xs
xsm
sm
md
lg

รพ.ราชพิพัฒน์ จับมือ คะตะลิสต์ ร่วมเสริมทัพ อาหารยั่งยืน ใช้ไข่ไม่ขังกรง (cage-free eggs) เป็นอาหารให้ผู้ป่วยแห่งแรกของประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ กรุงเทพมหานคร ประกาศพันธสัญญา ร่วมกับบริษัท คะตะลิสต์ จำกัด ให้โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ใช้ไข่ที่เลี้ยงโดยไม่ขังกรงตับ (cage-free eggs) เป็นอาหารให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาล 100% ภายในปี 2566 เป็นโรงพยาบาลแรกของประเทศไทย

นายแพทย์ อรรถพล เกิดอรุณสุขศรี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ กรุงเทพมหานคร ผู้บริหารรุ่นใหม่หัวก้าวหน้า เปิดเผยว่า โดยทั่วไปคนจะไม่เข้าใจว่าไข่ไก่ที่กินอยู่ทุกวันนี้ได้มาอย่างไร ผ่านกระบวนการอะไรบ้าง ไข่ไก่เกินร้อยละ 95 ที่คนไทยกินถูกเลี้ยงโดยระบบที่เรียกว่า กรงตับ คือ battery cage ซึ่งเป็นกรงแคบๆ ขังแม่ไก่ตั้งแต่ลืมตาดูโลกจนกระทั่งถูกเชือด ยืนไข่ให้เรากินโดยกางปีกได้นิดหน่อย แทบไม่มีที่ขยับตัว คลุกทรายไม่ได้ เดินจิกอาหารคุ้ยเขี่ยไม่ได้ตลอดชีวิต เป็นระบบที่โหดร้าย และขัดธรรมชาติ คิดดูง่ายๆ ว่าใครจับเราใส่กรงแค่ขยับแขนได้นิดหน่อย แต่บิดขี้เกียจแทบไม่ได้จะเป็นอย่างไร ซึ่งนอกจากจะเป็นการทรมานสัตว์แล้ว ระบบแบบนี้ยังส่งผลต่อสุขภาพและความปลอดภัยของคนอีกด้วย

การจับแม่ไก่อัดๆ เข้าไปในที่แคบๆ แบบนี้ตลอดชีวิตสร้างความเครียดมากมาย ไก่เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนเรา เครียดมากๆ ก็ป่วย การเลี้ยงแบบนี้ส่วนใหญ่จะนำไปสู่การใช้ยาปฏิชีวนะแบบหว่าน หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า antibiotic prophylaxis เพื่อป้องกันการเจ็บป่วย ยาปฏิชีวนะเหล่านี้ก็เข้ามาสู่คนที่กินไข่แบบนั้นเข้าไป ก่อให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา (Antimicrobial resistance) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก เราจึงอยากให้ เด็ก ผู้ป่วยของเรา ได้กินไข่ที่เลี้ยงแบบไก่มีความสุขอย่างเป็นธรรมชาติ อยากให้สังคมไทยมีเชื้อดื้อยาที่ลดลง ยุโรปเองเลิกใช้ระบบการเลี้ยงแบบนี้ไปเป็น 10 ปีแล้ว เราคนไทยต้องช่วยกัน

ระบบการเลี้ยงไก่ไข่ที่ยอมรับได้คือ อะไรที่ไม่ใช่ขังกรงตับ (Battery cage) จะเป็นเลี้ยงแบบในเล้า หรือเลี้ยงปล่อยอิสระก็ได้ ระบบแบบนี้ทำให้แม่ไก่สามารถเดินคุ้ยเขี่ยได้ กลิ้งคลุกทราย มีคอนให้เกาะ คือง่ายๆ แม่ไก่สามารถแสดงออกซึ่งพฤติกรรมตามธรรชาติของเขาได้ ระบบแบบไม่ขังกรงตับจึงเป็นทางออกที่ยั่งยืน


ผอ.รพ.ราชพิพัฒน์กล่าวต่อว่า “เท่าที่ทราบ รพ.ราชพิพัฒน์ เป็นโรงพยาบาลแรกที่ประกาศพันธสัญญาใช้ไข่ไม่ขังกรง ผมและทีมงานของโรงพยาบาลจะใช้ไข่ไก่อารมณ์ดีทั้งหมด 100% ภายในปี 2566 

ที่ผ่านมาเราไม่เพียงแต่ตั้งปณิธานในการรักษาผู้ป่วยอย่างสุดความสามารถเท่านั้น แต่เรามองไกลไปถึงการป้องกันโรคให้แก่ผู้ป่วย การเลือกอาหารที่มีคุณภาพให้แก่ผู้ป่วย การปกป้องสิ่งแวดล้อมให้แก่สังคมไทยและสังคมโลกด้วยระบบอาหารที่ยั่งยืน (sustainable food system) เพราะนอกเหนือจากการเลี้ยงแบบขังกรงตับ จะสัมพันธ์กับการเกิดเชื้อดื้อยาและเป็นการทรมานสัตว์แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดการระบาดของโรคติดต่อด้วย

เราผ่านโควิดมา ถ้าเราไม่เว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) คงไม่ประสบผลสำเร็จในการควบคุมโรคได้ แม่ไก่ที่ถูกยัดเข้าไปในกรงตลอดชีวิต ตัวไหนไม่สบายย่อมติดกันงอมแงม ไม่มีทางมี social distancing สิ่งที่ไม่อยากให้เกิด คือ การระบาดของโรคติดต่อขนาดใหญ่ เช่น หวัดนก เป็นต้น ผ่านโควิดกันมาก็น่าจะรู้ซึ้งกันเป็นอย่างดีแล้ว โดยหมอไม่ต้องอธิบายว่าเกิดการสูญเสียกันขนาดไหน หมอจึงมองว่าระบบการเลี้ยงแบบกรงตับ หรือ battery cage นี้ไม่ยั่งยืน และเราต้องช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลง

ทางโรงพยาบาลราชพิพัฒน์จึงตัดสินใจให้พันธสัญญากับสังคม มาใช้ไข่ที่เลี้ยงโดยไม่ขังกรงตับ แต่ใช้ไข่จากแม่ไก่ที่มีความสุข เพื่ออาหารที่ดีต่อผู้ป่วยของเรา เพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืนกว่า โดยร่วมงานกับองค์กร คะตะลิสต์ (CATALYST) ที่เป็นองค์กรที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์สวัสดิภาพสัตว์และอาหารยั่งยืน โดยสร้างความร่วมมือกับภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อให้เราทั้งหมด ทั้งคนและสัตว์ดำรงอยู่ในโลกที่สมดุลอย่างแท้จริง”

ด้านนายแพทย์ วัชระ พุ่มประดิษฐ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท คะตะลิสต์ จำกัด กล่าวว่า “บริษัทคะตะลิสต์ จำกัด (Catalyst Co.,Ltd ) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งและดำเนินการทำงานภายใต้แนวคิดวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นองค์กรดำเนินการด้านการส่งเสริม สวัสดิภาพ คุณภาพชีวิตสัตว์และมนุษย์ โดยร่วมดำเนินงานกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงศึกษาธิการในการอบรมครู นักการศึกษา นักเรียน เกษตรกร ผู้ประกอบการธุรกิจ และผู้ที่สนใจ ในเรื่องอาหารยั่งยืน

การส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ เช่น โครงการ "ไข่ไก่ไร้กรง (Cage free Eggs)" มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจ ร้านค้า ร้านอาหาร โรงแรม ฟาร์มเกษตรผู้เลี้ยง และประชาชนทั่วไปให้ความสำคัญในการเลี้ยงและบริโภคไข่ไก่ไร้กรงเพื่อทดแทนกรงตับ และได้ดำเนินงานร่วมกับจังหวัดที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้อาหารยั่งยืน สอดคล้องกับท่องเที่ยวยั่งยืน สมกับคำว่า World class destination ของเมืองไทยอย่างแท้จริง

การร่วมมือกันครั้งนี้ระหว่างองค์กรคะตะลิสต์กับโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ จะเป็นการตอกย้ำถึงการเป็นแบบอย่างในเรื่องความยั่งยืนที่จับต้องได้จริง ตรงนี้คงต้องบอกว่า องค์กรด้านสุขภาพคงไม่ได้มีแค่งานรักษาผู้ป่วยเพียงเท่านั้นอีกต่อไป แต่ต้องมองไกลไปในเรื่องงานเชิงรุก และความรับผิดชอบต่อสังคมในประเด็นความยั่งยืน (sustainability) ซึ่งหลายๆ ครั้งความยั่งยืนยังเป็นเพียงคำโตที่สวยหรู แต่ไม่เกิดการทำจริง”










กำลังโหลดความคิดเห็น