ในปี พ.ศ.๒๓๕๒ รัชกาลที่ ๒ ครั้งที่พม่ายกเข้ามาตีเมืองถลาง อีกทัพหนึ่งเข้าตีเมืองระนอง กระบุรี และชุมพร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระอนุชากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์เป็นแม่ทัพยกลงไปปราบ และเข้าตีพม่าที่ยึดเมืองชุมพรอยู่จนพม่าแตกพ่าย ไทยยังตามตีไปจนถึงเมืองตะกั่วป่า ในสงครามครั้งนี้ทัพหนึ่งของพม่าไปตั้งรออยู่ที่ตำบลหนึ่ง ตำบลนั้นต่อมาจึงได้ชื่อว่า “ทัพรอ” ต่อมาได้เพี้ยนเป็น “รับร่อ” ซึ่งเป็นตำบลหนึ่งของอำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพรในปัจจุบัน
ในตำบลรับร่อนี้ ยังมีสถานที่อีกแห่งหนึ่งได้ชื่อมาจากสงครามครั้งนั้นเหมือนกัน คือ “หาดพม่าตาย” ซึ่งเป็นหาดริมลำธาร มีเรื่องเล่ากันว่าทหารพม่าที่มานอนรอตีทัพไทยอยู่ตรงนั้น และได้ไปเด็ดใบไม้อย่างหนึ่งที่ขึ้นเป็นดงอยู่ในบริเวณนั้นมาปูนอน รุ่งเช้าก็กลายเป็นศพเกลื่อนหาดจากพิษของใบไม้
ใบไม้นั้นชาวบ้านเรียกกันว่า “ตะลังตังช้าง” เป็นใบไม้มีพิษ และมีชื่อเรียกกันอีกหลายชื่อ ชื่อหนึ่งคือ “ต้นช้างร้อง” แม้แต่ช้างเดินไปโดนใบไม้นี้เข้าก็จะร้องลั่นป่า ส่วนคนก็จะปวดแสบปวดร้อนมากและอาจแพ้ถึงตาย ลักษณะก็ดูเหมือนใบไม้ทั่วไป มีดอกสวย แต่มีขนที่ขอบใบโดยรอบและมีสารพิษที่ขน คาดกันว่าเมื่อทหารพม่าโดนพิษของใบตะลังตังช้างเข้าไปเกิดอาการจึงพากันวิ่งลงน้ำ ทำให้แพ้ถึงเสียชีวิตได้
แพทย์แผนไทยบอกวิธีรักษาเมื่อโดนพิษตะลังตังช้างไว้ว่า ให้รีบเอาขี้ผึ้งมารนไฟ แล้วนำมาคลึงเพื่อดึงเอาขนของตะลังตังช้างออกเสียก่อน หรือโรยแป้งแล้วใช้ขนหรือเส้นผมปัด แล้วใช้ใบเสลดพังพอนผสมกับเหล้าทาบริเวณที่คัน
กรมอุทยานและพันธุ์พืชแห่งชาติแนะนำว่า ต้นช้างร้อง มีดอกสวยแต่อันตราย ซ่อนเข็มพิษอยู่ใต้ใบ มีพิษรุนแรงกว่าพืชพิษชนิดอื่นๆหลายเท่า ขนาดช้างยังร้อง ภายนอกดูเหมือนพืชทั่วไปแต่ใต้ใบมีเข็มขนาดจิ๋วนับไม่ถ้วนพร้อมที่จะทิ่มแทง เมื่อไปสัมผัสจะเกิดอาการแสบร้อน คัน หรือในบางคนอาจจะเกิดอาการแพ้รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การรักษาเบื้องต้นให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที และรีบไปพบแพทย์ ใครที่เดินป่าก็ขอให้ระมัดระวัง พบเห็นพันธุ์ไม้สวยงามก็ให้ชมแต่ตา อย่าสัมผัสโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากจะเป็นการทำลายธรรมชาติแล้ว อาจเป็นอันตรายต่อตัวเองได้
พจนานุกรมไทยฉบับหนึ่งกล่าวว่า ตะรังตังช้าง เป็นไม้พุ่มสูงราว ๒-๔ เมตร ใบโตขนาดใบสัก เป็นขนสีขาวมีพิษ ถูกเข้าจะคันและเกาจนหนังถลอก ทำให้เป็นแผลเรื้อรัง แพทย์โบราณใช้กะปิหรือใบตำลึงขยี้คลึงเอาขนออก เป็นการแก้
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพนิพนธ์ไว้ใน “นิทานโบราณคดี” เมื่อครั้งที่ได้เสด็จตรวจเส้นทางข้ามคอคอดกระไว้ว่า
“...ได้พบเห็นของประหลาดที่ไม่เคยรู้เห็นมาก่อนบางอย่างจะเล่าไว้ด้วยอย่างหนึ่ง คือ ต้นไม้ใบมีพิษเรียกว่า “ตะลังตังช้าง” เป็นต้นไม้ขนาดย่อม สูงราวห้าหกศอก ขึ้นแทรกแซมต้นไม้อื่นอยู่ในป่า ไม้อย่างนี้ที่ครีบใบมีขนเป็นหนามเล็กๆอยู่รอบใบ ถ้าถูกขนนั้นเข้าก็เกิดพิษให้เจ็บปวด เขาว่าพิษร้ายถึงช้างกลัว เห็นต้นก็ไม่เข้าใกล้ เพียงเอาใบตะลังตังช้างจี้ให้ถูกตัวก็วิ่งร้องไป จึงเรียกว่าตะลังตังช้าง ชาวชุมพรเล่าต่อไปว่า หาดริมลำธารแห่งหนึ่งในทางที่ฉันไปนั้น เรียกกันว่า “หาดพม่าตาย” เพราะเมื่อพม่ามาตีเมืองไทยในรัชกาลที่ ๒ พักนอนค้างที่หาดนั้น พวกหนึ่งไม่รู้ว่าใบตะลังตังช้างเอามาปูนอน รุ่งขึ้นก็ตายหมดทั้งพวก คนไปเห็นพม่านอนตายอยู่ที่หาด จึงเรียกกันว่าหาดพม่าตายแต่นั้นมา แต่ฉันฟังเล่าออกจะสงสัยว่า ที่จริงเห็นจะเป็นเมื่อพม่าหนีไทยกลับไป มีพวกที่ถูกบาดเจ็บสาหัสไปตายลงที่นั้น จึงเรียกว่าหาดพม่าตายมาแต่เดิม เผอิญคนไปเห็นแถวนั้นมีต้นตะลังตังช้างชุม ผู้ที่ไม่รู้เหตุเดิมจึงสมมติติว่าตายเพราะถูกพิษใบตะลังตังช้าง ถ้าเอาใบตะลังตังช้างมาปูนอนดังว่าก็คงรู้สึกพิษสงของใบไม้ตั้งแต่แรก พอหนีเอาตัวรอดได้ ไหนจะนอนทนพิษอยู่จนขาดใจตาย ยังมีบางคนกล่าวต่อไปอีกอย่างหนึ่งว่า ใบตะลังตังช้างนั้นถ้าตัดเอาครีบตรงที่มีขนออกเสียให้หมดแล้วใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือใส่แกงกินอร่อยดี ดูก็แปลก แต่ฉันไม่ได้ทดลองให้ใครกินใบตะลังตังช้างหรือเอามาจี้ช้างให้ฉันดู เป็นแต่ให้เอามาพิจารณาดู รูปร่างอยู่ในประเภทใบไม้สี่เหลี่ยม เช่น ใบมะเขือ ขนาดเขื่องกว่าใบพลูสักหน่อยหนึ่ง แต่ที่ครีบมีขนเหมือนขริบรอบทั้งใบ ใบไม้มีพิษพวกนั้นยังมีอีก ๒ อย่าง เรียกว่า “ตะลังตังกวาง” อย่างหนึ่ง “สามแก้ว” อย่างหนึ่ง แต่รูปใบรีปลายมน เป็นใบไม้ต่างพันธุ์กับตะลังตังช้าง เป็นแต่ที่ครีบมีขนเช่นเดียวกัน และว่าพิษสงอ่อน ไม่ร้ายแรงถึงตะลังตังช้าง ได้ยินเขาว่าทางข้างเหนือที่เมืองลำพูนต้นตะลังตังกวางก็มี แต่ฉันไม่ได้เห็นแก่ตาเหมือนที่แหลมมลายู”
พืชนี้นับว่าเป็นพืชที่มีปัญหามาก แค่เขียนก็มีทั้ง “ตะลังตังช้าง” และ “ตะรังตังช้าง” ล.ลิง และ ร.เรือ ใบขนาดเขื่องกว่าใบพลูสักหน่อย หรือใบโตขนาดใบสักกันแน่ ซึ่งขนาดต่างกันอย่างมาก ขนอยู่ใต้ใบหรือรอบขอบใบ ซึ่งคงจะมีหลายพันธุ์ที่ลักษณะแตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันก็คือพิษสงที่ทำให้ช้างร้องได้ แล้วคนจะไปเหลืออะไร ฉะนั้นถ้าเข้าป่าเห็นใบไม้ที่ไม่รู้จักก็ดูแต่ตา อย่าไปจับต้อง หรือถ้าจะหาผักมาจิ้มน้ำพริกก็เอาให้ชัวร์ว่ารู้จักคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ไม่ได้อยู่ในตระกูลตะรังตังช้างแน่