ปัจจุบันวงการเกมในระดับโลกทั้งฝั่งผู้ผลิตและผู้เล่นทั่วโลกในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตสูงมาก ภาพลักษณ์ของการเล่นเกมเป็นไปในเชิงบวกมากขึ้นและกลายเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันในหลายๆ ประเทศ ยิ่งในช่วงของวิกฤตโควิด-19 ที่มาตรการเข้มล็อกดาวน์ “ปิดประเทศ” นานนับปีส่งผลให้ตลาดเกมโตสูงขึ้นเป็นเท่าตัว ทั้งหมดทั้งมวลนั้นมีตัวแปรสำคัญสั้นๆ คือ "ความสนุก" ที่คนต้องการเอามาเยียวยาจิตใจ จนสามารถเอามาใช้เป็นโปรแกรมหลักในการพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุดของศักยภาพชีวิตที่หลายคนอาจยังไม่รู้มาก่อน
"ความสนุกมันทำให้เราขับเคลื่อน อยากให้เราทำอะไรทุกวัน อยากทำให้ดีขึ้นในทุกวันที่ตื่น อยากฉลาดขึ้นๆ อาจารย์เรียกว่า 'ทฤษฎีความสนุกกับโลกปัจจุบัน' ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องเกมบนโทรศัพท์ หรือเกมคอมพิวเตอร์ เราเป็นอาจารย์สอนวิชาเกม เวลาสอนเด็กมักจะเข้าหากิจกรรมต่างๆ ด้านความสนุก การจะสอนเขาเราต้องเอาเกมมาช่วย สามารถเรียนรู้จากสิ่งที่เขาได้รับความสนุกได้ ซึ่งผลลัพธ์เขาเรียนดีขึ้น ส่งการบ้านมากขึ้น ความสนุกของเขาก็สามารถนำมาประกอบอาชีพได้ อย่าง นักออกแบบพัฒนาเกม ศิลปิน NFT นั่นก็คือความสนุกก็สร้างอาชีพได้อีกด้วย บอกได้เลยว่าเกมไม่ใช่เรื่องไร้สาระอีกต่อไปในมุมมองของคนรุ่นใหม่" ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิลาวัลย์ อินทร์ชำนาญ คณบดี วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี (ANT) แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) บอกกล่าวถึงกิจกรรมความสนุกในยุคปัจจุบันที่เสพได้ง่าย เพียงแค่สัมผัสด้วยปลายนิ้ว
มีสนุก 'มีชีวิตดี'
ดร.วิลาวัลย์ระบุต่อไปว่า โลกในยุคปัจจุบันไม่ใช่ไม่มีความสนุก หากแต่ความสนุกมีรูปแบบที่เพิ่มมากขึ้น โดยความสนุกของคนในอดีตจะมองว่า การที่เรามีเวลาว่างก็ไปหาความสนุกอย่างไปทะเล ไปภูเขา ฯลฯ คือสนุกแฮปปี้ชาร์จพลังมาสู้ชีวิตกันต่อ แต่สมันนี้ยุคปัจจุบันเด็กเจเนอเรชันใหม่นี้คือ โลกของดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีเกม และเขาไม่มองแค่สนุกแล้วจบ ลึกลงกว่าคำว่าสนุกแล้วต้องสามารถนำมาเลี้ยงชีพได้ด้วย
“จริงๆ ทฤษฎีความสนุกมันมีมานานแล้วเป็น 10 ปี อย่างจัดกิจกรรมโปรโมชันเล่นเกมก็ทำให้คนมีส่วนร่วมในการซื้อสินค้ามากยิ่งขึ้น หรือหากเอามาทำแคมเปญรณรงค์ ก็จะชักจูงให้คนกระทำความดีมากขึ้นก็ยังได้ พูดง่ายๆ ว่า เกมสามารถทำให้คนมาซื้อของมากขึ้น คนมาเที่ยวมากขึ้น เศรษฐกิจก็ดีขึ้น ยิ่งในยุคนี้เห็นภาพง่ายเพราะในยุคของคนรุ่นใหม่เทคโนโลยีเป็นเรื่องจับต้องได้และง่ายเพียงปลายนิ้ว เรื่องเกมต่างๆ ในคอมพิวเตอร์ ในโทรศัพท์ ก็เป็นความสนุกของเด็กรุ่นนี้ เขามาเรียนเกมชอบเกมสนุกกับเกม มันก็ส่งผลแง่จิตวิทยาเป็นคนคิดบวกทำให้สุขภาพจิตดี สุขภาพจิตดี ชีวิตก็ดีเพราะใจมันสนุก ทีนี้ก็มีความมั่นใจมากขึ้น มีแรงมีพลังเรียนรู้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวเขาคนเดียว แต่คนรอบข้างก็สนุกไปด้วยเพราะเขาสนุก”
“คือการเล่นเกมทำให้คนบรรลุจุดประสงค์อะไรบางอย่าง เช่น สนุก สุข พอใจ พอมันเกิดกับเราอะไรมันก็ดี ทำอะไรก็ดีตามมาหมด ยกตัวอย่างจากงานวิจัยเขาบอกว่า คนที่เล่นเกมจะไม่ใช่คนที่ยอมแพ้หรือหนีปัญหา คนเล่นเกมเวลาพวกเขาเจอปัญหาเขาจะไม่ท้อไม่หนี เหมือนเราเล่นเกมผ่านด่านไขปริศนา เราก็จะพยายามแก้ให้มันได้ ฉันเล่นเกมฉันได้ที่หนึ่ง ได้เพื่อน เกิดความภาคภูมิใจตัวเอง ทำครั้งหน้าให้เยอะขึ้น นี่คือทฤษฎีความสนุก ซึ่งคนรุ่นใหม่เข้าใจประโยชน์ของเกมดี ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องเสียเวลา ทำให้ผู้ผลิตเกมและวงการเกมตอนนี้มีรายได้มากมาย ปีละเป็นหมื่นล้านพันล้านบาท เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ ไม่แพ้เงินจากอุตสาหกรรมอื่นในประเทศนั้นๆ”
เอ็นจอยโก(ย)แสนล้าน
ในปี 2021 คนไทยเข้ามาอยู่ในโลกของเกมมากถึง 9.8 ล้านคน สร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจเกมรวมกันถึง 17,200 ล้านบาท และที่สำคัญ กว่าเกือบ 10 ล้านคนนั้นมีตั้งแต่เด็กยันคนสูงวัย โดยอายุ 25-34 ปี เป็นกลุ่มที่เล่นเกมมากที่สุดถึง 31.4% รองลงมา ได้แก่ อายุ 35-44 ปี สัดส่วน 24.8% อายุ 18-24 ปี สัดส่วน 19.5% อายุ 45-55 ปีสัดส่วน 16.1% และอายุ 55-64 ปี สัดส่วน 8.1% ตามลำดับ
“คนที่เรียนจบด้านเกมมานี้ มาเริ่มทำงาน เงินเดือนอย่างน้อยๆ ทั่วไปเลยต้องสตาร์ทเริ่มต้น 22,000 บาท ยิ่งหากเขียนโค้ดได้ อาจารย์พิเศษรุ่นใหม่ของเราที่ทำเกมได้ เงินเดือน 50,000-100,000 บาทขึ้นไป และสมัยนี้เขียนพวกเว็บไซต์ทำตัวภาพอวตาร เงินเดือนก็ต้อง 100,000 บาทขึ้นไป หรืออย่าง ณัฎฐพัชร์ เชื้อสุวรรณ หรือ ต้นเลอร์ ทำ NFT Art ขายได้หกหลัก” ดร.วิลาวัลย์เผย ก่อนจะพูดต่อถึงจำนวนของผู้สร้างผู้ผลิตทางด้านนี้ที่เรียนวิชาเอกการออกแบบและการพัฒนาเกม จะสามารถจบไปเป็นนักพัฒนาเกม Game Programmer นักออกแบบเกม และตัวละคร Game Designer หรือ Character Design หรืออาจจะเป็นนักแคสเกม หรือ Game Caster และนักกีฬา Esports ก็ยังได้
“บางคนเข้าไปทำงานในสถานีโทรทัศน์ สายงานข่าวก็ไปทำงานสร้างภาพ 3 มิติ แอนิเมชัน ให้สื่อใหญ่ช่องดังหลายช่องมากมาย อนาคตทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้จะเป็นแบบก้าวกระโดดเลยทีเดียว”
เกมชีวิตจริง
“การคาดการณ์ทิศทางวันนี้ของวงการอุตสาหกรรมเกม บอกได้คำเดียวว่า เติบโตมาก คือเราสามารถจะเอาตัวเรากับโลกจริงสัมพันธ์กันทุกเรื่องได้เลย ทุกอย่างจะเชื่อมกัน อย่างที่เห็นในแพลตฟอร์มต่างๆ ในโซเชียลมีเดีย เราสามารถซื้อขายงาน เงินโทเคน เราเล่นเกมไม่ต้องซื้อผ่านคนกลาง นักแคสเกม นักสร้างเกม กีฬาอีสปอร์ต หรือจะทำเกมเองเล่นเกมเองสร้างธุรกิจออกมาเองเลยก็ได้เหมือนสินค้าท้องถิ่นแล้วโด่งดังไปเป็นของดีขึ้นชื่อ”
ในระยะ 5-10 ปี หากวงการเกมที่เติบโตขึ้น บุคลากรในวงการคงขาดแคลนขึ้นเรื่อยๆ ดร.วิลาวัลย์มองว่า ต้องช่วยกันพัฒนาบุคลากรในวงการเกมขึ้นมา และ เกมจะพัฒนาไปได้ไกลถึงขั้นเกิดเป็นอีกโลกที่เรียกว่าโลกขนาน ที่มีอะไรให้เรียนรู้แบบไม่รู้จบ ยิ่งเกิดการแข่งขันกันในอุตสาหกรรมเกม ก็จะยิ่งเกิดความคิดสร้างสรรค์ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคยิ่งขึ้นไป
“ในอนาคตเกมอาจจะสอนคนใช้ชีวิต เช่น มีเกมสอนรักษาชีวิตคนเลยก็ได้ เล่นเกมหมอมีความรู้เรื่องหมอ หรือเกมขับเครื่องบินจำลอง ก็อาจจะเล่นก่อนเพื่อดูว่า ตัวเองชอบอาชีพนักบินไหม ถ้าชอบก็ไปเรียน เด็กรุ่นใหม่เข้าใจประโยชน์ของเกม ทำให้ช่วงที่ผ่านมานักศึกษาที่เรียนด้านนี้เพิ่มขึ้นตลอด เกมเป็นเรื่องที่ต้องเรียนให้สนุก เรียนแล้วรู้ประโยชน์ พอรู้แล้ว นี่ก็คือทฤษฎีความสนุก ผ่านเกมที่ได้ใช้กับทั้งชีวิต ได้ใช้กับการงาน ได้ใช้กับการพัฒนาประเทศ” คณบดี วิทยาลัยครีเอทีฟดีไซน์ แอนด์ เอ็นเตอร์เทนเมนต์เทคโนโลยี กล่าวทิ้งท้าย