xs
xsm
sm
md
lg

ภราดล พรอำนวย…คือ ‘สายรุ้ง’ ที่พาดผ่านทุกท่วงทำนองแห่งจิตวิญญาณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภราดล พรอำนวย ผู้ก่อตั้ง North Gate Jazz Co-Op นัก Saxophone นักเดินทาง และคนทำงานภาคประชาสังคม
“ผมว่าสาระสำคัญของ North Gate ก็คือพื้นที่ที่เราใช้เล่นดนตรีครับ แต่ว่าเผอิญพื้นที่ที่เราใช้เล่นดนตรี
มันเป็นองค์ประกอบของความรู้สึกบางอย่าง คือเราให้คุณค่ากับความเต็มเปี่ยมของทุกชีวิต ทุกตัวโน๊ต
ทุกจิตวิญญาณ ที่เรารู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่มีแรงดึงดูดบางอย่าง พาเรามาเจอกัน…

เหมือน ‘สายรุ้ง’ นะครับ คือจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ แต่ว่า มันดึงดูดทุกสายตาไปที่นั่น…”

“…ตอนที่โบกรถเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกนะครับ เป็น Feelling แบบ World Citizen เลย
เป็น ‘คนของโลก’ ที่เดินทางข้ามวัฒนธรรม ข้ามเส้นแบ่งของประเทศต่างๆ มันทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกับคนในโลก เวลาเราเห็นคนในโลกวัฒนธรรมต่างๆ แวะเวียนมา เราอยากอ้าแขนต้อนรับ ให้เขารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่ที่เขามีอิสระมากพอที่จะแสดงออกหรือแชร์ความรู้สึก…เป็น Free jazz Improvisation เลยครับ”


“กรณีโบกรถ ในบางครั้ง ผมก็ต้องไปยืนโบกกลางหิมะตก 5 ชั่วโมง ก็โหดนะ มันทรมานมาก มันไม่ง่ายเลย หรือการที่เราไปนอนอยู่ที่สถานีรถไฟ ที่ไม่ได้มีห้องน้ำ เราก็ทำได้แค่เอาผ้ามาชุบน้ำเช็ดตัว…คือบางสถานการณ์มันทำให้เรา ‘ศิโรราบ’ กับชีวิต ก็คือเรายอมแพ้กับชีวิต คำว่า ‘ยอมแพ้’ ไม่ได้หมายถึงว่ายอมจำนน แต่หมายถึงว่าเราโอบรับความเจ็บปวดของเราเอง เราโอบรับความสิ้นหวังทั้งหมด เพื่อที่เราจะรักตัวเองและรักผู้อื่นอีกสักครั้ง”


ภราดล พรอำนวย ผู้ก่อตั้ง North Gate Jazz Co-Op นัก Saxophone นักเดินทาง และคนทำงานภาคประชาสังคม
เขาคือนักดนตรี นัก Saxophone นักเดินทางโบกรถ นักเขียน จิตรกร อดีตแชมป์เยาวชนกีตาร์คลาสสิค คนทำงานภาคประชาสังคม ผู้มีส่วนร่วมในการระดมข้าวให้กับชุมชนและแคมป์ผู้อพยพ มีส่วนร่วมในการสร้างแบรนด์ YoRice Amazake สาเกหวานปราศจากแอลกอฮอล์ โดยใช้ข้าวหัก มุ่งหวังเพื่อช่วยชาวนาผู้ผลิต 
ทั้งเป็นผู้ร่วมจัดตั้ง ‘ChiangmaiTrust’ องค์กรไม่แสวงผลกำไร ซึ่งมีภารกิจสำคัญคือเรื่องของการใส่ใจสิ่งแวดล้อม การศึกษาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ

ช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา เขาเป็นหนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญของการช่วยระดมทุนเพื่อสร้าง ‘ครัวกลาง’ หรือ ‘ครัวงาน’ 
เพื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบ เยียวยาผู้อื่นในช่วงวิกฤติร่วมกับภาคีต่างๆ
อีกทั้ง ยังนำภาพวาดศิลปะผลงานของตนเอง มาระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสถานการณ์ โควิด-19 ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี

ด้วยความทุ่มเท มีส่วนช่วยเหลืองานด้านสังคมของเชียงใหม่ ในหลากหลายรูปแบบ
ภราดล พรอำนวยชายเจ้าของวาทะข้างต้น จึงไม่เพียงเป็นนักดนตรีแซ็กโซโฟนที่ได้รับการยอมรับ และเป็นเจ้าของร้าน North Gate Jazz Co-Op สถานที่อันเปรียบเสมือนหมุดหมายของนักดนตรีและผู้รักในเสียงดนตรีทั่วโลกได้มาพบปะกัน


ความทรงจำจากการเดินทาง พร้อมกับแซ็กโซโฟนคู่กาย โบกรถจากเชียงใหม่ เข้าสู่ลาว จีน มองโกเลีย ขึ้นรถไฟ Trans-Siberian ผ่านเส้นทางในประเทศต่างๆ 
และยังมีการเดินทางด้วยการโบกรถอีกหลายครั้ง ที่ล้วนมอบประสบการณ์สำคัญและเปี่ยมคุณค่าต่อจิตวิญญาณภายใน

ถ้อยคำที่ชายคนนี้บอกกล่าว จึงมากด้วยสีสัน พริ้วไหวในท่วงทำนอง ตกตะกอนในชีวิต เปี่ยมความตระหนักรู้
และความรับผิดชอบ คำนึงถึงผู้อื่นในสังคม เชื่อในความหลากหลายอันงดงาม


ทั้งหลายทั้งปวง คือสิ่งที่ ‘ภราดล พรอำนวย’ ผู้ให้กำเนิด North Gate Jazz Co-Op นัก Saxophone นักเดินทาง 
และคนทำงานภาคประชาสังคม ถ่ายทอดแก่ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ ในทุกประเด็นที่กล่าวมา

ภราดล พรอำนวย ผู้ก่อตั้ง North Gate Jazz Co-Op นัก Saxophone นักเดินทาง และคนทำงานภาคประชาสังคม
สมดุลแห่งชีวิต : ดนตรี ศิลปะ งานเพื่อสังคม

ถามว่า คุณบริหารจัดการเวลาในชีวิต ระหว่างงานดนตรี ศิลปะ และการทำงานภาคประชาสังคมให้สมดุลกันได้อย่างไร

ภราดลตอบอย่างตรงไปตรงมาว่า “เมื่อได้เห็นคำถามที่ส่งมาให้แล้ว ผมก็ภาวนา ขอให้คืนนี้ฝันแล้วเห็นคำตอบด้วย ( หัวเราะ ) ตอบได้สองลักษณะครับ สองมุมมอง คือ มุมที่ Improvise ไปเลย เวลาที่เราเหนื่อย เราเผชิญกับสถานการณ์คับขัน เราแทบจะทำไปตามสัญชาตญาณเลยครับ ซ้อมดนตรีก็ต้องซ้อม แม้จะมีเวลาแค่ 15 นาทีก็ต้องซ้อมเพราะเดี๋ยวเราจะเล่นไม่ดี


“ส่วนภาคประชาสังคม ก็ถือเป็น สัญชาตญาณ เพราะว่าต้องเท้าความนิดนึงครับ ผมเคยโบกรถเดินทางมาก็ค่อนข้างเยอะ แล้วผมโบกรถแบบที่เรามีต้นทุนค่อนข้างต่ำ พื้นฐานทรัพยากรเรามีน้อย ก็โบกรถ เปิดหมวก เหมือนวนิพก บางทีก็ไปเป็น Homeless ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ผมเคยไปเป็น Homeless อยู่ญี่ปุ่น ตั้ง 2-3 เดือน นอนตามสถานีรถไฟ ความรู้สึกตรงนั้นก็สะท้อนได้สองมุม คือ มุมที่เราต้องอดทน ทำไปตามความเชื่อความฝัน
กับอีกมุมที่ ‘เฮ้ย! มีหลายคนนะที่มาช่วยเรา ทั้งที่เราไม่รู้จักกัน’ มันสะท้อนมุมที่ว่า ตัวเราคนเดียว เราทำความฝันไม่สำเร็จ มันจำเป็นที่เราต้องได้รับความช่วยเหลือจากชีวิตอื่นๆ รอบๆ ตัวเรา


“ดังนั้น ก็เกิดสำนึกบางอย่างว่า มันคงจะดีนะที่นอกจากเราจะทำความฝันตัวเองแล้ว เรายังไปช่วยทำความฝันของคนอื่นๆ 
ด้วย ด้วยจิตสำนึกตรงนี้ เมื่อมีภารกิจอะไรที่เรารู้ว่า เราพอที่จะสามารถหยิบยื่นเวลาหรือโอกาส หรือทรัพยากร ทำให้ความฝันของคนอื่นเป็นจริงได้ หรือว่าแบ่งเบาภาระ หรือความเดือดร้อนขาดแคลนของคนอื่นได้ เราก็ไม่ลังเลที่จะตัดสินใจเดินไปทางนั้นครับ” ภราดลเปรียบเปรยได้อย่างเห็นภาพ


YoRice Amazake อีกพันธกิจที่ร่วมผลักดัน

ภราดลยกตัวอย่างกรณีของการทำ YoRice Amazake ( หมายเหตุ : สาเกแบบไร้แอลกอฮอล์ โดยภราดลเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกับภาคีอื่นๆ ผลิตเครื่องดื่มแบรนด์ YoRice Amazake ) ซึ่งต้องแน่ใจว่า พันธกิจที่ทำนั้นมีคุณค่า โดยอันดับแรก เป็นเรื่องของการใช้ข้าวหัก ข้าว Organic และถ้าสมมติว่าพื้นที่ดินตรงนั้น เป็นผืนนาที่นำไปช่วยผู้อพยพ หรือกลุ่ม Refugee ดังนั้น ทรัพยากรที่นำมาใช้จึงต้องตอบโจทย์ของสังคมในมุมที่กว้างที่สุด โดยไม่ลังเลว่าจะมีค่าใช้จ่ายเรื่องของการรับซื้อมาในราคาที่สูงกว่า หรือมีต้นทุนในการลงพื้นที่เพื่อนำนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญเข้าไป

“ตัวอย่างเช่น เราทำโปรเจ็กต์ซื้อข้าวจากอำเภอแม่สอด โปรเจ็กต์ข้าว 30 ไร่ เป็นการนำกำไรทั้งหมดที่ทีมงานได้ทำ โดยนำไปช่วยเหลือคนในค่ายผู้อพยพ 500 ครอบครัว นับเป็นโจทย์ที่ Challenge นะ เพราะ Logistics มีค่าใช้จ่ายสูง”

ภราดลระบุและกล่าวว่า การขนส่งจากแม่สอด มายังเชียงใหม่ อาจจะต้องบริหารจัดการต้นทุน ว่าจุดใดที่จะทำให้ Balance ที่สุด เพื่อลดความเสียหายและไปช่วยเพิ่มความหวัง ช่วยเหลือคนที่เขาเดือดร้อนขาดแคลน 
เหล่านี้ก็คือมุมที่สอง ซึ่งเป็นพันธกิจที่เขาและทีมงานทำ ซึ่งถ้าในแต่ละส่วน สามารถเชื่อมต่อกันได้เลย ก็ไม่จำเป็นต้องแบ่งแยก เพราะเมื่องานแต่ละส่วนสามารถเชื่อมกันได้ก็ย่อมเป็นการใช้ต้นทุนที่น้อยกว่า ต่างจากการที่ทำเป็นการส่วนตัว 
เพราะการทำงานร่วมกัน เชื่อมต่อกันย่อมต้องใช้ทรัพยากรที่น้อยกว่า ทำได้ง่ายกว่า

นอกจากนั้น ภราดลยังสะท้อนถึงมุมที่สามคือ เรื่องสุขภาพ ซึ่งนับเป็นสิ่งสำคัญและต้องใส่ใจ ดังนั้น จึงต้องมีมุมเล็กๆ ที่สามารถต้องดูแลร่างกายและจิตใจได้ ไม่เช่นนั้นคงหมดแรงแน่นอน เพราะมีภารกิจจำนวนมาก





บรรยากาศงานประชุม งานเสวนาประชาคม กับทีมงาน Chiangmai Trust





Pavillion ของเทศกาลข้าว โดย Chiangmai Trust จัดขึ้นที่ Yorice Amazake Cafe




ก่อร่างสร้างทีม ‘ChiangmaiTrust’

ภราดลเล่าว่า เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 ภารกิจทั้งหมดแทบจะหยุดไปหมดเลย ทีมงานเครือข่ายที่เขาทำร่วมกับทีม ‘ChiangmaiTrust’ ณ ตอนนั้น ล้วนคิดกันว่า คงจะต้องเห็นงานด่วน สำคัญกว่างานใหญ่
ดังนั้น จึงทำภารกิจเรื่อง ‘ครัวกลาง’ ‘ครัวงาน’ Chiang Mai Food Bank ประมาณ 2 ปี กระทั่ง ผ่านยุคโควิด-19 ไปได้ หลังจากที่ฟื้นทีมขึ้นมาทุกคนก็ล้วนเจ็บช้ำ เพราะทุกคนต่างก็เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการด้วย และทำงานภาคประชาสังคมด้วย จึงคิดกันว่าควรต้องเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยทำเป็นแคมเปญ เช่น ‘มือเย็น เมืองเย็น’ ( หมายเหตุ : โปรเจกต์ที่ภราดลมีส่วนก่อตั้ง รณรงค์ให้คนตระหนักและหันมาปลูกต้นไม้ในเชียงใหม่ ) เป็นลักษณะของแคมเปญและทำอีเวนท์ขึ้นมา พยายามจะสร้าง Movement และคาดหวังว่าจะเกิดแรงกระเพื่อม ทำงานเป็นเหมือนคลื่น

“ในตอนนั้นมองแบบนั้น ซึ่งก็ดีนะครับ มันทำงานแบบนั้นได้จริง
แต่ว่าในระยะยาว มันทำให้ทีมกระจัดกระจาย ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ผมก็เลยปรึกษากับทีม ว่าจะดีไหมถ้าเราใช้ภาพ Organization ทำภารกิจที่มันยืนระยะดีกว่า หมายความว่า ปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่สั่งสมมายาวนาน มันคงไม่สามารถใช้เพียงแคมเปญอีเวนท์ ในการแก้ปัญหาได้ แต่ว่ามันต้องเป็นการทำงานในระยะยาว ในที่สุด เราจึงจัดตั้ง ‘ChiangmaiTrust’ เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร แล้วก็จัดตั้งออฟฟิศ มีทีมงานประจำที่เข้ามาทำฝ่ายประสานงานอย่างจริงจัง และทำภารกิจอยู่สามเรื่อง คือ เรื่องของสิ่งแวดล้อม การศึกษาและเรื่องนโยบายสาธารณะ

“ผมคิดว่าเราเพิ่งก่อรูปกันจริงๆ ประมาณ 3 ถึง 4 เดือนที่ผ่านมา ถ้าดูในเพจ ChiangmaiTrust จะเห็นว่าเราทำเรื่องเสวนาประชาคม ชวนนักวิชาการ คนในแวดวงวิชาการ ที่ทำเรื่องภาพอนาคตประเทศ มานั่งพูดคุยกัน แล้วก็ชวนประชาคมเชียงใหม่มาแชร์ความคิดกัน หาวิธี Reform แล้วก็มีภารกิจทำ ‘เทศกาลข้าว’ ที่เชื่อมโยงไปกับการทำ food security เป็นความพยายามอยู่บนแนวคิดของการพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น ช่วงโควิด-19 คนกลับบ้านเยอะ มีคนรุ่นใหม่พยายามที่จะหาอะไรทำที่บ้าน มี SME มีแนวคิดใหม่ๆ มากมาย แต่เราจะหาจุดเชื่อมโยง ระหว่างคนชนบทกับคนในเมืองเข้าหากันได้อย่างไร เราก็ใช้ข้าวเป็นตัวเชื่อมครับ มีข้าว กาแฟ พืชพันธุ์ผลไม้ต่างๆ เป็นตัวเชื่อม
นอกจากนั้น เราก็พยายามตัดรายละเอียดปลีกย่อยที่กระจัดกระจายออกไปให้หมด แล้ว Focus ในบางประเด็นที่เราเห็นว่าเราสนใจจริงๆ คุ้นเคย และมีศักยภาพเพียงพอ” ภราดลระบุ


เรียนรู้และร่วมมือ ร่วมใจ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

ถามว่า ช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 ช่วงแรกๆ 
คุณนำภาพผลงานศิลปะของตนเอง มาระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนใช่หรือไม่ ?

ภราดลตอบว่า “ใช่ครับๆ ผมเขียนภาพ คือมียุคสมัยหนึ่งที่ผมจะเขียนภาพ สะสมไปเรื่อยๆ จนกลายมาเป็นหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ ‘Chiang Mai Sketchbook’ เป็นแนวคิดที่เกี่ยวกับคนที่ชอบเขียนภาพสถาปัตยกรรมทั่วไป ที่เราก็อยากนำมารวมเป็น Sketchbook แล้วได้พิมพ์ออกมา แต่ผมก็เก็บต้นฉบับไว้ ไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร จนเกิดวิกฤติโควิด-19 ผมก็เลยคิดว่าผลงานเหล่านี้ น่าจะมีประโยชน์บ้าง จึงนำออกมา ผมก็จำไม่ได้นะครับว่าผมประมูลหรือผมขาย จำไม่ได้จริงๆ ครับ แต่ก็ได้เงินมาเยอะครับ ได้มา 3-4 แสนบาท ผมก็นำเงินจำนวนนี้เข้ากองทุน ChiangmaiTrust และนำไปทำภารกิจที่เราเห็นว่า มันเป็นเรื่องด่วนที่เราต้องเผชิญ จริงๆ แล้ว ChiangmaiTrust เกิดขึ้นมาได้สัก 2-3 ปีแล้ว แต่ตอนนั้น เราเรียกว่า ‘กลุ่มมือเย็น เมืองเย็น’ ทำเรื่องปลูกต้นไม้ แต่ว่าเราไม่ได้สนใจแค่เรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว เราจึงเห็นว่าควรจะมีมีแพล็ตฟอร์มการทำงาน หรือการสื่อสาร ที่ครอบคลุมในมิติอื่นๆ ไม่ใช่แค่เรื่องของการปลูกต้นไม้อย่างเดียว

"เราคิดว่า ChiangmaiTrust น่าจะเป็นร่มใหญ่ แล้วมีภารกิจ มือเย็นเมืองเย็น แคมเปญเทศกาลข้าว แคมเปญเสวนาประชาคม รวมทั้งแคมเปญเทศกาล ‘เข้าซอย’ เราทำเทศการ ‘เข้าซอย’ ที่เพิ่งเริ่มได้ 2-3 เดือน” ภราดลระบุและบอกเล่าถึงความน่าสนใจของ เทศการ ‘เข้าซอย’ ว่า

ความน่าสนใจคือการเข้าไปในซอย เพื่อเรียนรู้ความทรงจำที่หลากหลายในซอยนั้นๆ เนื่องจากความทรงจำไม่ได้มีชุดหนึ่งชุดใดเพียงชุดเดียว แต่เป็นความทรงจำที่หากมองให้ดี จะเห็นว่ามนุษย์ออกแบบอนาคตได้ ผ่านความทรงจำ
จากที่ผ่านมาเป็นความทรงจำเพียงชุดเดียวและเป็นความทรงจำกระแสหลัก ภาพอนาคตของเราจึงตีบตัน แต่ถ้ามีความทรงจำอย่างอื่นจะทำให้มนุษย์มีอิสระมากพอที่จะเลือกอดีตได้ เมื่อเลือกอดีตได้เขาก็ย่อมออกแบบอนาคตได้ การเสวนาเหล่านี้ จึงทำให้เราเข้าถึงความทรงจำชุดอื่นๆ ในสังคมได้ ตัวอย่างภารกิจเล็กๆ อย่างนี้ ก็จะไปอยู่ในร่มของ ChiangmaiTrust

“แล้วเราก็จะประเมินว่าหากมีจังหวะไหนที่ไปต่อไม่ได้ เราก็หยุดรอนะครับ จนถึงเวลาที่มันใช่ เราก็ขยายฐานต่อไป ผมจึงคิดว่า ‘จังหวะ’ ก็เป็นเรื่องสำคัญในการทำงานภาคประชาสังคม” ภราดลระบุ









บรรยากาศผู้คนเสพสุนทรียะทางดนตรีที่ North Gate Jazz Co-Op และมโหรี ซิตี้ ออฟ มิวสิก (Mahoree City of Music)
ท่วงทำนองแห่ง ‘Free jazz Improvisation’

นอกจากเวลาชีวิตในด้านของการทำงานภาคประชาสังคมแล้ว ถามถึงการเดินทางบนถนนสายดนตรีบ้าง
การกำเนิดขึ้นของบาร์นอร์ทเกต (North Gate Jazz Co-Op) นับแต่ปี พ.ศ. 2550 หรือ ค.ศ. 2007 กระทั่งถึงทุกวันนี้
หากให้เปรียบเป็นเสียงดนตรี คุณจะเปรียบกับท่วงทำนองดนตรีแบบใด


ภราดลตอบว่าเปิด North Gate Jazz Co-Op ในปี ค.ศ. 2007
“ผมว่าก็ค่อนข้างตรงตัวครับ ก็เป็นดนตรีแจ็ส ( Jazz ) แน่นอน แต่ว่าดนตรีแจ็ส ก็มีหลายยุคหลายสมัย สำหรับผมถ้าเป็น North Gate ก็คงเป็น Free jazz Improvisation เป็นแนวนั้นเลยครับ อาจจะไม่ได้มี Harmony จำกัด คือทำไปเรียนรู้ไป เพราะตอนที่ผมทำผมก็อายุ 26 ไม่มากไม่น้อย ยังเป็นวัยรุ่น จบมาใหม่ๆ ทำไปตามความฝันความเชื่อ ประสบการณ์ที่ได้ก็มีล้มบ้าง แต่หมายถึงว่าเราใช้คำว่าสู้ดีกว่า ให้ตัวโน๊ต ให้บทเพลงไปข้างหน้า ในเวลาที่แรงมันตก เราก็พร้อมที่จะเปลี่ยนจังหวะ พร้อมที่จะเปลี่ยน Harmony ของสิ่งที่ Improvise

“North Gate ทำให้ผมเรียนรู้อะไรหลายๆ ผมคิดว่า สมัยก่อนเราจะเล่นแจ๊สอย่างเดียว มันต้องไปเป็นอย่างที่เราเชื่อเท่านั้น หากเป็นอย่างอื่นเราก็จะปฏิเสธเลย แต่เมื่อเราได้เริ่มฟังดนตรีพื้นถิ่นอื่นๆ ในโลก บางคนเค้าหอบปี่สก็อตมา บางคนเขาหอบ Didgeridoo มา เดินทางด้วยเครื่องดนตรีที่จะมีลักษณะของคาแรกเตอร์ ที่ไม่เหมือนดนตรีแจ๊ส สุดท้ายแล้ว ตัวโน๊ตอะไรก็ได้ ที่ทำให้คนๆ นั้นเขาเข้าถึงกับความเต็มเปี่ยมของชีวิต ทำให้เขามีความสุข ทำให้จิตวิญญาณเขาสว่างไสว ซึ่งเหล่านี้มันก็เพียงพอแล้วไม่ใช่เหรอ ไม่ต้องเป็นดนตรีแจ๊สก็ได้ โลกนี้มีอะไรตั้งหลายอย่าง ดนตรีแจ็สเป็นอีกแค่สิ่งหนึ่งในหลายล้านสิ่งทั่วโลกเท่านั้นเองครับ


“ผมก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างแล้วก็นำมาปรับใช้ มีสิ่งหนึ่งที่สะท้อนกันไปมา กับงานภาคประชาสังคม คือการทำกิจกรรมต่างๆ คือ หากมันล้มเหลวก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ ที่แน่ๆ ก็คือผมทำ North Gate โดยอาศัยประสบการณ์จากการโบกรถเดินทาง หมายความว่า ตอนที่โบกรถเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกนะครับ หรือเป็นชีวิต เป็น Feelling แบบ World Citizen เลย เป็น ‘คนของโลก’ ที่เดินทางข้ามวัฒนธรรม ข้ามเส้นแบ่งของประเทศต่างๆ ก็มันทำให้เกิดความรู้สึกร่วมกับคนในโลก เวลาเราเห็นคนในโลกวัฒนธรรมต่างๆ แวะเวียนมา เราอยากอ้าแขนต้อนรับ ให้เขารู้สึกว่ามันเป็นพื้นที่ปลอดภัย
เป็นพื้นที่ที่เขามีอิสระมากพอที่จะแสดงออก หรือแชร์ความรู้สึก ดังนั้น หากตอบให้ตรงคำถามก็คือ เราเล่น Free jazz Improvisation เลยครับ” ภราดลบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ



การเดินทาง สู่ ‘อิสรภาพ’ ศิโรราบแห่งชีวิต

ถามถึงความทรงจำจากการเดินทางของคุณในวัย 30 ปี พร้อมกับแซ็กโซโฟนคู่กาย โดยโบกรถจากเชียงใหม่ เข้าสู่ลาว จีน มองโกเลีย ขึ้นรถไฟ Trans-Siberian และผ่านเส้นทางในประเทศต่างๆ กระทั่งสิ้นสุดการเดินทางที่ฝรั่งเศส รวมทั้งยังมีการเดินทางด้วยการโบกรถอีกหลายครั้ง รวมถึงการเป็น Homeless อยู่ที่ญี่ปุ่นนานถึง 3 เดือน สำหรับคุณแล้วเสน่ห์ของการเดินทางแบบโบกรถคืออะไร
มีสิ่งใดที่คุณอยากแบ่งปัน


ภราดลตอบว่า “สิ่งที่อยากแบ่งปันก็คือ การโบกรถแบบนี้ จริงๆ แล้ว มันก็มีปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ผมมาโบกรถด้วยครับ
หมายถึงว่า ถ้าผมมีเงินมากกว่านี้ ผมอาจจะไม่โบกก็ได้ ทำไมต้องมาทรมานตัวเอง แต่ว่า ในขณะที่มนุษย์คนหนึ่ง ที่มีทรัพยากรจำกัด เวลาก็มีจำกัด ผมก็คิดว่าเคสแบบนี้ น่าจะเป็นตัวแทนของคนในสังคมได้นะ จริงๆ แล้วเราก็เป็นคนชนชั้นกลางระดับล่าง ได้เรียนหนังสือมาบ้าง ผมว่าสิ่งที่น่าสนใจก็คือ การที่เรามีความฝันและก็อดทนกับมันมากพอน่ะครับ ผมเชื่อว่าผมไม่ตายหรอก หมายความว่า การอดทนบางอย่างที่มันไม่ทำให้เราตาย มันจะนำพาเราไปสู่อิสรภาพบางอย่างในชีวิตได้ เพราะว่าจริงๆ แล้ว
ผมเข้าใจว่า การจะมีชีวิตอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน ท่ามกลางเศรษฐกิจสังคมแบบนี้ สภาวะแวดล้อมที่บีบคั้น หรือการมีหนี้สินจำนวนมาก มันไม่ได้มีอิสรภาพเลยนะครับ มันยากมาก และมันเหนื่อยมากกว่าที่เราจะหาอิสรภาพให้กับชีวิตได้

“ผมเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีความฝัน ความท้าทายของมันก็คือ ทำยังไงให้มันเป็นจริงได้ แล้วก็หนึ่งในกระบวนการที่จะทำให้มันเป็นจริง ก็คือการมีความอดทนที่มากพอ กรณีโบกรถ ในบางครั้ง ผมก็ต้องไปยืนโบกกลางหิมะตก 5 ชั่วโมง ก็โหดนะ
มันทรมานมาก มันไม่ง่ายเลย หรือการที่เราไปนอนอยู่ที่สถานีรถไฟ ที่ไม่ได้มีห้องน้ำ เราก็ทำได้แค่เอาผ้ามาชุบน้ำเช็ดตัว
หรือว่า ผมเคยไปอยู่ที่จีน แล้วแบบผมก็เข้าไปถามเขาว่า คุณไม่กินแล้วเหรอ ถ้าไม่กินแล้วผมขอ เขาก็ให้นะ
คือ เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้ยุยงปลุกปั่นให้ไปทำอะไรแบบนี้นะ แต่บางสถานการณ์มันทำให้เราศิโรราบกับชีวิต ก็คือเรายอมแพ้กับชีวิต คำว่า ‘ยอมแพ้’ ไม่ได้หมายถึงว่ายอมจำนน แต่หมายถึงว่าเราโอบรับความเจ็บปวดของเราเอง เราโอบรับความสิ้นหวังทั้งหมด เพื่อที่เราจะรักตัวเองและรักผู้อื่นอีกสักครั้ง เรายอมที่จะเป็นผู้แพ้

“ความรู้สึกที่เราต้องไปเผชิญชีวิตในทุกๆ วินาทีตรงนั้น ที่ไม่มีใครแล้ว มันไม่มีทรัพยากร ไม่มีเงิน ไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีเพื่อน เพราะเราก็เดินทางมาแล้วหลายปี ในยุคที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน มีแต่ตัวเราเอง แล้วคนที่เราจะคุยด้วย หรือปรึกษาด้วยก็มีแต่ตัวเราเอง ดังนั้น เราต้องเป็นมิตรกับตัวเราเองให้มากที่สุด เป็นมิตรกับสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด เป็นความงามอย่างนึงนะครับ” 
ภราดลบอกเล่าถึงภาพความทรงจำอันงามที่ได้รับจากการเดินทาง


ถามว่าเมื่อครั้งที่เป็น Homeless อยู่ญี่ปุ่น มีจุดมุ่งหมายคือเพื่อเล่นดนตรีใช่หรือไม่
ภราดลตอบว่า “ใช่ครับ ดนตรีคือสิ่งหล่อเลี้ยงที่ทำให้ยังอยู่ได้ เราต้องไม่ลืมว่าเรามาทำอะไร นี่เป็นสิ่งสำคัญมาก บางทีเราทุ่มเทเหน็ดเหนื่อย เราก็ต้องถามตัวเองว่าเรามาที่นี่เพื่ออะไรกันแน่ ถ้าเราคิดว่าเรายังตอบคำถามเดิมได้อยู่ โดยที่ยังไม่หลงทาง เราก็ยังมีพลังพอที่จะสู้ต่อไป ที่ญี่ปุ่นผมอยู่เกียวโตครับ”


ถามว่าปัจจุบัน ยังอยากโบกรถเดินทางอีกไหม
ภราดลตอบอย่างแจ่มชัดว่า “อยากไปแน่นอนครับ จริงๆ ผมก็ขออนุญาตภรรยาไว้ ว่าตอนอายุ 50 ขอกลับไปเดินทางแบบนี้อีกสักครั้ง”








เทศกาล Chiangmai street Jazz

ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ในเมืองกับทีม เขียว สวย หอม
ทัศนียภาพที่พบ-ผ่าน

อดถามไม่ได้ว่า นับจากวันที่คุณซื้อแซ็กโซโฟนตัวแรก จากที่เป่าไม่เป็น กระทั่งพบครูผู้สอนและผ่านการเคี่ยวกรำฝึกฝนอย่างหนัก ผ่านวันเวลามาถึงทุกวันนี้ หากให้คุณเปรียบการเดินทางของคุณนับแต่ซื้อแซ็กโซโฟนตัวแรก โบกรถ ผ่านเส้นทางต่างๆ กระทั่งเป็นคุณในปัจจุบัน คุณคิดว่า เส้นทางนั้น จะผ่านสถานที่ใด บ้านเมืองใด ทัศนียภาพแบบใด และมีปลายทางเช่นใด

ภราดลตอบว่า “เอ่อ โอ้โฮ! คำถามนี้เทพมากเลยครับ ผมว่ามันคงเป็นทัศนียภาพที่แบบ เหมือนเราเข้าไปอยู่ในกล่อง หรือเคยดูกล้องที่มีกระจกซ้อนๆ กัน แล้วมีกระดาษสีไหมครับ ผมว่ามัน Random นะ แล้วก็เต็มไปด้วยสีสัน
ขณะเดียวกันก็ตาลาย ( หัวเราะ ) แล้วบางครั้งก็เบื่อหน่าย เหมือนฤดูกาลต่างๆ ที่หมุนวนเวียนไป


“ผมว่า คงเป็นภูมิทัศน์แห่งฤดูกาลที่หลากหลาย เพราะว่ามัน เอ่อ เพราะว่าเราไม่มีทางรู้เลยครับว่ามันจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ และไม่มีใครรู้ด้วย เพราะวันที่ซื้อแซ็กโซโฟตัวแรก มันเป็นอะไรที่ห่างไกลมาก แล้วก็มันเหมือนไม่มีวี่แววว่าจะสำเร็จได้เลยครับ มันเหมือนเป็นเรื่องไร้สาระในสายตาของทุกคน แล้วก็จากนั้นมันเป็นอะไรที่ผมเชื่อมั่นในพื้นฐานที่แข็งแรง โดยส่วนตัวเลย ไม่ว่าจะทำอะไร ต้องไปทำพื้นฐานให้แข็งแกร่ง ดนตรีก็เช่นกัน จริงๆ แล้ว ผมเล่นกีตาร์คลาสสิคมาก่อน แล้วผมเคยเป็นแชมป์เยาวชน ตอนนั้นเป็นรายการประกวดเล็กๆ ของยามาฮา ชิงแชมป์ประเทศไทย ก็ถือว่าเราก็ไม่ได้เก่ง ยังมีคนเก่งกว่าเราอีกเยอะแยะ แต่เรามีความมีวินัย มีความเข้าใจพื้นฐานเป็นสิ่งที่ติดตัว

“ความรู้สึกตรงนั้น ผมก็นำมาใช้กับการฝึกแซ็กโซโฟนว่า ไม่ต้องกังวลหรอก วันนี้ยังไม่เก่ง แต่ถ้าเราอดทนและมีวินัย ไม่ทิ้งพื้นฐาน ทำไปเรื่อยๆ แล้วเราก็จะเก่งเอง
เราอาจจะไม่ใช่อัจฉริยะ แต่ความสม่ำเสมอ จะทำให้เราฝ่าฟันกับทุกอุปสรรคได้ สำหรับผม ความสม่ำเสมอเป็นเรื่องสำคัญเลยนะครับ” ภราดลบอกเล่าได้อย่างชัดเจน

ภราดล พรอำนวย ผู้ก่อตั้ง North Gate Jazz Co-Op นัก Saxophone นักเดินทาง และคนทำงานภาคประชาสังคม
คือ ‘สายรุ้ง’ ที่งดงาม

ถามต่อเนื่องว่าคุณวาดหวังให้ North Gate Jazz Co-Op เป็นจุดเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมดนตรีในเมืองเชียงใหม่
เช่นนั้นแล้ว โลกยุคก่อนวิกฤติโควิด-19 และโลกในยุคแห่งการอยู่ท่ามกลางวิกฤติโควิดหรือหลังวิกฤติโควิด ณ วันนี้ North Gate Jazz Co-Op อยู่รอดมาได้ด้วยปัจจัยใด มีสิ่งใดที่คุณได้เรียนรู้จากวิกฤติดังกล่าว


ภราดลตอบว่า “ผมว่าสาระสำคัญของ North Gate ก็คือพื้นที่ที่เราใช้เล่นดนตรีครับ แต่ว่า เผอิญพื้นที่ที่เราใช้เล่นดนตรี มันเป็นองค์ประกอบของความรู้สึกบางอย่าง คือเราให้คุณค่ากับความเต็มเปี่ยมของทุกชีวิต ทุกตัวโน๊ต 
ทุกจิตวิญญาณ ที่เรารู้สึกว่าเป็นพื้นที่ที่มีแรงดึงดูดบางอย่างพาเรามาเจอกันในพื้นที่นี้ ซึ่งจริงๆ จะเป็นพื้นที่ไหนก็ได้นะครับ เหมือนสายรุ้งนะครับ คือจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ แต่ว่า มันดึงดูดทุกสายตาไปที่นั่น มันมีความสวยงาม มันมีเวลาและโอกาสของมันอยู่
North Gate ก็เป็นอารมณ์ร่วมของนักดนตรีที่เราให้คุณค่ากับทุกตัวโน๊ตที่เราเล่น เพราะเราเชื่อว่าทุกตัวโน๊ตเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา และเปลี่ยนแปลงชีวิตผู้อื่น

“ถ้าได้มีโอกาสมาที่ North Gate ก็จะได้เห็นอารมณ์ที่มันเต็มเปี่ยม ทุกคนก็ใช้พลังชีวิตทั้งหมดที่มี สุดความสามารถที่เราทำขึ้นมา เราพยายามที่จะทำให้เกิด ‘สายรุ้ง’ ขึ้นมา ทุกค่ำคืน ก็จะเป็นอารมณ์ประมาณนั้นครับ” ภราดลระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า
เมื่อต้องเจอกับวิกฤติโควิด-19 ซึ่งเป็นสถานการณ์ร่วมของโลกที่ทุกคนเผชิญ หากถามว่าผ่านมันมาได้ยังไง

ภราดลตอบบว่าด้วยความช่วยเหลือของนักดนตรีทุกคน Staff ทุกคนรู้ว่าจังหวะไหนต้องช่วยกัน ช่วงที่กลับมาเปิดร้านใหม่ หลังวิกฤติโควิด นักดนตรีเกือบทุกคนก็ไม่เอาค่าเล่นด้วยซ้ำ ช่วยกัน ขณะเดียวกันบางคนที่เดือดร้อน เราก็พร้อมซัพพอร์ตเต็มที่ ติดขัดด้านการเงินหรือทรัพยากรตรงไหน ใครติดขัดตรงไหน เราก็เอาทรัพยากรมาเฉลี่ย เพื่อให้อาการบาดเจ็บเป็นแผลที่ไม่ลึกเกินไป กลับไปสู่จุดที่ว่า North Gate เป็นพื้นที่เล่นดนตรี ถ้านักดนตรีบาดเจ็บมากเกินไป สูญเสียมากเกินไป เราก็คงจะไม่เหลือใครมาเล่นดนตรีอีกต่อไป


ภราดลเปรียบว่า ตราบที่ North Gate ยังมีกำลัง ซึ่งกำลังทั้งหมดของ North Gate คือมาจากความทรงจำ
เป็นความทรงจำที่เราเปิดมานาน แล้วก็มีคนจำนวนมาก อยู่ในความทรงจำ ซึ่งทำให้ North Gate กลายเป็น Hub หรือ Contribute

“เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 แรกสุดเรา Respond ด้วยการแจกอาหาร ผมว่ามีคนเอาเงินมาใส่มือผมเป็นแสนบาทเลยนะครับ เพื่อให้เอาไปซื้อผัก ซื้อไข่ ซื้ออาหาร แล้วเมื่อเราร้องขอตู้เย็น ตู้แช่ เก็บไข่เก็บอาหาร ความช่วยเหลือก็หลั่งไหลมา North Gate ก็กลายเป็นครัวเล็กๆ แล้วก็มีอยู่จังหวะนึง ที่ผมต้องขายแซ็กโซโฟนตัวนึงไป ซึ่งมีพี่คนหนึ่งซื้อทันที่ที่ผมโพสต์ แล้วก็ซื้อเลย จากนั้นเขาก็ยกแซ็กโซโฟนนั้นคืนกลับมาให้ผม เหมือนเขาซื้อช่วยเพื่อให้ผมเอามาจ่ายค่าเช่า และค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งเขาไม่ประสงค์ออกนามด้วยนะครับ ผมก็ขอบคุณเขาเสมอ ก็จะมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น เมื่อความช่วยเหลือ น้ำใจ พลังที่ทุกคนช่วยกันได้ทำให้เกิดแพล็ตฟอร์มแห่งความช่วยเหลือขึ้นมา


“ดังนั้น เมื่อ North Gate กลับมาเปิดใหม่หลังโควิด จึงเป็นเรื่องไม่ยากเลย ทุกคนพร้อมที่จะกลับมาสนับสนุน เป็นพื้นที่ค่อนข้างเปิด เป็น Public Space เป็น Common good ที่คนมาฟังดนตรี หรือถ้าเหงา เปล่าเปลี่ยว ขับรถมาก็มาแวะ หรือบางครั้งผมก็เห็นคนขับรถตุ๊กตุ๊กมาจอด แล้วก็นั่งฟัง แบบขอพักสักนิด หรือ มอเตอร์ไซค์ Grab มาจอดฟัง หายเหนื่อยแล้วไปขับ Grab ต่อ ผมว่าก็น่ารักดีครับ ทำให้เมืองมีชีวิต” ภราดลบอกเล่าผ่านมุมมองที่เปี่ยมด้วยพลังใจก่อนทิ้งท้ายอย่างน่ารับฟังว่า

“ผมว่า ยุคสมัยที่เราอยู่นี้ เป็นยุคสมัยที่สังคมมองหาสิ่งที่เรียกว่าความหลากหลาย และต้องการสิ่งที่เรียกว่าความหลากหลายนี้มากที่สุด ตั้งข้อสังเกต ก็คือ เป็นยุคสมัยแรกแห่งมนุษยชาติ ที่มีคน 5 Generation อยู่ด้วยกัน เพราะว่า ร้อยปีก่อน คนอาจมีอายุเฉลี่ยแค่ 31 ปี ปัจจุบันก็เฉลี่ย 70 กว่าปี เพราะฉะนั้น มนุษย์ 5 Generation อยู่ด้วยกัน
ผมมองว่าในสังคมที่เราอยู่ กำลังเรียกร้องพื้นที่แห่งความหลากหลายจำนวนมาก


“ผมทำ North Gate ก็ตั้งข้อสังเกตว่าพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายนั้น มีบรรยากาศของความสุข มีความแบ่งปันในความเป็นไปได้ของความหวัง ความเชื่อรูปแบบใหม่ ความฝันรูปแบบใหม่ แรงบันดาลใจใหม่ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่สังคมของเรากำลังต้องการ แล้วผมอยากจะฝากว่าใครที่มีทรัพยากร มีกำลัง มีอำนาจ ที่จะลุกขึ้นมาออกแบบ แบ่งปันพื้นที่แห่งความหลากหลายเหล่านี้ สร้างพื้นที่แห่งความเข้าใจและเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ สังคมที่เราอยู่ก็คงจะเป็นสังคมที่เดินทางข้ามขอบจิตนาการยุคที่เราฝันมาตลอดยุคสมัยได้”

เป็นทัศนะที่ก้าวข้ามทุกบททดสอบ พ้นยุคสมัย ผ่านพบอิสรภาพจากการเดินทางทั้งทางกายภาพและจิตวิญญาณได้อย่างน่าชื่นชม…ไม่ต่างจาก ‘สายรุ้ง’ อันงดงามที่มิมีวันลบเลือนไปจากความทรงจำ

…………….
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ภราดล พรอำนวย