xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อหรือไม่...ทั้งโรงเรียนมีครูคนเดียว เป็นครูใหญ่จนถึงภารโรง! ครูใหญ่สร้าง ร.ร.เจริญจนได้เป็นครูน้อยก็มี!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรมบุนนาค


โรงเรียนบ้านลิ้นช้าง พ.ศ.๒๕๓๗
วันที่ ๑๖ มกราคมนี้เป็น “วันครู” ขอกราบขอบพระคุณครูบาอาจารย์ทุกท่านที่สอนศิษย์ให้มีวิชาความรู้ติดตัวหากินได้ตลอดชีวิต ชี้ทางเดินที่ถูกที่ควร ไม่ปั่นหัวให้เข้ารกเข้าพง

ผู้เขียนไม่เคยเป็นครู เริ่มอาชีพแรกก็เป็นนักข่าวจากความรู้ที่ครูสอนให้ในวิชาเรียงความ ย่อความ หน้าที่พลเมืองและศีลธรรม จากนั้นก็เวียนว่ายอยู่ในวงการทำหนังสือและทำหนังมาตลอดชีวิต ครั้งหนึ่งตกงานตอนทำหนังสือพิมพ์เพราะถูกสั่งปิด เพื่อนที่เป็นผู้บริหารโรงเรียนราษฎร์แห่งหนึ่งเห็นอยู่ว่างๆเลยส่งชื่อเข้าไปอบรม “การประชาสัมพันธ์โรงเรียน” กับกรมประชาสัมพันธ์ ได้ประกาศนียบัตรมาแต่ก็ไม่ได้ใช้อะไร ต่อมาในปี ๒๕๓๗ เพื่อนอีกคนหนึ่งจะทำนิตยสารเกี่ยวกับครูให้มาเป็นบรรณาธิการนิตยาร “มติครู” ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ใช้ชื่อจริงเขียนหนังสือในฐานะบรรณาธิการ คอลัมน์ “เยี่ยมโรงเรียน” เป็นประจำทุกเดือน ได้พบได้ฟังเรื่องแปลกๆและสนุกของครูมาก เลยขอนำมาเล่าอีกครั้งในวันนี้

ตอนนั้นในชนบทไกลถิ่นทุรกันดารยังมีโรงเรียนประเภท “ครูคนเดียว” คือทั้งโรงเรียนมีครูคนเดียว เป็นทั้งครูใหญ่ ครูน้อย ภารโรงเสร็จสรรพ ทั้งยังเป็นพ่อครัวทำอาหารให้นักเรียนกินกลางวันอีก สอนตั้งแต่ ป.๑ ถึง ป.๖ ไม่ว่าจะมีนักเรียนกี่คนก็ตาม ไม่ใช่ครูคนเดียวแบบเดี๋ยวนี้ที่มีครูหลายคน แต่บางคนลาออก บ้างก็เกษียณ จนเหลือครูคนเดียว
เนื่องจากโรงเรียนเหล่านี้อยู่ไกลหูไกลตา ครูจะสอนหรือเปล่า เดือนหนึ่งสอนกี่วัน นักเรียนจะมาเรียนกันหรือไม่ ก็ไม่มีใครรู้ การประถมอำเภอจึงจัดทีมตระเวนไปเยี่ยมโดยไม่บอกให้รู้ล่วงหน้า ว่าเป็นการให้กำลังใจครู แต่ก็เหมือนไปจับผิดนั่นแหละ ครั้งหนึ่งหัวหน้าการประถมอำเภอนำคณะไปเอง เดินฝ่าทุ่งฝ่าแดดเข้าไปอีก ๒ กิโลเมตรจะถึงโรงเรียน เห็นชายคนหนึ่งกำลังทอดแหอยู่ที่หนองน้ำเลยแวะเข้าไปหวังจะขอซื้อปลาไปทำอาหารกลางวันกิน แต่พอชายผู้นั้นหันหน้ามาก็ต้องผงะกันไปทั้งคณะ

“อ้าว ครูบุญศรีนี่...แล้วใครอยู่ที่โรงเรียนล่ะ...ปิดโรงเรียนหรือวันนี้” ทุกคนในคณะต่างรัวคำถาม
ครูบุญศรีทำหน้ากระอักกระอ่วน อ้อมแอ้มบอกว่า

“กระผมทราบว่าท่านจะมากัน ที่นี่บ้านป่าบ้านดอยลำบากหน่อยเรื่องข้าวปลาอาหาร เกรงว่าท่านจะหิวกัน เลยออกมาหาปลาทำกับข้าวรับรองท่านครับ”

แบบนี้ก็มี หน้าที่ของครูโรงเรียนครูคนเดียว
ครูที่รับภาระคนเดียวทั้งโรงเรียนแบบนี้ไม่ได้จมปลักอยู่แต่ในแดนทุรกันดารตลอดไป บางคนบ่มเพาะประสบการณ์จนออกมาสร้างความเจริญอย่างน่าทึ่งให้โรงเรียนในเมืองก็มี อย่างในคราวประชุมศึกษาธิการอำเภอทั่วประเทศที่เชียงใหม่เมื่อต้นปี ๒๕๓๗ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า มาถึงเชียงใหม่แล้วอย่าละเลยไปเยี่ยมโรงเรียนบ้านริมใต้เป็นอันขาด เพราะเป็นสถานศึกษาที่นักการศึกษาทุกคนไม่ควรพลาด และเมื่อท่านไปเยี่ยมโรงเรียนนี้เอง ท่านปลัดฯยังได้บอกกับผู้อำนวยการโรงเรียนว่า

“ไม่เสียแรงที่ผมจะเกษียณในปีนี้แล้ว ยังมีโอกาสได้เห็นโรงเรียนในฝัน”

โรงเรียนบ้านริมใต้มีอะไรดีนักหนา บก. “มติครู” จึงไม่พลาดที่ไปเยี่ยม แต่กว่าจะขอเข้าพบผู้อำนวยการได้ก็ต้องนั่งรอคิวเป็นชั่วโมง เพราะมีคนมาเยี่ยมไม่ขาดสาย บางวันมาเป็นร้อยคณะ “คณะ” นะครับ ไม่ใช่ “คน”

เมื่อ ๗ ปีกว่าก่อนหน้านั้น โรงเรียนบ้านริมใต้เป็นโรงเรียนประถมธรรมดา อยู่ริมถนนเชียงใหม่-ฝาง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ ๑๒ กม. มีนักเรียน ๔๐๐ คนเศษ ไม่มีจุดเด่นอะไรเป็นพิเศษ จนกระทั่งอาจารย์ทองหล่อ ธงชัย เข้ามาเป็นครูใหญ่

อาจารย์ทองหล่อเล่าความหลังให้ฟังว่า เมื่อตอนมาใหม่ๆยืนอยู่หน้าโรงเรียน เห็นเด็กตัวเล็กๆโหนรถเมล์เข้าไปเรียนในเมืองเป็นจำนวนมาก จึงหันมามองโรงเรียนว่า ทำไมผู้ปกครองจึงให้เด็กๆเหล่านั้นต้องลำบากไปเรียนไกลบ้าน คำตอบที่ให้แก่ตัวเองก็คือ เพราะไม่ศรัทธาโรงเรียนนั่นเอง นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้อาจารย์ทองหล่อคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้ผู้ปกครองและเด็กเหล่านั้นหันมาศรัทธาโรงเรียน

ในวันที่ไปเยี่ยมนั้น โรงเรียนบ้านริมใต้มีนักเรียน ๙๒๒ คน ได้รับรางวัลจากสถาบันต่างๆมากมาย โดยเฉพาะรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ถึง ๓ รางวัล
ความสำเร็จของโรงเรียนบ้านริมใต้นี้ เป็นผลงานของครูคนหนึ่งซึ่งเริ่มชีวิตครูจากการเป็นครูโรงเรียนครูคนเดียว

อาจารย์ทองหล่อเป็นคนจังหวัดอุทัยธานี ไปเรียนฝึกหัดครูที่เชียงใหม่ ตอนหนุ่มมีอุดมการณ์สูง รักที่จะทำงานในถิ่นทุรกันดารจึงขอสมัครไปทางนั้น โรงเรียนแรกที่ไปสอนเป็นโรงเรียน ตชด.ที่ฝาง อยู่กลางป่า อยู่เพียง ๖ เดือนก็ได้รับตำแหน่งครูใหญ่ เพราะทั้งโรงเรียนมีครูอยู่คนเดียว

เมื่อถามถึงวิธีการสอนคนเดียวทั้งโรงเรียน อาจารย์ทองหล่อเล่าว่า

“ห้องเรียนก็มีอยู่ห้องเดียว กระดานดำแผ่นเดียวตั้งไว้กลางห้อง โต๊ะเรียนตั้งไว้สองด้านกระดาน ด้านหนึ่งก็แบ่งออกเป็นสองส่วน ซีกซ้ายกับซีกขวาคนละชั้นกัน กระดานดำแผ่นเดียวจึงสอนได้ทั้ง ป.๑ ป.๒ ป.๓ ป.๔ นักเรียนรวมกัน ๔๐ คน”

การเป็นครูคนเดียวนี้บ่มเพาะให้อาจารย์ทองหล่อ ธงชัย สามารถมาสร้างโรงเรียนบ้านริมใต้ให้รุ่งเรืองได้ถึงขนาดนี้
แต่มีครูโรงเรียนครูคนเดียวคนหนึ่ง บุกเบิกโรงเรียนในป่าให้เจริญขึ้น สร้างโรงเรียนให้มีฐานะสูงขึ้น จนทำให้ตัวเองต้องมีฐานะต่ำกว่าโรงเรียน ถูกลดตำแหน่งลงเป็นครูน้อยในโรงเรียนที่ตัวทำให้เจริญขึ้นมานั่นแหละ
ในรายการเยี่ยมโรงเรียนของ “มติครู” อาจารย์ท่านหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี ชวนให้ไปเยี่ยมโรงเรียนบ้านลิ้นช้าง ม.๓ ต.น้ำกลัดเหนือ อ.หนองหญ้าปล้อง ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ไกลโดดเดี่ยว ห่างจากตัวอำเภอไปตามถนนทุรกันดาน ๑๒ กม. ท่ามกลางป่าเขา ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อเด็กกะเหรี่ยงของหมู่บ้านนี้โดยเฉพาะ และแนะนำให้รู้จักอาจารย์วิศิษฏ์ ปานทอง ชายสูงอายุ ร่างเล็ก สดใสร่าเริงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกโรงเรียนนี้

อาจารย์วิศิษฐ์เล่าว่าโรงเรียนแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี ๒๕๑๕ ด้วยความอุปถัมภ์ของพระธรรมปิฎก (สนิท) วัดปทุมคงคา เจ้าคณะภาค ๑๔ กับเจ้าคณะอำเภอเขาย้อย มีชาวบ้านช่วยกันตัดไม้มาปลูกเป็นเรือนมุงหลังคาด้วยหญ้าแฝก เปิดครั้งแรกมีพระภิกษุองค์หนึ่งซึ่งเคยเป็นครูเก่ามาทำการสอน ต่อมาในปี ๒๕๑๖ ทางจังหวัดจึงแต่งตั้งให้อาจารย์วิศิษฏ์ซึ่งเป็นครู ร.ร.บ้านยางน้ำกลัดเหนือมาเป็นครูใหญ่ ซึ่งก็เป็นครูคนเดียว เริ่มแรกเปิดสอนชั้นเดียวคือ ป.๑ มีนักเรียนชาย ๑๐ คน นักเรียนหญิง ๑๑ คน เป็นชาวกะเหรี่ยงล้วน

อ.วิศิษฏ์เล่าว่า เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ร.ร.บ้านลิ้นช้างตั้งอยู่ในป่าทึบ มีหมีอยู่ชุกชุม ทุกเย็นวันศุกร์กลับบ้านเช้าวันจันทร์มาใหม่ ต้องเดินผ่านป่า ๘ กม.จึงกลัวหมีมาก จึงวิ่งลูกเดียวและตะโกนร้องเพลงบ้าง ทำเสียงเอะอะบ้าง หรือเอาไม้หวดสองข้างทางให้มีเสียงดังไปตลอด เพื่อให้หมีหนีไปจะไม่ต้องเผชิญหน้ากัน

“ถ้าฝนตกก็กลับบ้านไม่ได้ เพราะน้ำป่าแรงมากจนข้ามห้วยไม่ได้ มีอยู่คราวหนึ่งฝนตกติดต่อกันหลายวัน ไปมาไม่ได้เลย ถึงขั้นอดข้าวกันทั้งหมู่บ้าน ผมเองก็ต้องจับเขียดจับจิ้งหรีดกินกันตาย อ.ส.ต้องวิทยุไปขอ ฮ.ให้มาช่วยส่งอาหารให้ แล้วรับผมลงไป” อ.วิศิษฏ์เล่าความหลังอย่างสนุกสนาน

เมื่อแรกมานั้น องค์การบริหารส่วนจังหวัดบอกว่าขอให้มาช่วยปีเดียว พอครบปีก็บอกขอให้ช่วยอีกซักปียังหาคนแทนไม่ได้ พอครบ ๒ ปีก็บอกว่าขออีกปีเถอะน่า อาจารย์วิศิษฏ์จึงไม่คิดขอย้ายให้เสียเวลายื่นอีกเลย

แต่ในวันที่พบกันนั้น แม้อาจารย์วิศิษฏ์ยังสอนอยู่ในโรงเรียนเดิมที่บุกเบิกมา แต่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งครูใหญ่แล้ว ถูกลดตำแหน่งลงเป็น “ครูน้อย” ตั้งแต่ปี ๒๕๒๑ เพราะทางจังหวัดได้ส่งคนอื่นมาเป็นครูใหญ่แทน และไม่ได้ถูกลดเพราะทำความผิดอะไร
ทั้งนี้เพราะโรงเรียนบ้านลิ้นช้าง ผลงานของอาจารย์วิศิษย์ได้รับการยกฐานะให้สูงขึ้น แต่อาจารย์วิศิษฏ์มีวุฒิเพียง ม.๗ จากวิทยาลัยเกษตรกรรม จังหวัดน่าน ไม่มีวุฒิทางครู จึงต้องให้คนที่มีวุฒิตรงกว่ามาเป็นตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงศึกษา อีกทั้งอาจารย์วิศิษฏ์ยังปฏิเสธที่จะย้ายไปโรงเรียนที่ไกลจากเขาย้อย เพชรบุรี ที่เป็นบ้าน จึงยอมทนที่จะเป็นครูน้อยในโรงเรียนที่ตัวเองเป็นครูใหญ่บุกเบิกมา

เมื่อถูกถามถึงความรู้สึกที่ถูกลดตำแหน่ง อาจารย์วิศิษฏ์บอกว่า

“ไม่รู้สึกอะไรเลย ผมก็คอยดูว่าเขาจะทำให้เจริญขึ้นได้แค่ไหน บางคนมาเห็นโรงเรียนก็เบ้หน้า แบบนี้อยู่แค่ ๖ เดือนก็ขอย้ายแล้ว บางคนมาเห็นโต๊ะหักก็มาชี้บอกผมว่า อาจารย์วิศิษฏ์โต๊ะนั่นหัก อ้าว เห็นผมเป็นภารโรงไปแล้ว ก็ไปบอกภารโรงเขาซี หรือไม่ก็ทำเอง ผมก็เคยทำมาแล้วทั้งครูใหญ่ ครูน้อย ภารโรงเสร็จสรรพ ไม่ต้องชี้นิ้วบอกใคร บางคนก็ตั้งใจทำงานดี แบบนี้ผมช่วยเต็มที่เลย”

ในวันที่พบกันนั้น อาจารย์วิศิษฏ์มีตำแหน่ง อาจารย์ ๒ ระดับ ๖ เป็นครูประจำชั้น ป.๕ และมีหน้าที่พิเศษเป็นพ่อครัวในโครงการอาหารกลางวันของนักเรียน
อีกเรื่องหนึ่งของครูที่พูดกันมากก็คือ “ครูเป็นหนี้มาก” เรื่องนี้ก็น่าสงสัย รายได้ของครู โดยเฉพาะครูในโรงเรียนหลวง มีเงินเดือนไม่น้อยกว่าข้าราชการในกระทรวงอื่นๆ ทั้งดูจะมากกว่าด้วย แต่ทำไมครูจึงมีหนี้กันมาก ยอมรับว่าผู้เขียนก็ไม่ได้สอบหาที่มาของเรื่องนี้ แต่มีครูบางท่านบอกให้ฟังว่า ที่ครูเป็นหนี้มากก็เพราะครูกู้ได้ง่าย เนื่องจากมีเครดิตดีมีรายได้ประจำที่มั่นคง โดยเฉพาะกู้กับสหกรณ์ครู ครูสาวโสดคนหนึ่งอยู่กับพ่อแม่ บ้านก็อยู่ใกล้โรงเรียน เห็นคนอื่นเขามีรถยนต์ก็อยากมีบ้าง ก็เลยกู้เงินมาซื้อรถทั้งที่ขับไม่เป็น วันหยุดมีโอกาสก็จ้างคนขับพาพ่อแม่ไปเที่ยว ครูอีกคนค่อนข้างจะมีหัวเป็นนักธุรกิจ กู้เงินสหกรณ์ครูมาซื้อหุ้นสหกรณ์ครูนั่นแหละ เพราะเงินปันผลแต่ละปีมากว่าดอกเบี้ยเสียอีก
แต่เรื่องนี้เป็นเพียงคำบอกเล่า ต้องพิจารณาให้ดีก่อนจะเชื่อนะครับ

อาจารย์วิศิษฏ์ ปานทอง กับชาวบ้านที่มาเยี่ยม

อาจารย์ทองหล่อ ธงชัย

โรงเรียนบ้านริมใต้ปลูกต้นไม้ตลอดหน้าตึกทำให้ห้องเรียนเย็นเหมือนติดแอร์
กำลังโหลดความคิดเห็น