กรมวิทย์ฯ ตรวจพบสายพันธุ์ XBC หรือเดลตาครอน รายแรกของไทย ปัจจุบันผู้ติดเชื้อหายเป็นปกติแล้ว ส่วนโอมิครอน BA.2.75 และลูกหลาน มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เป็น 63.3% จาก 42.9% ย้ำยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น
วันนี้ (30 พ.ย.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยข้อมูลการตรวจเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 ในประเทศ และติดตามสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจพบจากผู้เดินทางเข้าประเทศในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 19-25 พ.ย. 65 ผลการตรวจเฝ้าระวังแบบ SNP/Deletion ด้วยวิธี RT-PCR จำนวน 299 ราย พบว่า ในภาพรวมสัดส่วนของ BA.2.75 เพิ่มขึ้นเป็น 63.3% จากสัปดาห์ก่อนที่มีสัดส่วน 42.9% และเมื่อแยกตามกลุ่ม พบว่าส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้นจาก 23.2% เป็น 43.9% และล่าสุดเป็น 58.8%
จากการถอดรหัสพันธุกรรมแบบทั้งตัว (Whole genome sequencing) ของตัวอย่างในประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน พบสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานของ BA.2.75 เช่น BA.2.75.2, BA.2.75.5.1 (BN.1), BA.2.75.1.2 (BL.2) มากกว่า 468 ราย (จำนวนนี้รวมจำนวน 216 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเข้าเพื่อเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID) โดยพบว่า BN.1 และลูกหลานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนถึง 4 เท่าตัว การเพิ่มจำนวนที่รวดเร็วของเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์กลายพันธุ์ มีความเป็นไปได้ของการเพิ่มจำนวนการติดเชื้อจนกระทั่งทดแทนสายพันธุ์เดิมที่กระจายอยู่ในพื้นที่
นอกจากนี้ พบสายพันธุ์ XBB.1 จำนวน 4 ราย และ BQ.1 จำนวน 7 ราย สำหรับสายพันธุ์ XBC หรือเดลตาครอน ขณะนี้พบในประเทศไทยแล้วจำนวน 1 ราย ทั้งนี้ สายพันธุ์ XBC เป็นสายพันธุ์ลูกผสมของเดลตาและโอมิครอน BA.2 โดยข้อมูล ณ วันที่ 20 พ.ย. 65 รายงานพบสายพันธุ์ XBC จากหลายประเทศบนฐานข้อมูลสากล GISAID จำนวน 153 ราย ซึ่งยังไม่พบสัญญาณความรุนแรงของเชื้อที่กลายพันธุ์ แต่อาจจะทำให้มีการแพร่และติดเชื้อง่ายขึ้น โดยในรายของผู้ป่วยที่ตรวจพบสายพันธุ์ XBC เป็นรายแรกของไทยนั้นปัจจุบันหายเป็นปกติดีแล้ว
นายแพทย์ศุภกิจกล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลกรายสัปดาห์ พบว่า
• BA.5 และสายพันธุ์ลูกหลาน ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่พบมากทั่วโลก คิดเป็น 72.1%
• BA.4 และสายพันธุ์ลูกหลาน ลดจากสัปดาห์ก่อนจาก 3.6% เป็น 3.0%
• BA.2 และสายพันธุ์ลูกหลาน คิดเป็น 9.2% เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน
• BA.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน พบน้อยกว่า 1%
• BQ.1 และสายพันธุ์ลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (จาก 19.1% พบเพิ่มเป็น 23.1%)
• XBB (สายพันธุ์ลูกผสมของ BA.2.10.1 และ BA.2.75) และสายพันธุ์ลูกหลาน พบเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน (จาก 2.0% พบเพิ่มเป็น 3.3%)
นายแพทย์ ศุภกิจกล่าวเพิ่มเติมว่า “กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายยังคงเฝ้าระวังติดตามการกลายพันธุ์ของเชื้อโควิด-19 และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลกระทบจากสายพันธุ์ย่อยของสายพันธุ์น่ากังวลที่อาจมีต่อความรุนแรงของโรค ประสิทธิผลของมาตรการทางสาธารณสุข หรือคุณสมบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องของเชื้อไวรัส เป็นข้อมูลสนับสนุนการออกแบบการรักษา การให้ยาต้านไวรัส หรือแอนติบอดีสังเคราะห์ ในช่วงเวลานี้มาตรการส่วนบุคคล เช่น การสวมหน้ากาก ล้างมือ ยังจำเป็น เพื่อลดการระบาดของโรค รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถลดความรุนแรงได้ โดยเฉพาะกลุ่ม 608”
คลิกโพสต์ต้นฉบับ