xs
xsm
sm
md
lg

คำถามต่อวัฒนธรรมองค์กร จากเหตุ “เรือหลวงสุโขทัย” อับปาง จนสูญเสียกำลังพล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

เหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัย ประสบเหตุเผชิญภาวะคลื่นลมแรง จนลูกเรือกว่า 10 ชีวิต ต้องสละเรือเพราะเรือกำลังจะอับปาง เมื่อช่วงเย็นถึงดึกวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ทำให้มีลูกเรือจำนวนหนึ่งยังสูญหาย ที่พบแล้วก็บาดเจ็บและเสียชีวิตแล้วหลายนาย ซึ่งล่าสุดผู้บัญชาการทหารเรือ ยอมรับว่า เสื้อชูชีพที่มีอยู่บนเรือ มีไม่เพียงพอสำหรับกำลังพลทุกนาย โดยขาดไปประมาณ 30 ตัว

แต่ดูเหมือนว่า ปัญหาแท้จริงที่นำไปสู่เหตุเรือล่มรวมไปถึงการสูญเสียกำลังพลครั้งนี้ จะนำไปสู่การตั้งคำถามมากมายต่อกองทัพเรือ ไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นมีเสื้อชูชีพไม่เพียงพอกับจำนวนคนบนเรือเท่านั้น

แน่นอนว่า ผู้ที่ตั้งคำถามต่อไปนี้ คือ กำลังพลของกองทัพเรือเอง แต่พวกเขาล้วนไม่อยู่ในสถานะที่จะเปิดเผยตัวตนได้


คำถามแรก ... การตัดสินใจนำเรือออกปฏิบัติงาน ??

เรือพร้อมออกหรือไม่ ... นั่นเป็นคำถามจาก “ทหารเรือ” ที่มองดูเหตุการณ์นี้จากวงนอก ตั้งคำถามถึงความพร้อมของเรือหลวงสุโขทัยว่า ได้ผ่านการตรวจสอบสภาพความพร้อมของเรืออย่างครบถ้วนหรือไม่ ซึ่งแม้จะมั่นใจว่า กองทัพเรือจะต้องตรวจสอบเรือก่อนสั่งการให้ออกไปปฏิบัติหน้าที่ แต่ที่ผ่านมามักจะมีรูปแบบการสั่งให้เรือออกทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าเรือไม่พร้อม 100% เช่น อุปกรณ์บางอย่างไม่สมบูรณ์หรือไม่ แพชูชีพบางตัวไม่พร้อมใช้งานหรือไม่ โดยยกตัวอย่างในกรณีนี้ คือ การที่เครื่องเรือไม่ทำงาน ซึ่งเขามองว่า เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เรือล่ม เพราะโดยปกติแล้ว แม้ว่าเรือรบในขนาดเดียวกับเรือหลวงสุโขทัยจะเผชิญคลื่นลมแรงเช่นนี้ก็น่าจะสามารถเอาตัวรอดได้ ในข้อแม้ว่า “เครื่องยนต์ยังสามารถทำงานได้”


คำถามต่อมา ... เรือไม่พร้อม ทำไมยังออกเรือ ?? ... สาเหตุที่ 1 ถูกท้าทายจากผู้บังคับบัญชา

“แค่นี้ไปไม่ได้เหรอ สมัยก่อนพวกพี่ยังทำได้” ทหารเรือ ระบุถึงข้อความเช่นนี้ ที่มักจะถูกนำมาใช้ในการสั่งการให้เรือออกไปปฏิบัติหน้าที่ แม้จะไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ 100% ซึ่งเขามองว่า นั่นเป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความสูญเสีย

เรือไม่พร้อม ทำไมยังออกเรือ ?? ... สาเหตุที่ 2 รายได้ของลูกเรือ

“การออกปฏิบัติการของเรือหลวงแต่ละลำจะมีวงรอบของมัน” ดังนั้น เมื่อถึงรอบที่เรือลำใดต้องออกปฏิบัติการ ก็จะมีความคาดหวังเรื่อง “รายได้” ของลูกเรือ ในรูปแบบ “เบี้ยเลี้ยง” มาด้วยเสมอ ซึ่งก็หนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ผู้บังคับการเรือ อาจจะต้องยอมตัดสินใจนำเรืออกปฏิบัติหน้าที่ตามวงรอบ แม้ว่าเรือจะไม่สมบูรณ์ 100% เพราะมีผลต่อเบี้ยเลี้ยงของลูกเรือ ซึ่งเป็นความหวังของเหล่ากำลังพลที่จะมีรายได้เพิ่มบ้าง


คำถามสุดท้าย ... อุปกรณ์เซฟตี้ไม่เพียงพอกับจำนวนลูกเรือ ??

คำตอบของคำถามนี้ จึงย้อนกลับไปที่ต้นเหตุ คือ เรือถูกนำออกไปปฏิบัติหน้าที่ทั้งที่ไม่พร้อมหรือไม่ และจากเหตุการณ์นี้ จะเห็นว่า เรือหลวงสุโขทัย นำลูกเรือซึ่งไม่ใช่ทหารประจำเรืออย่าง นาวิกโยธิน และหน่วยต่อสู่อากาศยานและรักษาฝั่ง (สอ.รฝ.) ไปด้วยจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีผลต่ออุปกรณ์เซฟตี้ส่วนบุคคล เพราะทั้ง 2 หน่วย แม้จะสังกัดกองทัพเรือ แต่ไม่ใช่ทหารที่มีหน้าที่ปฏิบัติการอยู่บนเรือ จึงเป็นไปได้ว่าจะไม่มีอุปกรณ์เซฟตี้ต่อภัยทางน้ำส่วนบุคคล และการนำอุปกรณ์มาเสริมก็อาจไม่เพียงพอต่อคนจำนวนมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น