xs
xsm
sm
md
lg

ส่องผู้ชนะตู้เสบียงรถไฟด่วนพิเศษ 8 ขบวน เดิมร้านหนังสือ-ให้เช่าอสังหาฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตรวจสอบผู้ชนะการคัดเลือกตู้เสบียง ขบวนรถไฟด่วนพิเศษ 8 ขบวน ตอนจดทะเบียนประกอบกิจการร้านหนังสือ แต่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ งบการเงิน 5 ปีย้อนหลังขาดทุนทุกปี ส่วนอีกบริษัทที่แพ้ประมูลเพิ่งจดทะเบียนใหม่ๆ แต่พบก่อนหน้านี้ประชุมร่วมกับสวนดุสิตฯ ถกนำเสนออาหารกล่องตามมาตรฐานการรถไฟฯ

วันนี้ (5 ธ.ค.) จากกรณีที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ผลการคัดเลือกภาคเอกชนที่สนใจ และเปิดขายเอกสารเสนอโครงการจัดบริการ และเสนอราคาค่าเช่าสิทธิจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนขบวนรถ (ตู้เสบียง) กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษชุด 115 คัน เส้นทางสายเหนือ, สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ จำนวน 8 ขบวน 4 เส้นทาง ได้แก่ ขบวนรถด่วนพิเศษอุตราวิถี (ขบวนที่ 9/10 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ (ขบวนที่ 31/32 กรุงเทพฯ-ชุมทางหาดใหญ่) ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานวัฒนา (ขบวนที่ 23/24 กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี) และขบวนรถด่วนพิเศษอีสานมรรคา (ขบวนที่ 25/26 กรุงเทพฯ-หนองคาย) โดยการคัดเลือกดังกล่าวมีเอกชนให้ความสนใจซื้อซองเอกสารฯ 3 ราย แต่เข้ายื่นซองเสนอราคาโครงการฯ จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1. บริษัท โบกี้ เอฟบี จำกัด และ 2. บริษัท แอ็ดวานซ์ มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิท จำกัด

ผลปรากฏว่า บริษัท แอ็ดวานซ์ มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิท จำกัด เป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือก มีกำหนดระยะเวลาให้เช่าสิทธิ 3 ปี เริ่มให้เช่าสิทธิตั้งแต่วันที่ 6 ธ.ค. 2565 และสิ้นสุดสัญญาเช่าวันที่ 5 ธ.ค. 2568 โดยเครื่องดื่มที่จะให้บริการมีทั้งแบบร้อน และเย็น ส่วนอาหารจะบรรจุในกล่องสุญญากาศที่ได้คุณภาพ นอกจากนี้จะมีสินค้าที่เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) มาให้บริการบนขบวนอีกด้วย ซึ่งอาหารทุกชนิดจะมีการแจ้งราคาบนเมนูทุกรายการ โดยราคาจะเป็นไปตามข้อกำหนดมาตรฐานราคาอาหาร และเครื่องดื่มของฝ่ายบริการโดยสาร รวมทั้งจะมีการตรวจสอบคุณภาพของอาหารก่อนให้บริการทุกครั้งด้วย คาดว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่ใช้บริการรถไฟ สามารถซื้ออาหาร และเครื่องดื่มภายในตู้เสบียงที่สะอาด ถูกหลักอนามัย ราคาเป็นธรรม และได้รับความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการสูงสุด

หลังจากนี้การรถไฟฯ กำลังจะออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจ และเปิดขายเอกสารเสนอโครงการฯ ในกลุ่มขบวนรถด่วน และรถด่วนพิเศษ ในเส้นทางสายเหนือ และสายใต้ จำนวน 10 ขบวน ได้แก่ รถด่วนพิเศษที่ 13/14 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, รถด่วนที่ 51/52 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, รถด่วนพิเศษที่ 37/38 กรุงเทพฯ-สุไหงโกลก, รถด่วนที่ 83/84 กรุงเทพฯ-ตรัง-กรุงเทพฯ, รถด่วนที่ 85/86 กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช โดยจะออกประกาศเชิญชวนในเดือน ม.ค. 2566 คาดว่าจะได้ผู้เช่าสิทธิประมาณเดือน เม.ย. 2566 จากนั้นจะเปิดให้บริการผู้โดยสารต่อไป


รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัท แอ็ดวานซ์ มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิท จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2547 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท วัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ประกอบกิจการร้านหนังสือ วัตถุประสงค์ที่ส่งงบการเงินปีล่าสุด ประกอบการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ มีนางสาวสุมาลี สิงห์เหนี่ยว และนายอุดม คล่องแคล่ว เป็นกรรมการบริษัท งบการเงินปี 2564 มีสินทรัพย์รวม 4,503,059.40 บาท หนี้สินรวม 4,551.00 บาท และหากพิจารณางบกำไรขาดทุน ข้อมูลปีงบการเงิน 2560-2564 พบว่ามีดังนี้

ปี 2560 มีรายได้รวม 171,674.96 บาท รายจ่ายรวม 220,486.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 48,811.04 บาท
ปี 2561 มีรายได้รวม 121,811.13 บาท รายจ่ายรวม 181,278.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 59,466.87 บาท
ปี 2562 มีรายได้รวม 48,000.00 บาท รายจ่ายรวม 178,584.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 130,584.00 บาท
ปี 2563 มีรายได้รวม 47,000.00 บาท รายจ่ายรวม 177,384.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 130,384.00 บาท
ปี 2564 มีรายได้รวม 45,500.00 บาท รายจ่ายรวม 175,451.00 บาท ขาดทุนสุทธิ 129,951.00 บาท


สำหรับบริษัทที่แพ้การประมูล คือ บริษัท โบกี้ เอฟบี จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 ทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท วะตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน การบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร มีนางสาวณัฎฐา ไพศาลศรีสมสุข เป็นกรรมการบริษัท และเนื่องจากบริษัทดังกล่าวเพิ่งจดทะเบียนใหม่ จึงยังไม่มีข้อมูลงบการเงินใดๆ

ที่มา : https://www.dusit.ac.th/home/2022/1024421.html
แต่พบข้อมูลที่น่าสนใจก็คือ เมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2565 ดร.สุทัน มุมแดง ผู้อำนวยการสำนักกิจการพิเศษ และนางสาวพัสนันท์ แย้มฉ่ำไพร ผู้จัดการโครงการอาหารกลางวัน 1 (ครัวสวนดุสิต) พร้อมทีมงาน ประชุมร่วมกับ นางนวลพรรณ เจริญเบญจวงษ์ ผู้จัดการทั่วไป และทีมงาน บริษัท โบกี้ เอฟบี จำกัด เพื่อนำเสนออาหารกล่องที่จะใช้ในการสาธิตการบริการอาหารบนรถไฟ รวมถึงรูปแบบการบริการอาหารบนตู้เสบียงและตู้โดยสารชั้นต่างๆ ในวันที่ 14 พ.ย. ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ทางการรถไฟแห่งประเทศไทยกำหนด ณ Café by Home มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับคุณสมบัติของผู้สนใจยื่นข้อเสนอโครงการจัดบริการ และเสนอราคาค่าเช่าสิทธิจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนขบวนรถ (ตู้เสบียง) กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษ 8 ขบวน 4 เส้นทาง พบว่าได้กำหนดไว้ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ต้องเป็นนิติบุคคล 2. ต้องมีวัตถุประสงค์ดำเนินการตามประกาศเชิญชวนนี้ 3. ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระมูลค่าหุ้นแล้วไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท โดยได้เปิดขายเอกสารและยื่นซองเสนอโครงการไปเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ถึง 17 ต.ค. และยื่นซองเสนอโครงการไปเมื่อวันที่ 3 พ.ย.ที่ผ่านมา 

นับจากนี้จึงต้องดูว่าการให้บริการตู้เสบียงทั้ง 8 ขบวนรถ ทั้งราคาและคุณภาพอาหารจะดี สมกับเป็นขบวนรถด่วนพิเศษยอดนิยมหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น