xs
xsm
sm
md
lg

“หยุดอาชญากรรม ก่อนเกิด” นวัตกรรมใหม่ ตร.ภาค 2 จับมือ สจล. ใส่ AI ในกล้อง CCTV

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พล.ต.ต.นันทวุฒิ สุวรรณละออง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2
“ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งแต่ยุคที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เป็น ผบ.ตร. มีนโยบายว่า จะมีมั้ย ซักซอยหนึ่งที่ผู้หญิงจะเดินคนเดียวโดยไม่ต้องกลัวว่าจะเกิดเหตุอะไร เป็นซอยที่ปลอดอาชญากรรม 100% ผมก็มานั่งคิดถึงองค์ประกอบในการเกิดอาชญากรรม ว่าอาชญากรรมจะเกิดขึ้นได้ มันต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างครบ คือ เหยื่อ คนร้าย และโอกาส ดังนั้นถ้าเราตัดหนึ่งในองค์ประกอบออกไปได้ อาชญากรรมก็ไม่เกิด เราก็เอาทฤษฎีสามเหลี่ยมอาชญากรรมนี้มาพัฒนา ด้วยการตัดโอกาสของคนร้าย ก็คือ การใช้กล้องเป็นสายตาแทนตำรวจ แต่เรากำลังพูดถึงกล้องที่เป็นอัจฉริยะ สามารถตรวจสอบจำแนกสิ่งผิดปกติและยังแจ้งเตือนไปถึงตำรวจได้ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ”

พล.ต.ต.นันทวุฒิ สุวรรณละออง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2
เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมอบรมหลักสูตร RoLD หรือ หลักสูตรหลักนิติธรรมและการพัฒนา (Rule of Law and Development) ที่จัดโดย สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) และได้ร่วมมือกับหลายภาคส่วน โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นำเสนอแนวคิด “การป้องกันอาชญากรรม” ด้วยการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กับกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ตำรวจใช้ในการติดตามจับกุมคนร้ายอยู่แล้ว แต่พัฒนาให้ฉลาดขึ้นด้วยการเพิ่มความสามารถในการตรวจจับหาสิ่งผิดปกติและแจ้งเตือนตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ


สำหรับการทำงานของ “กล้อง CCTV อัจฉริยะนี้ ถูกทดลองใช้ไปแล้วโดยกลุ่มผู้เข้าเรียน RoLD ที่ สถานีตำรวจภูธร แสนภูดาษ จ.ฉะเชิงเทรา โดย รศ.ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ซึ่งเชี่ยวชาญด้าน AI ได้นำระบบ AI มาติดตั้งในกล้อง CCTV ตามความต้องการใช้ของฝ่ายตำรวจ

การทดลองนี้ได้รับความร่วมมือจากร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ ให้นำกล้องอัจฉริยะนี้ไปติดตั้งที่หน้าร้าน และตั้งค่าให้ระบบตรวจหาบุคคลที่ผิดปกติ โดยมีนักแสดงสวมหมวกกันน็อคเต็มใบและพกวัตถุรูปร่างคล้ายปืนจะเข้าไปในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเมื่อกล้องจับภาพนี้ได้ ก็จะสแกนพบสิ่งผิดปกติ คือ การสวมหมวกกันน็อค และพกพาวัตถุคล้ายอาวุธปืนเข้าร้านสะดวกซื้อได้ จากนั้นกล้องก็จะจับภาพและส่งภาพพร้อมรายละเอียดต่างๆของที่เกิดเหตุไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ห้องควบคุมของสถานีตำรวจภูธรแสนภูดาษ ผู้กำกับโรงพัก รองผู้กำกับ สายตรวจที่อยู้ใกล้เคียง รวมถึงผู้จัดการร้านสะดวกซื้อ เพื่อให้รู้ล่วงหน้าว่ามีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการปล้นเกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถมาถึงที่เกิดเหตุได้เร็วขึ้น เพิ่มโอกาสในการระงับเหตุหรือจับกุมคนร้ายได้เร็วขึ้นด้วย


คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. อธิบายว่า จริงๆแล้ว ระบบ AI ที่นำไปใช้กับ CCTV มีมานานพอสมควรแล้ว เพียงแต่มันจะเปลี่ยนไปตามลักษณะความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งในกรณีนี้ ผู้ใช้คือตำรวจ ซึ่งต้องการตรวจเช็คอุปกรณ์บางอย่างที่สงสัยเป็นคนร้าย หรือลักษณะบางอย่าง เช่นใส่หมวกกันน็อกเข้าร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเราก็ออกแบบให้ AI สามารถจำแนกลักษณะของวัตถุได้อย่าง ปืน หรือ มีด แต่หัวใจสำคัญของการใช้ก็คือ มันจะตรวจสอบได้แบบ REALTIME ทำให้รู้ก่อนเกิดเหตุ แจ้งเตือนได้รวดเร็ว พร้อมระบุว่า ถ้าระบบนี้เสร็จสมบูรณ์ ก็จะมีความแม่นยำมาก

“ภาพเนี่ย ความแม่นยำของมันก็ประมาณ 80-90% ครับ เช่น เมื่อกล้องตรวจพบปืน เราลองคิดว่า กล้องทั่วไปจับภาพได้ 30 เฟรมต่อวินาที ถ้าสามารถจำแนกภาพวัตถุที่ถือมาว่าเป็นปืนได้เพียง 4-5 เฟรมจาก 30 เฟรมนั้น หรือแค่ 20% ก็สามารถส่งข้อมูลไปแจ้งเตือนได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องได้ภาพปืนครบทั้ง 100% แบบนี้ถือว่า แม่นยำพอสมควร” รศ.ดร.สมยศ อธิบายเพิ่มเติม


จากคำอธิบายของ รศ.ดร.สมยศ ที่ระบุว่า การนำระบบ AI มาใช้กับกล้อง CCTV ในโครงการนี้ จะถูกออกแบบให้ใช้งานได้ตามความต้องการของตำรวจ ดังนั้น กล้อง CCTV ที่ถูกออกแบบมาและกำลังจะทดลองใช้ในพื้นที่ต้นแบบที่ จ.ฉะเชิงเทรา จึงจะมีความสามารถในการตรวจจับ 4 ประเภท ซึ่งเมื่อตรวจจับสิ่งผิดปกติได้สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็จะส่งข้อมูลแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ทันที

1. ตรวจจำแนกสิ่งผิดปกติ วัตถุต้องสงสัย เช่น สวมหมวกกันน็อกเต็มใบเข้าร้านทอง ร้านสะดวกซื้อ สิ่งคล้ายอาวุธ ปืน มีด
2. ตรวจจำแนกเสียงที่มีข้อความเข้าข่ายว่าจะเป็นเหตุอาชญากรรม เช่น หยุด ยกมือขึ้น ส่งของมีค่ามาให้หมด
3. ตรวจสแกนใบหน้าผู้ต้องสงสัยที่มีประวัติการก่อเหตุศซึ่งอยู่ระหว่างหลบหนีการจับกุม
4. ตรวจหมายเลขทะเบียนรถ (License Plate) ที่วิ่งผ่านเส้นทางต่างๆ แม้จะใช้ความเร็วสูง โดยสามารถใส่ข้อมูลทะเบียนรถ ยี่ห้อ รุ่น สีรถ เข้าไปในระบบให้กล้องตรวจจำแนกได้

ดังนั้นกระบวนการนี้ จึงหมายถึง การใช้กล้องเป็นตาสับปะรดในการติดตามการก่อเหตุอาชญากรรมตั้งแต่ก่อเกิดเหตุไปจนถึงการติดตามจับกุมคนร้ายให้ได้รวดเร็วขึ้น

มีคำถามว่า การที่ตำรวจได้รับ “สัญญาณเตือน” จากกล้อง CCTV ที่ใส่ระบบ AI เข้าไป ซึ่งหมายถึงจะมีโอกาสรู้ก่อนเกิดอาชญากรรมจริงประมาณ 30 วินาที ถึง 2 นาที จะมีผลต่อการทำงานของตำรวจมากน้อยแค่ไหน ในมุมมองของผู้ใช้งานอย่าง พ.ต.อ.จิรวัฒน์ ยอดกระโหม ผกก.สภ.แสนภูดาษ จ.ฉะเชิงเทรา เห็นว่า เป็นช่วงเวลาที่มีค่ามากทั้งสำหรับตำรวจและผู้เสียหาย

“ที่ผ่านมาตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายจำนวนมากได้จากกล้องวรปิดก็จริง แต่ก็ต้องยอมรับว่า เราต้องใช้เวลานาน เพราะต้องไปขอดึงภาพจากที่เกิดเหตุมาใส่ฮาร์ดดิสก์ ต้องไปนั่งไล่ภาพจากกล้องแต่ละจุด และรวบรวมพยานหลักฐานมาตามจับกุมคนร้ายภายหลัง ซึ่งหลบหนีไปไกลแล้ว ดังนั้นการได้เวลาในการแจ้งเตือนก่อนเพียง 30 วินาที หรือ 2 นาทีจากระบบนี้จึงมีค่ามากครับ เพราะมันทำให้ตำรวจเราไปที่เกิดเหตุได้เร็วขึ้น แม้จะไประงับเหตุไม่ทันก็ยังสามารถตั้งด่านสกัดจับได้เร็วขึ้น เพราะเรายังมีกล้องจับทะเบียนรถตามถนนที่ติดตามคนร้ายได้ต่อเนื่อง และยังทำให้สามารถรวบรมพยานหลักฐานได้เร็วมากขึ้นด้วย”


ส่วนคำถามที่อาจจะเกิดขึ้นว่า การที่ตำรวจเปิดเผยรูปแบบวิธีการทำงานเช่นนี้ จะเป็นการเปิดช่องให้ผู้ที่คิดจะก่อเหตุสามารถหลบเลี่ยงได้หรือไม่ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 2 กลับมองไปในทิศทางที่ตรงกันข้าม โดยย้ำว่า แม้โครงการนี้หากทำสพำเร็จจะช่วยให้ตำรวจสามารถระงับเหตุหรือจับกุมคนร้ายได้เร็วขึ้น แต่เป้าหมายที่แท้จริง คือ การลด หรือ ป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมขึ้น เพราะเมื่อผู้ที่คิดจะก่อเหตุรับรู้ข้อมูลว่า ตำรวจมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยตั้งแต่การแจ้งเตือนไปถึงการติดตามเส้นทางหลบหนี ทำให้มีโอกาสน้อยมากที่จะรอดพ้นจากการจับกุม คนร้ายก็จะเลิกล้มความตั้งใจที่คิดจะก่อเหตุไปมากกว่า

“ตามหลักอาชญวิทยา ถ้าอาชญากรรู้ว่าตัวเองทำผิดจะต้องถูกจับแน่ๆ เขาก็จะไม่ทำ แต่ถ้าเขารู้ว่าเขาทำแล้วมีโอกาสรอดเขาก็จะทำ เช่น ถ้าเขารู้ว่าจะไปชิงทรัพย์มินิมาร์ท เมื่อเข้าไปแล้วจะต้องเจอกล้อง มี AI ที่มีศักยภาพในการตรวจจำแนกแล้วแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ทันที แล้วยังสามารถส่งข้อมูลไปคอยตรวจจับเขาที่ถนนทุกสายที่จะเขาจะใช้หลบหนี เขากะรู้ว่าจะถูกดักจับได้ในเวลาไม่นาน ดังนั้น เมื่อคนร้ายรู้แบบนี้ ก็จะต้องคิดหนักที่จะก่อเหตุ สามารถลดอาชญากรรมลงได้อย่างแน่นอน” พล.ต.ต.นันทวุฒิ อธิบาย

หลังโครงการนี้ถูกนำไปทดลองและถูกนำเสนอในเวทีสาธารณะ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยังส่งนายตำรวจที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยีไปเรียนการเขียนระบบ AI ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังด้วย โดยมีเป้าหมายให้ตำรวจสามารถเขียนระบบได้เอง ซึ่งจะยั่งยืนกว่าการซื้อเทคโนโลยีมาใช้มาก เพราะเทคโนโลยีมีราคาแพง และยังถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว














กำลังโหลดความคิดเห็น