xs
xsm
sm
md
lg

“ศศิน” ย้อนโพสต์เก่า กรมอุทยานฯ ใช้เงิน 3 กิโลฯ รักษาเก้าอี้ หวั่นองค์กรล่มสลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แชร์โพสต์เก่าเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ปมการทุจริตของกรมอุทยานฯ ชี้ใช้เงิน 2-3 กิโลฯ เพื่อรักษาตำแหน่ง ห่วงองค์กรล่มสลาย

จากกรณีตำรวจ ป.ป.ป.บุกรวบอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าฯ เรียกรับเงินวิ่งเต้น-สั่งลูกน้องส่งส่วย พร้อมยึดเงินสดให้ห้องทำงาน 5 ล้านบาท ด้านเจ้าตัวอ้างไม่รู้ว่าในซองมีอะไร

อย่างไรก็ตาม วันนี้ (28 ธ.ค.) นายศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ออกมาแชร์โพสต์เก่าจากเพจ ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมกับระบุข้อความว่า

“เมื่อสามปีที่แล้ว ผมสามารถให้ข้อคิดเห็นแบบนี้ในเพจของกรมอุทยานฯ ได้ โดยระดับนโยบายก็ไฟเขียวให้ความเห็นแบบนี้ลงได้

เพราะเดาไว้ว่าระบบทุจริตเรื่องตำแหน่งน่าจะต้องกลับมาหลังจากซาไปนาน”

โดยโพสต์ดังกล่าวมีเนื้อหาว่า

“วิเคราะห์ธรรมาภิบาล และสภาพปัญหาของการเข้าสู่ตำแหน่งของ#หัวหน้าพื้นที่อนุรักษ์

ในสายตาคนนอก มีเสียงลือเล่าอ้างว่า... กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีชื่อด้านการทุจริตเป็นอย่างมาก

“มีข่าวแว่วมาให้ได้ยินตลอดว่าตำแหน่งหัวหน้าอุทยานแห่งชาติดังๆ ที่มีนักท่องเที่ยวมาใช้บริการเยอะๆ มักมีผลประโยชน์แอบแฝง ต้องใช้เงินสองสามกิโลฯ เพื่อแลกตำแหน่ง แล้วก็ส่งต่อกันไปเป็นทอดๆ ในระดับที่สูงขึ้นเรื่อยๆ”

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร สะท้อนเสียงของ “ข่าวลือ” ที่ได้ยินมาตลอดช่วงการทำงานอนุรักษ์ผืนป่า พร้อมอธิบายว่า หนึ่งกิโลฯ คือหนึ่งล้านบาท

ศศินขยายความต่อว่า ผลประโยชน์ไม่ได้จบแค่เรื่องการได้มาซึ่งตำแหน่ง แต่ขยับต่อไปถึงการเรียกเงินเพื่อรักษาตำแหน่งให้อยู่ได้นานๆ

เป็นต้นว่า หากอยากอยู่นานก็ต้องจ่ายเพิ่ม...

ต่อเสียงสะท้อนที่ได้ยินมา ในทัศนะของ ศศินมองว่า นี่คือกระบวนการบ่อนทำลายงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรุนแรง เพราะแทนที่เป้าหมายจะเป็นเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ แต่กลับเป็นการมุ่งหาเงินมาเพื่อรักษาไว้ซึ่งตำแหน่ง

“เราได้ยินเรื่องทำนองนี้มาตลอด ไม่ทราบหรอกว่าจริงหรือเท็จ แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงผมคิดว่าพอนานเข้ามันจะกลายเป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในระยะยาวองค์กรต้องล่มสลายแน่ๆ”

อย่างไรก็ตาม นับเป็นโชคดีที่ว่า “การเปลี่ยนแปลง” ที่ศศินพูดถึงได้เกิดขึ้นแล้ว ดังที่เราได้ฟังกันจากข่าวเรื่องการเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่า

อยู่ดีๆ การจัดเก็บเงินรายได้อุทยานแห่งชาติก็เพิ่มมากขึ้นทั้งที่จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้ต่างจากเดิม สิ่งนี้คือภาพสะท้อนของความไม่ปกติในอดีต แต่เมื่อได้รับการแก้ไข ผลลัพธ์ที่ได้จึงมีมูลค่ามหาศาล...

มูลค่ามหาศาล... ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงแค่เงินตรา แต่ยังรวมถึงการจัดการบำรุงรักษาทรัพยากรอันเป็นพันธกิจหลักของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ที่ต้องนำความสำเร็จด้านนี้มาเป็นอันดับแรก

และเป็นสัญญาณที่บอกว่า การทุจริตได้ถูกทำลายลงบ้างแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในทัศนะของ ศศิน กรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นอาจไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะนำความยั่งยืนไปสู่การบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล เพราะเงื่อนไขการพัฒนาองค์กรอย่างมีศักยภาพจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างบุคลากรจากภายในหลายระดับ

เริ่มจากพื้นฐานคือ ผู้พิทักษ์ป่า หรือเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติงาน ที่ต้องให้ความสำคัญตั้งแต่เริ่มต้น

“รวมไปถึงปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอย่างเรื่อง มีชื่อแต่ไม่มีตัวตนจริง ต้องแก้ให้หมด”

ระดับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ คือตำแหน่งชี้เป็นชี้ตายในพื้นที่ หากมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ก็จะเกิดชนวนของระเบิดเวลาทันที

ระดับผู้บริหาร เช่น อธิบดีกรม คืออีกคีย์สำคัญ เพราะมีอำนาจต่อการโยกย้ายตำแหน่ง

“คนเป็นอธิบดีต้องเลือกคนจากผลงานไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ สมมติว่าเลือกคนนี้มาเพราะเป็นคนสนิทของตัวเองหรือไว้ใจเรื่องผลประโยชน์ เราจะได้บุคลากรที่ไม่มีความรู้จริงไปทำงาน”

เพราะการหาคนให้ถูกกับงานคือหัวใจสำคัญที่สุดของการรักษาทรัพยากร” ศศินกล่าวย้ำ

ย้อนกลับไปที่เรื่องเงินรายได้ที่ปัจจุบันมีการเปิดเผยรายละเอียดให้สาธารณชนได้ทราบ ประเด็นนี้ก็เป็นอีกเรื่องสำหรับการตรวจสอบความโปร่งใสองค์กร แต่ต้องได้รับความร่วมมือจากสาธารณชนช่วยกันตรวจสอบ

“ตอนนี้เรามีเงินรายได้เท่าไหร่ ถ้าต่อไปเงินรายได้มันลดลง สังคมต้องช่วยกันตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ แต่ต้องไม่ใส่ร้าย”

นอกจากนี้ ในอีกประเด็นหนึ่งที่ ศศิน เห็นว่าควรให้ความสำคัญไม่แพ้เรื่องใด คือ การพัฒนาระบบการคัดสรรคนเข้ามาเป็นหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ

“กระบวนการต้องมีความเข้มข้นมากกว่าเดิม เช่น หัวหน้าอุทยานแห่งชาติต้องผ่านการฝึกอบรม ต้องมีประสบการณ์ทำงานมาก่อน มีความรู้ความสามารถสอดรับกับพื้นที่ หากขาดคุณสมบัติใดไป ก็ไม่ควรอนุมัติอนุญาตให้เข้ามาทำงานในตำแหน่งนี้”

ศศินทิ้งท้ายว่า แม้การดูแลทรัพยากรธรรมชาติจะเป็นหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แต่องค์กรอื่นๆ อย่างเอ็นจีโอหรือสาธารณชน คือกลไกสำคัญในการช่วยตรวจสอบ เป็นหูเป็นตา เพื่อให้งานอนุรักษ์สามารถดำเนินไปได้บนหลักธรรมาภิบาลที่ถูกต้อง”
กำลังโหลดความคิดเห็น