เฟซบุ๊กนักโทษชายรายหนึ่ง ที่ออกมาโพสต์ประกาศหาคนถอดกำไลอีเอ็ม ที่ข้อเท้า พร้อมยื่นข้อเสนอให้เงินอีก 1 แสนบาทหากถอดกำไลได้ นอกจากนี้เจ้าตัวยังเผยอีกว่าคดีดังกล่าวตนนั้นได้ยัดเงินให้กับตำรวจ - อัยการ ชาวเน็ตแท็กเฟซบุ๊กถาม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบบนี้ก็ได้หรือ
วันนี้ (27 พ.ย.) เพจ “หมอแล็บแพนด้า” หรือ ทนพ.ภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ชื่อดัง ได้โพสต์เฟซบุ๊กนักโทษชายรายหนึ่ง ที่ออกมาโพสต์ประกาศหาคนถอดกำไลอีเอ็ม ที่ข้อเท้า พร้อมยื่นข้อเสนอให้เงินอีก 1 แสนบาทหากถอดกำไลได้ โดยระบุข้อความในโพสต์ว่า "จ้างแสนนึงถอดให้หน่อย ถอดได้เอาเงินไปเลย"
นอกจากนี้ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า "ตนนั้นโดนคดีร่วมกันฆ่า แต่มีคนรับจบไป ผมเลยรีบไปเยียวยาผู้ตายเป็นเงินจำนวนหนึ่งหลักแสนปลาย ๆ ญาติผู้ตายเลยไม่ติดใจเอาความครับ แล้วก็ยัดตำรวจกับอัยการเลยทำให้หลักฐานไม่ถึงผมครับ แค่โทษคุมประพฤติ 3 ปี ทำประโยชน์แก่สังคม 60 ชั่วโมง"
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรื่องราวดังกล่าวได้เผยแพร่สู่โลกออนไลน์ มีชาวเน็ตได้ตั้งคำถามถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่ากาารกระทำดังกล่าวทำได้ด้วยหรือ และส่วนใหญ่แนะให้รื้อคดีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
สำหรับ กำไลอีเอ็มเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับตรวจสอบ หรือจำกัดการเดินทางของบุคคลในการปล่อยตัวชั่วคราว มีลักษณะคล้ายนาฬิกาหรือสายรัดข้อเท้า โดยจะมีตัวอุปกรณ์ส่งและรับสัญญาณ เพื่อให้ศูนย์ควบคุมการติดตามตัวด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (EMCC)ของกรมประพฤติ สามารถตรวจสอบการเดินทางของผู้สวมใส่อุปกรณ์ได้แบบเรียลไทม์
ประเทศไทยเพิ่งมีการนำกำไลอีเอ็มมาใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2561เพื่อแก้ปัญหาผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ประกันตัว ขณะเดียวกันก็เป็นการลดปัญหาความแออัดในเรือนจำด้วย ซึ่งปัจจุบัน (สถิติมี.ค.2564) มีนักโทษและผู้ต้องขังมากกว่า 2.73 แสนราย เมื่อเทียบกับเรือนจำ ทัณฑสถาน และสถานที่กักขังที่มีเพียง 143 แห่งทั่วประเทศ