เพจ "ฟาฮัดเป็นนักกำหนดอาหาร" ซึ่งเป็นนักวิชาการโภชนาการ ได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้ในเรื่องอาหารของคนป่วยเป็นโรคมะเร็ง ซึ่งผู้ป่วยสามารถกินโปรตีนได้ และต้องกินเยอะกว่าคนปกติด้วย หลังเกิดกระแสดรามากรณีเพจหนึ่งเตือนผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งว่า ไม่ควรกินโปรตีน
จากกรณีเกิดประเด็นดรามาเมื่อมีเพจสอนกินอาหารเพจหนึ่งได้ออกมาโพสต์ให้ความรู้แก่ลูกเพจที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งว่า ไม่ควรกินโปรตีน อกไก่ปั่น ไข่ขาว โดยระบุว่าอาหารเหล่านี้ไม่ใช่อาหารคลีนในนิยามของตนเอง ระวังโปรตีนนั้นจะไปทำลายเซลล์มะเร็ง
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. เพจ "ฟาฮัดเป็นนักกำหนดอาหาร" ซึ่งเป็นนักวิชาการโภชนาการ หน่วยโภชนศาสตร์คลินิกและโรคอ้วน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ออกมาให้ความรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอาหารของคนป่วยเป็นโรคมะเร็ง โดยระบุว่า "ขอมาส่งเสียงว่า “เป็นมะเร็งกินโปรตีนได้ เเละต้องกินเยอะกว่าคนปกติด้วย” คืออย่างนี้ครับ โดยปกติโปรตีนเป็นสารอาหารหลักในการเสริมสร้างมวลกล้ามเนื้อและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย รวมถึงเสริมสร้างการทำงานทำการของระบบภูมิคุ้มกันอยู่เเล้ว
เเต่เมื่อป่วยด้วยโรคมะเร็ง เซลล์มะเร็งจะมีการหลั่งสารที่กระตุ้นการอักเสบ (Tumor-driven inflammation) ประกอบกับการที่ผู้ป่วยกินอาหารได้น้อยไม่ว่าจะด้วยความอยากอาหารลดลง การอักเสบในช่องปาก การรับรสชาติและกลิ่นเพี้ยนไปหรือลดลง ความเจ็บปวด ความอ่อนเพลีย ฯลฯ ร่ายกายเลยสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้เป็นพลังงานเเทนอาหารที่ไม่ได้กินเข้าไป ด้วยเหตุฉะนี้เอง จึงเกิดเป็นความเชื่อที่ว่า “เซลล์มะเร็งกินโปรตีน” คนไข้หลายคนเลยไม่ยอมกินโปรตีน ซึ่งในทางการแพทย์จะส่งผลเสียมากกว่าผลดี เนื่องจากแม้ว่าผู้ป่วยจะไม่รับประทานอาหารที่มีโปรตีน ร่างกายก็จะไปสลายโปรตีนในกล้ามเนื้อออกมาอยู่ดี ในที่สุดจะยิ่งทำให้ร่างกายทรุดโทรม ขาดสารอาหาร เกิดเป็นภาวะผอมหนังหุ้มกระดูก หรือ cancer cachexia ตามในภาพ จนไม่อาจทนต่อการรักษาได้ หรือไม่มีโปรตีนเพียงพอจะสร้างเม็ดเลือดขาว จึงต้องเลื่อนการรักษา (หากเม็ดเลือดขาวต่ำเกิน แพทย์จะเลื่อนการรักษาออกไป และให้ผู้ป่วยกินอาหารให้เยอะขึ้นเพื่อให้เม็ดเลือดขาวเพิ่มสูงขึ้น) ซึ่งหากเลื่อนการรักษา อาจทำให้เซลล์มะเร็งเติบโตขึ้นระหว่างนั้นได้ #สุดท้ายตายจากการขาดสารอาหารมากกว่าตายเพราะมะเร็ง
#เเล้วอย่างนี้ควรเเนะนำให้ผู้ป่วยมะเร็งกินอาหารอย่างไร
หากคนไข้สามารถรับประทานอาหารแบบปกติได้ดี ให้คนไข้กินอะไรก็ได้ เน้นกินให้ได้ก่อนนะครับ เพราะส่วนใหญ่จะกินไม่ค่อยได้ เเต่ขอให้ได้รับสารอาหารครบ 5 หมู่ในเเต่ละวัน เน้นให้คนไข้กินโปรตีนสูงขึ้นมาหน่อยได้เลยครับ “ไม่ต้องกลัว”
จะกินเป็นโปรตีนจากสัตว์ หรือพืชก็ได้ ไม่ติด (แอบกระซิบว่าคุณภาพของโปรตีนโดยรวมจากสัตว์จะดีกว่าพืชมาก) เเต่ขอให้กินโปรตีนรวมให้ได้ประมาณ 1.2-1.5 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม (เอาน้ำหนักตัว x 1.2 = ปริมาณโปรตีนที่ต้องกิน) เเละผมขอเน้นย้ำไว้ตรงนี้เลยว่า “น้ำหนักของเนื้อสัตว์ ไม่เท่ากับน้ำหนักของโปรตีนนะครับ” โดยเนื้อสัตว์สุกทุกๆ 30 กรัม หรือประมาณ 2 ช้อนกินข้าวพูนๆ จะมีโปรตีนแค่ 7 กรัมครับ
ส่วนตัวอยากเเนะนำให้เลือกรับประทานเป็นเนื้อปลาก็จะดีครับ โดยเฉพาะปลาทะเล เนื่องจากเป็นเเหล่งโปรตีนคุณภาพสูง ย่อยง่าย เป็นเเหล่งของกรดไขมัน Eicosapentaenoic acid (EPA) ปริมาณสูง ซึ่งเมื่อถูกเปลี่ยนแปลงด้วยเอนไซม์ Cyclooxygenases และ Lipoxygenases จะได้สาร Series 3 Prostaglandins และ Series 5 Leukotriene ซึ่งมีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ อย่างปลาทู 100 กรัมนี่มี EPA สูงถึง 1,636 มก.เลยนะครับ โดยแนวทางเวชปฏิบัติ (Guideline) ของสถาบันทางโภชนศาสตร์และการกำหนดอาหารสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับ EPA 1.1-1.2 กรัม/วัน ของออสเตรเลีย 1.4-2.0 กรัม/วัน และ European Society for Clinical Nutrition and Metabolism (ESPEN) แนะนำช่วงกว้างๆ ไว้ คือ 0.26-6.0 กรัม/วัน โดยทั่วไปจะเเนะนำที่ 1.5 ถึง 2 กรัมต่อวันครับ เเต่ถ้าหากกินอาหารในรูปแบบปกติไม่ได้ หรือได้น้อย อาจเสริมด้วยอาหารทางการเเพทย์สูตรครบถ้วนโปรตีนสูงที่มีส่วนประกอบของ EPA ก็ได้ครับ มีให้เลือกอยู่ 2-3 ยี่ห้อ สามารถปรึกษานักกำหนดอาหารได้ครับ
นอกจากเรื่องโปรตีนเเล้วก็อยากให้คนไข้เลี่ยงของหมักดอง พวกอาหารสุกๆ ดิบๆ หรืออาหารที่ไม่สุก หรืออาหารอะไรก็ตามที่ไม่สะอาด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากภูมิคุ้มกันในคนไข้มะเร็งจะต่ำอยู่เเล้ว จึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ครับ
#สุดท้ายนี้ ผมก็ไม่รู้ว่าโพสต์นี้จะไปถึงมือใครบ้าง แต่ขอส่งเสียงไปถึงทุกคนไม่ว่าจะเป็นเหล่า clinician หรือญาติ ให้ใส่รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เรื่องอาหารของผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น เพราะนี่คือ “กุญแจสำคัญ” ที่จะไขประตูไปสู่การรักษาในขั้นต่อๆ ไปครับ “ให้เขากินดีกว่า เพราะเขากินได้น้อยอยู่แล้ว ยังไงก็เน้นโปรตีนหน่อยนะ”"