xs
xsm
sm
md
lg

ประกาศแล้ว! ศึกแข่งขันเมนูอาหารอนาคตในโครงการ “Future Food for Sustainability” ใครจะเป็นผู้คว้ารางวัลชนะเลิศและได้ไปต่อยอดกับองค์กรชั้นนำ กับเมนูอาหารอนาคตที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ ต้อนรับผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยกับการประชุมเอเปค 2022 ด้วยความสำเร็จ ภายใต้ธีม Open. Connect. Balance. เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล ในวาระที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจได้ร่วมกันหารือแนวทางความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิกเผชิญอยู่ในปัจจุบัน พร้อมถอดบทเรียนผลกระทบจากวิกฤตโควิด – 19 เพื่อมุ่งหน้าขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและส่งเสริมการเติบโตในระยะยาวที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง โดยมีแนวคิดเศรษฐกิจ BCG โมเดลเป็นต้นแบบ

ที่ผ่านมากรมประชาสัมพันธ์ได้จัดกิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมของคนไทยทั้งประเทศผ่านโครงการ APEC พร้อม ไทยพร้อม เพื่อให้คนไทยทุกคนให้ทราบถึงประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ ซึ่งหนึ่งในโครงการที่มีผู้ให้ความสนใจอย่างล้นหลามคือเรื่อง “อาหารอนาคต” Soft power ที่เผยแพร่วัฒนธรรมด้านอาหารของไทยภายใต้แนวคิด BCG Economy ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและชุมชน ผ่านโครงการFuture Food for Sustainability กิจกรรมประกวดเมนูอาหารอนาคต เพื่อต้อนรับผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจ โดยมีผู้สนใจร่วมส่งผลงานมากกว่า 2,000 ทีม และผ่านคัดเลือกเหลือ 60 ทีม ที่ได้มาร่วมศึกท้าประลองฝีมือทำอาหาร จนคัดเหลือ 21 ทีม ตัวแทนประเทศไทยที่เป็นกระบอกเสียงให้ทั่วโลกรับรู้ว่าเราพร้อมเป็น “ครัวแห่งอนาคตของโลก”

การแข่งขันได้ดำเนินมาจนเป็นที่สิ้นสุด ผ่านการตัดสินจากคณะกรรมการระดับบิ๊กและองค์กรชั้นนำกว่า 10 องค์กรรวมทั้งเสียงโหวตจากประชาชนทั่วประเทศกว่าหลายหมื่นเสียง โดยได้จัดงานประกาศผลขึ้นในวันที่ 13 ธันวาคม 2565 ภายในงานยังได้รับเกียรติจาก นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้มอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ชนะการแข่งขันในครั้งนี้ โดยผลการแข่งขันโครงการ “Future Food for Sustainability” ครั้งนี้มีทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 คือ ทีม “เลอชั้น” ขนมชั้น สูตรลดน้ำตาล เสริมใยอาหารและโพรไบโอติก ใช้สีจากสารสกัดเปลือกแก้วมังกร โดยมีแนวคิดที่ตรงกับ future food คือ ดีต่อสุขภาพ และ ดีต่อโลก เพราะใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งให้ได้มากที่สุด ยกระดับภูมิปัญญาอาหารไทยสู่ของหวานสุขภาพแห่งอนาคตยั่งยืน

นาย นุติ หุตะสิงห หัวหน้าทีม “เลอชั้น” เจ้าของเมนู ขนมชั้น สูตรลดน้ำตาล ผู้ชนะเลิศ เผยถึงแรงบันดาลใจว่า “เริ่มจากการคุยกับน้องที่เรียนด้าน ฟู้ด รีเสิร์ช แอนด์ ดีเวลลอปเม้นท์ ว่าจะทำอะไรดี จนมาจบที่เรื่องเทคนิคการสลับชั้นหวานจืด โดยที่รสชาดเหมือนเดิม แต่น้ำตาลหายไปครึ่งนึง เป็นงานวิจัยของฝรั่งที่เค้าทำกันอยู่แล้ว แต่ยังไม่มีใครประยุกต์ใช้กับอาหารไทยหรือขนมไทย ฝรั่งเค้าทำกับขนมเค้ก เลยนึกถึงขนมชั้นที่เป็นขนมไทยของเรา ซึ่งก่อนหน้านี้ทำขายด้วยเทคนิคนี้กับน้องๆ อยู่แล้ว พอมีโครงการนี้ ก็เอาคอนเซ็ปต์นี้มาแข่งขันเลย พร้อมจดอนุสิทธิบัตรไปด้วยพร้อมกัน คิดว่าจุดเด่นที่ทำให้ได้รางวัล น่าจะเป็นเทคนิค ที่ทำให้ความอร่อยเหมือนเดิมตามสูตรขนมชั้น แต่เราลดน้ำตาลออกไปครึ่งนึง แต่มีความหวาน ที่เสริมใยอาหารและโพรไบโอติก ความอร่อยในความเป็นขนมชั้นนั้นเท่าเดิม ได้ในเรื่องสุขภาพขึ้นมา ถ้าทำขายคือรสชาดดี ราคาไม่สูงเกินไป และถ้าจะต่อยอดเมนูนี้ ก็จะคงคอนเซ็ปต์เดิมไว้ คือสลับชั้นหวานจืด แต่อาจจะเปลี่ยนหรือเพิ่มรสชาดไปเรื่อยๆ เพิ่มหลากหลายทั้งรสและรูปแบบ”

นอกจากนี้ ยังให้มุมมองถึงอาหารอนาคตในวันข้างหน้าไว้อีกว่า “อยากเห็นอาหารอนาคตที่รสชาดจากเนื้อสัมผัสคงเดิม เป็นความอร่อย ที่ซ่อนความดีต่อสุขภาพ มีใยอาหาร แต่น้ำตาลน้อย ในเรื่องของราคาต้องเข้าถึงได้ กับโครงการนี้ ทำให้เห็นว่าวัตถุดิบหลายๆ อย่าง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ ให้เกิดเป็นอาหารอนาคตได้ ถ้ารู้เทคโนโลยี รู้วิทยาศาสตร์ รู้หลักการในการทำ

อยากจะฝากถึงคนที่สนใจหรือยังเข้าไม่ถึงเรื่องอาหารอนาคต คนชอบลืมว่าอาหารอนาคต มันต้องมีความยั่งยืน ความยั่งยืนก็คือ ผลิตแล้วดีต่อสุขภาพของเราไม่พอ อร่อยไม่พอ ต้องผลิตแล้วไม่รบกวนธรรมชาติ ต้องดีต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมืองนอกจะให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก ในกลุ่มคนไทยยังน้อยอยู่ อาหารอนาคตไม่ใช่แค่ที่ตัวเรา แต่มันต้องดูแลถึงสิ่งแวดล้อม มลพิษ การปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เพราะสุดท้ายเราต้องอยู่บนโลกใบนี้ ดีต่อสุขภาพ ต้องดีต่อโลกด้วย” แชมป์ Future Food for Sustainability กล่าว

สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 คือ ทีม “M-FIT” ขนมไข่ผำชูกำลัง เป็นมูสเต้าหู้ไข่ผำสูตรไม่มีเจลาตินจากสัตว์ ต่อยอดภูมิปัญญาแหล่งอาหารอนาคตพืชนํ้าขนาดเล็กที่มีโภชนาการระดับซุปเปอร์ฟู๊ด
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 คือ ทีม “TasteLab” ProTim Magket ไอศครีมสไตล์แม็กนั่ม ทำจากโปรตีนจิ้งโกร่ง นมข้าวถั่วและกะทิ ส่งเสริมการบริโภคหลากหลายโดยใช้แหล่งโปรตีนแห่งอนาคตจากแมลง และรางวัล Popular Vote คือ ทีม “CANES Plant-based Culinary Lab” คาโบนาร่าด้วยไข่จากพืช ปราศจากนมวัวและไข่ไก่ สร้างสรรค์โอกาสการยกระดับชีวิตผู้บริโภค วีแกนลดภาระต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเบียดเบียนสัตว์ สนับสนุนแหล่งเกษตรยั่งยืนในประเทศ

การจัดกิจกรรม Future Food for Sustainability ภายใต้โครงการ APEC พร้อม ไทยพร้อมในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของคนรุ่นใหม่ ที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยผลักดัน ส่งเสริม Soft power ด้านอาหารและแนวคิดด้าน BCG ที่ทางรัฐบาลกำลังให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง และถือเป็นเวทีในการจุดประกายไอเดียคนรุ่นใหม่ให้สอดรับกับแนวคิดการประชุมเอเปคที่ผลลัพธ์ของการประชุมมักจะเป็นการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยผลลัพธ์จากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ผู้ชนะทั้ง 21 ทีมจะได้รับเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 2,200,000 บาท โดยทีมที่ชนะอันดับ 1-3 จะได้โอกาสต่อยอดกับภาคธุรกิจองค์กรชั้นนำอีกด้วย












กำลังโหลดความคิดเห็น