xs
xsm
sm
md
lg

เตือนภัยเช่ารถแถมตบทรัพย์ ตอนส่งรถเปิดรอยขูดใต้กันชน เรียกค่าเปิดเคลม 3,000 ไม่จ่ายฟ้องศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชาวเน็ตแชร์ผู้เสียหายรายหนึ่งโพสต์ข้อความเตือนภัยบริษัทให้เช่ารถยนต์มีพฤติกรรมตบทรัพย์ลูกค้า พบพยายามให้เซ็นส่งมอบรถอย่างรีบร้อน แต่ตอนส่งคืนรถกลับเปิดรอยขูดใต้กันชนแล้วเรียกค่าเปิดเคลม 3,000 ถ้าไม่จ่ายเจอยื่นโนติส แถมฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายกว่า 4 หมื่น

วันนี้ (5 ธ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า บนโซเชียลฯ มีการแชร์และส่งต่อข้อความถึงพฤติกรรมของบริษัทให้เช่ารถยนต์แห่งหนึ่งตบทรัพย์ลูกค้า โดยผู้เสียหายรายหนึ่งโพสต์ข้อความสาระสำคัญระบุว่า เดินทางท่องเที่ยวที่จังหวัดแห่งหนึ่งเป็นเวลา 4 วัน 3 คืน โดยได้เช่ารถยนต์โตโยต้า คัมรี่ จากผู้ให้บริการแห่งหนึ่งที่อยู่นอกสนามบิน เนื่องจากรถเช่าในสนามบินเต็ม แม้จะจองล่วงหน้าเกือบ 1 สัปดาห์ก่อนเดินทาง โดยผู้ให้บริการรายนี้คิดค่าเช่าวันละ 1,300 บาท 3 วัน 3,900 บาท เอารถมาส่งให้ที่สนามบิน และคืนรถที่สนามบินได้เลย เมื่อมาถึงสนามบิน คนส่งรถเอารถมาส่งลูกค้าหลายคันและจอดขวางกัน เมื่อไปรับรถก็ไม่ได้อธิบายใดๆ ให้ลงนามรับรถแล้วรีบไปถอยรถอีกคันที่ขวางอยู่ให้เอารถออก โดยให้เบอร์โทรศัพท์คนที่จะมารับรถเป็นอีกคนหนึ่งเท่านั้น ผู้เสียหายมองรอบรถด้วยความรวดเร็วเพราะรถติดรอถอยยาว พบว่าไม่มีอะไรผิดปกติ การใช้รถที่ผ่านมา 3 วันส่วนมากใช้แค่ขับไปซื้อของจำเป็น และจอดไว้ที่โรงแรม เติมน้ำมันคืนให้ไม่ถึง 500 บาท ขับน้อยมากและไม่ได้ไปเฉี่ยวชนใดๆ

พอมาถึงวันที่ส่งคืนรถ ได้โทรศัพท์ไปตามเบอร์ที่ให้ไว้และนัดหมายที่สนามบิน แล้วได้จอดรอเปิดแอร์ในรถ กระทั่งมีชายคนหนึ่งเดินมาที่รถ มาถึงก็เดินไปข้างท้ายรถทันที ก้มลงไปทำอะไรบางอย่างที่พื้น สักพักมาเคาะกระจกเรียก บอกว่าทำรถเป็นรอย ผู้เสียหายออกมาดูก็ไม่เห็นมีรอย เมื่อเช้าก่อนออกจากโรงแรมก็เดินดูแล้ว แต่ชายคนดังกล่าวอ้างว่าที่ใต้กันชนด้านขวาเป็นรอยขูด ให้ก้มดูและเอามือลูบใต้กันชน มีรอยขูดเป็นขุยๆ เมื่อผู้เสียหายถามว่า ต้องขับยังไงถึงจะมีรอยตรงจุดนั้น ชายคนดังกล่าวอ้างว่าน่าจะถอยไปเกี่ยวครูดกับอะไร ซึ่งถ้าจะครูดตอนถอยก็ควรโดนทั้งแผ่นกันชนไม่ใช่แค่รอยทางขวาเล็กๆ รอยเดียว เมื่อผู้เสียหายถามว่าต้องทำอย่างไร เพราะรถเช่ามีประกันอยู่แล้ว ชายคนดังกล่าวเรียกรับเงิน 3,000 บาท อ้างว่าเป็นค่าเปิดเคลม ไม่เช่นนั้นจะเสียเวลาอาจขึ้นเครื่องไม่ทัน ผู้เสียหายจึงบอกให้เอาเบอร์โทรศัพท์เจ้าของบริษัทเพื่อที่จะคุยด้วย หรือไม่ก็ไปที่บริษัทด้วยกัน ชายคนดังกล่าวระบุว่า ถ้าลูกค้าไม่พอใจก็ไม่เป็นไร แล้วรีบขับรถออกไป

ปรากฏว่า 7 วันต่อมา มีหนังสือจากทนายความของบริษัทให้เช่ารถยนต์แจ้งให้ไกล่เกลี่ยและเสียค่าปรับกว่า 4 หมื่นบาท ผู้เสียหายทำหนังสือตอบปฏิเสธไปว่าไม่ได้กระทำ แต่ถูกไปรษณีย์ตีกลับว่าส่งไม่ถึงที่อยู่ที่ให้มา กระทั่ง 2 สัปดาห์ต่อมามีหมายศาลมาที่บ้าน บริษัทให้เช่ารถยนต์ฟ้องศาลว่าผู้เสียหายเช่ารถแล้วผิดสัญญา ทำรถเป็นรอย ไม่จ่ายค่าเปิดเคลมตามสัญญาที่คนส่งรถให้ลงนามแบบรีบร้อนตอนรับรถ ทำให้บริษัทเสียหายต้องส่งรถซ่อมทำสี และรถไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการให้เช่าอีกเจ็ดวันคิดค่าปรับตามสัญญา รวม 41,500 บาท ศาลนัดให้คู่กรณีมาไกล่เกลี่ยเดือนถัดไป

การฟ้องลูกค้าปกติต้องจ้างทนาย ค่าทนาย ค่าศาล ลูกค้าที่ถูกฟ้องหากจะสู้คดี ต้องเสียค่าทนายความหลักหมื่นบาท แต่จากการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวมีทนายความเป็นเจ้าของ ในคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลมีสัญญาที่ผู้เสียหายลงนาม มีรูปรถเป็นภาพขาวดำ กำลังส่งซ่อมอยู่ที่อู่ มีรูปกันชนที่เป็นรอยและบุบมากมายทั้งกันชน ซึ่งเชื่อว่าเป็นคดีอื่น ส่วนใบเสร็จค่าซ่อมรถออกโดยชื่อคนส่งรถ ส่วนเด็กรับรถเป็นคนกล่าวหา เจ้าของเป็นทนายความก็ฟ้องศาลเรียกค่าเสียหาย รถเข้าซ่อมก็เป็นอู่ที่เป็นเจ้าของเอง ออกบิลเอง อาจจะไกล่เกลี่ยจ่ายค่าเสียหาย 5-6 พันบาทก่อนขึ้นศาล จึงเชื่อว่าเป็นขบวนการตบทรัพย์อย่างเป็นระบบ ผู้เสียหายตัดสินใจไม่ยอมไกล่เกลี่ย และมอบหมายให้ทนายความฝ่ายผู้เสียหายสู้คดีไปตามความจริง โดยเล่าเหตุการณ์ให้ฟัง ศาลนัดให้มาเบิกความสืบพยานเดือนต่อมา ปรากฏว่าบริษัทให้เช่ารถ ส่งชื่อเจ้าของบริษัทที่เป็นทนายเอง ฟ้องเอง เป็นโจทก์เอง โดยมีคนที่มาส่งรถมาเบิกความสืบพยาน แต่ไม่ส่งชื่อคนที่มารับรถซึ่งเป็นประจักษ์พยานตัวจริงให้ศาล

เมื่อถึงวันสืบพยาน ผู้เสียหายมาศาล ส่วนเจ้าของบริษัทซึ่งเป็นฝ่ายโจทก์ใช้ประชุมทาง Zoom พบว่าทนายความที่เป็นเจ้าของบริษัทเพิ่งจบใหม่ อายุไม่ถึง 30 ปี เมื่อศาลถามอะไรก็ไม่ได้เตรียมมาหลายอย่างจนศาลตำหนิ ส่วนการซักพยานทาง Zoom ก็คอยยืนโค้ชลูกน้องอยู่หลังกล้องเสียงแทรกเข้ามาจนศาลต้องว่าหลายครั้ง ที่สำคัญ ผู้เสียหายให้การว่าวันเกิดเหตุมีแค่ตนกับเด็กรับรถ 2 คนที่รู้ความจริง แต่ไม่มีชื่อสืบพยาน คนอื่นไม่ว่าจะเป็นเจ้าของหรือคนส่งรถจะรู้เหตุการณ์นี้ได้อย่างไร ไม่ใช่ประจักษ์พยาน คำพูดจะมีน้ำหนักกว่าผู้เสียหายที่อยู่ในเหตุการณ์ได้อย่างไร และให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ทำรถเช่าเสียหาย ทนายความเจ้าของบริษัทรีบขออนุญาตศาลส่งชื่อเด็กรับรถมาให้การ ศาลถามความเห็นทนายความผู้เสียหายว่ายินยอมหรือไม่ ทนายความผู้เสียหายไม่ยินยอม ศาลจึงไม่รับฟัง

ผู้เสียหายให้การไปตามจริงว่า รอยเกิดใต้กันชนข้างขวาข้างเดียว ซึ่งต้องก้มหน้าถึงพื้นแล้วหงายหน้าดูถึงจะเห็น และเป็นรอยเดียว ซึ่งไม่ตรงกับในรูปที่รอยทั้งบุบทั้งแตกทั่วกันชน และรูปที่ส่งมาก็เป็นรูปขาวดำดูไม่ออกว่ารอยใหม่หรือรอยเก่า อีกทั้งตอนเกิดเรื่องทำไมไม่ถ่ายรูปรอยไว้ หรือไปแจ้งความบันทึกเป็นหลักฐานไว้ ไม่ใช่ขับรถออกไป ทนายความเจ้าของบริษัทจะใช้ลูกเล่นให้ตอบว่า "ใช่" หรือ "ไม่" แต่ไม่ยอมให้อธิบายรายละเอียด เช่น ถามว่าผู้เสียหายเซ็นชื่อตอนรับรถหรือไม่ การเซ็นคือยอมรับกติกาของเขา ตนพยายามจะอธิบายว่ามีการเร่งให้ถอยรถ และไม่ได้พาดูรอบรถเพราะคนส่งรถไปถอยคันอื่นอยู่ ทนายก็ตัดบทจะให้ศาลฟังแค่ผู้เสียหายเซ็นชื่อยอมรับรถเท่านั้น แต่ฝ่ายผู้เสียหายใช้วิธีทุกครั้งที่ถูกตัดบทจากทนายจะยกมือขออนุญาตศาล ขออนุญาตอธิบายให้ฟัง ก็อนุญาตเสมอ

ผู้เสียหายกล่าวว่า การเซ็นชื่อรับรถในภาวะรีบร้อนแบบนั้นก็ได้เห็นคร่าวๆ แล้วว่ารถอยู่ในสภาพเรียบร้อย แต่วิญญูชนคนธรรมดาไปเช่ารถ ไม่ได้ไปซื้อรถจะมีใครก้มลงไปดูใต้ท้องรถบ้างว่ามีรอยหรือไม่ แล้วเหตุเกิดตอนส่งรถคืน ทำไมเด็กรับรถคืนเมื่อรู้ว่ารถเป็นรอยไม่เห็นถ่ายรูป แจ้งตำรวจ หรือทำอะไรเป็นหลักฐาน กลับขับรถกลับไปเฉยๆ เมื่อผู้เสียหายบอกว่าต้องการไปคุยกับเจ้าของบริษัท จึงมีพิรุธน่าจะมีเจตนาตบทรัพย์ค่าเคลมมากกว่า ทนายความเจ้าของบริษัทพยายามซักและต่อว่าเซ็นรับแล้วรถเป็นรอย กลับไม่ยอมจ่ายได้ยังไง ผู้เสียหายตอบว่า แค่เซ็นรับจริง แต่รถเป็นรอยไม่ได้ทำ เจ้าของพูดว่ารถคันนี้ใหม่เอี่ยมให้ผู้เสียหายเช่าขับเป็นคนแรก จึงขอให้ศาลส่งหลักฐานทะเบียนรถให้ดู พบว่าในทะเบียนที่ส่งให้ดู รถปี 2017 ซึ่งมีอายุ 5 ปีมาแล้ว และตรงผู้ครอบครองก็ระบุว่าเป็นผู้ครอบครองคนที่สาม ผู้เสียหายจะเป็นคนขับคนแรกได้อย่างไร ศาลนัดฟังคำตัดสินอีกหนึ่งเดือนถัดมา พิพากษายกฟ้อง

ผู้เสียหายตั้งข้อสังเกตว่า ปกติรถเช่าที่สนามบินจะมีระบบบริการมาตรฐาน และระบบประกันความเสียหายของรถ เป็นแบบ Super Collision Damage Waiver Insurance (SCDW) ที่อยู่ในประกันหมดแล้ว แต่รถเช่านอกสนามบินมีขบวนการคอยตบทรัพย์อย่างเป็นระบบ เมื่อรู้ว่าผู้เสียหายเถียงด้วยนานไม่ได้เพราะต้องรีบขึ้นเครื่องกลับ ก็จะถูกตบทรัพย์โดยอ้างว่าเป็นค่าเปิดเคลม 3,000 บาท หากมีรถเช่า 10 คัน ยอมจ่าย 5 คัน วันหนึ่งก็มีรายได้ 15,000 บาท อีกทั้งยังกระทำการโดยทนายความที่รู้กฎหมาย หากฟ้องร้องมีแต่ได้ไม่มีเสีย เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากขึ้นศาล จึงขอใช้โอกาสนี้เผยแพร่เรื่องนี้ให้ทราบกันจะได้ระวังตัวจากบทเรียน และจะให้สภาทนายความสอบจรรยาบรรณทนายความรายนี้อีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น