xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.ธรณ์” อธิบายกรณีตามหาผู้สูญหาย เรือหลวงสุโขทัยล่ม เผย ยังหวังในปาฏิหาริย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล ออกมาให้ความรู้เกี่ยวกับการตามหาผู้สูญหาย เรือหลวงสุโขทัย พร้อมแนะจุดที่ควรหาผู้สูญหาย หวังอนาคตไทยเพิ่มสถานีถาวรสำหรับตรวจวัดสมุทรศาสตร์ในด้านต่างๆ อย่างน้อย 3 สถานีในอ่าวไทย พร้อมขอให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น

จากกรณี เรือหลวงสุโขทัย ประสบอุบัติเหตุคลื่นลมแรง จนมีน้ำเข้าเรือเป็นจำนวนมาก ทำเรือเอียง และจมลงใต้ทะเลในช่วงดึกของวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยพบว่ายังคงมีลูกเรือสูญหาย จำนวน 23 คน โดย 1 ใน 30 คนนั้น มีลูกชายของ พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรดมภ์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ ซึ่งเป็นต้นเรือรวมอยู่ด้วย โดยปฏิบัติการค้นหาลูกเรืออีก 23 นาย ที่เหลือจะดำเนินการต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง โดยจะใช้เรือทั้งหมด 4 ลำใหญ่ คือ เรือหลวงอ่างทองเป็นเรือควบคุมสั่งการ ส่วนที่เหลือคือเรือหลวงกระบุรี เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช และเรือหลวงนเรศวร ซึ่งเป็นเรือที่มีศักยภาพสูงที่สุดของกองทัพเรือที่จะเข้ามาช่วย โดยจะวางกระจายจุดในพื้นที่ 30 ตารางไมล์ทะเล สำหรับยอดล่าสุด ของกำลังพลเรือหลวงสุโขทัยทั้ง 105 นาย ปัจจุบันหาพบแล้ว 82 นาย พบว่าเสียชีวิต 6 นายและ เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำนวน 17 นาย คงเหลือที่ยังคงสูญหาย 23 ราย ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด วันนี้ (22 ธ.ค.) เพจ "Thon Thamrongnawasawat" ของ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความอธิบายกรณีตามหาผู้สูญหาย โดนได้ระบุข้อความว่า

"ผมอยากอธิบายกรณีตามหาผู้สูญหายจากเรือสุโขทัย โดยอาศัยข้อมูลด้านสมุทรศาสตร์/วิทยาศาสตร์ทางทะเล
ฐานข้อมูลที่ใช้มาจากแบบจำลองกระแสน้ำและทุ่นกระแสสมุทรที่กำลังลอยอยู่ในทะเลตอนนี้ ด้วยความร่วมมือของปตท.สผ./คณะประมง/สสน.

ภาพซ้ายมือคือแบบจำลองกระแสน้ำในช่วงนี้ของอ่าวไทยจุดแดงคือจุดสมมติบริเวณเรืออับปาง ต้องบอกว่าผมลงจุดเอง อาจคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง ใช้เพื่อประกอบแบบจำลองเท่านั้นจากภาพเราจะเห็นลูกศรจำนวนมาก บอกทิศทางของกระแสน้ำยิ่งลูกศรซ้อนกันเยอะ หมายถึงความแรงของกระแสน้ำค่อนข้างมาก หัวลูกศรคือทิศทางที่น้ำไหลไปสังเกตบริเวณจุดแดง จะเห็นกระแสน้ำไหลแรงลงใต้ หมายถึงการค้นหาควรเน้นในบริเวณนั้นซึ่งการค้นหาในปัจจุบันก็ทำสอดคล้องกับข้อมูลอยู่แล้ว เช่น ชายฝั่งชุมพร บริเวณเกาะต่างๆ เช่น เกาะเต่า ฯลฯภาพที่สองหรือภาพขวามือคือเส้นทางของทุ่นกระแสสมุทร ที่ผมเคยเล่าให้เพื่อนธรณ์ฟังหลายครั้งทุ่นที่ลอยอยู่ในทะเลตอนนี้คือลูกที่ 5 ปล่อยลงทะเลจากแท่นผลิตปิโตรเลียม ปตท.สผ. ในบ่ายวันที่ 15 เดือนนี้ทุ่นดังกล่าวติด GPS รายงานผ่านดาวเทียมให้ทราบเส้นทางตลอดเวลา เป็นทุ่นลอยผิวน้ำ บอกทิศทางการเคลื่อนที่
จุดสีแดงคือตำแหน่งทุ่นปัจจุบัน เห็นเส้นสีน้ำเงินคือจุดต่างๆ ที่ลอยผ่านมาทิศทางของทุ่นลอยไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ หมายถึงน้ำไหลเข้าอ่าวไทยแม้ตำแหน่งทุ่นจะไม่ได้อยู่ในบริเวณเกิดเหตุหรือการค้นหา แต่ข้อมูลนี้บอกเราได้ว่า โอกาสที่ผู้สูญหายจะลอยออกไปจากอ่าวเป็นไปได้น้อย เพราะน้ำไหลเข้าอ่าวเมื่อนำข้อมูลทั้ง 2 ส่วนมาประกอบกัน คงพอให้เพื่อนธรณ์เห็นภาพว่าทุกฝ่ายกำลังพยายามเต็มที่และสอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการ

อีกส่วนหนึ่งที่ทุ่นบันทึกได้คืออุณหภูมิน้ำทะเล เมื่อเทียบกับช่วงกลางปี น้ำเย็นลงชัดเจน จาก 29.5 เหลือ 28.3 องศา การให้ความอบอุ่นอย่างรวดเร็วหากพบผู้ประสบภัยเป็นอีกเรื่องที่พอบอกได้ น่าเสียดายที่เราไม่มีทุ่นลอยอยู่ในบริเวณใกล้เคียง รวมถึงยังขาดข้อมูลอื่นๆ ผมเคยเสนอให้คณะกรรมการต่างๆ ที่ผมมีส่วนร่วมว่า ข้อมูลสมุทรศาสตร์พวกนี้สำคัญมาก เราควรมีสถานีถาวรสำหรับตรวจวัดสมุทรศาสตร์ในด้านต่างๆ อย่างน้อย 3 สถานีในอ่าวไทย ปัจจุบันมีเพียง 1 แห่งที่สถานีวิจัยคณะประมง ศรีราชา มันน้อยเกินไปที่จะทำงานให้แม่นยำครอบคลุมพื้นที่กว้าง จุดหนึ่งที่เคยเสนอและเกือบผ่านคือสถานีในชายฝั่งตะวันตก (เพชรบุรี/ประจวบ) แต่อาจไม่มีงบ ทำให้เรื่องเงียบไป ยังรวมถึงการศึกษาในรายละเอียดเพิ่มขึ้น การใช้ทุ่นกระแสสมุทรตามจุดต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่ให้มากกว่านี้ เพื่อเพิ่มความแม่นยำของแบบจำลอง และช่วยได้ในสถานการณ์จริง เท่าที่คณะประมง/ปตท.สผ./สสน. ทำขึ้นมาก็คงเห็นประโยชน์ชัดเจน ไม่ใช่เฉพาะโลกร้อนหรือปัญหาผลกระทบจากมนุษย์ การศึกษาวิจัยเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำและระบบนิเวศ

ยังรวมถึงการนำข้อมูลไปใช้ในกรณีภัยพิบัติ งานทะเลไม่สามารถทำได้เฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่ต้องทำไปพร้อมกัน และฐานข้อมูลทะเลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และต้องลงทุนเพื่อให้ได้มา สุดท้าย ผมอยากส่งกำลังใจให้ทุกท่าที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะครอบครัวทหารผู้กล้า ผมยังคงหวังในปาฏิหาริย์ครับ

ขอบคุณ ดร.ธนัสพงษ์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มก. และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านในการทำงานด้านสมุทรศาสตร์ของไทยครับ"
กำลังโหลดความคิดเห็น