xs
xsm
sm
md
lg

รู้จักช้างกันดีหรือยัง...มีอีกหลายอย่างเกี่ยวกับช้างที่ยังไม่รู้! อย่าเรียกผู้หญิงว่าแม่ปะแหรก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



“ช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างหรือเปล่า ช้างมันตัวใหญ่ไม่เบา จมูกยาวๆเรียกว่างวง มีเขี้ยวใต้งวงเรียกว่างา มีหูมีตาหางยาว”

เป็นเนื้อร้องเพลงสำหรับเด็กที่สอนให้เด็กเริ่มรู้จักช้าง ที่เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมือง และเป็นสัญลักษณ์ของชาติไทยที่เคยอยู่ในธงชาติมาแล้ว ทั้งเป็นกำลังสำคัญในการศึกสงครามป้องกันบ้านเมือง เป็นแรงงานสำหรับงานหนักที่เกินกำลังของมนุษย์

แต่ช้างก็ไม่ได้มีแค่งวง งา มีหูมีตาหางยาวเท่านั้น แต่ยังมีคำที่เกี่ยวกับช้างอีกมาก ต่างจากสัตว์อื่นๆ อย่างเช่น

คำเรียกช้างก็มีอยู่หลายคำ ทั้ง กุญชร คชสาร คชาชาติ และยังมีคำที่ไม่ค่อยรู้จักกันอีกมาก เช่น ดมไร พารณ กเรนทร แปลว่าช้างทั้งนั้น ไม่เชื่อไปเปิดปทานุกรมดู

ช้างตัวผู้ ถ้ามีงายาว เรียกว่า ช้างพลาย ถ้ามีงาสั้น เรียกว่า ช้างสีดอ งาช้างยังมีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง เช่น ทนต์ ทันต์ นาคทนต์ ฯลฯ เนื้อที่หุ้มโคนงา เรียกว่า สนับงา

ช้างตัวผู้ถ้าเกิดต่อมน้ำมันที่ขมับบวมโต มีน้ำใสๆไหลออกมา มีกลิ่นสาบฉุน เรียกว่า ช้างตกมัน จะมีอารณ์รุนแรง ดุร้าย เปรียบกับคนก็เรียกว่า หน้ามืด แม้แต่ควาญคนสนิทก็ทำร้ายได้

ช้างตัวเมีย เรียกว่า ช้างพัง ตามธรรมดาช้างตัวเมียจะไม่มีงา แต่ถ้าตัวเมียเกิดมีงาขึ้นมาถือว่าเป็นงาอาถรรพ์ หรือของกายสิทธิ์ เรียกว่า ขนาย

งวง คือจมูกช้าง ตรงปลายยังมีจะงอยสำหรับจับของได้ ทำให้มีอีกชื่อที่เรียกว่า หัตถ์ อวัยวะส่วนที่โคนงวงจะมีลักษณะเหมือนนูนเหมือนลูกโป่ง เรียกว่า น้ำเต้า

ถ้าช้างอยู่รวมกันมากเรียกว่า โขลงช้าง แต่ผู้นำโขลงกลับไม่ใช่ตัวผู้ เป็นตัวเมียที่ตัวใหญ่ที่สุด มีอายุมากและมีประสบการณ์มาก เรียกว่า จ่าโขลง หรือ แม่แปรก อ่านว่า แม่ ปะ แหรก แต่อย่าไปเรียกผู้หญิงที่เป็นหัวหน้ากลุ่มว่าแม่ปะแหรกเข้าเชียวนะ เดี๋ยวจะหาว่าไม่เตือน

ตะพุ่นหญ้าช้าง คือคนที่ถูกเกณฑ์ให้เกี่ยวหญ้าเลี้ยงช้าง และถือเป็นโทษอาญาหลวงสมัยหนึ่ง ส่วนคนที่มีหน้าที่เลี้ยงช้างหลวง เรียกว่า คชาชีพ

จตุลังคบาท คือพลประจำ ๔ เท้าช้างสำหรับช้างทรงของพระมหากษัตริย์หรือพระมหาอุปราชเวลาออกสงคราม ป้องกันข้าศึกไม่ให้เข้าใกล้ประชิดช้างทรง

สรรพนามที่เรียกช้างก็ยังแบ่งเป็น ๒ พวก คือช้างป่าที่ยังไม่ได้รับการฝึกหัด ใช้คำว่า ตัว แต่ถ้าขึ้นเพนียดเข้ารับการฝึกหัดแล้ว เรียกว่า เชือก

ในประกาศรัชกาลที่ ๔ ฉบับที่ ๓๖ ณ วันจันทร์ เดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ ปีขาล พ.ศ.๒๓๙๗ เรื่อง “ประกาศสรรพนามสำหรับช้างม้า” มีความว่า

“ด้วยขุนมหาสิทธิโวหาร รับพระบรมราชโองการใส่เกล้าฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับสั่งว่า ให้หมายประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ฝ่ายทหาร พลเรือน ฝ่ายหน้าฝ่ายใน และพระบวรราชวังฝ่ายหน้า ฝ่ายในทั้งปวง ให้จงรู้ทั่วกันว่า ช้างม้านี้เป็นสัตว์มีสกุล ไม่ควรเรียกว่าตัวหนึ่งสองตัว ให้เรียกว่าช้างหนึ่งสองช้าง ม้าหนึ่งสองม้า แต่สัตว์เดียรัจฉานนอกจากช้างม้า ให้เรียกว่าตัวหนึ่งสองตัว อย่าให้ว่าสองชะมด สองเต่า สองปลา กับคำจำเป็นคำผวน เหมือนหนึ่งต้นไม้ ๘ ต้น ๙ ต้น หรือแปดเตา แปด

ตัวอย่างนี้ ถ้าจะกราบบังคมทูลพระกรุณา ให้กราบบังคมทูลพระกรุณาอย่างอื่น อย่าให้เป็นคำผวนได้ ให้กรมมหาดไทย กลาโหม สัสดีหมายให้รู้ทั่วกันตามรับสั่ง”

แต่ตอนนี้ ช้าง เป็น เชือก ส่วน ม้า ก็ยังเป็น ตัว ไม่เป็นไปตามรับสั่ง




กำลังโหลดความคิดเห็น