แผนที่ประกอบในเรื่องนี้ ที่เห็นเป็นพื้นที่สีเหลือง ก็คือราชอาณาจักรสยาม ซึ่งรอบล้อมไปด้วยประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษและฝรั่งเศส ที่เรารอดพ้นมาได้ประเทศเดียวนี้ ก็ด้วยการผนึกความสามัคคีของคนในชาติ ไม่ใช่แบ่งฝ่ายจ้องทำลายกันเองโดยไม่คำนึงถึง “ชาติ” อย่างในวันนี้ ที่สำคัญก็คือผู้นำของเราดำเนินนโยบายโดยคำนึงถึงขีดความสามารถของตัวเอง ใช้วิธีผ่อนสั้นผ่อนยาว และติดตามข่าวสารเพื่อรู้ทันสถานการณ์ จึงพาชาติรอดปลอดภัยมาได้ แต่เราก็ต้องขมขื่นจากการถูกย่ำยีหัวใจจากนักล่าอาณานิคมไม่ต่างไปจากเพื่อนบ้าน ก่อนที่ทุกประเทศเหล่านี้จะกลับคืนมาสู่ความสงบสุขร่มเย็น จนประธานาธิบดีฝรั่งเศสสามารถมาเดินกินอาหารเยาวราชอย่างมีความสุขได้ในวันนี้
สงครามครั้งแรกที่เราระบายแค้นเข้าต่อสู้กับนักล่าอาณานิคมเกิดขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๘๓ คือสงครามระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
ประวัติศาสตร์ไทยเรียกว่า “สงครามอินโดจีน” แต่เอกสารทางฝ่ายตะวันตกจะเรียกว่า “ความขัดแย้งระหว่างไทยกับฝรั่งเศส” และเรียกสงครามระหว่างเวียดมินห์กับฝรั่งเศสซึ่งเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ว่า "สงครามอินโดจีนครั้งที่ ๑”
สงครามไทยกับฝรั่งเศสเกิดขึ้นเมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ ได้เริ่มขึ้นในยุโรป ฝรั่งเศสเมืองแม่ถูกเยอรมันรุกอย่างสายฟ้าแลบตีแตกไปแล้ว รัฐบาลฝรั่งเศสในตอนนั้นจึงอยู่ในความความควบคุมของเยอรมัน และกลัวว่าอาณานิคมของตัวในอินโดจีนจะถูกไทยชำระแค้น จึงขอทำสัญญาไม่รุกรานต่อกัน ไทยเห็นว่าฝรั่งเศสกำลังลำบากจึงต้องการแสดงน้ำใจ ตอบตกลงจะเซ็นสัญญาด้วย แต่ขอให้ฝรั่งเศสปรับปรุงเขตแดนเสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักสากล เพราะการปักปันที่ทำกันไว้เมื่อตอนฝรั่งเศสหลงอำนาจ ถือว่าแม่น้ำโขงเป็นของฝรั่งเศสฝ่ายเดียว ไทยเราก้าวลงจากตลิ่งไม่ได้เลย ไทยจึงขอให้ใช้ร่องน้ำลึกที่เดินเรือเป็นแนวแบ่งเขตตามหลักสากล กับอีกข้อหนึ่งที่ขณะนั้นญี่ปุ่นได้ส่งทหารเข้าไปเต็มอินโดจีนทั้งเขมรและญวนแล้ว อ้างว่าจะขอเดินทัพผ่าน ฝรั่งเศสได้แต่ยืนมองตาปริบๆไม่กล้าขัดขวาง ไทยเกรงว่าฝรั่งเศสจะเอาดินแดนไทยที่ฝรั่งเศสยึดไปยกให้ญี่ปุ่นหมด จึงขอให้ฝรั่งเศสรับรองว่าหากอธิปไตยในอินโดจีนเปลี่ยนไป ขอให้คืนแคว้นเขมรและลาวให้ไทยก่อน ข้อนี้เสียดแทงใจรัฐบาลฝรั่งเศส จึงจะรักษาศักดิ์ศรีทั้งๆที่ไม่มีศักดิ์ศรีเหลืออยู่แล้ว ได้ตอบกลับมาว่า
“...รัฐบาลฝรั่งเศสจำต้องรักษาสถานภาพทางการเมืองและบูรณภาพแห่งดินแดนของอินโดจีนไว้ต่อข้ออ้างสิทธิทั้งปวง และต่อการรุกรานไม่ว่าจะมีกำเนิดมาจากทางใด”
จากนั้นก็ขนทหารเข้าประชิดดินแดนไทยตลอดลำน้ำโขงข่มขู่ตามความเคยชิน เมื่อเครื่องบินไทยขึ้นบินลาดตระเวนแม้จะบินในเขตไทย ปตอ.ฝรั่งเศสก็ยิงขึ้นมา เครื่องบินไทยจึงสาดกระสุนตอบ เกิดการต่อสู้กันทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ไทยจึงส่งทหารข้ามโขง
หลังการรบกันได้แค่ ๒๒ วัน ขณะที่ทหารไทยกำลังฮึกเหิมเพราะประชาชนเดินขบวนสนับสนุน แต่ทหารฝรั่งเศสกำลังท้อแท้จึงแพ้ทุกสมรภูมิ ต้องขอให้ญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ย จนมีการเซ็นสัญญาสงบศึกกันที่กรุงโตเกียวในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๔ โดยฝรั่งเศสจะมอบดินแดนฝรั่งขวาแม่น้ำโขงที่ไทยเสียไปใน ร.ศ.๑๑๒ รวมทั้งเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ ที่เสียไปใน พ.ศ.๒๔๔๙ คืนมา
รัฐบาลไทยได้สร้าง “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ” เป็นที่ระลึกถึงสงครามไทยกับฝรั่งเศสในครั้งนั้น และเป็นที่เก็บอัฐิของทหารหาญที่ได้สละชีวิตเพื่อชาติ
ส่วน “สงครามอินโดจีน ครั้งที่ ๑” เริ่มขึ้นในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ เมื่อฝรั่งเศสกำลังเพลี่ยงพล้ำ ขบวนการเวียดมินห์จึงต่อสู้เพื่ออิสรภาพขับไล่ทั้งญี่ปุ่นและฝรั่งเศส เมื่อสงครามโลกยุติญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ นายพลเดอโกล หัวหน้าขบวนการฝรั่งเศสเสรีที่เข้าร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร ขึ้นครองอำนาจในฝรั่งเศส ได้เรียกร้องที่จะเข้าครอบครองอินโดจีนอย่างเดิม ทั้งอังกฤษกับอเมริกาก็ต้องการให้ฝรั่งเศสเข้าร่วมสนธิสัญญานาโต้เพื่อต่อต้านโซเวียต จึงให้ฝรั่งเศสกลับเข้าครอบครองอินโดจีนอีก เวียดมินห์จึงต้องต่อสู้กับฝรั่งเศสต่อไป โดยได้รับการสนับสนุนจากจีนและโซเวียต จนขับไล่ฝรั่งเศสที่มีนาโต้หนุนหลังต้องถอยออกจากอินโดจีนไป
“สงครามอินโดจีน ครั้งที่ ๒” อเมริกาเรียกว่า “สงครามเวียดนาม” แต่เวียดนามเรียกว่า “สงครามอเมริกา” เริ่มขึ้นจากฝรั่งเศสต้องถอยออกไป อเมริกาก็เข้ามาสนับสนุนเวียดนามใต้อ้างว่าต่อต้านคอมมิวนิสต์ ระดมกำลังจากสมาชิกสหประชาชาติอีกหลายประเทศเข้ามาร่วมสนับสนุน โดยมีทหารอเมริกันเป็นตัวยืน เปิดศึกกับกองกำลังของเวียดนามเหนือ
ประกอบด้วยเวียดกงและกองทัพประชาชนเวียดนาม สงครามเริ่มขึ้นในปี ๒๔๙๘ และสิ้นลงในปี ๒๕๑๘ ผลปรากฏว่าอเมริกาก็ถอยออกแทบไม่ทันไปอีกราย
สงครามครั้งนี้ยังบานปลายไปถึงกัมพูชาในชื่อ “สงครามกลางเมืองกัมพูชา” รวมทั้งลาวโดยมีขบวนการปะเทดลาวเข้าต่อสู้กับฝ่ายอเมริกัน และพยายามจะลามมาถึงไทยด้วย
“สงครามอินโดจีนครั้งที่ ๓” เรียกกันว่า “สงครามจีน-เวียดนาม” หรือ “สงครามสั่งสอน” เป็นสงครามชายแดนช่วงสั้นๆในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๒ เนื่องจากในปี ๒๕๒๑ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามได้บุกเข้ายึดกัมพูชาซึ่งปกครองโดยเขมรแดงที่สังหารหมู่ชาวเวียดนามไปมาก จีนซึ่งสนับสนุนเขมรแดงได้เคลื่อนทหารเข้าสู่ชายแดนด้านเหนือของเวียดนาม และยึดได้ ๓ เมืองเปิดทางสู่ฮานอย แต่แล้วจีนก็ถอนทหารกลับไปอ้างว่าสำเร็จภารกิจในการลงโทษเวียดนามแล้ว แม้สงครามครั้งนี้จะอยู่ในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ความสูญเสียก็มากด้วยกันทั้งสองฝ่าย เนื่องจากเวียดนามมีอาวุธทันสมัยมากมายที่ยึดมาจากกองทัพอเมริกัน
แต่วันนี้อินโดจีนซึ่งเคยอาบด้วยเลือดและน้ำตา กลับมีความสงบสุขร่มเย็น เป็นแหล่งลงทุนและท่องเที่ยวที่คนทั่วโลกหลั่งไหลมา ส่วนอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังเผชิญวิกฤติหนักกับปัญหาภายในประเทศ ที่ค่าครองชีพพุ่งขึ้นสูง ขาดพลังงานเพราะไปตามก้นอเมริกาคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้ประชาชนต้องรับกรรมเหมือนประชาชนยูเครนไปด้วย ...วันนี้โลกได้หมุนกลับมาทางตะวันออกแล้ว กรรมที่ใครก่อไว้ก็รับกรรมนั้นไป คนตะวันออกเราเชื่ออย่างนี้