xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎาเผยคลิป ‘ต้นหอม’ มีคราบสีฟ้าไม่ใช่ย้อมสี เป็นสารเคมีทางการเกษตรตกค้าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา ออกมาให้ความรู้กรณีต้นหอมมีคราบสีฟ้าไม่ใช่การย้อมสี แต่เป็นสารเคมีทางการเกษตรที่ตกค้างอยู่ แนะนำให้ล้างออกให้มากที่สุดก่อนนำไปรับประทาน

วันนี้ (8 ม.ค.) เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” หรือ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้ระบุข้อความว่า “ต้นหอมไม่ได้ย้อมสีฟ้า แต่เป็นสารเคมีทางการเกษตรที่ตกค้างอยู่ครับ" จริงๆ เรื่องนี้ก็เคยพูดหลายครั้งแล้วนะครับ แต่วันนี้ก็มีคลิปวิดีโอใหม่มาอีกแล้ว จากเพจสมุทรปราการ (ดูhttps://fb.watch/hVSW0oqOmW/) ในคลิปเหมือนมีลูกค้าที่ซื้อต้นหอม แล้วมีผงสีฟ้าอยู่บนต้น เอามือลูบแล้วสีฟ้าก็ติดตามมือมา เลยเตือนภัยว่า มันผสมสีมา คนกินระวังอันตรายด้วย จริงๆ แล้วสีฟ้าพวกนี้เป็นสารเคมีทางการเกษตร เช่น สารป้องกันเชื้อรา ที่เขาใช้ฉีดพ่นบนพืชผักอย่างต้นหอมครับ ซึ่งแม้จะไม่ค่อยมีความเป็นพิษ แต่ก็ควรจะล้างออกให้มากเท่าที่มากได้นะครับ ดูรายละเอียดในโพสต์เก่า ที่ผมเคยเขียนไว้ก่อนหน้านี้นะครับ

(รีโพสต์) "สีฟ้าบนต้นหอม ไม่ได้มาจากพ่นสี .. แต่น่าจะมีสารเคมีตกค้าง" มีการแชร์คลิปวิดีโอถึง "ต้นหอม" ที่พบว่ามีคราบสีฟ้าๆ อยู่ตามใบ และเสียงในคลิปบอกว่า "มันน่าจะเป็นการพ่นสี ให้ต้นหอมดูสด ดูเขียว เป็นการกระทำที่เห็นแก่ตัวมาก" เป็นไปได้เหรอที่จะมีต้นหอมพ่นสี คำตอบคือ ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย ไม่มีใครมาเสียเวลาพ่นสีกับผักพื้นๆ อย่างต้นหอมขายหรอกครับ .. ที่เป็นไปได้มากกว่าคือ พวกสารเคมีที่ใช้ในการเกษตรมันตกค้าง

เรื่องทำนองนี้เคยเป็นข่าวมาแล้ว เช่น กรณีที่ชาวบ้านจังหวัดสมุทรปราการไปซื้อต้นหอม แล้วมือที่จับใบต้นหอมมีสารสีฟ้าติดมือมาด้วย เพจ สมุทรปราการ (ดู https://fb.watch/hVSW0oqOmW/)พวกสารสีฟ้าที่ตกค้างในต้นหอมนี้มีคำอธิบายจากเกษตรกร (จาก https://kasetgo.com/t/topic/806) ว่าอาจจะเป็นพวกสารเคมีทางการเกษตรที่ใช้ใส่ลงไป แล้วตกค้างอยู่ ล้างออกไม่หมด เช่น ปุ๋ยเม็ดเคมี (ที่สีฟ้า) หรือสารป้องกันกำจัดโรคพืช ตัวอย่างเช่น สารโปรพิเนบ และสารคอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ ซึ่งถ้ารับประทานเข้าไปเพียงเล็กน้อยก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้าร่างกายได้รับในปริมาณมาก ก็อาจจะเป็นอันตรายได้ (ข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมี 2 ตัวหลังนี้อยู่ด้านล่างของโพสต์)  
ดังนั้น เมื่อซื้อผักสดอย่าง ต้นหอม มาแล้วเจอลักษณะที่ผิดปกติ เช่น มีสารสีฟ้าอยู่บนผัก ก็ควรล้างออกด้วยน้ำเปล่าให้มากที่สุด (หรือแช่น้ำที่ละลายผงเบกกิ้งโซดา ก่อนจะไปล้างออกด้วยน้ำเปล่า) เพื่อให้มั่นใจว่าไม่ได้รับประทานเอาสารเคมีที่ตกค้างเข้าไปในร่างกายครับ

โปรพิเน็บ (propineb) เป็นสารกำจัดเชื้อรา carbamate ออกฤทธิ์ให้ผลทางด้านป้องกันโรคพืชที่เกิดตามใบ สารตกค้างออกฤทธิ์อยู่ได้นานและกำจัดไรได้ด้วย มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 8,500 มก./กก. ทางผิวหนัง มากกว่า 1,000 มก./กก. พืชที่ใช้ กล้วย ส้ม ฝ้าย องุ่น มันฝรั่ง ข้าว ชา มะเขือเทศ ยาสูบ ผักต่างๆ หอม กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง ไม้ผล ไม้ดอกและไม้ประดับทั่วไป ถ้าเข้าตา จมูกหรือถูกผิวหนัง จะมีอาการคัน เป็นผื่นแดง ถ้ากินเข้าไปจะปวดศีรษะ เซื่องซึม คลื่นเหียน อาเจียน ท้องร่วง อ่อนเพลีย

คอปเปอร์ ไฮดรอกไซด์ (copper hydroxide) เป็นสารกำจัดเชื้อราอนินทรีย์ (inorganic) ออกฤทธิ์ให้ผลทางด้านป้องกันโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย มีพิษเฉียบพลันทางปาก (หนู) 1,000 มก./กก. อาจทำให้ผิวหนังเกิดอาการระคายเคือง พืชที่ใช้ กล้วย ถั่วต่างๆ บรอกโคลี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก โกโก้ แตงแคนตาลูป แครอท ขึ้นฉ่าย เชอร์รี ส้ม กาแฟ แตงกวา องุ่น มะม่วง พริกไทย มะเขือ ฟักทอง สตรอว์เบอร์รี แอปเปิล มะเขือเทศ ผักกาดหอม มันฝรั่ง แตงโม และข้าวสาลี ทำให้ผิวหนัง ดวงตา และระบบหายใจเกิดอาการระคายเคือง”

คลิกชมโพสต์ต้นฉบับ



กำลังโหลดความคิดเห็น