วันที่ 13 มกราคม 2566 ที่ถนนนิตโย ด้านหน้าพญาศรีสัตตนาคราช เทศบาลเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักของพุทธศาสนิกชนที่มารอร่วมกันทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ จำนวน 99 รูป ที่ทำการบรรพชาอุปสมบทถวายพระพรชัยมงคลแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ให้ทรงหายจากพระอาการประชวรและมีพลานามัยแข็งแรงในเร็ววัน เป็นการร่วมกันถวายความจงรักภักดีและสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ซึ่งเป็นวันแรกในการปฏิบัติกิจของสงฆ์คือการบิณฑบาตภายหลังอุปสมบท
โดย นายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม พร้อมด้วยนายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม นายจิรศักดิ์ สีหามาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม คณะหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนจังหวัดนครพนม ได้เดินทางมาเตรียมของตักบาตรรอตั้งแต่เวลา 6.00 น. กระทั่งพระสงฆ์เดินทางมาถึง ทุกคนก็ได้ร่วมกันตักบาตร ตามประเพณีชาวพุทธที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
เมื่อครั้งพระพุทธองค์ทรงผนวชใหม่ ๆ ยังไม่ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าที่ทรงประทับที่สวนมะม่วง พระองค์เสด็จบิณฑบาตผ่านกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธ ชาวเมืองเห็นพระมาบิณฑบาตก็ชวนกันนำอาหารมาตักบาตรเป็นครั้งแรก และเมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ ๆ ทรงประทับอยู่ที่ควงไม้เกด มีพ่อค้า 2 คน นำข้าวสัตตุก้อน สัตตุผง ซึ่งเป็นเสบียงสำหรับเดินทางเข้าไปถวาย พระพุทธองค์ทรงรับไว้ด้วยบาตร จึงเป็นที่มาของการตักบาตรทางพระพุทธศาสนาอีกประการที่ถือเป็นประเพณีปฏิบัติมาจนถึงบัดนี้
โดยเชื่อว่าเป็นการสร้างกุศลให้กับตนเอง บุคคลอันเป็นที่รักและผู้มีพระคุณ ซึ่งอานิสงส์ของการตักบาตรจะทำให้สุขทั้งกาย ใจ อายุ วรรณะ สุขะ พละ มีสุขภาพแข็งแรง อายุยืนยาว โรคภัยน้อย มีทรัพย์สมบัติมาก เป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ และถึงพร้อมด้วย รูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ทิพยสมบัติ และนิพพานสมบัติ
โดยการทำบุญตักบาตรเป็น 1 ใน 3 ของการทำทาน คือเป็นอามิสทาน หรือการให้วัตถุสิ่งของ ส่วนทานอีก 2 อย่างคือ ธรรมทาน เป็นการให้ที่ไม่เป็นวัตถุสิ่งของ ได้แก่ ให้สติ ให้ธรรมะ สอนคุณธรรม ให้กำลังใจ ให้อภัย (อภัยทาน) ให้วิทยาความรู้วิทยาทาน และอภัยทาน คือการยกโทษด้วยการไม่พยาบาทจองเวร ซึ่งบัณฑิตกล่าวไว้ว่าเป็นทานที่ให้ได้ยากที่สุดเพราะเป็นการให้อภัยศัตรูหรือผู้ที่ทำร้ายตนอย่างสาหัส