มีสถิติคนไทยตายในปี พ.ศ ๒๔๗๔ ถูกรถไฟทับตาย ๓๐ คน ถูกรกรถยนต์ชนตาย ๒๑ คน ถูกกระบือขวิดตาย ๗๕ คน ถูกจระเข้กัดตาย ๓๓ คน ถูกช้างแทงตาย ๓๑ คน ถูกเสือกัดตาย ๓๓ คน ปรากฏว่าถูกเสือกัดตายมากกว่าถกรถยนต์ชนซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในปัจจุบันเสียอีก แต่ก็น่าแปลกใจที่มีคนฆ่าตัวตายด้วยวิธีต่างๆถึง ๔๒๐ คน มากกว่าเสือกัดตายหลายเท่านัก
ในสมัยก่อนที่ยังเป็นป่าดงพงไพรอยู่มาก เสือที่เป็นเจ้าป่าจึงมีอยู่ทั่วไป และจำเป็นต้องมีอยู่คู่กับป่า เพราะเป็นห่วงโซ่อาหารที่สำคัญ หากมีเสือลดน้อยลง สัตว์กินพืชก็จะเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุลไป
ความจริงแล้วเสือเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบการต่อสู้ เพราะมีชีวิตอยู่ด้วยการล่า หากบาดเจ็บก็จะทำให้ล่าไม่ได้ต้องอดตาย เสือที่ชอบกินคนนั้นไม่ใช่เพราะเนื้อคนอร่อยกว่าสัตว์อื่น แต่เสือที่กินคนมักเป็นเสือป่วย ล่าสัตว์อื่นไม่ไหว จึงต้องล่าคนที่ล่าได้ง่ายที่สุด
ในอดีตมีเสือที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับดาราเสืออยู่หลายตัว อย่าง “ไอ้เป๋ เมืองชุมพร” ที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ “เรื่องเสือใหญ่ที่เมืองชุมพร” ว่า เมื่อครั้งที่ทรงไปสำรวจเส้นทางเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะเสด็จเลียบหัวเมืองมลายูทั้งปักษ์ใต้ฝ่ายตะวันตกใน พ.ศ.๒๔๓๓ โดยจะเสด็จจากเมืองชุมพรข้ามคอคอดกระไปลงเรือที่เมืองกระบุรี ล่องตามลำน้ำจั่นไปเมืองระนอง แล้วเลียบฝั่งทะเลอ้อมแหลมมลายู่ที่สิงคโปร์ เลียบหัวเมืองปักษ์ใต้ขึ้นมากรุงเทพฯ
ที่เมืองชุมพรทรงได้รับฟังขุนด่านข้าราชการและราษฎรเล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า ในเวลานั้นมีเสือดุที่แขวงเมืองชุมพรตัวหนึ่ง ตัวยาวสัก ๙ ศอก ขาเป๋ข้างหนึ่ง จึงเรียกกันว่า “ไอ้เป๋” เที่ยวกัดกินคนแถวบ้านใหม่ บ้านละมุมาหลายคน ประมาณกันว่าถึงสิบยี่สิบคน และเข้ากัดคนกลางวันแสกๆ บางคนนั่งทอผ้าอยู่ใต้ถุนเรือนก็มาคาบเอาไป บางคนไปขึ้นตาลพอขึ้นพระองก็กระโดดเข้าคาบเท้าอีกข้างลากไป จนชาวบ้านพากันกลัวไม่กล้าเข้าไปหากินในป่า บางคนก็ว่าเป็นเสือสมิงศักดิ์สิทธิ์ กรมพระยาดำรงฯจึงทรงให้ทำบัญชีรายชื่อคนที่ถูกเสือขบเพื่อกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว บัญชีชื่อที่จดมาท่าแซะมี ๙ คน ที่กระบุรีมี ๕ คน มีทั้งตามผีไม่ได้ และตามมาได้ครึ่งเดียวก็มี
ในคืนที่สมเด็จฯกรมพระยาดำรงฯเสด็จไปถึงเมืองชุมพรนั้น กรมการเมืองจะจัดให้ประทับที่ริมจวนเจ้าเมือง แต่ทรงเห็นว่าไกลจากที่จะไปทรงงาน เลยขอไปประทับแรมที่ทำเนียบชายทุ่งใกล้ที่ทำพลับพลารับเสด็จ คืนนั้นทรงบรรทมหลับสนิท พอใกล้เช้าก็มีเสียงโวยวายกันลั่น ทรงเสด็จออกมาดูก็เห็นบรรดาคนที่นอนเรือนเดียวกันบางคนก็ขึ้นไปอยู่บนขื่อ บางคนเข้าห้องปิดประตู บางคนลุกขึ้นยืนบนที่นอน ต่างโบกมือร้อง เฮ้ว! เฮ้ว! ไล่เสือ เลยทรงเฮ้วไปด้วย และเมื่อไต่ถามก็ได้ความตามพระนิพนธ์ไว้ว่า
“...โรงนั้นเป็นโรงใหญ่ไม่มีฝาอยู่สองด้าน มีคนนอนอยู่หลายคน คนหัวเมืองคนหนึ่งละเมอเสียงโวยวายขึ้น คนหัวเมืองอีกคนหนึ่งนอนอยู่เคียงกัน ได้ยินเสียงเพื่อนกันโวยวายก็ตกใจลุกทะลึ่งขึ้น ร้องว่า “เสือ” แล้วก็วิ่งหนี ด้วยเข้าใจว่าเสือมากัดอ้ายคนละเมอ ส่วนอ้ายคนละเมอเห็นเขาวิ่งร้องว่า “เสือ เสือ” ก็สำคัญว่าเสือเข้ามา พลอยลุกขึ้นวิ่งร้องว่า “เสือ” ตามเขาไป อ้ายสองคนนี้เข้าที่ไหนคนก็ลุกขึ้นร้องโวยวายต่อๆไปด้วย ครั้นได้ความชัดอย่างนี้ก็ได้แต่หัวเราะกันไป อีกกว่าชั่วโมงจึงสงบเงียบหลับกันไปอีก นี่แลที่ฉันได้เห็นในเรื่องเสือตัวใหญ่นั้นด้วยตาของฉันเอง แต่มิใช่เห็นตัวเสือใหญ่นั่นดอกนะ”
หลังจากที่ตามเสด็จฯพระเจ้าอยู่หัวเลียบหัวเมืองปักษ์ใต้และแหลมมลายูกลับถึงกรุงเทพฯแล้ว ก็ทรงได้ข่าวเสือใหญ่เมืองชุมพรอีก ได้ทรงเล่าไว้ใน “นิทานโบราณคดี” ว่า
“...ใน พ.ศ.๒๔๓๓ นั่นเอง ได้ข่าวว่าเสือใหญ่เมืองชุมพรถูกยิงตายแล้ว ฉันอยากรู้เรื่องที่ยิงเสือตัวนั้น ให้สืบทราบได้ความว่า ชาวเมืองชุมพรคนหนึ่ง มีธุระจะต้องเดินทางไปในป่า เอาปืนติดมือไปด้วย แต่มิได้ตั้งใจจะไปยิงเสือ เดินไปในเวลากลางวัน พอเลี้ยวต้นไม้ที่บังอยู่ริมทางแห่งหนึ่ง ก็เจอะไอ้เป๋เสือใหญ่ประชันหน้ากันใกล้ๆ ชายคนนั้นมีสติเพียงลดปืนลงจากบ่าขึ้นนกแล้วหลับตายิงไปตรงหน้า แล้วก็ทิ้งปืนวิ่งหนีเอาตัวรอด แต่เป็นเพราะพบเสือใกล้ๆ ข้างฝ่ายเสือก็เห็นจะไม่ได้คาดว่าจะพบคนยืนชะงักอยู่ ลูกปืนจึงถูกที่หัวเสือตายอยู่กับที่ สิ้นชีวิตเสือใหญ่เพียงนั้น แต่ยังไม่หมดเรื่อง ฉันนึกถึงความหลังอยากได้หนังเสือหรือหัวกะโหลกเสือตัวนั้น ให้ไปถามหาได้ความว่า เมื่ออ้ายเป๋ถูกยิงตายแล้ว กำนันนายอำเภอเอาซากไปส่งต่อพระยาชุมพร (ยัง) พระยาชุมพรออกเงินให้เป็นบำเหน็จแก่คนยิงแล้วได้ซากเสือไว้ มิรู้จะทำอย่างไร มีเจ๊กไปขอซื้อว่าจะเอาไปทำยา พระยาชุมพรก็เลยขายซากให้เจ๊กไป ฉันให้ลงไปหาช้าไป จึงไม่ได้หนังหรือหัวกะโหลกอ้ายเป๋ดังประสงค์ เป็นสิ้นเรี่องเสือใหญ่เมืองชุมพรเพียงเท่านี้”
นี่ก็เป็นเรื่องไอ้เป๋เสือในตำนาน แต่ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ เมื่อมีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แล้ว ก็ยังมีเรื่องเสือกัดคนอีกจนได้ ในคืนวันที่ ๒๕ มิถุนายน เวลา ๒๐.๒๐ น. เด็กหญิงศรีนวล ลูกสาวของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทำดินสอตกใต้ถุนจึงเดินลงไปเก็บ เสือโคร่งลายพาดกลอนตัวหนึ่งมานอนหลบอยู่ใต้ถุนจึงกระโจนเข้าใส่ แม้มีคนไปช่วยทำให้เสือคาบเอาไปไม่ได้ แต่เด็กน้อยก็บาดเจ็บจนไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่เขาใหญ่จึงวางกำลังกันเฝ้าเพื่อจะผลักดันให้เสือตัวนี้กลับเข้าป่า เพราะตามสัญชาติญาณของเสือแล้ว เมื่อกัดคนแล้วจะต้องกลับมาหาเหยื่อที่เดิมอีก ในคืนเดียวกันนั้นในเวลาประมาณ ๐๒.๐๐ น. ขณะที่นายสมพงษ์ อุทัยสงค์ สายตรวจของอุทยานเขาใหญ่ นั่งกอดปืนอยู่ที่หน้าต่างสูงจากพื้นดิน ๒ เมตร ก็ได้รับสัญญาณผิวปากจากเจ้าหน้าที่อีกคนที่เฝ้าอยู่ว่าเสือตัวนั้นมาแล้ว นายสมพงษ์จึงค่อยๆยื่นศีรษะออกไปดู เลยถูกเสือตะปบหัวเป็นแผลแหวะหวะ และไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีกคน ในที่สุดเจ้าหน้าที่เขาใหญ่ก็จำเป็นต้องสังหารเสือตัวนี้ เพื่อไม่ให้ไปทำร้ายใครอีก นี่ก็คือเบื้องหลังซากเสือที่ถูกสตัฟฟ์ไว้ที่ศูนย์ฟื้นฟูสัตว์ป่าฯ ที่ตั้งไว้ให้นักท่องเที่ยวชมในปัจจุบัน
เสือที่ถูกบันทึกไว้เป็นสถิติโลก มีชื่อว่า “เสือจำปาวัฒน์” เดิมเป็นเสือดุร้ายในเนปาล ถึงขนาดต้องส่งกองทัพไปล่า แต่มันก็หนีข้ามแม่น้ำกาลีไปอาละวาดต่อในเมืองจำปาวัฒน์ รัฐอุตตรำขันธ์ของอินเดีย และคร่าชีวิตผู้คนไปราว ๔๔๐ คน จนกินเนสส์บุ๊คได้บันทึกไว้
สัตว์ทุกชนิดธรรมชาติสร้างขึ้นมาเช่นเดียวกับมนุษย์ ต่างต้องดิ้นรนหาอาหารมาประทังชีวิตตามสมรรถภาพที่ถูกสร้างมา เพราะอาหารคือชีวิต สัตว์ไม่ว่าดุร้ายแค่ไหนก็เชื่องได้ทั้งนั้นถ้าเมตตาให้อาหารเลี้ยงมัน ไม่ต้องไปล่าหากินเอง แม้แต่เสือก็มีคนเลี้ยงจนจูบปากกันได้
คนที่เกิดมาในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหาร จึงนับว่าประเสริฐสุดแล้ว