xs
xsm
sm
md
lg

ภาพประวัติศาสตร์วัดเอี่ยมวรนุช ตัดรื้อถอนกำแพง สร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วัดเอี่ยมวรนุชเผยภาพประวัติศาสตร์ ตัดรื้อถอนกำแพงวัดเพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางขุนพรหม ชาวเน็ตคาดเมื่อสร้างเสร็จจะนำมาประกอบกลับตามรูปแบบเดิม ขณะที่ป้ายวัดย้ายมาอยู่ตรงหน้าโบสถ์

วันนี้ (14 ธ.ค.) บนโลกโซเชียลฯ แชร์ภาพ กำแพงวัดเอี่ยมวรนุช หรือวัดท้องคุ้ง ถนนสามเสน แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร กรุงเทพฯ ซึ่งพบว่ามีการตัดกำแพงวัดเพื่อก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยระบุว่า "ภาพประวัติศาสตร์ การตัดรื้อถอนกำแพงวัดเอี่ยมวรนุชเพื่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีม่วงใต้ บางขุนพรหม"

ปรากฏว่ามีชาวเน็ตต่างแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยคาดว่าตัดเป็นชิ้นแบบนี้ แปลว่าเมื่อสร้างเสร็จจะนำมาประกอบกลับตามรูปแบบเดิม ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดี และอยากให้ก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมกับชื่นชมวัดที่ยอมเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อส่วนรวม มองว่าเป็นไตรลักษณ์ มันเป็นเช่นนี้ เพื่อประโยชน์ของคนหมู่มาก ไม่ใช่เรื่องเสียหาย

ต่อมาทางวัดได้โพสต์ภาพ ป้ายชื่อวัดย้ายออกจากกำแพงไปอยู่ที่บริเวณหน้าโบสถ์ ระบุว่า "วัดเอี่ยมฯ วันนี้ ป้ายชื่อวัดเห็นชัดเจนตรงหน้าโบสถ์ ป้ายเป็นของเดิมแค่ย้ายที่ (ชั่วคราว) รู้สึกแปลกตาแต่ทว่าสวยงามเหมาะสมกลมกลืนในตำแหน่งที่ตั้ง สีทองตัดสีแดง เข้ากับหน้าจั่ว ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ คันทวย นาคสะดุ้ง และเพดานโบสถ์"

และต่อมา ประกาศว่า "วันที่ 17 ธ.ค. รถยนต์ไม่สามารถเข้าออกวัดเอี่ยมฯ ได้ เนื่องจากโครงการก่อสร้างฯ (รฟม.) จะทำการตัดซุ้มประตูและเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนไปเก็บรักษาไว้ให้ก่อนตามข้อตกลง ส่วนสาธุชนยังสามารถเข้ามาทำบุญไหว้พระได้ตามปกติ เข้าทางประตูเล็กชั่วคราว หน้าวัดเอี่ยมฯ"

สำหรับวัดเอี่ยมวรนุชไม่ปรากฏหลักฐานการก่อสร้างแน่ชัด เพียงแต่เล่าต่อกันมาว่าเดิมชื่อ "วัดใหม่ท้องคุ้ง" เพราะตั้งอยู่ในคลองบางขุนพรหม (ปัจจุบันคลองถูกถมตัดเป็นถนนพายัพ) ตอนที่เป็นหัวเลี้ยวเป็นคุ้งน้ำมีขนาดใหญ่ เรือกัญญาในพิธีกฐินหลวงสามารถเข้ามากลับลำได้สะดวก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทางราชการสร้างถนนสามเสนตัดผ่านทางวัดส่วนที่เหลือฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อยจึงกลายเป็นที่หลวงไป เหลือเพียงพื้นที่วัดในปัจจุบันนี้ สิ่งก่อสร้างภายในวัดส่วนใหญ่สร้างขึ้นใหม่ภายหลังอาคารเก่ามีเพียงซุ้มพระเจ้าเข้านิพพาน เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนซุ้มยอดปรางค์มีบันไดทางขึ้น ประดับรูปสลักนูนต่ำเป็นรูปเสือ สิงห์ และเด็ก ภายในเป็นที่ประดิษฐานหีบสลักลายพระพุทธบาทคู่ พระพุทธรูปและพระสาวก

สำหรับโครงการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 13.6 กิโลเมตร 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 10 กิโลเมตร 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ลอดใต้กรมสรรพาวุธทหารบก เข้าสู่ถนนทหาร ผ่านแยกเกียกกาย เข้าสู่ถนนสามเสน ผ่านอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพู เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถนนราชดำเนินกลาง แยกผ่านฟ้าลีลาศ เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า

เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ผ่านโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า ลอดใต้แยกมไหสวรรย์ หลังจากนั้นแนวเส้นทางจะเปลี่ยนเป็นโครงสร้างยกระดับ วิ่งไปตามกลางถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกดาวคะนอง ข้ามสะพานข้ามแยกพระราม 2 ผ่านแยกประชาอุทิศ ข้ามทางพิเศษเฉลิมมหานคร สะพานภูมิพล 1 ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดที่ ต.ครุใน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ พร้อมโรงจอดรถไฟฟ้าริมถนนกาญจนาภิเษก ข้างด่านเก็บค่าผ่านทางบางพลี-สุขสวัสดิ์ อาคารจอดแล้วจร 2 แห่ง ได้แก่ สถานีบางปะกอก และสถานีราษฎร์บูรณะ

การก่อสร้างแบ่งออกเป็น 6 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ วงเงิน 19,430 ล้านบาท ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-พีแอล (ช.การช่าง และซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น) สัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้าฯ วงเงิน 15,878 ล้านบาท ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าซีเคเอสที-พีแอล, สัญญาที่ 3 ช่วงผ่านฟ้าฯ-สะพานพุทธ วงเงิน 15,109 ล้านบาท ก่อสร้างโดย กิจการร่วมค้าไอทีดี-เอ็นดับบลิวอาร์ เอ็มอาร์ที (อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ และเนาวรัตน์พัฒนาการ)

สัญญาที่ 4 ช่วงสะพานพุทธ-ดาวคะนอง วงเงิน 14,982 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน), สัญญาที่ 5 ช่วงดาวคะนอง-ครุใน วงเงิน 13,094.80 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และสัญญาที่ 6 งานออกแบบและก่อสร้างระบบรางตลอดแนวเส้นทางโครงการ วงเงิน 3,589 ล้านบาท ก่อสร้างโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 ระยะเวลา 2,005 วัน คาดว่าจะเปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ภายในปี 2570


























กำลังโหลดความคิดเห็น