xs
xsm
sm
md
lg

เตือนถูกหวยรางวัลที่ 1 แพลตฟอร์มเอกชน ไม่ได้ขึ้นเงินเอง อาจถูกประเมินภาษีสูงสุด 35%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บนโซเชียลฯ แชร์ ผู้ที่ถูกรางวัลจากแพลตฟอร์มออนไลน์เอกชน รางวัลใหญ่ไม่ได้ขึ้นเงินกับสำนักงานสลากฯ เอง อาจไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ และถูกประเมินภาษีเงินได้สูงถึง 35% พบประเด็นนี้เป็นที่ถกเถียงเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา

วันนี้ (20 ธ.ค.) บนโซเชียลฯ มีการแชร์ข้อความจากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่ง ระบุว่า "แจ้งข่าวร้ายให้ผู้ที่ถูกรางวัลจากแพลตฟอร์มออนไลน์เอกชนทราบครับ ผู้ที่ถูกรางวัลใหญ่ แต่ไม่ได้ขึ้นเงินกับสำนักงานสลากฯ เอง แต่ให้แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตัวท่านเองซื้อขึ้นเงินรางวัลให้ โดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายใดๆ จากท่าน โดยอ้างว่าจ่ายภาษีให้แทนนั้น ท่านจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นะครับ

ถ้าท่านถูกรางวัลตั้งแต่ 6 ล้านบาทขึ้นไป ท่านจะต้องถูกสรรพากรประเมินภาษีเงินได้สูงถึง 35% ยกตัวอย่างเช่น ถูกรางวัลที่ 1 รับ 6 ล้าน ต้องเสียภาษี 2.1 ล้านบาท เพราะกฎหมายยกเว้นให้เฉพาะคนที่ขึ้นเงินกับสำนักงานสลากเท่านั้น คำยืนยันจากประธานบอร์ดสำนักงานสลากฯ (อธิบดีกรมสรรพากร) และ ผอ.สำนักงานสลากฯ

ป.ล.ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบด้วยครับ"

อ่านเพิ่มเติม คลิกที่นี่


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวตรวจสอบเรื่องราวดังกล่าว พบว่าเมื่อวันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวจากกรมสรรพากร ระบุว่า อยู่ระหว่างพิจารณากรณีที่แพลตฟอร์มขายสลากออนไลน์ของเอกชนหลายราย ใช้วิธีการทางการตลาด โดยนำเงินสดไปมอบให้ลูกค้าในกรณีที่ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวนมาก เช่น รางวัลที่ 1 หลายใบ เงินรางวัลหลาย 10 ล้านบาท เพื่อจูงใจให้ลูกค้ามาซื้อสลาก โดยอ้างว่าไม่หักค่าใช้จ่าย ที่ผ่านมามีการตั้งข้อสังเกตว่า การนำเงินสดไปมอบให้ลูกค้าโดยตรงอาจเข้าข่ายเป็นเงินได้ ต้องนำมาคำนวณเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีหรือไม่

ต่างจากการนำสลากมาขึ้นเงินรางวัลเอง ที่จะเสียเฉพาะค่าอากรแสตมป์ 0.5% ของเงินรางวัล เช่น รางวัลที่ 1 ที่ 6 ล้านบาท เสียอากรแสตมป์ 30,000 บาท แต่ประมวลรัษฎากร จะมีการยกเว้นไม่ต้องมาเสียภาษีเงินได้อีก หากพิจารณาแล้วว่า การรับเงินรางวัลในลักษณะดังกล่าว ต้องเสียภาษีเงินได้ ก็อาจจะมีผลย้อนหลังกับผู้ที่ได้รับเงินรางวัลจากแพลตฟอร์มเอกชนไปก่อนหน้านี้ รวมถึงผู้ที่ได้รับเงินรางวัลในปีนี้ทั้งหมดที่ต้องยื่นแบบคำนวณรายได้ เพื่อใช้เสียภาษี แต่กรมฯ ต้องไปดูให้ชัดเจนก่อนว่าวิธีการจ่ายเงินรางวัลของแพลตฟอร์มเอกชนให้กับลูกค้า ว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร

ขณะที่ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา กล่าวถึงกรณีผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อาจต้องเสียภาษีเงินได้ ว่า หลักการถ้ามีเงินได้ถึงเกณฑ์ก็ต้องมีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง ถ้ามีคนเอาเงินมาให้ ถือเป็นได้หรือไม่ ต้องไปดู ต่างจากการซื้อสลากดิจิทัลผ่านแอปเป๋าตัง ที่คนถูกรางวัลมาขึ้นเงินรางวัล เป็นชื่อคนรับรางวัล จ่ายภาษีตรงตัวจากอากรแสตมป์ 0.5%

ทั้งนี้ กฎหมายระบุชัดว่า การถูกรางวัล คนที่ถือสลากต้องถือมารับรางวัลเอง ดังนั้นเวลามาขึ้นเงิน คนที่ไม่โดนภาษีคือคนที่มาขึ้นเงิน ส่วนกรณีที่มาขึ้นเงินรางวัลกับกรุงไทย ธ.ก.ส. ออมสิน ที่มีการระบุว่าต้องเสียภาษีด้วยหรือไม่ ถือเป็นจ่ายตรง คนรับเงินรางวัลที่ถือสลากมา มีการจ่ายอากรแสตมป์ มีใบกำกับภาษีครบหมด

ถึงกระนั้น พบว่ามีแพลตฟอร์มเอกชนรายหนึ่ง แถลงข่าวตอบโต้เรื่องดังกล่าว อ้างว่าหากลูกค้าถูกรางวัลกับแพลตฟอร์มของตนเอง ทางบริษัทจะโอนเงินให้เต็มจำนวนโดยไม่หักค่าใช้จ่าย ส่วนสลากกินแบ่งรัฐบาลใบจริง จะรับมอบอำนาจจากลูกค้าให้ไปขึ้นเงินรางวัลโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะอำนวยความสะดวกจ่ายภาษีให้กับลูกค้า และกรณีที่ถูกรางวัลที่ 1 จะไปลงบันทึกประจำวัน ถ้ายังต้องเสียภาษี ยินดีจะจ่ายให้ ไม่อยากให้ลูกค้ากังวลกับข่าวที่เกิดขึ้น

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับกรณีที่ถูกรางวัลที่ 1 ได้รับเงินรางวัล 6 ล้านบาท แล้วนำสลากตัวจริงไปขึ้นเงินรางวัลที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ถ้าเป็นสลากกินแบ่งรัฐบาล จะเสียค่าอากรแสตมป์ 30,000 บาท หรือคิดเป็น 0.5% ของเงินรางวัลที่ได้รับ และจะได้รับเงินสั่งจ่ายเป็นเช็ค 5,970,000 บาท ส่วนสลากการกุศล จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 60,000 บาท หรือคิดเป็น 1% ของเงินรางวัลที่ได้รับ แต่ไม่เสียค่าอากรแสตมป์ และจะได้รับเงินสั่งจ่ายเป็นเช็ค 5,940,000 บาท โดยจะมีหลักฐานเป็นใบรับเงินรางวัลและคิดเงินอากร/ภาษีไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งผู้ถูกรางวัลจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ต้องนำเงินรางวัลไปยื่นภาษีประจำปีอีก


กำลังโหลดความคิดเห็น