นับแต่จำความได้ จิตสำนึกของการเป็นนักอนุรักษ์ รักธรรมชาติ ก่อเกิดขึ้นในหัวใจของเด็กน้อยเมื่อวันนั้น ผ่านถ้อยความและการกระทำอันงดงามของผู้เป็นมารดา กระทั่งเติบใหญ่ เรียนมหาวิทยาลัย และจบมามีอาชีพการงานอันมั่นคง เขาก็ยังคงสำรวจธรรมชาติ เดินป่า ดูนก เชื่อมโยงตนเองกับผืนไพร ชำนาญในการดูนก กระทั่งสามารถสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับนกในแต่ละพื้นที่ ว่าส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างไร
เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา’ มีการจัดกิจกรรม Bird Walk, Bird Talk รวมทั้งทำงานด้านการสำรวจข้อมูลประชากรนก จัดทำบันทึกไว้อย่างเป็นระบบ
ในพื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ บนที่ดินชุ่มน้ำกว่า 80 ไร่ ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเขาซื้อไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ปรากฏนกที่เคยสูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้นานไม่น้อยกว่า 130 ปี อย่าง ‘นกพงปากยาว’ ( Large-billed Reed Warbler )
รวมทั้งนกในพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ อาทิ เหยี่ยว และนกหายาก จากการสำรวจพบว่า มีนก 230 ชนิด อยู่ในพื้นที่ 80 กว่าไร่นี้ มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ รวมทั้งนกที่สวยงามอย่าง ‘นกเขนคอไฟ’ ซึ่งอยู่ที่เทือกเขาหิมาลัยในจีน แถวเสฉวน ฤดูอพยพออกจากแหล่งที่วางไข่ที่ภูเขาหิมาลัยนั้น จะไม่มีใครรู้เลยว่าไปอยู่ที่ไหน กระทั่งมาพบเจอ ณ พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ โดยจะมาอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว ก่อนจะบินกลับไปสู่หิมาลัยในช่วงฤดูร้อนหรือฤดูฝน ยังมีอีก 2 ชนิดที่ถูกค้นพบ คือ ‘นกกระจิ๊ดชิฟแชฟ’ (Common Chiffchaff) และอีกชนิดคือ ‘นกกระจ้อยอกลายจุด’ (Spotted Bush Warbler) ซึ่งอพยพมาจากทางตอนเหนือของทวีปเอเชียเช่นกัน
บางคนอาจมองเขาเป็นนักเคลื่อนไหว นักอนุรักษ์ ปกป้องธรรมชาติ โดยเฉพาะในเหตุการณ์เมื่อครั้งช่วงริเริ่มก่อตั้ง ‘ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา’ เขาเคยเคลื่อนไหวคัดค้านการจัดประกวด ‘นกปิ๊ดจะลิว’ ในเชียงใหม่ จึงตระหนักว่า วงการนี้ ข่มขู่กันรุนแรงมาก เนื่องจากโรงพยาบาลที่เขาทำงานอยู่ โดนขู่วางระเบิด เป็นอีกสถานการณ์ที่ทำให้เขาตระหนักว่ามีผลประโยชน์มากมายมาเกี่ยวพัน กระนั้นก็ตาม จุดยืนของเขาในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่เคยเปลี่ยนแปลงหรือลดน้อยลงแม้แต่น้อย
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์’ อาจารย์แพทย์โรคหัวใจศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีอีกบทบาทสำคัญคือการเป็นนักสำรวจธรรมชาติ
เดินป่า ดูนก ผ่านบทสนทนาในหลายประเด็น ที่ล้วนฉายให้เห็นภาพความรักที่ชายคนนี้มีต่อธรรมชาติ เฉียบคมในการวิเคราะห์ประเด็นปัญหาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ทั้งอุทิศพื้นที่ชุ่มน้ำกว่า 80 ไร่ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งกลายเป็นหมุดหมายปลายทางของคนรักนก และเป็นอาณาสถานที่นกมากมายหลายสายพันธุ์โบยบินมาพำนัก แม้กระทั่งนกที่สูญหายไปจากโลกใบนี้มากว่า 130 ปี ราวกับที่แห่งนี้เป็น ‘โอเอซิสแห่งพงไพร’ ก็มิปาน
พื้นที่อนุรักษ์และการกลับคืนมาของนกที่เคยสูญพันธุ์ไปนานกว่า 130 ปี
เริ่มบทสนทนาด้วยการขอให้ นพ.รังสฤษฎ์ ช่วยเล่าถึงพื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ บนที่ดินชุ่มน้ำกว่า 80 ไร่ ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ว่าพื้นที่ 80 กว่าไร่ที่คุณซื้อไว้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
นพ.รังสฤษฎ์ ตอบอย่างตรงไปตรงมาพร้อมเสียงหัวเราะอารมณ์ดีว่า ปัจจุบันไม่ค่อยมีเวลาไปดูแลมากนัก “ที่มาที่ไปของพื้นที่นี้ก็คือ ผมได้มีโอกาสเดินทางท่องเที่ยวหลายแห่งทั่วโลก ทั้งที่ตอนไปเรียนอยู่ที่อังกฤษด้วย ก็ได้เห็นว่าในต่างประเทศ เขามีการเก็บรักษาพื้นที่ธรรมชาติเอาไว้ โดยที่ไม่ได้เป็นหน่วยงานรัฐ ขณะที่ในประเทศเรา อาจจะคุ้นชินว่าต้องเป็นพื้นที่หน่วยงานรัฐเช่น กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่ของต่างประเทศนั้น มีทั้งเอกชน หรือ NGO (Non-Governmental Organizationsองค์กรพัฒนาเอกชน ) ต่างๆ จะเก็บพื้นที่ไว้ให้กับธรรมชาติ เช่นที่อังกฤษ ก็มีเป็นกองทุน เป็นมูลนิธิ ซึ่งแนวคิดนี้ของบ้านเราไม่ค่อยมี
"ขณะที่ในประเทศเขา ผู้ที่เสียชีวิตก็มักยกมรดกให้กับมูลนิธิเหล่านี้ เพื่อเก็บพื้นที่ธรรมชาติเอาไว้ ไม่ได้หมายถึงป่าเท่านั้นนะครับ มีพื้นที่ธรรมชาติที่หลากหลายชนิดเลยครับที่ถูกคุกคาม ซึ่งพื้นที่ที่ถูกคุกคามมากที่สุดประเภทหนึ่ง คือ พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Wetlands ซึ่งถูกทำลายอย่างมาก ถมที่บ้าง ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นพื้นที่เกษตรบ้าง ดังนั้น พื้นที่ชุ่มน้ำ จึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสูงมาก
“เมื่อพื้นที่ดังกล่าวถูกทำลายจึงทำให้สัตว์และพืชหลายชนิดสูญพันธ์ไปด้วย ผมเองมีความชอบพื้นที่ชุ่มน้ำ เวลาที่เราไปเดินบรรยากาศเช้าๆ หรือตอนเย็นๆ มีลมโชยพัดมา มีนกมีสัตว์ต่างๆ ให้เราดูเยอะ ผมรู้สึกว่าบ้านเราขาดสิ่งเหล่านี้ ก็ปรึกษาคุณแม่ ตอนที่คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่ ว่าบ้านเราน่าจะมีอย่างนี้บ้างนะ เมื่อคุณแม่เสียชีวิต คุณแม่ก็ได้เขียนไว้ในพินัยกรรมว่าให้เงินส่วนหนึ่งให้ผมไปทำตามความฝันนี้ ก็เลยเป็นที่มาที่ทำให้ได้ไปหาพื้นที่ตรงนี้ ซึ่งก็อยู่ห่างไกลชุมชนพอสมควร เมื่อก่อนเป็นที่นา เราก็ฟื้นให้กลับมาเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามธรรมชาติ ป้องกันไม่ให้มีการรบกวนจากข้างนอก และหยุดการล่า เพื่อให้มีการฟื้นฟูตามสภาพธรรมชาติ เราทำการฟื้นฟูและติดตามว่ามีนก มีสัตว์อะไรกลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้บ้าง” นพ.รังสฤษฎ์ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
มีการทำทางเดินศึกษาธรรมชาติในพื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ เพื่อให้คนเข้ามาศึกษา
จริงอยู่ ไม่อาจปฏิเสธว่าคนส่วนใหญ่อาจมองข้ามพื้นที่นี้ อาจมองว่าเป็นที่รกร้างว่างเปล่าในสายตาผู้บริหารประเทศหรือกลุ่ม Technocrat หรือผู้ที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจเป็นหลัก อาจจะมองว่าเป็นพื้นที่รกร้าง ไม่เกิดประโยชน์ แต่จริงๆ แล้วข้างในพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งนี้ เต็มไปด้วยอะไรมากมายที่พวกเขามองไม่เห็น
“หลังจากที่เราทำพื้นที่นี้ นกก็กลับมาเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเป็ดน้ำ นกในพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ เหยี่ยว และนกต่างๆ เราก็เก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ นกที่เราเก็บข้อมูล ในพื้นที่ ตอนนี้มี 230 ชนิดที่อยู่ในพื้นที่ 80 กว่าไร่ มีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ
"นกที่ทำให้เราตื่นเต้นมากที่ได้เจอคือนกที่สูญพันธุ์ไปจากโลกนี้มากกว่า 130 ปีมาแล้ว ก็มาพบเจออยู่ในพื้นที่ของผม เป็น ‘นกพงปากยาว’ ( Large-billed Reed Warbler ) ที่หายไปจากโลกนี้ ไม่เคยมีใครพบเจอเลย ตลอด 130 กว่าปีที่ผ่านมา แล้วก็มาเจอที่พื้นที่ผม และยังเจอนกชนิดใหม่ ของประเทศไทย อีก 3-4 ชนิดด้วยครับ
“นกที่สวยมากๆ คือ ‘นกเขนคอไฟ’ ซึ่งอยู่ที่เทือกเขาหิมาลัยในจีน แถวเสฉวน ฤดูที่เขาอพยพออกจากแหล่งที่วางไข่ที่ภูเขาหิมาลัยนั้น จะไม่มีใครรู้เลยครับเขาว่าไปอยู่ที่ไหน กระทั่งมาพบเจอที่พื้นที่ผมนี่แหละครับ มันชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีต้นแขม มีป่าแขมอยู่เยอะๆ นกชนิดนี้ก็จะมาอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว ก่อนที่มันจะบินกลับไปสู่หิมาลัยในช่วงฤดูร้อนหรือหน้าฝนที่จะมาถึง
อีก 2 ชนิดที่พบ ก็จะมี ‘นกกระจิ๊ดชิฟแชฟ’ มีที่มาจากชื่อ ‘Chiff Chaff’ (Common Chiffchaff) และอีกชนิดคือ ‘นกกระจ้อยอกลายจุด’ (Spotted Bush Warbler) ซึ่งอพยพมาจากทางตอนเหนือของทวีป มันเป็นนกที่มุดอยู่ในโพรงทำให้คนไม่ค่อยเห็น มาจากตอนเหนือของทวีปเอเชีย” นพ.รังสฤษฎ์บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ
ถามว่าหากคนทั่วไป สนใจอยากไปชมนกในพื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำของคุณ ต้องทำอย่างไรบ้าง
นพ.รังสฤษฎ์ตอบว่า โดยปกติ พื้นที่ดังกล่าวเปิดเป็นสาธารณะอยู่แล้ว เพียงในช่วงหลังวิกฤติโควิด-19 มานี้ หากสนใจเข้ามาชม อาจจะแจ้งให้ทีมงานทราบ ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ‘พื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ Nam Kham Nature Reserve’ เพราะนกในป่าแขมเป็นที่ที่มีดงแขมขึ้นรก หากไปเดินดูตามลำพังอาจจะไม่ค่อยเห็นนก เพราะหากต้องการดูนก ต้องไปนั่งเฝ้า แบบที่เรียกว่า ‘บังไพร’ คือเราต้องไปนั่งรอให้นกมาเล่นน้ำ เราไปดูอย่างนั้น ซึ่งบางครั้งการบังไพร อาจจะมีคนรออยู่เต็มแล้ว เมื่อมีคนมาเยอะ ก็อาจจะต้องมีการจัดลำดับคิว ด้วยเหตุนั้น การเข้าไปแจ้งทีมงานไว้ในเพจ ‘พื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ Nam Kham Nature Reserve’ จึงสามารถช่วยให้คำแนะนำในการชมนกได้
ถามว่า นกพงปากยาว ( Large-billed Reed Warbler ) ที่สูญพันธุ์ไปจากโลกมากกว่า 130 ปี แล้วพบอีกครั้งในพื้นที่ของคุณ รวมทั้งจำนวนนกชนิดต่างๆ ที่มากกว่า 230 ชนิด นั่นย่อมหมายความว่านักวิจัย หรือนักอนุรักษ์จากต่างชาติต้องมาเยือนที่ของคุณ
นพ.รังสฤษฎ์ตอบว่า “ใช่ครับ เราทำงานร่วมกันอยู่แล้วครับ พื้นที่เราเจอนกเยอะ จำนวนหนึ่งนั้น เราต้องใช้การดักตาข่าย พูดอย่างนี้อาจฟังดูเหมือนใจร้ายใช่ไหมครับ แต่เราทำโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ คือใช้ตาข่ายพิเศษ และเราต้องเช็คทุกสิบนาที คนที่ทำต้อง certified มีการ Training มาเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้นกบาดเจ็บ ทำเช่นนี้เพื่อศึกษาการอพยพ ติดห่วงขาให้นก เพื่อดูการเดินทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำกันทั้งโลก
"พื้นที่เราก็เป็นจุดหนึ่งในการทำวิจัยนี้ครับ มีชาวต่างชาติอย่างคุณ Philip D. Round ( ฟิลิป ดี ราวด์. Associate Professor อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ) คุณ แอนดรูว์ เจ เพียร์ซ ( Andrew J. Pierce ผู้เชี่ยวชาญห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ มจธ.) แล้วก็มีนักวิจัยจากต่างประเทศมาด้วย จึงมีการวิจัย เก็บข้อมูลแบบนี้เป็นช่วงๆ ในพื้นที่ครับ” คุณหมอนักอนุรักษ์ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า การวิจัยอาจหายไปในห้วงวิกฤติโควิด-19 และตอนนี้ พื้นที่มีปัญหาคือป่าแขมโตเกินไป ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำทึบเกินไป แสงส่องไม่ถึง แมลงมาน้อยลง นกก็น้อยลง ซึ่งคุณหมอเองก็วุ่นๆ กับชีวิตส่วนอื่นๆ
“คงต้องรอเกษียณนะครับ ผมถึงจะได้ไปดูแลจริงจัง ( หัวเราะ ) เพื่อทำให้ดีกว่านั้น ก็ไม่นานครับ อีก 3-4 ปี” นพ.รังสฤษฎ์ระบุ
ร่วมก่อตั้งและให้กำเนิด ‘ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา’
ไม่เพียงพื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ แต่ นพ.รังสฤษฎ์ ยังก่อตั้ง ‘ชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา’ด้วย สอบถามว่าชมรมนี้มีความเป็นมาอย่างไร
นพ.รังสฤษฎ์ตอบว่า “เดิม ผมเป็นคนกรุงเทพ เรียนจบหมอแล้วก็ไปใช้ทุนอยู่ที่ อ.ด่านซ้าย จังหวัดเลย แล้วกลับมาเรียนต่อเป็นอายุรแพทย์ เมื่อจบอายุรแพทย์จากรามาธิบดี ผมก็คิดว่าพอแล้ว อยู่กรุงเทพไม่ไหวแล้ว ก็คิดว่าจะย้ายมาที่เชียงใหม่ เพราะคุณแม่ผมท่านก็ทำงานด้านการฟื้นฟูป่าอยู่ที่เชียงใหม่อยู่แล้วครับ และคุณยายก็มีบ้านทางนี้ ผมจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ผมก็ได้รู้จักกับเพื่อนๆ ที่เขาดูนกอยู่แล้ว 4-5 คน ซึ่งตอนนั้นเป็นกลุ่มดูนกกลุ่มเล็กๆ
“กระทั่ง มีช่วงที่ผมไปเรียนต่างประเทศ เมื่อกลับมาก็พบปัญหาว่า มีคนมาจับนกในพื้นที่เชียงใหม่เยอะมาก นั่นคือ ‘นกปรอดหัวโขน’ ที่คนอาจจะคุ้นเคยในชื่อ ‘นกกรงหัวจุก’ แต่นั่น เป็นชื่อที่อัปมงคลสำหรับผมนะครับ เพราะนกไม่ควรอยู่ในกรง ไม่ควรเกิดมาแล้วมีชื่อว่าอยู่ในกรงเลย ชื่อทางการคือนกปรอดหัวโขน ทางเหนือเราเรียกว่า ‘นกปิ๊ดจะลิว’ ครับ ตามเสียงร้องของเขา
“นกชนิดนี้เป็นที่นิยมมากในการเลี้ยง โดยเฉพาะทางใต้ นกชนิดนี้โดนจับไปจากธรรมชาติจนหมด คนก็ตามขึ้นมาจับจากทางเหนือ ซึ่งปิ๊ดจะลิว จะมีอยู่เต็มเชียงใหม่เลยครับ แต่แล้ว ช่วง 2-3 ปีนั้น หายไป 80-90% หายไปเยอะมาก
"นอกจากนั้น ทางจังหวัดก็จะจัดประกวด ซึ่งผิดกฎหมาย เพราะเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง เราก็เลยรวมตัวก่อตั้งชมรมขึ้นมาแบบเฉพาะกิจ เพื่อเคลื่อนไหวเรื่องนี้ จำได้ว่าเป็นวันที่ 9 เดือน 9 ปี 1999 ชมรมก็ก่อตั้งขึ้นมา หลังจากเคลื่อนไหวเรื่องในเรื่องนี้ไปแล้ว ผมก็เพิ่งรู้ว่าวงการนี้ เขาเล่นกันรุนแรงมาก ช่วงนั้นผม พยายามไม่ให้มีการจัดประกวดนกชนิดนี้ในเชียงใหม่ ปรากฏว่า ที่โรงพยาบาลโดนขู่วางระเบิด ตำรวจขึ้นมาที่ทำงานผมเต็มไปหมด คือเขาไม่ได้วางจริงๆ เขาแค่ขู่ แต่เราก็รู้สึกว่า ‘โอโฮ! เล่นกันหนัก’ ( หัวเราะ ) แต่เมื่อรวมกลุ่มแล้ว ผมก็ชวนเพื่อนๆ จัดกิจกรรมดูนกให้กว้างขวางขึ้น ให้เด็กๆ และเยาวชนได้มีโอกาสรู้จักและสัมผัสธรรมชาติให้มากขึ้น ชักชวนให้คนรู้จักกิจกรรมนี้ว่าน่าสนใจยังไงบ้าง และไม่ใช่ว่าเราชวนคนมาดูนกแล้วจบที่นก แต่วัตถุประสงค์ที่แท้จริงของเราก็คือให้เขาหันมาเชื่อมโยง สัมผัสกับธรรมชาติรอบๆ ตัว มาเรียนรู้ เพื่อเกิดความสนใจในธรรมชาติ โดยมีนกเป็นสื่อที่ทำให้คนอยากออกมาเรียนรู้ธรรมชาติ ผมมองว่า นก เหมือนเป็นทูตทางธรรมชาตินะครับ” นพ.รังสฤษฎ์ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
เนื่องด้วยนกมีสีสันสวย มีเสียงร้องเพราะ พฤติกรรมน่ามอง เมื่อคนได้เห็นก็ประทับใจ จากนั้นชมรมจึงขยายออกไปสู่การสังเกตธรรมชาติ เชื่อมโยงธรรมชาติรอบๆ ตัว เป็นแนวทางที่จะทำให้คนมาเรียนรู้
นพ.รังสฤษฎ์สะท้อนว่า วิถีชีวิตประชาชนยุคนี้ ห่างไกลและมีความห่างเหินจากธรรมชาติ ไม่เห็นคุณค่า เกิดอาการขาดพร่องธรรมชาติ หลายๆ ทาง เรียกว่าเป็นโรคพร่องธรรมชาติ ทำให้เกิดปรากฏการณ์หลายอย่าง ทั้งทางกายและทางใจ เพราะวิถีชีวิตห่างไกลจากธรรมชาติมากเกินไป
สำรวจประชากรนก
นพ.รังสฤษฎ์ ระบุว่าชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา มีส่วนช่วยให้คนได้เห็นได้มองว่าสัตว์ทั้งหลายเป็นเพื่อนเรา มีการจัดกิจกรรม Bird Walk ทุกเดือน มีอาสาสมัครช่วยให้คำแนะนำ ใครจะมาร่วมกิจกรรมก็ได้ ไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ ช่วงเช้า ในวันเสาร์แรกของเดือน ก็มีกิจกรรม Bird Talk และอีกสิ่งที่ชมรมฯ ทำคือการทำงานงานด้านข้อมูล เพราะเมื่อนักอนุรักษ์ต้องการต่อสู้กับอะไรสักอย่าง เช่น การพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน เมื่อเราพูดถึงธรรมชาติ เราก็ต้องใช้ข้อมูลในการยืนยัน
เพราะฉะนั้น สถานการณ์ของสัตว์และสิ่งแวดล้อม หากไม่เคยสำรวจ ทำข้อมูล หรือเรียกว่า ไม่เคยชั่งตวงวัด คนก็ไม่เห็นว่าสถานการณ์วิกฤติหรือเปล่า จึงเป็นที่มาของการสำรวจประชากรนก
“เป็นกิจกรรมที่เราทำ ซึ่งเราก็ทำหลายจุดมากครับ ที่ดอยอินทนนท์ เราก็ทำมา 20 กว่าปีแล้วนะครับ ทำทุกปี ทำต่อเนื่อง มีอาสาสมัคร มีนักดูนกมาช่วย มาจากทั้งประเทศเลยครับ มาเป็นร้อย มาช่วยกัน ประเมินและสำรวจนก ปีละครั้ง รวมทั้งในเมืองด้วย มีเด็กๆ ตามโรงเรียน ต่างๆ มาช่วยกันด้วย และมีการสำรวจในพื้นที่การเกษตร ที่ดอยหล่อ แล้วก็มีสำรวจที่พื้นที่ชุ่มน้ำที่เชียงแสน รวมทั้งมีการสำรวจนกที่มานอนในเมือง เช่น ‘นกอุ้มบาตร’ เป็นนกตัวเล็กๆ ที่บินมาไกลมาก จากทางเหนือของทวีป มานอนรวมกันอยู่กลางเมืองเชียงใหม่เลย เราก็มีการสำรวจและบันทึกไว้ เหล่านี้ ก็เป็นกิจกรรมด้านข้อมูลของชมรมเรา
“แนวทางจริงๆ ของเรา ก็เป็นแนวทางธรรมชาติศึกษา ให้ความรู้กับคน พาคนไปเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ไปคืนดี ฟื้นฟูกับธรรมชาติจากที่เคยตัดขาดไปจากธรรมชาติ แต่เราก็ทำงานเคลื่อนไหวด้วยในประเด็นมิติทางสิ่งแวดล้อม
“จริงๆ แล้วผมก็เป็นพวกโลกสวยนะครับ ประเภทอยากจะพาคนไปรู้จักความงดงาม ความวิเศษของธรรมชาติ ผมชอบพาเด็กๆ เดินป่า รู้จักป่า รู้จักนก อันนี้คือตัวตนผมแท้ๆ แต่ว่า แน่นอนครับ ผมรักธรรมชาติ รักนก รักสัตว์
เมื่อเราเห็นการทำลาย เห็นการสูญหายของมัน ในตลอดชั่วชีวิตที่ผ่านมาของผม มันเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน มันก็อดไม่ได้นะครับที่จะออกมาปกป้อง ซึ่งก็เป็นบทบาทหนึ่งที่คนอาจจะมองเวลาที่เราออกมาเคลื่อนไหว เป็นข่าว แต่จริงๆ แล้ว ต้องบอกเลยว่าการทำแบบนั้นมันไม่สนุกหรอก มีคนด่า มีคนไม่เข้าใจ เยอะแยะ แต่มันก็ต้องทำครับ ( หัวเราะ ) ” นพ.รังสฤษฎ์ระบุ
ความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ…ปิระมิดที่พังทลาย
ถามว่า เป็นระยะเวลากี่ปีมาแล้ว ที่คุณเริ่มเป็นนักอนุรักษ์ เป็นนักเดินป่า เป็นนักดูนก กระทั่งถึงทุกวันนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับนกในแต่ละพื้นที่ สะท้อนภาพระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง
นพ.รังสฤษฎ์ตอบว่า “เรื่องการศึกษาธรรมชาติ ผมทำตั้งแต่จำความได้เลยครับ เป็นคนที่ชอบเรื่องธรรมชาติเรื่องสัตว์ ตั้งแต่เด็กๆ น่ะครับ คุณแม่เป็นคนเปิดประตูให้ผมเข้าไปเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ ให้รู้จักโลกธรรมชาติตั้งแต่เล็กๆ แล้วเวลาเล่านิทาน ผมก็จองเป็นเรื่องเกี่ยวกับสัตว์ตลอดทุกคืน ก็ต้องบอกว่าตั้งแต่จำความได้ครับ แต่ถ้าเป็นการศึกษาอย่างจริงจัง ก็คงเป็นช่วงมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ.2527 ที่ออกเดินป่าดูนกอย่างจริงจัง แล้วผมก็จะมีนิสัยอย่างหนึ่งคือชอบจดบันทึก ผมก็จะมีสมุดบันทึกติดตัว ไปไหนก็จะมีสมุด แล้วมีปากกา ดินสอ หลายๆ สี เวลาเจอนกเจออะไรน่าสนใจผมก็จะจดจะวาด วาดรูปและจดบันทึกสิ่งที่พบเห็น ทำให้เราได้ฝึกสังเกต ฝึกการเรียนรู้ เพื่อได้นำไปถ่ายทอดต่อ ก็เป็นสิ่งที่ทำมาตลอด ถึงวันนี้ก็ทำมา 40 ปีแล้วครับ” นพ.รังสฤษฎ์ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่ได้พบเห็นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาว่า
“ถ้าจะพูดกันตรงๆ ส่วนใหญ่เป็นในแง่ไม่ดี เพราะสถานที่ที่เราเคยไป มันหายไปแล้ว กลายเป็นคอนโดมิเนียม เป็นพื้นที่การเกษตร เป็นอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด คือพื้นที่ธรรมชาติมันหายไปเลยครับ
“ในช่วงชีวิตผม ตั้งแต่เด็กๆ จนถึงตอนนี้ ธรรมชาติหายไปมากมาย แล้วสัตว์หรือนก ที่มีอยู่ดาษดื่นหลายชนิด หายไปหมดเลย อาจจะยังไม่ถึงกับสูญพันธุ์ แต่หายากขึ้นมากๆ เลย ยกตัวอย่างเช่น ‘นกอีเสือหัวดำ’ เป็นนกที่มีอยู่เยอะมากเลย สมัยที่ผมเริ่มดูนกใหม่ๆ นกอีเสือหัวดำ เป็นนกกินแมลงตัวใหญ่ มีหัวดำ หลังสีแดง หางยาว เมื่อก่อนเจอเยอะมากเลยครับ รอบๆ กรุงเทพ แถวบางพระ อยุธยา มีเต็มไปหมดเลยครับ เป็นนกตัวแรกๆ เลย ที่เราจะได้เห็นเวลาที่เราออกไปตามท้องทุ่ง แต่ปัจจุบันนี้ หาไม่ได้เลยนะครับ หายไปหมดเลย เหลืออยู่น้อยมากๆ อาจจะเจอบ้างทางพื้นที่อิสานหรือภาคเหนือ
"เหตุหนึ่งเนื่องมาจากประชากรแมลงเราลดลงมาก ในอดีตประชากรแมลงมีเยอะ ตอนเด็กๆ ถ้าผมนั่งรถไปต่างจังหวัด ช่วงมืดๆ จะสังเกตได้ว่า กระจกรถเราจะเต็มไปด้วยแมลง ถ้าขับรถไกลๆ กลางคืนตามต่างจังหวัด แต่ทุกวันนี้ กระจกสะอาดมาก ไม่ว่าจะขับรถไปไกลแค่ไหน ก็ไม่มีแมลงมาติดกระจก งานวิจัยทั่วโลกเองก็ระบุว่า ประชากรแมลงลดลงอย่างมาก กว่า 80-90% ทั่วโลก
“ดังนั้น นกหรือสัตว์ ที่ต้องพึ่งพาแมลงทั่วโลก จึงเป็นไปตามห่วงโซ่อาหาร คือ แมลงเป็นฐานของปีระมิด ดังนั้น เมื่อมันหายไป ปิระมิดก็พังพินาศหมดแล้วครับ ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ทั้งยาฆ่าแมลง การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เกี่ยวข้องหมด
“มีสัตว์บางชนิดหายไป บางชนิดที่หายากอยู่แล้วก็สูญพันธุ์ไปเลย นำมาสู่ความเศร้า ความ Depress ของเราเลย เราเห็นกับตาว่าเพื่อนของเรา พื้นที่ที่เราคุ้นเคยหายไป ถูกทำลายหายไป ทำให้ในมุมนึง เราก็มองโลกในแง่ร้ายไปเลยว่า หากถึงรุ่นลูกเราแล้ว จะมีอะไรให้ดูไหม จะเห็นอะไรไหม หรือ ระบบนิเวศจะพังทลายไปหมดแล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้คือความหลากหลายทางชีวภาพด้วย มีความสำคัญในการทำให้เกิดสมดุลในระบบนิเวศ เราทุกคน พึ่งพาสิ่งนี้ เพียงแต่เราไม่เคยสำนึกบุญคุณเขา เช่น เราหิวข้าว เราก็กิน เราร้อน เราก็เปิดแอร์ เราจ่ายค่าน้ำประปา น้ำก็ไหล เราไม่ได้มองว่า ต้นตอความสมดุลของธรรมชาติมาจากอะไร เกี่ยวข้องกับเรายังไง
"เรามองไม่เห็นความเชื่อมโยง เพราะวิถีชีวิตปัจจุบันทำให้เราถูกตัดขาดจากธรรมชาติ จนมองไม่เห็นความเชื่อมโยงร่วมกับเขา
แต่ผมว่า ถึงวันนี้ คนน่าจะตระหนักได้แล้ว เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมันรุนแรง ภาวะโลกร้อนของโลกเรามันรุนแรงเสียจนคนตระหนักได้” นพ.รังสฤษฎ์ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า
หลายๆ อย่างถือเป็นการ Set zero ใหม่ เด็กที่เกิดใหม่ คนรุ่นใหม่ในยุคนี้ จึงคิดว่านี่เป็น Norm สิ่งเหล่านี้ปกติ แต่จริงๆ แล้วก่อนหน้านั้น ธรรมชาติมีมากกว่านี้ ดีกว่านี้ เมื่อเกิดการ Set zero ใหม่ คนไม่รู้ว่าสูญเสียอะไรไปบ้าง ถ้าอยากรู้ก็ต้องไปถามคนรุ่นก่อน ว่ามันพังพินาศไปขนาดไหน
เช่น พายุไต้ฝุ่นติดๆ กัน สมัยก่อนมีไหม หรือต้องเจอกับหน้าหนาวที่อาจไม่หนาวเหมือนเดิมอีกแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดหลายอย่าง ความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นยาวนาน
แน่นอนว่าเราเห็นความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม และความสูญสิ้นสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลายสายพันธุ์มาก แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้เป็นข่าวร้ายทั้งหมด เพราะเราก็ได้เห็นความพยายาม ความตื่นตัวของกลุ่มบุคคลที่เขาตระหนักในปัญหานี้ เช่น ความสำเร็จที่ นพ.รังสฤษฎ์ เน้นย้ำว่าภูมิใจมาก คือ นกกระเรียนพันธุ์ไทย ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทย ซึ่งไทยได้ไปขอจากกัมพูชามา เพาะพันธุ์ โดยองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งปัจจุบัน สามารถปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ นกสามารถทำรัง ออกไข่ ขยายพันธุ์ทางธรรมชาติเองได้ แต่กระบวนการนี้ใช้เงินมากมาย ต่างจากตอนทำลายที่ทำได้ง่ายมาก แต่การที่จะคืนกลับสู่ธรรมชาติได้นั้น ยากเย็นแสนเข็ญ ต้องใช้ทั้งเวลา ความพยายาม และงบประมาณมากมาย โดยไม่รู้ว่าจะสำเร็จแค่ไหน
นพ.รังสฤษฎ์ ยังยกตัวอย่างของสัตว์บางชนิดที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แต่ไม่ได้เป็นข่าวดี เนื่องจากสัตว์ชนิดนี้ เป็นตัวชี้วัดระบบนิเวศที่ไม่ดี นั่นก็คือ ‘นกพิราบ’
“เราติดตามพบว่านกพิราบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน นกพิราบนั้น โดยธรรมชาติมันอยู่ผาหินครับ แต่เมื่อเราสร้างบ้านสร้างตึกมันก็มาอยู่ และมันเป็นนกที่ทนทายาทมาก ทนสารพิษ ใช้ประโยชน์จากกิจกรรมมนุษย์
"นกอีกชนิดคือ เป็นนกที่อยู่ในป่าเมฆ คือในภูเขาสูง ป่าที่สูง 2,000 เมตรขึ้นไป
เป็นป่าที่อยู่ด้วยความชื้นของเมฆ เมื่อมีภาวะโลกร้อนเกิดขึ้น ผมเห็นกับตาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงหน้าแล้ง มันไม่มีความชื้นอีกแล้ว น้ำใต้ดินน้อยลง คือแล้งจริงๆ ขณะที่ฐานของเมฆยกตัวสูงขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิไม่เย็นพอ เมื่ออุณหภูมิร้อนขึ้นเมฆก็ไม่กลั่นตัว ทำให้ป่าเหล่านี้เปลี่ยนสภาพ สัตว์หลายชนิดสูญพันธุ์ไป นกที่อยู่ในระบบนิเวศแบบป่าเมฆก็ลดจำนวนลง
ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ใช่แค่ไทยที่เดียว
"ปัญหามีอยู่ 2 ระดับ ทั้งในระดับท้องถิ่นที่มีการตัดไม้ทำลายป่า มีการเข้าไปล่าสัตว์ แต่ในระดับมหภาคก็คือ การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง เมื่อสัตว์ชนิดนึงสูญพันธุ์ไปมันก็เกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหาร กระทบต่อระบบนิเวศ เพราะมันพึ่งพากัน ทำให้สูญพันธุ์เพิ่มขึ้น กราฟของความสูญพันธุ์เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณด้วยปฏิกริยาลูกโซ่นี้ครับ” นพ.รังสฤษฎ์สะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทั่วโลก
ความทรงจำอันสวยงาม…คุณแม่ผู้เปิดประตูสู่โลกธรรมชาติ
จากการสนทนาทั้งหมดที่ผ่านมา อดถามไม่ได้ว่า มีความทรงจำอันงดงามใดอีกบ้าง ที่คุณแม่มอบไว้ให้แก่คุณ และส่งผลให้คุณรักธรรมชาติ เป็นนักอนุรักษ์ดังเช่นทุกวันนี้
นพ.รังสฤษฎ์ตอบว่า “มากมายเลยครับ แม่ผมท่านก็เป็นนักวาดรูปด้วย เป็นคนที่มีทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์อยู่ในคนๆเดียวกัน มีความ Balance ตรงนี้มาก
"สิ่งสำคัญ ผมว่าคุณแม่เป็นคนที่มีหัวใจงดงามมาก เวลาตามคุณแม่ไปในป่า คุณแม่ก็ทำเป็นเรื่องปกติ เราเห็นท่านทำอย่างนี้มาตั้งแต่เล็ก ท่านก็ทักทายต้นไม้ดอกไม้ เดินไปก็ ‘สวัสดีจ้ะ วันก่อนชั้นไม่เห็นเธอเลยนะ ครั้งที่แล้วเดินมาไม่เห็นเลย เธอสวยจังเลย’ คือท่านพูดด้วย เหมือนดอกไม้เป็นคน เหมือนคนคุยกัน
“คุณแม่ปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เหมือนท่านปฏิบัติต่อคน ผมมีมุมมองนี้มาตลอดว่า ทุกสิ่งมีชีวิต มีเกียรติ มีสิทธิ์ มีคุณค่าที่อยู่ในโลกนี้ มีสิทธิ์ที่จะดำรงอยู่ในโลกนี้ไม่น้อยไปกว่าเรา หรืออาจจะมากกว่าเราด้วยซ้ำ เมื่อเราอยู่แบบทำลายล้างสิ่งแวดล้อม คุณแม่ผมท่านเป็นคนมีเมตตา ท่านก็ปลูกฝังสิ่งเหล่านี้กับเรา ในแบบที่ให้เราได้ซึมซับเองโดยที่ท่านไม่ได้บอกสอนตรงๆ แต่ท่านทำเป็นตัวอย่าง ปฏิบัติให้เราดู”
นายแพทย์นักอนุรักษ์ทิ้งท้ายว่า มนุษย์เรา มักมองว่าตนเองเป็นศูนย์กลางของโลก แต่ไม่ใช่เลย เราเป็นเพียงผู้อาศัยอยู่ในโลกนี้
“Homo Sapiens เกิดมาสี่แสนปี เกิดทีหลังหลายๆ อย่าง ที่มีอยู่แล้ว เราเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของโลก ชนิดที่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เกิดขึ้นไม่เคยทำให้โลกเกิดความเปลี่ยนแปลงมากขนาดนี้
“ยุคนี้คือ 'แอนโทรโปซีน (Anthropocene)' เป็นยุคที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลกจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่มีวิวัฒนาการ แล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ชัดมาก ทั้งการทำลายป่าและทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ภาวะโลกร้อนต่างๆ เป็นยุคที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของโลกเรา
"ผมคิดว่า สำหรับผม นี่เป็นมุมมองที่สำคัญที่สุดที่ได้รับจากคุณแม่ ก็คือ ผมให้ความเคารพทุกชีวิต ในความเห็นผมนะ ไม่มีใครต่ำต้อยกว่าเรา หากใครมาด่าผม ว่า ‘ไอ้สัตว์ ไอ้หมา’ ( หัวเราะ ) ผมไม่เคยเจ็บเลยนะ ( หัวเราะ ) คือผมชอบสัตว์ สัตว์ไม่ดียังไงเหรอ ผมก็ไม่รู้สึกว่าเป็นคำด่า
“อย่างน้อยที่สุด ผมว่า อย่างน้อยถ้าเราให้พื้นที่ ให้โอกาสกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อยู่ร่วมกับเราได้ไหม เพราะว่าจริงๆ แล้ว ไม่ใช่แค่ให้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ดำรงอยู่ แต่การดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย และระบบนิเวศที่สมบูรณ์ก็เกี่ยวข้องกับความดำรงอยู่ของเราด้วย
“ปัจจุบัน มีแนวคิด Nature-based Solution หลายอย่างที่เราทำ ต้องนำเอาธรรมชาติเข้ามาในสมการด้วย ไม่เช่นนั้นทุกอย่างก็ไม่ยั่งยืนนะครับ
“เราไม่อาจแยกจากโลกใบนี้ได้ เราพึ่งพาอย่างเต็มที่ เราจะสำนึกได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะมนุษย์เรามักอหังการ์ว่าเราสามารถทำนู่นทำนี่ต่างๆ ซึ่งถูกนำไปใช้ถูกวิธีบ้างผิดวิธีบ้าง ในที่สุดแล้วเราก็ต้องทำงานกับธรรมชาติ ไม่ใช่เห็นธรรมชาติเป็นศัตรูหรือว่าเป็นสิ่งที่ต้องเอาชนะ”
คือคำตอบที่เน้นย้ำชัดเจนถึงจุดยืน มุมมอง ทัศนคติที่คุณหมอนักอนุรักษ์ท่านนี้มีต่อโลกธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศที่ควรค่าแก่การดูแล เยียวยา ฟื้นฟู และเพื่อปลูกสร้างจิตสำนึกของผู้คนให้กลับมาเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เพื่อให้ระบบนิเวศกลับคืนสู่สมดุลได้อีกครั้ง หลักจากถูกทำลายและพังทลายอย่างหนัก ในห้วงเวลาที่ผ่านมา
………..
Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By : นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์, Facebook Rungsrit Kanjanavanit, แฟนเพจ ‘พื้นที่อนุรักษ์นกน้ำคำ Nam Kham Nature Reserve’