วันที่ ๒๘ ธันวาคมเป็นวัน “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” และยังเป็นวันหยุดราชการของภาคตะวันออก ๘ จังหวัดด้วย เนื่องจากภาคตะวันออกเป็นเส้นทางและฐานพักแรมที่พระเจ้าตากสินทรงรวบรวมพลก่อนที่จะยกทัพไปกอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืนสู่อิสรภาพ
เดิมมีกำหนดจะให้วันพระเจ้าตากสินเป็นวันที่ ๒๗ ธันวาคม แต่ ส.ส.จังหวัดธนบุรีท่านหนึ่งก็คัดค้านและแสดงหลักฐานจนกระทรวงวัฒนธรรมต้องเปลี่ยนตามคำเรียกร้องเป็นวันที่ ๒๘ ธันวาคม และท่านผู้นี้ยังเรียกร้องให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินขึ้น แต่เมื่อพูดกับใครก็มีแต่คนเบือนหน้าหนี เกรงว่าจะเป็นเรื่องกระทบกระเทือนราชวงศ์จักรี แต่ด้วยความมุ่งมั่นวิ่งเต้นทุกวิถีทางไม่ยอมลดละ พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงเกิดขึ้นที่วงเวียนใหญ่
ส.ส.ท่านนี้ก็คือ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ คนเกิดที่หลังวัดอมรินทราราม อำเภอบางกอกน้อย ขณะยังอยู่ในจังหวัดธนบุรี เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ ๘ ไปศึกษาต่อหลักสูตรครูมัธยมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจบในปี ๒๔๖๑ ได้เป็นครูสอนวิชาประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ นายทองอยู่มีความศรัทธาต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างมาก หวังจะให้มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ของมหาราชผู้กู้ชาติที่ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง ขึ้นที่จังหวัดธนบุรี จึงสอบถามความเห็นบรรดาเพื่อนครู แต่เนื่องจากในขณะนั้นยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช บรรดาเพื่อนครูเกรงว่าจะกระทบกระเทือนกับราชวงศ์จักรี จึงต่างพากันเดินหนี
ในปลายปี ๒๔๗๖ ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นเป็นครั้งแรก นายทองอยู่ได้ลงสมัครเป็นผู้แทนจังหวัดธนบุรี และได้รับเลือกตั้งเข้าสภา ส.ส.ทองอยู่จึงนำความฝันเดิมเปิดประชุมขอความเห็นจากผู้นำท้องถิ่น แล้วนำเรื่องเสนอต่อรัฐบาล แต่เรื่องก็เงียบหายไป จึงยื่นหนังสือถึง พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ว่าถ้ารัฐบาลไม่สนใจ ประชาชนก็จะระดมทุนกันสร้างเอง พร้อมทั้งพาคณะเข้าเฝ้า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการ ร.๘ เพื่อขอพระกรุณาสนับสนุนในการสร้าง
นายทองอยู่ติดตามเรื่องพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินตลอดที่เป็น ส.ส. ๒ สมัย เมื่อมียุบสภาในปี ๒๔๘๑ จึงหันไปลงการเมืองท้องถิ่น เป็นเทศมนตรีและประธานสภาเทศบาลนครธนบุรีระหว่างปี ๒๔๘๓-๒๔๙๒ ก็ยังวิ่งติดตามเรื่องพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมาตลอด ต่อมาประสบปัญหาสงครามโลกครั้งที่ ๒ จนหลังเกิดกบฏแมนฮัตตัน จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีถูกจับเป็นตัวประกันไว้ใน ร.ล.ศรีอยุธยา แต่ก็ถูกถล่มด้วยระเบิดจากเครื่องบินจนเรือจม จอมพล ป.ต้องว่ายน้ำไปขึ้นหลบในท้องพระโรงพระราชวังเดิมของพระเจ้าตากสินจึงรอดชีวิต จากนั้นจึงยอมตั้งคณะกรรมการดำเนินงานจัดสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ และอนุมัติงบประมาณให้ ๒ แสนบาท แต่การสร้างต้องใช้งบถึง ๕ แสนบาท นายทองอยู่และคณะจึงต้องรณรงค์หาเงินบริจาคอีก กว่าจะสำเร็จมีพิธีเปิดได้ในวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๔๙๗ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระเจ้าตากสิน หลังจากที่นายทองอยู่ต้องใช้เวลากว่า ๒๐ ปี และในวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๔๙๗ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสวยราชย์ปราบดาภิเษก จึงมีรัฐพิธีเปิดอีกครั้ง โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปวางพวงมาลาถวายสักการะ ต่อมาคณะรัฐมนตรีจึงกำหนดให้วันที่ ๒๘ ธันวาคมเป็น “วันสมเด็จพระเจ้าตากสิน” และถวายพระราชสมัญญานามว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” เพื่อยกย่องพระองค์เป็นวีรบุรุษของชาติ ผู้กอบกู้เอกราชให้ชาติไทย
“วันที่ ๒๘ ธันวาคม” นี้ก็เหมือนกัน เป็นผลงานของนายทองอยู่ พุฒพัฒน์อีกเรื่องหนึ่ง แต่เดิมทางราชการจะกำหนดให้วันที่ ๒๗ ธันวาคมเป็นวันเสวยราชย์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่นายทองอยู่เห็นว่าวันนี้น่าจะคลาดเคลื่อนจึงต้องวิ่งเต้นอีกครั้ง จนกระทั่งได้หนังสือตอบรับจากปลัดกระทรวงวัฒนธรรมมาถึงก่อนวันประกาศอย่างเป็นทางการอย่างฉิวเฉียด มีความว่า
ที่ ๒๐๐๘/๒๔๙๗กระทรวงวัฒนธรรม
๒๑ ธันวาคม ๒๔๙๗
เรื่อง กำหนดวันถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
เรียนนายทองอยู่ พุฒพัฒน์
อ้างถึงหนังสือลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๔๙๗
ตามที่ท่านแจ้งไปว่าวันถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ซึ่งทางการกำหนดไว้ตรงกับวันที่ ๒๗ ธันวาคม โดยถือเอาวันเสวยราชย์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีเป็นหลักซึ่งอาจจะคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ซึ่งท่านได้ไปติดต่อขอให้ พระยาบริรักษเวชการ นายกสมาคมโหร พิจารณาแล้ว ยืนยันว่าตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคมนั้น
กระทรวงวัฒนธรรมได้ส่งเรื่องไปให้กรมศิลปากรพิจารณาแล้ว กรมศิลปากรรายงานว่า วันเสวยราชย์ของพระเจ้ากรุงธนบุรีเท่าที่คำนวณไปแล้วนั้นยังคลาดเคลื่อนอยู่ และตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม ตามที่ท่านได้แจ้งไป กระทรวงวัฒนธรรมขอขอบคุณในความหวังดี และเอาใจใส่ช่วยเหลือทางราชการของท่านทั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
วิเชียรแพทยาคม
(หลวงวิเชียรแพทยาคม)
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
นอกจากเรื่องพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว ในปี ๒๔๙๘ หลังจากที่จอมพล ป.พิบูลสงครามนำคณะทัศนาจรรอบโลกดูงานประชาธิปไตย กลับมาก็นำวิธีการพูดปราศรัยที่ไฮด์ปาร์คของอังกฤษมาเปิดให้คนไทยได้ระบายความรู้สึกออกมาบ้าง นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ก็ได้จัดคณะตั้งเวทีปราศรัยขึ้นกลางสนามหลวงในเวลาแดดร่มลมตกของวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๔๙๗ และได้รับเชิญให้ขึ้นพูดเป็นคนแรก จึงได้ฉายาว่า “โต้โผไฮด์ปาร์ค” จุดมุ่งหมายของนายทองอยู่ก็ปรารถนาอยู่อย่างเดียว ขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เลิกบทเฉพาะกาล เลิก ส.ส.ประเภท ๒ เลิกปฏิวัติรัฐประหาร ไม่ว่าจะขึ้นพูดครั้งใดนายทองอยู่ก็เน้นในเรื่องนี้ ทั้งยังประกาศว่าเมื่อถึงปี ๒๕๐๐ ที่ว่าเป็นกึ่งพุทธกาล ก็จะขอลาทางโลกไปอุปสมบทตลอดชีวิต
ไฮด์ปาร์คเรียกคอการเมืองไปชมกันมาก แต่ทว่าไม่ว่าจะดุเดือดเผ็ดร้อนอย่างใดก็ไม่เกิดผลทางการเมือง เป็นได้แค่ความบันเทิงของคอการเมืองเท่านั้น เมื่อเห็นว่าการฉลองครบ ๒๕ พุทธศตวรรษใกล้เข้ามา มีเวลาเหลือน้อยเต็มทีแล้วสิ่งที่เรียกร้องก็ไม่มีท่าทีจะสำเร็จ นายทองอยู่จึงตัดสินใจแลกหมัดแบกกรดไปปักหน้าทำเนียบรัฐบาลในวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ประกาศอดอาหารจนกว่าจะมีการแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีดาวไฮด์ปาร์คส่วนหนึ่งไปร่วมผสมโรงด้วย กลุ่มนี้แม้จะอดอาหารแต่ก็มีแรงด่ารัฐบาลได้ทั้งวันทั้งคืน จอมพล ป.ก็คงรำคาญพวกไฮด์ปาร์คกลุ่มนี้เต็มทน ในเย็นวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์จึงส่งตำรวจกระจายกำลังกันอุ้มนักอดข้าวไปอดต่อในห้องขังฐานกบฏ ซึ่งเรียกกันว่า “กบฏอดข้าว” นายทองอยู่ถูกหิ้วปีกขึ้นศาลในฐานะหัวหน้าคณะ แต่แล้วศาลก็ยกฟ้อง
เมื่อถึงงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ผู้แสวงหาอรหันต์ทางประชาธิปไตยไม่สำเร็จ ก็สละเพศฆราวาส อุปสมบทและจำพรรษาอยู่ที่วัดทองธรรมชาติ ปากคลองสาน ฉันท์อาหารเพลวันละมือจนถึงวันมรณภาพ
นี่ก็เป็นบทบาทของผู้แทนราษฎรที่มุ่งมั่นในอุดมการณ์ ไม่ใช่เข้ามาเพื่อเล่นเกมทางการเมืองโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อความมั่งคั่ง