาน เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น ซึ่งคิดว่าเป็นหน้าที่ปัจจุบันที่จะต้องคำนึงถึงมากๆ เพราะเรื่องหลักๆเช่นเรื่องพาสปอร์ต เรื่องวีซ่า หรือเรื่องอื่นๆ เราใช้เทคโนโลยีในเรื่องอีทั้งหลายแหล่ ทำการวางระบบไว้แน่นหนาพอสมควรแล้ว ส่วนที่เหลือก็จะเป็นเรื่องที่นอกเหนือจากที่เราทำหลักๆอยู่ ซึ่งมันอาจจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ต้องก้าวออกไปสู่สังคมคุยกับหน่วยงานต่างๆ มากขึ้น จากสิ่งเดิมที่ทำอยู่ ขนาดที่ตัวอธิบดีเองก็ต้องมาดูแลในเรื่องการตั้งแถวของการทำพาสปอร์ตด้วยตัวเองจริงๆ ไม่ใช่นั่งที่โต๊ะแล้วคอยสั่งการอย่างเดียว ก็ต้องมีการคุยกับทีมงาน คอยสอบถามว่าจะคอยแก้ปัญหายังไง ก็ไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ตลอดหรอกครับ (ยิ้ม)

เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : นันทิภาคย์ กิตติคุณปกรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น