ส่อง กทม.จ้างเอกชนเดินรถเมล์ฟรี BMA Feeder 2 เส้นทาง ใช้รถโดยสารไฟฟ้า 20 ที่นั่ง ยาวนาน 21 เดือน ด้วยงบประมาณ 37 ล้านบาท หลังผู้ว่าฯ ชัชชาติระบุเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษมไม่คุ้ม เอาไปทำ Shuttle Bus หรือทำเรื่องท่องเที่ยว พบที่ผ่านมาเอาไปช่วยงานกาชาด ทำรอรถนานกว่าปกติ ล่าสุดวิ่งรับ-ส่งนักท่องเที่ยวตลาดน้ำย่านตลิ่งชันช่วงวันหยุด
วันนี้ (5 ม.ค.) จากกรณีที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงการเดินเรือคลองผดุงกรุงเกษม ซึ่งได้หยุดเดินเรือไปก่อนหน้านี้ ในการแถลงข่าวที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า ที่ผ่านมามีผู้โดยสารน้อยมาก แต่ค่าจ้างเดินเรือยังมีอยู่ มีค่าใช้จ่ายประมาณ 2.4 ล้านบาทต่อเดือน มีผู้ใช้บริการเพียง 14,000 คนต่อเดือน เมื่อคิดเทียบกับปริมาณคนใช้แล้วค่าบริการต่อคนค่อนข้างสูงมาก ประมาณ 171 บาทต่อคน จะมีการพิจารณาว่าจะทำต่อไหม ถ้าทำต่อจะคุ้มค่าไหม หรือเอาเงินที่จ่ายไปทำอย่างอื่นที่คุ้มค่ากว่านี้ได้ไหม
"อาจเป็นรูปแบบใหม่ที่กระตุ้นให้คนใช้บริการมากขึ้น เช่น Shuttle Bus หรือทำเรื่องท่องเที่ยว จะต้องมีการหารือแนวทางดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องเหตุและผลว่ามันคุ้มทุนจริงไหม หรือทำให้เสียเงินโดยอาจจะไม่จำเป็น เพราะเส้นทางไม่ได้ผ่านชุมชนมาก ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีสถานการณ์โควิด นักท่องเที่ยวน้อยลง และมีการลดน้ำทำแก้มลิง ส่งผลให้เดินเรือไม่ได้ ดังนั้น หากจะทำต้องดูเรื่องความคุ้มทุนด้วย เนื่องจากเป็นเงินภาษีของพี่น้องประชาชน ทางเราก็ทบทวนรูปแบบอยู่ เพื่อให้ตอบโจทย์และมีความคุ้มค่ามากที่สุด ส่วนสภาพภูมิทัศน์ริมคลองผดุงกรุงเกษม เข้าใจว่าเป็นเรื่องของการยังไม่ส่งมอบงาน ดังนั้น ผู้รับเหมายังต้องดูแลต้นไม้ ก่อนส่งมอบงานต้องกำชับดูแลต้นไม้ให้ดีก่อน" นายชัชชาติระบุ
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้กรุงเทพมหานครประกาศทดลองเดินรถบัสไฟฟ้าในเส้นทางส่งเสริมเศรษฐกิจท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าบางขุนนนท์ กับการเดินทางระหว่างตลาดน้ำ 4 แห่งในเขตตลิ่งชัน ได้แก่ ตลาดน้ำสองคลอง ตลาดน้ำตลิ่งชัน ตลาดน้ำคลองลัดมะยม และตลาดน้ำวัดสะพาน เข้าไว้ด้วยกัน โดยใช้รถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้าขนาด 20 ที่นั่งที่ชื่อว่า BMA Feeder เดินรถในลักษณะเป็นวงกลม ให้บริการฟรีช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ออกจากสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน บางขุนนนท์ ระหว่างเวลา 09.00-16.45 น. เริ่มวันเสาร์ที่ 31 ธ.ค. 2565 ปีที่ผ่านมา
สำหรับรถบัสไฟฟ้าฟรีที่ชื่อว่า BMA Feeder เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 เส้นทาง B2 ดินแดง - BTS สนามเป้า ระยะทาง 10.1 กิโลเมตร และเส้นทาง B3 ชุมชนเคหะร่มเกล้า - ARL ลาดกระบัง ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร โดยให้บริการทุกวัน เวลา 06.00-20.00 น. โดยมีบริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ EVT เป็นผู้ได้รับสัญญาจากสำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร ในการจ้างเดินรถให้บริการฟรี 2 เส้นทาง ผ่านการประกวดราคาจ้างโครงการให้บริการนำส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งทางรางโดยรถเวียน (Shuttle Bus) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 2 เส้นทาง โดยเป็นการว่าจ้างเอกชนเข้ามาเดินรถให้เป็นระยะเวลา 21 เดือน
ย้อนกลับไปในการประกวดราคาจ้างโครงการให้บริการนำส่งผู้โดยสารเข้าสู่ระบบขนส่งทางรางโดยรถเวียน (Shuttle Bus) ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กำหนดยื่นซองวันที่ 30 พ.ย. 2564 ปรากฏว่ามีเอกชนที่สนใจยื่นข้อเสนอและประกวดราคาจำนวน 5 ราย จากที่ซื้อซองเอกสารจำนวน 10 ราย ได้แก่ บริษัท บางกอกยูเนียนเซอร์วิส 524 จำกัด, บริษัท ธนัชวิชญ์ แทรเวล กรุ๊ป จำกัด, บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ EVT, บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด และบริษัท คุณอนันต์ แอนด์ เค-แมน เซอร์วิส จำกัด
ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 กรุงเทพมหานครประกาศให้ บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ EVT เป็นผู้ชนะการเสนอราคา โดย เส้นทางดินแดง-BTS สนามเป้า เสนอราคา 19,900,000.46 บาท จากราคากลาง 27,056,697.31 บาท (ต่ำกว่าราคากลาง 7,156,696.67 บาท) เส้นทางชุมชนเคหะร่มเกล้า - ARL ลาดกระบัง เสนอราคา 17,777,777 บาท จากราคากลาง 24,672,675.25 บาท (ต่ำกว่าราคากลาง 6,894,898.25 บาท) รวมมูลค่าเสนอราคาทั้งสองโครงการที่ EVT ได้รับ 37,677,777.50 บาท
สำหรับ บริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ EVT ให้บริการเดินรถโดยสารแบบไม่ประจำทางด้วยพลังงานไฟฟ้าให้แก่หลายหน่วยงาน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การไฟฟ้านครหลวง โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช ปัจจุบันมีลูกค้าองค์กรไม่ต่ำกว่า 10 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ใช้บริการการเดินรถของ EVT
อย่างไรก็ตาม การประกวดราคาดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเปลี่ยนผ่านผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จาก พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เป็น นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อีกทั้งเกิดความล่าช้ากว่าสัญญาที่กำหนดจะเปิดให้บริการตั้งแต่เดือน ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 แต่ภายหลังสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ตัวรถจำนวน 11 คันได้ผลิตเสร็จเรียบร้อย จากนั้นได้มีการทดสอบระบบและการเดินรถ กระทั่งพร้อมเปิดให้บริการทั้ง 2 เส้นทาง โดยแบ่งออกเป็นเส้นทาง B2 ดินแดง-BTS สนามเป้า จำนวน 6 คัน และเส้นทาง B3 ชุมชนเคหะร่มเกล้า-ARL ลาดกระบัง จำนวน 5 คัน
โดยการเดินรถดังกล่าวกำหนดระยะเวลาดำเนินการบริหารจัดการเดินรถ 630 วัน (21 เดือน) นับจากวันที่กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง มีหนังสือแจ้งให้เริ่มให้บริการเดินรถโดยสาร โดยในวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ที่เดินรถทุก 30 นาที กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการจราจรและขนส่ง สามารถปรับเปลี่ยนเส้นทางในช่วงวันเสาร์และวันอาทิตย์ เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวในเส้นทางอื่นที่มีระยะใกล้เคียงกันแทนได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อกรุงเทพมหานคร
ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานครได้นำรถโดยสารปรับอากาศพลังงานไฟฟ้า BMA Feeder ไปให้บริการรับ-ส่งประชาชนที่จอดรถที่สนามกีฬาแห่งชาติ และสวนป่าเบญจกิติ เส้นทางละ 2 คัน เพื่อมาเที่ยวงานกาชาดที่สวนลุมพินี ระหว่างวันที่ 8-18 ธ.ค. 2565 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เวลา 11.00-24.00 น. ส่งผลทำให้ต้องปรับเปลี่ยนเวลาการให้บริการเดินรถโดยสารเส้นทาง ดินแดง-BTS สนามเป้า ในวันธรรมดา จากเดิมช่วงเวลา 06.00-09.00 น. และ 16.00-19.00 น. เดิมออกทุก 15 นาที เป็นออกทุก 30 นาที กระทั่งวันที่ 19 ธ.ค. 2565 จึงกลับมาเดินรถตามปกติ