เสียงปรบมือที่ดังกึกก้องเกือบตลอดระยะเวลาราว 3 ชั่วโมงของการแสดง คือประจักษ์พยานอันเด่นชัด ว่าการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ประจำปี 2565 ตอน “สะกดทัพ” ในครั้งนี้ ‘สะกดตา สะกดใจ’ ผู้ชมมากมายเพียงใด
นับแต่เบิกโรงถวายพระพร เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 70 พรรษา และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา ในพุทธศักราช 2565
จากนั้น การดำเนินเรื่องราวของโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ตอน ‘สะกดทัพ’ ก็ปรากฏต่อสายตา และเชื่อมร้อยกันได้อย่างสวยงาม ไหลลื่น ชวนติดตาม หลายฉากโดดเด่นวิจิตรอลังการมิอาจบรรยาย อีกทั้งสนุกสนานยิ่ง ดังในบางฉากที่สอดแทรกมุกตลกร่วมสมัยเรียกเสียงหัวเราะได้อย่างครื้นเครง
ตราบจนวินาทีสุดท้าย กระทั่งนักแสดงทั้งหมด เดินขึ้นมาบนเวทีและขอบคุณผู้ชม พร้อมทั้งถอดหัวโขนออก เสียงปรบมือก็ยังคงกึกก้องเนิ่นนาน
แม้การแสดงจบลง ทว่า ความประทับใจยังตราตรึงมิรู้หาย ไม่ว่า ความน่ารักของหนุมานกับมัจฉานุ ใน ฉาก ‘สระบัว’ ที่แสดงออกถึงความรักความอาลัยของพ่อกับลูกได้อย่างซาบซึ้ง เปี่ยมชีวิตชีวาอย่างยิ่ง ขณะที่ดอกบัวแห่งสระโบกขรณีล้วนชูช่ออย่างสวยงาม
ฉาก ‘หนุมานอมพลับพลา’ ที่สวยงามอลังการ องค์ประกอบศิลป์สมบูรณ์แบบตระการตา เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ฉายภาพเรื่องราวและเหตุการณ์ได้อย่างน่าติดตาม แม้กระทั่งจังหวะที่หนุมานกะพริบตา ตาปรือ สะลึมสะลือ จากมนต์สะกดของไมยราพที่แม้แต่ยอดขุนพลอย่างหนุมานก็ยังมิอาจต้านทาน
ฉาก ‘โรงพิธี’ ที่จอมอสุราไมยราพทำพิธีหุงสรรพยาเพื่อนำไปใช้สะกดทัพพระราม ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าชมยิ่ง เนื่องจากเกิดสรรพสิ่งที่ไม่ต้องตามตำรา ทำให้ต้องหุงสรรพยาถึงสามครั้งจึงตรงตามต้องการ
อีกทั้งในช่วงท้ายของเรื่องราวที่หนุมานแปลงกายสูงใหญ่ มี 4 พักตร์ 8 กร ซึ่งมีการติดตั้งกลไกทำให้กรทั้ง 8 สามารถขยับได้และหันพักตร์ได้ทั้งซ้ายและขวา
กระทั่งนิ้วชี้ของมือข้างขวาหนุมานก็ขยับได้อย่างสมจริง
ซึ่งส่งผลอย่างสำคัญต่อการสังหารไมยราพผู้ทรงฤทธิ์
อย่างไรก็ตาม ถ้อยความข้างต้นที่กล่าวมา เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเสี้ยวเท่านั้น หากแท้จริงแล้ว
โขน ตอน “สะกดทัพ” ซึ่งมีทั้งสิ้น 2 องก์ รวม 13 ฉาก
องก์ที่ 1 ประกอบด้วย ฉากที่ 1 ขบวนทัพไมยราพ ฉากที่ 2 ท้องพระโรงกรุงลงกา ฉากที่ 3 โรงพิธี ฉากที่ 4 ห้องบรรทมพระราม ฉากที่ 5 พลับพลาพระราม และฉากที่ 6 หนุมานอมพลับพลา
องก์ที่ 2 ประกอบด้วย ฉากที่ 1 หนุมานทำลายด่าน ฉากที่ 2 สระบัว ฉากที่ 3 สระน้ำนอกเมืองบาดาล ฉากที่ 4 หน้าประตูเมือง ฉากที่ 5 ปราสาทไมยราพ ฉากที่ 6 ป่าดงตาล และฉากที่ 7 เทพชุมนุม
สำหรับผู้ที่ได้ชมด้วยตาตนเอง ทุกบททุกตอนของการแสดงโขน ‘สะกดทัพ’ ย่อมสะกดตา สะกดใจ มิรู้ลืม
สมดังที่ ดร. เกิดศิริ นกน้อย ผู้ช่วยผู้กำกับการแสดงและผู้กำกับเวที ให้สัมภาษณ์ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ ถึงเบื้องหลัง ที่มา และความงดงาม ของการแสดงโขนในครั้งนี้
เมื่อถามว่า เหตุใด จึงเลือกตอนที่หนุมานไปช่วยพระรามจากเมืองบาดาล มาแสดงเป็นโขน ตอน ‘สะกดทัพ’
ดร. เกิดศิริตอบว่า จริงๆ แล้ว โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เคยแสดงตอนนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง คือตอน ‘ศึกมัยราพณ์’ เมื่อปี พ.ศ. 2554 แล้วครั้งนั้น ไม่ได้เล่นหลายรอบ คนก็เรียกร้องที่จะดูอีก ซึ่งโดยปกติแล้ว โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ทุกๆ ครั้ง ก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 เมื่อผู้ชมออกจากโรงมา จะมีแบบสอบถามว่า ตอนต่อไปอยากจะดูอะไร
ซึ่งใน ปี 2554 แม้ยังไม่มีผู้ชมมากนักในตอนนั้น แต่ ‘ศึกมัยราพณ์’ ก็มีคนดูเยอะ นั่นคือเหตุผลประการแรก คือ มีคนเรียกร้อง
“เหตุผลที่ 2 คือ เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เสด็จที่อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน ศูนย์ศิลปาชีพเกาะเกิด จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านก็เสด็จไปทอดพระเนตร การสาธิตต่างๆ และทอดพระเนตรฉาก แล้วท่านก็รับสั่งว่า โขนตอนนี้ คนพูดถึงเยอะมาก คือที่อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน เราจัดแสดงฉากใหญ่ที่เคยใช้ในครั้งที่ผ่านๆ มา ท่านก็ประทับในห้องนั้น และรับสั่งว่าตอนนี้คนพูดถึงเยอะ ยังไม่มีโอกาสได้ดู แล้วจะได้ดูมั้ย ท่านก็รับสั่งถามว่า จะมีโอกาสได้นำกลับมาเล่นอีกไหม”
ดร.เกิดศิริระบุ และกล่าวว่า การแสดงโขน ‘สะกดทัพ’ ครั้งนี้ นำบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 มาจัดทำบทการแสดงโขนตอนนี้ ซึ่งเคยจัดแสดงในปี 2554 ในชื่อตอน ‘ศึกมัยราพณ์’
ในครั้งนั้น แสดงตามบทละครพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งแตกต่างกับบทครั้งนี้ซึ่งมีการออกแบบสร้างสรรค์ฉากและการแสดงได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ อีกทั้งยังสะกดชื่อ “ไมยราพ” ตามอักขรวิธีตามต้นฉบับรัชกาลที่ 1
“คือในการแสดงโขน ปี 2554 ในชื่อตอน ‘ศึกมัยราพณ์’ นั้น แสดงตามบทละครพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชการที่ 2
แต่ในปีนี้ เรายึดบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ฉบับในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาล 1 มาจัดทำบทการแสดงโขนตอนนี้ เป็นการแสดงโขน ‘สะกดทัพ’ ซึ่งก็มีความแตกต่างกันเล็กน้อยในเรื่องรายละเอียด เมื่อเราจะนำมา Re-Stage ใหม่ เราก็ต้องปรับให้มีความน่าติดตาม จึงเปลี่ยนชื่อ จาก ‘ศึกมัยราพณ์’ เป็น ‘สะกดทัพ’ แต่ก็เป็นความเดียวกัน”
ถามว่า ตอน ‘ศึกมัยราพณ์’ ซึ่งแสดงตามบทละครพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับครั้งนี้ ที่เป็นบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาล 1 มาจัดทำบทการแสดงโขน ‘สะกดทัพ’ ครั้งนี้ เป็นเส้นเรื่องเดียวกัน แล้วต่างกันอย่างไร
ดร. เกิดศิริตอบว่า “เป็นเส้นเรื่องเดียวกันครับ แต่บทพระราชนิพนธ์ใน รัชกาลที่ 1 เกิดก่อน
แล้วต่อมา จึงค่อยมีบทพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ 2 ซึ่งมีการปรับบทให้กระชับขึ้น เร็วขึ้น ส่วนใดที่เยิ่นเย้อก็ตัดออก แต่ว่า บทพระราชนิพนธ์ใน รัชกาลที่ 1 ก็จะมีความสำคัญบางอย่าง เช่น
ไมยราพถอดดวงใจได้ แล้วก็ฝากไว้ที่แมลงภู่ และซ่อนไว้ในภูเขา หนุมานก็แผลงฤทธิ์ มีแปดกร แล้วมือหนึ่งง้างยอดภูเขา อีกมือหนึ่งจับแมลงภู่มาบีบ ไมยราพถึงจะตาย ก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปครับ”
ดร. เกิดศิริระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
ตอนหนุมานแปลงกาย 4 พักตร์ 8 กรถือเป็นไฮไลต์เด็ดตอนหนึ่งในการแสดงโขน สะกดทัพ ร่วมด้วยอีกหลายฉากไฮไลต์ที่ล้วนน่าสนใจไม่แพ้กัน
“ในการแสดง จะแบ่งเป็นสององค์ ในองค์แรก ถ้าพูดถึงฉากไฮไลต์เลย ก็คือฉาก ‘หนุมานอมพลับพลา’
โดยก่อนนั้น เนื้อเรื่องดำเนินมาโดยสร้างปมปัญหาว่าทศกัณฑ์ปรับทุกข์กับไมยราพ ว่าไม่มีใครมาช่วยกู้บ้านเมือง จึงหลอกใช้ไมยราพ ไมยราพก็บอกว่า ขอไปทำพิธีหุงสรรพยาก่อน เพื่อใช้สะกดทัพพระราม
แล้วไฮไลต์ในฉากนี้ก็คือ ‘หนุมานอมพลับพลา’ แล้วมัยราพก็เข้าไปเป่ายาสะกดกองทัพของพระราม แล้วก็แบกพระรามกลับไป แทรกแผ่นดินหนีไป
"ส่วนองค์สอง ถ้าพูดถึงฉากไฮไลต์ ก็คือหนุมาน 4 พักตร์ 8 กร แล้วก็มีเกร็ดเรื่องที่เป็นความน่ารัก คือตอนที่หนุมาน ฝ่าด่านต่างๆ ลงไปเมืองบาดาล เพื่อจะไปช่วยพระราม ก็ไปเจอด่านสำคัญ คือ ไปเจอกับ ‘มัจฉานุ’ สู้กันไปสู้กันมา จึงรู้ว่าเป็นลูกของตัวเอง คนก็ชื่นชอบฉากนี้เยอะเหมือนกัน เพราะน่ารัก เป็นความรักของพ่อลูก ฉากนี้ เนรมิตรเวทีของศูนย์วัฒนธรรมให้เป็นสระบัว ที่มัยราพสร้างสระโบกขรณีนี้ให้มัจฉานุอยู่
มัจฉานุเป็นลูกของนางสุพรรณมัจฉา กับหนุมาน ก็มีเชื้อชาติเป็นปลา ดอกบัวในฉากนี้ ทั้งเวที ทำโดยศิลปาชีพฯ ก็คือ ใช้สมาชิกทีมงานศิลปาชีพฯ เป็นคนทำ ซึ่งเวลาทำดอกบัวจะต้องทำใหญ่กว่าปกติ ดอกบัวเหมือนจริงมาก เหล่านี้ก็เป็นตัวอย่างฉากไฮไลต์ที่น่าสนใจ” ดร.เกิดศิริระบุ
ถามว่าในส่วนของการฝึกซ้อมการแสดงโขน ตอนสะกดทัพ ในครั้งนี้ รวมถึงการจัดทำโปรดักชั่นอื่นๆ ใช้เวลาเตรียมการนานเท่าไหร่
ดร.เกิดศิริกล่าวว่า มีการประชุมกันมาตลอดทั้งปี โดยปกติแล้ว หากการแสดงโขนใน 1 ปี เช่นโขน ตอนสะกดทัพในครั้งนี้ แสดงวันสุดท้ายคือ วันที่ 5 ธันวาคม 2565 จากนั้น สิ้นปี ทีมงานก็จะประชุมเพื่อสรุปงานและวางแผนในตอนใหม่ ดังนั้น การวางแผนงาน จึงมีมาก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่เมื่อครั้งแสดงจบในปี 2562 คือโขน ตอน ‘สืบมรรคา’ ทว่า ในเวลาต่อมาก็เจอวิกฤติโควิด-19 จึงต้องหยุดไป แล้วเริ่มประชุมจริงจัง สานต่องานกันจริงๆ ในช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน แล้วมาฝึกซ้อมจริงๆ ในเดือนตุลาคม
“เราใช้เวลาฝึกซ้อมอยู่ข้างนอกโรงละคร ประมาณ 10 วัน แล้วก็มาใช้เวลาอยู่ใน โรงละคร อีกประมาณ 5 วัน ก็ประมาณครึ่งเดือนครับ จริงๆ แล้ว เมื่อก่อนเราซ้อมเยอะครับ ซ้อมทุกๆ เสาร์-อาทิตย์ แต่ในช่วงหลัง เราปรับเปลี่ยน แล้วในปีนี้ เรามีเวลาน้อยจริงๆ เมื่อก่อนเรามีเวลาตั้งแต่ต้นเดือน ไปถึงปลายเดือน ใช้เวลา 20 กว่าวันที่ซ้อม แต่จริงๆ แล้ว ต้องเรียนว่านักแสดงส่วนใหญ่ จะเป็นเด็กนักเรียนจากวิทยาลัยนาฏศิลป หรือ ชมรม ชุมนุม ที่มีเรียนโขน แล้วเขาก็จะมีการเรียนพื้นฐานของโขนอยู่แล้ว
"เมื่อถึงเวลาที่เราคัดเลือกมา เราก็มาปรับความพร้อม ปรับความเข้าใจกันโดยครู โดยศิลปินแห่งชาติ ทำให้เราทำงานได้เร็วขึ้น เพราะเด็กวิทยาลัยนาฏศิลปก็เรียนโขนในวันปกติอยู่แล้ว ต้องมีพื้นฐานครับ เพราะเด็กวิทยาลัยนาฏศิลป ที่เรียนโขน ช่วง มัธยม 1- มัธยม 3 ก็อาจจะได้เป็นแค่ทหาร พอขึ้นมามัธยม 4 ถึงจะได้เริ่มแต่งเครื่องเป็นเสนา อะไรแบบนี้ครับ ต้องใช้เวลา แล้วถึงมัธยมปลาย หรือปริญญาตรี จึงจะเป็นตัวเอกได้ ล้วนต้องใช้เวลาครับ”
ดร.เกิดศิริระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า การจะได้เป็นตัวเอกนั้น ไม่ง่ายเลย
เพราะเป็นเรื่องของ Skill ทักษะและความเชี่ยวชาญ คือต่อให้เด็กนักเรียนที่เรียนในชั้นเดียวกัน ห้องเดียวกันก็ตาม
แต่เรื่องของ Skill และศิลปนิสัยย่อมต่างกัน รวมทั้งต้องมีวินัย ขึ้นอยู่กับการฝึกซ้อมด้วย เพราะวิชานี้เกี่ยวกับทักษะ
ต้องซ้อมเหมือนกีฬา ต้องซ้อมจึงจะเชี่ยวชาญ โขนก็เช่นกัน ต้องเรียนทุกวัน ต้องออกกำลัง ต้องซ้อมให้เกิดความชำนาญ เมื่อครูเห็นแววจึงจะเลือกไปต่อ ไปเรียนรู้ในบทตัวเอก ซึ่งไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้เล่นเป็นตัวเอก ต้องเป็นคนที่มีแววจริงๆ แล้ว เด็กนักเรียนเหล่านี้ เกิดจากพื้นฐานของเขา เขาชอบ เขาเรียนรู้ เขาใฝ่รู้ และมีพรสวรรค์
“ส่วนเครื่องแต่งกาย และฉาก วางแผนเป็นปี เพราะต้องรีบสรุปให้ได้ตั้งแต่ต้นปี
เนื่องจากเครื่องแต่งกายชิ้นหนึ่ง ใช้เวลา ถึง 3 เดือน ต่อชุดหนึ่ง
ขณะที่โปรเจ็กต์ปัจจุบัน ถูกวางแผนมาตั้งแต่ก่อนวิกฤติโควิด-19 ซึ่งจะมีสมาชิกศิลปาชีพฯ รับงานไปปักที่บ้านบ้าง และในช่วงวิกฤติโควิด-19 ก็มีหยุดชะงักไปบ้าง ซึ่งเราก็มีช่างปักที่เป็นสมาชิกศิลปาชีพฯ อยู่ในหลายจังหวัด เช่นที่ จ.สกลนคร จ.กาญจนบุรี จ.อุดรธานี ก็ต้องสรุปเรื่องเครื่องแต่งกายกันล่วงหน้า ดังนั้นเรื่องฉาก กับเครื่องแต่งกาย ถูกวางแผนมาก่อนแล้วครับ ฉากก็ใช้เวลาทำนับปีเช่นกัน” ดร.เกิดศิริระบุ
ถามว่า การแสดงโขน ตอน ‘สะกดทัพ’ ให้แง่คิดอะไรกับผู้ชม
ดร.เกิดศิริตอบว่า “อย่างแรกเลย บทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเกียรติของพระราม หรือพระนารายณ์ ซึ่งเราคนไทย ก็นับถือสถาบันพระมหากษัตริย์ และถือว่าพระนารายณ์ อวตารลงมาเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อปราบทุกข์เข็ญของโลกมนุษย์ และในบทบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์ทุกตอน จะแทรกเรื่อง ความดีที่คงอยู่ คนทำดีได้ดี ธรรมะย่อมชนะอธรรม คือเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับหลักคำสอนทางพุทธศาสนา ที่ธรรมะ ย่อมชนะอธรรม รวมถึงความกตัญญู ถ้าเราได้ดูในฉากของหนุมานกับมัจฉานุ เมื่อมัจฉานุ รู้ว่าหนุมานเป็นพ่อ ก็ดีใจ แต่ว่าเมื่อหนุมาน ถามทาง คือ เมื่อมาถึงแล้ว ไม่รู้จะไปต่ออย่างไร เหมือนเจอทางตัน พ่อจะลงไปเมืองบาดาลได้ยังไง
มัจฉานุก็ไม่บอกโดยตรง บอกหนุมานว่า ถ้าตัวเองบอกกับหนุมานว่าต้องไปทางไหน ก็เหมือนกับตัวเองเป็นลูกอกตัญญู
เพราะไมยราพเลี้ยงมัจฉานุเหมือนลูก ตรงนี้ก็เป็นคำสอนที่ดี เรื่องความกตัญญูรู้คุณกับผู้มีพระคุณ”
ดร.เกิดศิริ บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ
ถามว่า มีกระบวนท่ารำใดบ้างที่น่าสนใจ ในการแสดงโขนครั้งนี้
ดร.เกิดศิริตอบว่า “จริงๆ แล้ว ในหลายๆ ตอน หลายๆ ตัวละคร เราปรับท่ารำใหม่หมด เนื่องจากต้องปรับบทใหม่เกือบทั้งหมด เพียงแต่มีโครงเดิม ผมยกตัวอย่าง ตอนที่ ไมยราพไปทำพิธีหุงสรรพยา ในฉากนี้จะเป็นเพลงหน้าพาทย์ เกือบทั้งหมด
"เพลงหน้าพาทย์ เป็นเพลงที่ใช้ประกอบอากัปกิริยาของตัวละคร หรือบอกสถานะของตัวละคร ว่าทำอะไรอยู่
และมีเพลงที่สำคัญคือเพลงดำเนินพราหมณ์ ซึ่งเป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ไม่ค่อยใช้ในการแสดงทั่วๆ ไปเท่าไหร่
แล้วเพลงหน้าพาทย์นี้ อาจารย์จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ ท่านก็กรุณามาถ่ายทอดให้กับผู้แสดง เพื่อใช้ในการแสดงโขนครั้งนี้ แล้วก็มีเพลงหน้าพาทย์ของตัวลิงที่คิดขึ้นใหม่ โดยคุณครู ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ศิลปินแห่งชาติ
เป็นเพลงหน้าพาทย์วานรดำเนิน ซึ่งก็นำมาใส่ในตอนที่หนุมานเดินออกจากพลับพลา
เพื่อจะแปลงกายเป็นตัวใหญ่เพื่ออมพลับพลา โดยคุณครู ประสิทธิ์ ปิ่นแก้ว ท่านคิดไว้ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตไป เราก็นำมาใส่เพื่อเป็นเกียรติกับท่าน
"แล้วก็มีหลายอย่าง เช่น จะมีตอนที่ไมยราพจะไปเฝ้าทศกัณฑ์ เมื่อเดินทางมาถึงกรุงลงกา จะไปเฝ้าทศกัณฑ์
ก็มี ‘นนยวิก’ ‘วายุเวก’ เป็นยักษ์เด็ก ยักษ์กุมาร 2 ตน ที่ทศกัณฑ์ใช้ให้ไปตาม เนื้อเรื่องตรงนี้เราก็ปรับกระบวนการ ให้ตัวละคร สามตัว รำเพลงหน้าพาทย์พญาเดิน ซึ่งเป็นเพลงประกอบกริยาการเดินของตัวละครที่สง่างาม ซึ่งปกติแล้ว เราจะเห็นแต่ตัวละครอื่นๆ ใช้ ไม่เคยใช้กับตัวละครนี้ เราก็นำมาปรับ เราทำใหม่และใส่เพลงนี้ นอกจากนั้นแล้ว มีหน้าพาทย์ตระบองกัน อยู่ในรำเบิกโรงถวายพระพรฯ เป็นชุดแรก เนื่องจากในปีนี้เราเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 70 พรรษา และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา 90 พรรษา
"เราก็คิดกันว่าจะเบิกโรง รำถวายพระพรยังไงให้แตกต่างไปจากที่ผ่านมา ในทุก ๆ ครั้ง ในการรำถวายพรครั้งที่ผ่านมา จะเป็นตัวพระ ตัวนาง เทวดา นางฟ้า
"แต่ครั้งนี้ ตัวนาง ออกมารำบทสรรเสริญพระเกียรติคุณต่างๆ เราก็นำตัวละครเอกจากตอนต่างๆ ที่เราแสดงมาแล้ว คือ พระราม หนุมาน ทศกัณฑ์ อินทรชิต นางสีดา เบญกาย คือเราก็เลือกตัวละครเอกที่เคยแสดงมา มารำเป็น celebrated เล่นมา 2 ทศวรรษแล้ว เราก็นำตัวละครทุกตัวมารำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อจบการรำถวายพระพร ก็เป็นเพลงหน้าพาทย์ ที่ตัวละครทุกตัวต้องรำพร้อมกันบนเวที เป็นเพลงตระบองกัน ซึ่งเพลงตระบองกัน นับแต่โบราณ สามารถรำได้ทั้งตัวพระ ตัวนาง ตัวยักษ์ แต่ตัวลิง ไม่เคยมีการรำนี้
"เราก็เลยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญว่า เราสามารถปรับให้ตัวลิงรำได้ไหม ท่านก็บอกว่า ทำได้ เราก็ปรับจังหวะและท่ารำให้เข้ากัน ก็ถือว่าเป็นครั้งแรก ที่ตัวละครลิง มารำหน้าพาทย์นี้ ในการแสดงครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้อยู่ในโขน แต่อยู่ในการรำถวายพระพร โดยในการรำถายพระพร จะมีตัวละครพระ นาง เทวดานางฟ้า และช่วงที่ สอง เป็นตัวเอกจากตอนต่างๆ แล้วช่วงที่สาม เป็นเหมือน Finale ที่ทุกคนรำพร้อมกัน” ดร.เกิดศิริ บอกเล่าได้อย่างน่าสนใจ และฝากทิ้งท้ายเกี่ยวกับการแสดงโขนตอน ‘สะกดทัพ’ ในครั้งนี้
ดร.เกิดศิริกล่าวว่า “โขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ เล่นมาประมาณ 15 ปี ก็เป็นที่น่าชื่นชมว่าคนเริ่มหันมาสนใจมากขึ้น ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชนก็ให้การสนับสนุน บริษัทเอกชนต่างๆ ก็ช่วยเหมารอบ ผมว่าก็เป็นการดี ที่น่าจะทำให้เราอยู่ต่อไปได้ ด้วยการสนับสนุนของทุกคนที่ร่วมมือกัน
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกลัวว่าโขนจะหายไป รับสั่งไว้ว่าจะช่วยให้มีคนดูขึ้นมา เราก็สร้างโขนที่มีชีวิตขึ้นมา ซึ่งเมืองไทยมีสถาบันที่สร้างนักแสดง ก็ต้องบอกว่า เราต้องช่วยกันสร้างคนดู การสร้างคนดูผมว่าสำคัญ เพราะตอนนี้สื่อโซเชียลค่อนข้างแรง คนอยู่กับโทรศัพท์ อยู่กับหน้าจอสี่เหลี่ยม หน่วยงานรัฐก็ต้องมีส่วนช่วยในการสร้างคนดู เราจะสร้างแต่คนแสดงไม่ได้ ต้องมีการสร้างคนดูให้ได้ด้วย
สำหรับผมแล้ว การแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ฯ ในครั้งนี้ และตลอดมาเกือบ 2 ทศวรรษ คือ โขนที่มีชีวิต” ดร.เกิดศิริระบุ
เชื่อเหลือเกินว่า สำหรับผู้ที่ได้ชมโขน ตอน ‘สะกดทัพ’ ย่อมเห็นตรงกันว่า ทุกองค์ประกอบ ทุกตัวละครที่โลดแล่นอยู่บนเวที ล้วนถ่ายทอดเรื่องราวได้อย่างเปี่ยมอารมณ์ สมคุณค่าความหมายและมากด้วยชีวิตชีวาอย่างแท้จริง
……………
Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
ขอบคุณภาพบางส่วนจากคุณป๋อง
ภาพ ดร.เกิดศิริจาก Facebook : Kerdsiri Noknoi