วันที่ ๑๐ ธันวาคม เป็นวันหยุดราชการประจำปีเนื่องใน “วันรัฐธรรมนูญ” ความจริงเรามีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ เมื่อมีการประกาศใช้ “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕” แต่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จนวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทาน “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕” เป็นรัฐธรรมนูญฉบับถาวร
เมื่อได้รัฐธรรมนูญมาชาวประชาต่างดีใจเหมือนได้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อัญเชิญขึ้นขึ้นบนพานแว่นฟ้าเคารพบูชา แม้จะได้ชื่อว่า “ฉบับถาวร” แต่ไม่เคยใช้ได้ถาวรซักฉบับ ถูก “แก้ไข” และ “ฉีก” เป็นกิจวัตร จนเป็นประเทศที่ใช้รัฐธรรมนูญเปลืองที่สุดในโลกก็ว่าได้ ไม่ว่าจะมาจากรัฐประหารหรือเลือกตั้ง ต่างก็แก้รัฐธรรมนูญให้เข้าทางของตัวเป็นอันดับแรก
บางคนก็ไม่อยากใช้รัฐธรรมนูญให้ยุ่งยาก อย่างสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ฉีกรัฐธรรมนูญแล้วประกาศกฎอัยการศึก ประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๐๒” มีเพียง ๒๐ มาตรา ระบุให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำนั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งประหารชีวิตคนก็ยังได้ แล้วทำให้ประชาชนตายใจด้วยการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมีจำนวน ๒๔๐ คน ให้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ แต่ให้นั่งกินเงินเดือนถ่วงเวลาไว้ ไม่ให้รัฐธรรมนูญคลอดออกมา ฉนั้นตลอดเวลา ๕ ปีกับ ๑ เดือนเศษที่จอมพลสฤษดิ์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประเทศไทยต้องตกอยู่ใต้กฎอัยการศึก ไม่มีรัฐธรรมนูญ ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ห้ามชุมนุมทางการเมือง ประชาชนถูกยึดอำนาจโดยเด็ดขาด
เมื่อจอมพลสฤษดิ์อสัญกรรม จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้สืบทอดอำนาจ ยังยื้อต่อได้อีก ๔ ปีกว่า จนทนเสียงรบเร้าของประชาชนไม่ไหว ต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างกันมา ๙ ปี ๔ เดือน กับ ๑๗ วัน เป็น “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑” แต่ก็เรียกกันว่า “ฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ” กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เลือกวุฒิสมาชิก รัฐบาลจึงมีเสียงสนับสนุนท่วมท้น แต่กลับไม่สามารถควบคุม ส.ส.ลูกพรรคซึ่งหิวไม่หยุดหย่อนได้ จึงต้องหาทางออกด้วยวิธี “ยึดอำนาจตัวเอง” เคลื่อนรถถังออกมาฉีกรัฐธรรมนูญ “ฉบับร่างมาราทอน” ขณะใช้มาแค่ ๓ ปี ๕ เดือน ๒๘ วัน
รัฐธรรมนูญฉายา “ฉบับประชาธิปไตยครึ่งใบ” หรือ “ฉบับร่างมาราทอน” นี้ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒ ที่ได้รับฉายา ฉบับแรกที่ได้รับก็คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐” มีฉายาแปลกหู เรียกกันว่า “ฉบับตุ่มแดง” หรือ “ฉบับใต้ตุ่ม”
ทั้งนี้ในเช้าของวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ได้เกิดรัฐประหารขึ้นโดยมีพลโทผิน ชุณหะวัณ นายทหารกองหนุนเป็นหัวหน้าคณะ อ้างว่าเนื่องจากเกิดยุคเข็ญด้านสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่อาจแก้ได้ตามรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๔๘๙ จะต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เหมาะสมกว่า นับว่าเป็นรัฐประหารเพื่อฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรก เมื่อยึดอำนาจได้ก็ประกาศใช้ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๔๙๐” ที่นาวาอากาศเอกหลวงกาจสงคราม หนึ่งในแกนนำรัฐประหารแอบร่างไว้ แล้วนำไปซ่อนไว้ใต้ตุ่มสามโคกในบ้าน เพราะเกรงว่าหากเจ้าหน้าที่รัฐพบเข้าก็จะโดนข้อหากบฏ เมื่อที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกเปิดเผย จึงเรียกกันว่า “รัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม” บ้างก็เรียก “รัฐธรรมนูญฉบับตุ่มแดง” ต่อมาเมื่อหลวงกาจฯได้เลื่อนขึ้นเป็นนายพลเลยถูกเรียกว่า “นายพลตุ่มแดง” ไปด้วย ซึ่งผู้ถูกเรียกก็พอใจฉายานี้ เพราะได้เขียนเรื่องการเมืองพิมพ์เป็นหนังสือออกแจกเป็นระยะ ทุกเล่มใช้รูปตุ่มแดงเป็นสัญลักษณ์ขึ้นหน้าปก
รัฐธรรมนูญที่มีฉายาน่าชื่นชมที่สุด ก็คือ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐” ที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องจากเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปะอาชา ขณะที่มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีประชาธิปไตยมากขึ้น สกัดกั้นนักการเมืองที่ซื้อเสียงเข้ามาหวังคอร์รัปชัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านๆมาที่ร่างด้วยบุคคลชั้นนำ แต่ฉบับนี้ร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาจากประชาชน ๗๖ จังหวัดเลือกตั้งทางอ้อมให้เป็นตัวแทนเข้ามา ร่วมกับตัวแทนนักวิชาการอีก ๒๓ คน และเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ส่วนประชาชนก็ตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก มีการชู “ธงเขียว” ทั่วประเทศรณรงค์ให้สภารับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
แต่อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง ทำให้รัฐบาลเข้มแข็งจนต่อมาเกิดคำว่า “เผด็จการรัฐสภา” องค์กรอิสระที่เป็นกลไกของรัฐธรรมนูญถูกแทรกแซงจนเป็นอัมพาต เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมโหฬาร ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง มีการล่าสังหารผู้ต้องสงสัยเกี่ยวพันกับยาเสพติดถึง ๒ พันศพ ผู้ต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมถูกอุ้มฆ่า สังคมแตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย เสียงตะโกน “ทักษิณออกไป” กับ “ทักษิณสู้สู้” ดังสนั่น การเมืองตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “วิกฤติที่สุดในโลก” ในที่สุดรัฐประหารที่หายไป ๑๕ ปีจนคิดกันว่าเมืองไทยจะไม่มีรัฐประหารอีกแล้ว ก็เกิดขึ้นในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” เข้ายึดอำนาจ ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน
จากการสำรวจความคิดเห็นของสำนักเอแบคโพล ปรากฏว่าคนกรุงเทพฯมีความพอใจในการทำรัฐประหารครั้งนี้ ๘๑ เปอร์เซ็นต์ และคนต่างจังหวัดมีความพอใจถึง ๘๖ เปอร์เซ็นต์ ...นี่แหละประเทศไทย
รัฐธรรมนูญที่มีฉายาอีกฉบับคือรัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ จัดร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญเหมือนกัน มีบุคคลและองค์กรต่างๆยื่นข้อเรียกร้องมาหลายประเด็น และยังเป็นกฎหมายไทยฉบับแรกเมื่อร่างเสร็จผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว ยังนำไปให้ประชาชนลงมติอีก มีผู้เห็นชอบ ๕๗.๘๑ เปอร์เซ็นต์ และไม่เห็นชอบ ๔๒.๑๙ เปอร์เซ็นต์
จุดเด่นของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็คือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน กำหนดให้รัฐต้องจัดสวัสดิภาพขั้นพื้นฐานให้ประชาชนทุกชั้น ผู้ยากไร้ ผู้พิการ ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้สูงอายุ ต้องได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ ให้สิทธิชุมชนสามารถปกป้องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรท้องถิ่นของตน โดยรัฐต้องจัดให้ให้มีการรับฟังความเห็นจากโครงการต่างๆที่จะเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต รวมทั้งให้ประชาชนเสนอร่างกฎหมายและรัฐธรรมนูญ หรือถอดถอนนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบได้ด้วย
แต่ฉายาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ หากเกี่ยวกับประธานคณะกรรมาธิการยกร่าง คือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ซึ่งมีบทบาทเด่นอยู่ในขณะนั้นและมีฉายาประจำตัวอยู่แล้ว จึงเรียกรัฐธรรมนูญตามฉายาของท่านประธานร่างฯเสียเลยว่า “รัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ”
รัฐธรรมนูญฉบับนี้สิ้นสุดลงเมื่อมีการทุบโต๊ะยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันเป็นฉบับที่ ๒๐ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เมื่อร่างเสร็จแล้วมีการลงประชามติอีก มีผู้เห็นชอบด้วย ๖๑.๓๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่เห็นชอบ ๓๘.๖๕ เปอร์เซ็นต์
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับฉายาว่า “ฉบับปราบโกง” เพราะเจตนารมณ์ของคณะกรรมการร่างต้องการให้เป็นกฎหมายสูงสุดในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รับชั่น แต่ที่เห็นมา รัฐธรรมนูญแม้จะเป็นกฎหมายสูงสุด ก็ไม่สามารถบังคับใช้ได้ ๒ อย่างคือ ห้ามรัฐประหาร และ ปราบโกง เพราะระบบการเลือกตั้งของไทยต้องใช้เงิน คนที่อยากรวยจึงทุ่มเงินเข้ามาหาโอกาส ทั้งรัฐบาลและพรรคการเมืองไม่ว่าสีขาวหรือสีเทา ถ้าไม่ใช้เงินก็ไปไม่รอด ส่วนรัฐประหาร สมัยก่อนแค่แว่วข่าวว่าจะถูกย้ายตำแหน่งหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ทำรัฐประหารแล้ว สมัยนี้แบบนั้นคงไปไม่รอดเพราะประชาชนคงไม่ยอมง่ายๆเหมือนก่อน แต่จากรัฐประหาร ๒ ครั้งหลังที่ผ่านมา มีประชาชนเอาดอกกุหลาบไปให้รถถังกันมาก แสดงว่ารัฐประหารแบบไทยๆยังใช้แก้วิกฤติของประเทศได้ แต่ก็แก้ได้ชั่วคราวเพื่อเริ่มวิกฤติใหม่อีก ...มองไม่เห็นทางปราบโกงได้จริงๆ ตราบที่การเลือกตั้งยังเป็นแบบนี้