xs
xsm
sm
md
lg

ไม่บังคับตรวจแอลกอฮอลล์เสี่ยเบนท์ลี่ย์ อาจเข้าข่ายละเว้นปฏิบัติหน้าที่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทนายความตั้งปม ตำรวจ “ไม่บังคับตรวจแอลกอฮอลล์” เสี่ยเบนท์ลี่ย์ อาจเข้าข่าย “ละเว้นปฏิบัติหน้าที่” ขัดหลักกฎหมาย “ปฏิเสธการเป่า เท่ากับ ดื่ม”


รายงานพิเศษ  

มีเสียงวิจารณ์อย่างรุนแรงอีกครั้งต่อการทำงานของตำรวจ กรณี นายสุทัศน์ สิวารมย์ภักดี นักธุรกิจ ซึ่งขับรถเบนท์ลีย์ด้วยความเร็วไปชนท้ายรถมิตซูบิชิ ปาเจโร่ ตนเสียหลักไปชนรับดับเพลิงอีกคัน บนทางพิเศษเฉลิมหานคร เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 จนมีผู้บาดเจ็บ 6 คน แต่เจ้าของรถเบนท์ลี่ย์ที่เป็นต้นเหตุ กลับไม่ถูกตรวจระดับปริมาณแอลกอฮอลล์ด้วยวิธีการเป่าทันที และยังปล่อยให้เวลาผ่านไปอีกหลายชั่วโมงก่อนส่งไปตรวจเลือกที่โรงพยาบาล โดยทางตำรวจ ให้เหตุผลว่า เจ้าของรถเบนท์ลี่ย์ มีอาการบาดเจ็บที่หน้าอก อาจจะทำให้แรงลมการเป่าไม่เพียงพอ ทำให้เครื่องวัดไม่เสถียร พนักงานสอบสวนจึงใช้วิธีการตรวจเลือดแทน

นายชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายความ ให้ความเห็นว่า การไม่ตรวจวัดระดับแอลกอฮอลล์ของคนขับรถเบนท์ลี่ย์ในกรณีนี้ เป็นการใช้ดุลพินิจเองของตำรวจว่าผู้ก่อเหตุมีอาการบาดเจ็บที่หน้าอก ซึ่งไม่ควรถูกยกมาเป็นข้ออ้างที่จะไม่ตรวจวัดระดับแอลกอฮอฮอลล์ เพราะเหตุผลเรื่องอาการบาดเจ็บ ไม่สอดคล้องกับภาพในคลิปมากมายที่ปรากฎออกมาทางสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า คนขับเบนท์ลี่ย์ยังสามารถไปเรียกรถแท็กซี่ ไปนั่งคุยโทรศัพท์อยู่ในโรงพักได้ พยายามกินน้ำ เคี้ยวหมากฝรั่งได้อีกด้วย ดังนั้นจึงควรตั้งข้อสงสัยว่า การที่เจ้าพนักงานจราจร ไม่ออกคำสั่งบังคับให้ผู้ก่อเหตุต้องตรวจวัดระดับแอลกออฮอลล์ด้วยวิธีการ “เป่า” ถือเป็นการใช้ดุลพินิจที่ส่งผลให้ผู้ก่อเหตุได้รับประโยชน์ในทางคดีหรือไม่ เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ทนายชำนัญ ยังเปิดเผยว่า ในพระราชบัญญัติจราจร มาตรา 142 ประกอบมาตรา 43(2) ระบุชัดเจนว่า “หากปฏิเสธการทดสอบวัดปริมาณแอลกอฮอล์ เจ้าพนักงานสามารถสันนิษฐานได้เลยว่า ดื่มสุราขณะขับรถ” เพราะถือว่า ไม่พร้อมแสดงความบริสุทธิ์ ซึ่งเจ้าพนักงานยังมีอำนาจในการสั่งกักตัวผู้ที่ต้องสงสัยว่าขับขี่รถขณะเมาสุราเพื่อรอทดสอบผลได้ด้วย โดยในทางปฏิบัติจะต้องทำการทดสอบภายใน 4 ชั่วโมง เพราะหากเลยไปกว่า 6 ชั่วโมง อาจจะลดต่ำลงมาก

“ที่ผ่านมา มีคดีที่ถูกสั่งฟ้องไปแล้วจากกรณีที่ผู้ใช้รถไม่ยอมเป่าเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ และยังมีอีกหลายกรณีที่ผ็ใช้รถถูกบังคับให้เป่าเครื่องวัดแอลกอฮฮลล์ทั้งที่บาดเจ็บ ทำให้มีคำถามมากมายว่า ตำรวจปฏิบัติกับประชาชนทุกคนด้วยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีนี้ ยังต้องพิสูจน์ด้วยว่า ตำรวจได้บังคับให้เป่าและถูกปฏิเสธจากคนขับรถเพราะอ้างว่าบาดเจ็บ หรือ ตำรวจไม่ได้บังคับให้เป่าเลยตั้งแต่ต้น

และเมื่อไม่ได้เป่า ผลที่ตามมา คือ ทั้งไม่ได้ตรวจวัดแอลลกอฮอลล์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แถมยังไม่ส่งฟ้องโดยตั้งข้อสันนิษฐานว่าดื่มสุราขณะขับขี่ด้วย จนกระทั่งมีผลตรวจเลือดซึ่งตรวจในเวลาที่ล่าช้าออกมาว่ามีปริมาณแอลกออฮอลล์ไม่เกินกฎหมายกำหนดเช่นนี้ ก็จะส่งผลให้ผู้เสียหายจากเหตุการณ์นี้ จะไม่ได้รับความยุติธรรมหรือไม่ ดังนั้นจึงต้องตั้งคำถามว่า นี่เข้าข่ายเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่”
ทนายชำนัญ ตั้งคำถาม

ส่วนกรณีการใช้วิธีการตรวจเลือด ทนายชำนัญ ระบุว่า เป็นแนวทางที่จะใช้หากผู้ขับขี่รถที่ต้องสงสัยว่าดื่มสุรา อยู่ในสภาพสลบ หมดสติ ไม่ตอบสนอง หรือเสียชีวิต จึงจะส่งไปให้แพทย์ตรวจ ซึ่งในกรณีของรถเบนท์ลี่ย์รายนี้ ไม่อยู่ในสถานะเช่นนั้นอย่างแน่นอน

“กรณีนี้ถือเป็นประเด็นใหญ่อีกครั้ง ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ และกระทบไปถึงความเชื่อมั้นต่อประชาชนในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ โดยเฉพาะประเด็น การเลือกปฏิบัติ หรือ การไม่ปฏิบัติต่อคนที่มีฐานะต่างกันด้วยมาตรฐานเดียวกัน และผมก็สงสัยว่า ทางตำรวจเอง เคยมีบทเรียนมาแล้วจากคดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา ซึ่งสั่นคลอนความเชื่อมั้นต่อองค์กรตำรวจไปจนถึงอัยการอย่างมาก แต่ทำไมจึงปล่อยให้มีเหตุการณ์คล้ายกันเกิดขึ้นอีก” ทนายชำนัญ ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น